top of page
รูปภาพนักเขียนคิดอย่าง

หลบเหลียวแลหลังยังกรุงสทิงพาราณสี

#หลบเหลียวแลหลังยังกรุงสทิงพาราณสี :

#นครท่ามกลางสองฝั่งทะเล บนสองฝั่งของความรู้ และไม่รู้ ในห้วงเวลาสุดท้ายที่นครนี้ปรากฏหลักฐานให้เห็น

 

เกริ่นนำ


หลังจากห่างหายจากการทำสกู๊ปใหญ่ ๆ ไปหลายเดือน ครั้งนี้เป็นงานทดลองขยายสเกลของงานสื่อความหมายมรดกศิลปวัฒนธรรม จากเดิมที่เลือกนำเสนอในขอบเขตของอาคาร หรือจิตรกรรมในพื้นที่เล็ก ๆ ออกมาลองทำอะไรที่ใหญ่ขึ้น มีรายละเอียดมากขึ้น ทั้งนี้เราไม่มีหลักฐานพอที่จะปะติดปะต่อเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้เชื่อมต่อกัน เนื่องจากเมืองสทิงพระปรากฏขึ้นในเอกสารเป็นช่วง ๆ ห่าง ๆ กัน และหลักฐานทางโบราณคดีที่พบส่วนใหญ่ก็ย้อนไปในยุคสมัยอันไกล

การสันนิษฐานนี้อาจอาศัยจินตนาการ โดยการนำชีวิตประจำวันบนสทิงพระย้อนเข้าไปประกอบหลายส่วน หากมีความผิดพลาดตกหล่นประการใดไปขอได้โปรดทักท้วงชี้แนะโดยไม่ต้องเกรงใจครับ

ขอขอบคุณ คุณสุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย คุณสามารถ สาเร็ม สำหรับคำแนะนำปรับแก้รายละเอียดในภาพครับ


"...ศุภมัสดุ 651 ศกระกานักษัตรเอกศก …อนึ่งเมืองพัทลุงเมื่อแรกแต่เดิมนั้น สทิงพระเป็นเมืองกรุงสทิงพาราณสี แลเจ้าพญาสทิงพระนั้นชื่อเจ้าพญากรุงสทิง..." (1)
 

กลับสู่จุดเริ่มต้น


ย้อนกลับไป 115 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จมานมัสการพระมหาธาตุเจดีย์วัดจะทิ้งพระ ทรงบันทึกถึงร่องรอยของเมืองร้างอันมีป่าปกคลุมหนาทึบ “...ในที่ต่อวัดไปเป็นป่ายางทึบดินสูง มีคูปรากฏอยู่ บัดนี้เรียกว่าเมืองจะทิ่งหรือจะทิ้งร้าง คงจะมีอะไรก่อสร้างอยู่ในนั้น ดินจึงสูง…(2)” นี่น่าจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายร้อยปีที่ผ่านมาที่การมีอยู่ของเมืองนี้ถูกบันทึกโดยคนภายนอก และกว่าจะมีการศึกษาเกี่ยวกับเมืองนี้อย่างจริงจังก็จะเกิดให้หลังจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปแล้วกว่าครึ่งทศวรรษ จากร่องรอยทางโบราณคดี จากร่องรอยในเอกสารโบราณ นักวิชาการเริ่มปะติดปะต่อภาพร่างของเมืองจะทิ้งร้างในป่ายางใหญ่ขึ้นมาทีละส่วน ๆ จนรู้ว่าพื้นที่นี้มีความสำคัญแน่ และเก่าแก่อย่างยิ่ง แต่ในท่ามกลางความรู้ที่ค้นพบก็ยังมีช่องว่างอยู่มากมายที่เรายังคงไม่รู้

ปัจจุบันไม่มีงานศึกษาใหม่ ๆ เกี่ยวกับเมืองจะทิ้งร้างนี้เพิ่มเติมมาจากหลายสิบปีก่อนมากนัก ภาพของเมืองยังไม่ได้ถูกทำให้เป็นรูปเป็นร่าง ผู้เขียนเห็นประเด็นสองสามประเด็นที่อาจจะร่วมสนุกในท่ามกลางความรู้และความไม่รู้นี้ได้ โดยอาศัยหลักฐานและจินตนาการเข้ามาผสมผสานกัน เมืองจะทิ้งร้างจะล่มสลายหายไปเมื่อไหร่นั้นไม่แน่ชัด หากนับจากครั้งสุดท้ายที่ชื่อเมืองนี้ปรากฏขึ้นในแผนที่โบราณฉบับหนึ่งก็ต้องย้อนกลับไปราว 300 ปีก่อน

เพื่อตั้งต้นการกลับไปทำความเข้าใจกับเมืองจะทิ้งร้างนี้ใหม่ จึงเลือกห้วงเวลาของการทำภาพสันนิษฐาน และประเด็นนำเสนอย้อนกลับไปตั้งต้นจากหลักฐานสุดท้ายที่ปรากฏ คือในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 23 หากงานชิ้นนี้จะยังประโยชน์ได้บ้างก็หวังว่ามันจะทำให้เกิดการกลับไปทำความเข้าใจพื้นที่เมืองสทิงพระนี้ให้มากขึ้น พบคำถามใหม่อันจะนำไปสู่คำตอบใหม่ ๆ มากขึ้นในอนาคต


ภาพวัดจะทิ้งพระฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
 

เกาะที่กลายเป็นคาบสมุทร


ก่อนจะกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าคาบสมุทรสทิงพระในปัจจุบัน แผ่นดินอันมีสัณฐานแคบยาวทอดตัวในแนวเหนือใต้นี้เคยเป็นเกาะซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนทะเลโดยคลื่นลมพัดทรายเข้าหาฝั่งในยุคโฮโลซีน (ราว 5,000 ปีก่อน) มีร่องน้ำขนาดใหญ่เชื่อมต่อกับทะเลอยู่ระหว่างแผ่นดินตอนในกับเกาะนี้ การตกตะกอน และสันทรายที่ก่อตัวขึ้นตามกระแสคลื่นค่อย ๆ เชื่อมเกาะนี้เข้ากับแผ่นดินบริเวณอำเภอเชียรใหญ่ - หัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช

กระบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ร่องน้ำค่อย ๆ แคบเข้าจนกลายเป็นลำคลอง บางส่วนของร่องน้ำกลายเป็นลากูนทะเลสาบสงขลา สังคมวัฒนธรรมเริ่มแรกของสทิงพระเกิดขึ้นนับตั้งแต่แผ่นดินนี้ยังมีสภาพเป็นเกาะ และมีพลวัตรสืบมาพร้อม ๆ กับแผ่นดินนี้ที่ค่อย ๆ กลายเป็นคาบสมุทร และเรียกกันในท้องที่ว่า “แผ่นดินบก”

ปรากฏหลักฐานของชุมชนโบราณกระจายตัวตามแนวเกาะ หรือคาบสมุทรถัดลงมาทางทิศใต้ โดยเว้นระยะห่าง ๆ กัน ร่องรอยของชุมชนโบราณที่มีหลักฐานเก่าแก่ที่สุดคือชุมชนโบราณที่โคกทอง อำเภอระโนด ทางเหนือสุดของสทิงพระ ซึ่งได้รับการกำหนดอายุจากหลักฐานทางโบราณคดีอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 ถัดลงมาคือ ชุมชนศรีหยัง ชุมชนเขาคูหา พะโคะ ซึ่งได้รับการกำหนดอายุจากหลักฐานทางโบราณคดีอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 14 – 16 ชุมชนสทิงพระ ซึ่งได้รับการกำหนดอายุจากหลักฐานทางโบราณคดีอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 15 – 18 เป็นต้น ชุมชนเหล่านี้เป็นฐานทางวัฒนธรรมสำคัญที่คงส่งต่อบางส่วนมาจนยุคสมัยของเรา

ว่ากันว่าสังคมชาวเกาะใด ๆ นั้นมักจะมีการรักษาแบบแผนทางวัฒนธรรมที่เหนียวแน่น มีสำนึกของชุมชนเข้มแข็ง สทิงพระแม้ไม่ได้เป็นเกาะแล้ว แต่การที่เรายังรู้สึกถึงจิตวิญญาณบางอย่างที่ยากแก่การอธิบายเมื่อก้าวเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ เห็นวิถีชีวิตที่ยังคงดำเนินไปอย่างร่วมสมัยพร้อม ๆ กับยังคงให้ความสำคัญกับสิ่งที่มีมาแต่เก่าก่อน นี่อาจเป็นบรรยากาศที่ตกค้างมาจากวิถีชาวเกาะที่สืบผ่านสายเลือดของผู้คนที่นี่มาจากครั้งอดีต


ภาพมุมสูงของตระพังพระ สระน้ำโบราณขนาดใหญ่ซึ่งขุดขึ้นมาเมื่อกว่าพันปีก่อน
 

สทิงพาราณสีในตำนาน สทิงพระในวันนี้

เมืองสทิงพาราณสี หรือสทิงพระโบราณตั้งอยู่ตอนกลางของเกาะ หรือคาบสมุทร ห่างจากชายฝั่งทะเลอ่าวไทยทางทิศตะวันออกประมาณ 500 เมตร และห่างจากฝั่งทะเลสาบ

ด้านทิศตะวันตกประมาณ 3,500 เมตร พื้นที่ตั้งเมืองสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2 เมตร ปรากฏร่องรอยของตัวเมืองในรูปแบบคันดินมีคูน้ำล้อมรอบ

ด้านทิศเหนือกว้าง 280 เมตร

ด้านทิศตะวันออกกว้าง 270 เมตร

ด้านทิศใต้กว้าง 275 เมตร

ด้านทิศตะวันตกกว้าง 305 เมตร


เพลานางเลือดขาว เอกสารโบราณของวัดเขียนบางแก้ว พัทลุง กล่าวถึงการมีอยู่ของเมืองสทิงพาราณสีในศักราช 651 ซึ่งควรจะหมายถึงจุลศักราชตามเทรดดิชันเอกสารภาคใต้ ตรงกับพุทธศักราช 1832 ศักราชที่ปรากฏในตำนานอาจไม่เป็นที่ยอมรับเท่าใดนักในวงวิชาการ จากหลักฐานทางโบราณคดี พบว่าพื้นที่สทิงพระเป็นที่พักพิงของวัตถุทางโบราณคดีหลายยุคหลายสมัย มีการค้นพบรูปเคารพในพุทธศาสนามหายานขนาดเล็กหลายองค์ในเขตเมืองซึ่งได้รับการกำหนดอายุอย่างกว้างไว้ในราวพุทธศตวรรษที่ 15 16 หากพิจารณาร่วมกับหลักฐานทางโบราณคดีในพื้นที่อื่น ๆ เช่นกลุ่มเขาคูหา ดังกล่าวไปแล้ว พื้นที่ที่เป็นเมืองสทิงพระนี้อาจมีการตั้งถิ่นฐาน และกิจกรรมของผู้คนมาก่อนต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ตามระบุไว้ในตำนาน

อย่างไรก็ตามการสันนิษฐานรูปแบบในสกู๊ปนี้ได้ทำการสันนิษฐานในห้วงเวลาสุดท้ายเท่าที่ปรากฏข้อมูลความเป็นเมืองสทิงพระอยู่ คือในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ตามที่ปรากฏ “เมืองสทิงพระ” ในแผนที่โบราณ (จะกล่าวถึงอย่างละเอียดในภาพถัดไป) หลังจากนั้นเมืองสทิงพระก็ไม่ถูกกล่าวถึงอีก ตัวเมืองรกร้างและถูกลืมไปจากความทรงจำของผู้คนในส่วนอื่น ๆ ของคาบสมุทรสทิงพระ คงมีแต่คนทรงจำจาง ๆ ตกค้างอยู่ในพื้นที่ใกล้ ๆ กับตัวเมืองและรอบวัดจะทิ้งพระเท่านั้น


ภาพมุมสูงของเมืองโบราณสทิงพระในปัจจุบัน ยังพอเห็นแนวคลองคูเมืองทางซ้ายมือของภาพ
 

ชีวิตและผู้คนบนสทิงพระ

ชาวพุทธตั้งถิ่นฐานอยู่ตอนกลางของแผ่นดินสทิงพระ ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่และใช้มันเพื่อการเกษตรกรรม นา และน้ำผึ้งโหนด (คำเรียกน้ำตาลโตนด) เป็นผลิตผลหลัก #ขณะที่ชาวแขกผู้มีเทคโนโลยีของเรือที่ซับซ้อนกว่า ตั้งถิ่นฐานอยู่รอบชายฝั่งทะเล ทั้งทะเลนอก (อ่าวไทย) และทะเลใน (ทะเลสาบ) คนแขกเป็นผู้เชื่อมแผ่นดินกับทะเล นำทรัพยากรณ์ในทะเลมาสู่บก แม้ว่าชุมชนพุทธ และชุมชนแขกส่วนใหญ่ จะแยกตัวออกจากกัน แต่ด้วยผลิตผลแลทักษะที่ต่างกันนำมาสู่การแลกเปลี่ยนและปฎิสังสรรค์กันอย่างแน่นแฟ้นตามโอกาส

ในแผนที่นี้หากท่านสังเกตจะเห็นกลุ่มเด็กเล่นว่าวนกกลางทุ่ง เห็นคนกำลังปีนต้นโหนด ชาวประมงกำลังลากเรือขึ้นมาพักบนฝั่ง และอื่น ๆ ที่แอบซ่อนเอาไว้ ซึ่งได้แรงบรรดาลใจมาจากชีวิตบนสทิงพระที่พบเห็นได้ทุก ๆ วันนี้


ชายฝั่งทะเลคาบสมุทรสทิงพระ
การทำประมงในลุ่มทะเลสาบ
 

เมืองสทิงพระในแผนที่โบราณ

 

เอกสารชื่อหนึ่ง กลับแสดงพื้นที่อีกที่หนึ่ง


เอกสารโบราณหอสมุดแห่งชาติ หมวดตำราภาพ หมู่สมัยอยุธยา ชื่อ แผนที่เมืองนครศรีธรรมราช จ.ศ.977 (พ.ศ.2158) เลขที่ 3 มัดที่ 1 ทะเบียนประวัติว่าเป็นสมบัติเดิมของหอสมุดวชิรญาณ เป็นแผนที่ที่เขียนตามระบบโบราณลงบนสมุดไทย หรือหนังสือบุด #แสดงภูมิประเทศตามยาวของพับหนังสือจากการศึกษาของนักวิชาการหลายท่านตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมากเป็นที่ชัดเจนว่า แผนที่ฉบับนี้ไม่ได้เป็นแผนที่ของเมืองนครศรีธรรมราช หากแต่เป็นแผนที่ที่แสดงข้อมูลของพื้นที่ตั้งแต่ย่านเทือกเขาพระบาทของอำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่อยลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้บนแนวคาบสมุทรสทิงพระจนไปสิ้นสุดที่ปากทะเลสาบสงขลาที่สิงหนคร

แม้ว่าหอสมุดแห่งชาติจะรักษาชื่อเดิมว่า แผนที่เมืองนครศรีธรรมราช เอาไว้ในทะเบียน และผู้สนใจสืบค้นจะต้องใช้ชื่อดังกล่าว แต่ในวงการวิชาการก็มีการให้ชื่อใหม่แก่แผนที่ฉบับนี้เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องหลายชื่อ อาทิ

แผนที่กัลปนาวัดพะโคะ ด้วยเหตุที่แผนที่นี้แสดงรายชื่อวัดที่เป็นวัดบริวารขึ้นกับวัดพะโคะ

แผนที่คาบสมุทรสทิงพระ ตามพื้นที่ของข้อมูลที่แผนที่แสดง

แผนที่เขตปกครองสงฆ์สทิงพระ ตามการเขียนแผนที่ที่เน้นความสำคัญของตำแหน่งวัด และที่นากัลปนาของวัดบนสทิงพระ เป็นต้น

บทสนทนาว่าด้วยแผนที่นี้ และการศึกษาในมิติต่าง ๆ ผู้สนใจอาจสืบค้นเพิ่มเติมจากเอกสารที่ผู้เขียนเลือกมาให้บางชิ้นด้านล่างของโพสต์นี้

จากสถานภาพการศึกษาในปัจจุบันกำหนดอายุของแผนที่นี้ว่าเขียนขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 แต่ปีที่แน่ชัดนั้นยังเป็นที่ถกเถียง ทั้งแผนที่นี้ถูกทำขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ใด และทำขึ้นโดยใครนั้นก็ยังมีทฤษฎีมากมาย ชัยวุฒิ พิยะกูล นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ และพุทธศาสนาลุ่มทะเลสาบสงขลา เสนอทฤษฎีจากการสำรวจสิ่งที่คนท้องที่เรียกว่า จุดปักกลดหลวงปู่ทวด ซึ่งกระจายตัวอยู่หลายแห่งบนสทิงพระ และบางส่วนของนครศรีธรรมรราชที่ติดกับสงขลาว่า แผนที่ฉบับนี้น่าจะถูกทำขึ้นโดยการนำของหลวงปู่ทวด ซึ่งได้กับการสถาปนาโดยอยุธยาให้มีตำแหน่งเป็นสมเด็จพระราชมุนี และจุดปักกลดต่าง ๆ ที่ทิ้งร่องรอยอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ คือจุดตั้งแคมป์สำรวจของคณะทำแผนที่ที่สมเด็จพระราชมุนีเป็นผู้นำ

แผนที่ฉบับนี้แสดงภาพของเมืองสทิงพระ และวัดสทิงพระเอาไว้ด้วย ซึ่งเป็นหลักฐานหลักที่ผู้เขียนนำมาใช้เป็นโครงในการทำภาพสันนิษฐาน

 

​เมืองสทิงพระ


แผนที่แสดงองค์ประกอบ 3 อย่างคือ

1. ซุ้มประตูเมือง ที่เห็นลักษณะคล้ายเสาชิงช้า เป็นลักษณะของซุ้มประตูไม้ที่ปรากฏให้เห็นทั่วไปในงานจิตรกรรมแต่ไม่หลงเหลือประตูแบบนี้จริง ๆ อยู่แล้ว

2. อาคารยกใต้ถุน ทรงโรงมีมุขประเจิด มีนอกชานทั้งด้านหน้า และด้านหลัง อาคารนี้ตั้งอยู่ในเมืองยกใต้ถุนสูง และไม่มีข้อความกำกับเอาไว้ว่าเป็นวัด แสดงว่าจะต้องเป็นอาคารสำคัญบางอย่างที่เป็นสัญลักษณ์ช่วยแสดงให้ความเป็นเมืองในแผนที่นั้นเด่นชัดขึ้น #ผู้เขียนสันนิษฐานว่าอาคารหลังนี้ควรจะเป็นจวนวังเจ้าเมืองสทิงพระ ทั้งนี้โดยเปรียบเทียบกับตำราแบบแผนจวนวังของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยอยุธยาในเอกสารโบราณเล่มหนึ่ง ซึ่งประเด็นว่าด้วยแบบแผนจวนวังโดยละเอียดนี้จะขอยกไว้นำเสนอในสกู๊ปว่าด้วยจวนวังเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจากเอกสารโบราณในช่วงกลางปีนี้ ตอนหนึ่งของเอกสารกล่าวถึงจวนวังครั้งพระยาอภัยธิเบศร์ ซึ่งครองเมืองนครในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศว่า

...ทำ 13 ห้อง มีมุขเหยียบ แลมุขหน้าหลัง มีเฉนียงรอบแลมีเรือนเทียม...

จวนวังซึ่งเป็นทั้งที่ว่าราชการ และอยู่อาศัยตามเอกสารนี้ จะเป็นอาคารทรงโรง (คือมีเฉนียงรอบ) ยกใต้ถุน ยาว 13 ห้อง มีมุขประเจิด (มุขเหยียบ) อยู่ทางด้านหน้า จินตภาพของอาคารตามที่กล่าวมานี้อยากจะชวนให้ลองนึกถึงศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณารามที่ชะลอตำหนักเจ้าพระขวัญในพระราชวังหลวงอยุธยามาถวายวัด เป็นระบบที่ไม่ต่างกันนัก ดังนั้นผู้เขียนจึงคิดว่าอาคารที่ปรากฏในแผนที่นี้ควรจะตั้งใจวาดจวนวังเจ้าเมืองสทิงพระนั่นเอง

3. รั้วไม้ระเนียดมีเสมาบังใบ ซึ่งน่าจะตั้งใจหมายถึงกำแพงไม้ล้อมรอบเมือง จากร่องรอยของคูน้ำคันดินที่เหลืออยู่ในปัจจุบันซึ่งใช้เป็นขอบเขตของตัวเมือง น่าจะมีการปักเสาไม้ระเนียดเป็นกำแพงโดยที่คันดินที่เหลืออยู่ทำหน้าที่เป็นเชิงเทิน และยันกำแพงไม้เอาไว้ด้านหลัง

 
ภาพมุมสูงวัดจะทิ้งพระ
 

วัศทิงพระ / วัดสทิงพระ

แผนที่แสดงสิ่งก่อสร้าง 2 หลังคือ

1. วิหารโถง ทรงโรงมีมุขประเจิด วิหารหลังนี้ไม่มีหลักฐานเหลืออยู่แล้ว วิหารทรงโรงมุขประเจิดที่อาจมีลักษณะ และขนาดใกล้เคียงกับภาพที่แสดงในแผนที่มากที่สุดน่าจะคือวิหารวัดจำปา อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี (โปรดดู)

2. เจดีย์ขนาดใหญ่มีวิหารทับเกษตรรอบฐานเจดีย์ มีระยะของเจดีย์แต่ละส่วนกำกับอยู่ถอดออกมาดังนี้

(ฐานรวมวิหารทับเกษตร) ยาว 7 วา

(องค์ระฆัง) กลมปริมณฑล 20 วา สูง 7 วา 1 ศอก

(บัลลังก์ ก้านฉัตร บัวฝาละมี) 3 ศอก 1 คืบ

(ปล้องไฉน) 6 วา

(ปลียอด) 4 วา

ความสูงจากฐานองค์ระฆังถึงยอด (ไม่รวมความสูงฐานเจดีย์ซึ่งน่าจะขาดหายไปคือ) 17 วา 4 ศอก 1 คืบ ฐานจัตุรัสกว้างยาว 7 วา น่าสังเกตว่าระยะไม่รวมฐานเจดีย์ที่ 17 วา 4 ศอก 1 คืบ ใกล้เคียงกับขนาดความสูงของพระมหาธาตุเจดีย์ที่เจ้าเมืองสทิงพระอาราธนาให้พระอโนมทัสสีก่อขึ้นมีความสูง 1 เส้นมาก (20 วา 1 เส้น) ขาดไปเพียง 2 วาเศษซึ่งอาจจะเป็นความสูงของฐานที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในแผนที่นั้นเอง

...แลเมื่อขณะพญาธรรมรังคัลกินเมืองสทิงพระ แลนิมนต์พระมหาอโนมทัสสี ให้ไปเอากระบวนพระมหาธาตุเจ้ามาแต่เมืองลังกา และมาก่อพระศรีรัตนมหาธาตุเจ้าสูงเส้นหนึ่ง และทำพระวิหาร พระธรรมศาลา แลทำพระวิหารอุโบสถแลกำแพงรอบ และสูงกำแพงนั้น 6 ศอก...

​เรื่องกัลปนาวัด จังหวัดพัทลุง แผนที่เมืองนครศรีธรรมราช จ.ศ.977 หน้าปลาย - หอสมุดแห่งชาติ

...แลเมื่อขณะพระยาธำรงกษัตริย์สร้างเมืองจะทิ้งพระ แลนิมนต์พระมหาเถรอโนมทัสสี ให้ไปเอากระบวนพระมหาธาตุมาแต่เมืองลังกา แลมาก่อเป็นพระศรีรัตนมหาธาตุสูงเส้น 1 แลทำวิหารแลทำธรรมศาลาแลอุโบสถแลทำกำแพงรอบ แลสูงกำแพงนั้น 6 ศอก…

พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช เลขที่ 3 – หอสมุดแห่งชาติ

 

วัดมหาธาตุเจดีย์พระเจ้าองค์ใหญ่ มหาธาตุนอกเมืองสทิงพระ

 

วัดจะทิ้งพระปัจจุบันเกิดจากการรวม 2 วัดเข้าไว้ด้วยกัน


...วัดนี้เดิมเป็นสองวัด มีกำแพงกั้นกลาง… มีพระเจดีย์ที่เป็นสำคัญ 2 องค์ องค์ย่อมต้นไม้ขึ้นพังไปบ้างแล้วนั้น มีเรื่องว่า #เมื่อนางชลธารากับทันตกุมารน้องชายเชิญพระสารีริกธาตุมาแต่ลังกาจะไปบรรจุพระมหาธาตุเมืองนครนั้น มาหยุดอาบน้ำที่บ่อจันทร์ซึ่งอยู่นอกวัด ทันตกุมารรับพระธาตุไว้ จึงเอาผ้าปูลงวางพระธาตุไว้ในที่ก่อพระเจดีย์นั้น นางพี่สาวมาเห็นจึงถามว่า "จะทิ้งพระเสียแล้วหรือ" เพราะฉะนั้นจึงเป็นชื่อสืบมาว่าจะทิ้งพระ... มีพระเจดีย์องค์ใหญ่เรียกว่าพระมหาธาตุ แต่เรื่องว่าเป็นสร้างภายหลัง คือว่าพระยาธรรมรังสรรสร้าง เมื่อจุลศักราช 799 ทูลขอพระครูอโนมทัสสี ที่ไปลังกาออกมาสร้าง เป็นรูปถ่ายมาจากพระเจดีย์ลังกา... (3)

นี่เป็นลักษณะของวัดจะทิ้งพระผ่านสายพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคราวเสด็จประพาสแหลมมลายู เมื่อ 2448 ทรงระบุว่าในปีที่เสด็จนั้นวัดสองวัด คือ วัดซึ่งมีเจดีย์อนุสรณ์ตำแหน่งที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วไว้ชั่วคราวเป็นวัดหนึ่ง และวัดซึ่งมี พระมหาธาตุ เป็นประธานเป็นอีกวัดหนึ่ง เพิ่งจะรวมเข้าด้วยกัน

เพลาวัดบางแก้ว (4) เอกสารสมัยอยุธยาซึ่งถูกเขียนขึ้นในครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 23 ได้ระบุชื่อวัด ชื่อตำแหน่งเจ้าอาวาส (หัววัด) ตำแหน่งมรรคนายกวัด และจำนวนกลุ่มข้าพระดูแลวัด ซึ่งทั้งหมดอยู่ในความควบคุมของคณะป่าแก้วพัทลุง ให้ข้อมูลที่ยืนยันเรื่องนี้ โดยแสดงรายละเอียดของวัดออกเป็นสองวัดคือ

วัดจทิ้ง พระครูวินัยธรรมเป็นหัววัด หมื่นธรรมเจดีย์เป็นนายเพณี มีข้าพระ 5 หัวงาน
วัดพระมหาธาตุพระเจดีย์พระเจ้าองค์ใหญ่ พระครูอมฤตย์ศิริวัฒธนธาตุ หัวคณะชุมนุมรักษาพระธาตุ ขุนธรรมพยาบาลเป็นนายเพณี มีข้าพระ 5 หัวงาน

หากพิจารณาร่วมกับพระราชหัตถเลขาฯ วัดจทิ้ง ก็คือวัดที่มีเจดีย์อนุสรณ์ตำแหน่งที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว ส่วนอีกวัดหนึ่งก็คือ วัดพระมหาธาตุ นั่นเอง

 

​พระมหาธาตุเจดีย์แห่งสทิงพระ


ตำนานพระมหาธาตุเจ้าสทิงพระ ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณ 2 ฉบับ ให้ข้อมูลใกล้เคียงกับพระราชหัตถเลขาฯ ว่ากษัตริย์สทิงพระนามว่า พญาธรรมรังคัล (อีกฉบับว่า พญาธำรงกษัตริย์) ได้อาราธนาให้พระมหาอโนมทัสสีเถระไปถ่ายแบบพระมหาธาตุเจ้า (เอกสารใช้คำตามศัพท์ช่างภาคใต้ว่า เอากระบวน) จากลังกา มาก่อพระศรีรัตนมหาธาตุเจ้าสูงเส้นหนึ่ง แลทำพระวิหาร พระธรรมศาลา พระวิหารอุโบสถ และกำแพงรอบวัดสูง 6 ศอก

ต้นฉบับตำนานไม่ได้ระบุปีที่เกิดเหตุการณ์นี้แน่ชัดว่าเกิดขึ้นในปีใด หากแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวระบุว่าเกิดในจุลศักราช 799 ตรงกับพุทธศักราช 1980 อย่างไรก็ตามตำนานระบุว่าการถ่ายแบบมานั้นได้สร้างเป็นเจดีย์สูง 1 เส้น คือราว ๆ 36 – 38 เมตร หากแต่พระมหาธาตุเจดีย์องค์ปัจจุบันมีความสูงเพียง 26 เมตรเศษเท่านั้น ทั้งลักษณะของพระเจดีย์ตั้งแต่ฐานตลอดยอด ก็ไม่ได้มีความสอดคล้องกับลักษณะของเจดีย์ในศรีลังกาสำคัญ ๆ ซึ่งควรจะเป็นหมุดหมายของการถ่ายแบบเลย แต่กลับแสดงลักษณะของเจดีย์พื้นเมืองที่มีคุณลักษณะหลายอย่างสัมพันธ์ตกค้างกับ Votive Stupa ที่พบในไทยร่วมสมัยกับยุคทวารวดี อีกทั้งหากพิจารณาภาพของพระมหาธาตุเจดีย์ที่ปรากฏในแผนที่โบราณจะพบว่าทั้งลักษณะและความสูงก็ไม่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะลักษณะของฐานพระมหาธาตุในปัจจุบันเป็นฐานจตุรมุข ไม่มีทับเกษตร หากแต่ฐานที่ปรากฏในแผนที่นั้นมีทับเกษตรล้อมรอบ

จึงคงเป็นคำถามอยู่ว่า หากอาศัยตำนานในเอกสาร พระมหาธาตุที่พระอโนมทัสสีก่อขึ้นในสทิงพระ เป็นมหาธาตุเดียวกับมหาธาตุแห่งวัดจะทิ้งพระในปัจจุบันแล้ว เกิดอะไรขึ้นกับเจดีย์องค์นั้นในห้วงเวลาระหว่างปี 1980 ตามตำนานจนมาถึงยุคของเรา ? การที่สทิงพระถูกทำลายอย่างย่อยยับโดยโจรสลัดสองครั้ง แต่ฟื้นตัวขึ้นใหม่ในกลางพุทธศตวรรษที่ 22 ทำให้รูปแบบของพระมหาธาตุเปลี่ยนไปหรือไม่ ? หรือปัจจัยอย่างความโกลาหลในภาคใต้ช่วงสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา และสงคราม 9 ทัพก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นไปในสทิงพระที่ส่งผลต่อเจดีย์องค์นี้หรือไม่ ?

และตำแหน่ง พระครูอมฤตย์ศิริวัฒธนธาตุ หัวคณะชุมนุมรักษาพระธาตุ ซึ่งสะท้อนถึงระบบการอภิบาลวัดพระมหาธาตุนี้ในสมัยโบราณและหายสาบสูญไปแล้วนั้น คำ “ศิริวัฒธน” ในตำแหน่งนั้น เกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไรกับ “ศิริวัฒนบุรี” หรือแคนดี้ ซึ่งมีสถานะเป็นเมืองหลวงของศรีลังกาตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 22 นั้น การฟื้นฟูสทิงพระขึ้นใหม่หลังจากศึกโจรสลัดจะทำให้เกิดการปรับปรุงระบบการอภิบาลวัดพระมหาธาตุ และมีการฟื้นความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนากับลังกาภายในบริบทของสทิงพระเองหรือไม่ ?

 

​มหาธาตุนอกเมือง : ร่องรอยเก่าแก่ก่อนความคิดเรื่องมหาธาตุกลางเมืองจะแพร่หลายในภาคใต้


หากพิจารณาจากภูมิศาสตร์ และแผนที่โบราณเราจะเห็นอย่างชัดเจนว่าตัววัดตั้งอยู่นอกขอบเขตของเมืองสทิงพระโบราณลงมาทางทิศใต้ พิจารณาร่วมกับเอกสารโบราณซึ่งสะท้อนสถานะของวัดว่าเป็นวัดมหาธาตุประจำเมืองที่ยังตั้งอยู่นอกเมือง ขณะที่พื้นที่ภายในขอบเขตเมืองสทิงพระปัจจุบันไม่มีร่องรอยของศาสนสถานทางพุทธศาสนาในรุ่นพุทธศตวรรษที่ 20 ลงมาอยู่เลย (มีการพบประติมากรรมทางพุทธศาสนามหายานขนาดเล็กหลายองค์ในเมือง)

เราอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นระบบของมหาธาตุสถูปดั้งเดิมซึ่งตั้งอยู่นอกเมือง ซึ่งเป็นการแบ่งแยกพื้นที่ชุมชน ออกจากพื้นที่เชิงศาสนาที่ต้องการความสงบ และบริสุทธิ์ ก่อนที่ระบบมหาธาตุกลางเมืองที่พัฒนาขึ้นในพม่าตอนล่าง และในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จะถูกส่งออกไปยังภูมิภาคอื่น ๆ เช่นที่พระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งเคยเป็นพระมหาธาตุนอกเมืองพระเวียง #จะได้กลายมาเป็นพระมหาธาตุกลางเมืองของเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยอยุธยา ภายใต้อิทธิพลทางวัฒนธรรมของอยุธยา เราคุ้นชินกับเมืองที่มีมหาธาตุในรูปของปรางค์ และเจดีย์เป็นหลักอยู่ภายในนคร แต่พระมหาธาตุแห่งสทิงพระดูจะยังสืบแบบแผนเก่าแก่ของมหาธาตุนอกเมืองนี้ไว้ได้จนกระทั่งเมืองสทิงพระได้เสื่อมโทรมลงไปคงเหลือเพียงคูน้ำคันดินในปัจจุบัน

 

เมื่อพระบรมธาตุเมืองนครถูกเชิญไปจากสทิงพระ


มีตำนานเกี่ยวกับสทิงพระอีก 2 เรื่อง อยู่ในลักษณะเรื่องเล่ามุขปาฐะซึ่งเท่าที่ได้สืบถามในการภาคสนามของผู้เขียนพบว่าไม่เป็นที่รับรู้กันแล้วถูกบันทึกไว้ในวิทยานิพนธ์ขององอาจ ศรียะพันธ์ (5) ผู้เขียนถือโอกาสเอามารวมไว้ในที่นี้สำหรับผู้สนใจจะได้ลองพิจาราณดู มุขปาฐะสองเรื่องนี้ยังอาจนำไปสู่คำถามที่น่าสนใจอีกประเด็นสองประเด็นในตอนท้าย

ตำนานพระบรมธาตุสทิงพระ จากคำบอกเล่าของเจ้าคุณภัทรศีลสังวร วัดมัชฌิมาวาส

“…เจ้าหญิงเจ้าชายแห่งเมืองนนทบุรี ชื่อเหมชาลากับเจ้าทนตกุมาร วันหนึ่งเมื่ออาณาจักรท่านทั้งสองถูกโจมตี พระราชบิดาจึงมีรับสั่งให้พระราชบุตรราชธิดานำพระธาตุลงเรือไปซ่อนไว้ที่เกาะลังกา เจ้าทนตกุมารกับนางเหมชาลา ได้ลงเรือที่นครศรีธรรมราช และไปถึงลังกา ต่อมาพระเจ้ากรุงลังกาได้ให้สองกุมาร นำพระธาตุกลับทันตบุรี ส่งกองเรือคุ้มกันไปด้วย เมื่อมาถึงสงขลาเรือแตก แต่พระธาตุไม่สูญหาย ถูกเก็บมาบรรจุไว้ในสถูปที่สทิงพระ…"
 

การอภิเษกของสองนคร กับการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช


...ครั้งหนึ่งมีสองนครคือสทิงพระ กับไชยา พระเจ้าแผ่นดินสทิงพระมีพระธิดารุ่นราวคราวเดียวกับพระราชบุตรแห่งไชยา พระแผ่นดินทั้งสองได้จัดการอภิเษกพระราชบุตรพระราชธิดา และสร้างเมืองกึ่งกลางระหว่างสทิงพระกับไชยา คือเมืองศิริธรรมนครให้ทั้งสองประทับ และเมื่อสร้างเมืองกึ่งกลางแห่งใหม่ศิริธรรมนคร ได้โปรดให้สร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุที่ได้มาแต่เมืองสทิงพระ ขบวนที่นำพระธาตุมาเป็นขบวนช้างด้วยเหตุนี้เมื่อสร้างเจดีย์เสร็จ จึงได้สร้างรูปช้างรายรอบพระเจดีย์ไว้ด้วย ครั้นแล้วก็ปล่อยช้างนั้นเป็นอิสระ ช้างนั้นก็เที่ยวไปโดยไม่มีผู้ใดทำร้าย...

ตำนานพระบรมธาตุสทิงพระในความรับรู้ของเจ้าคุณภัทรศีลสังวร มีความสอดคล้องหลายประการกับตำนานฉบับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับฟังมา อาจผิดกันโดยรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้นแต่ก็พอสะท้อนให้เห็นเค้าโครงของเรื่องเดิมที่คลี่คลายตัวไปตามกาลเวลา

หากแต่ตำนานมุขปาฐะท่อนหลังที่ว่าด้วยการอภิเษกของสองนคร และการอัญเชิญพระบรมธาตุจากสทิงพระไปประดิษฐานมหาสถูปที่เมืองนครนั้นกลับไม่เป็นที่รับรู้กันทั่วไปในพื้นที่แล้วในปัจจุบันนี้ อย่างไรเค้าโครงของเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันว่าด้วยการอภิเษกของสองนครนี้ได้ถูกบันทึกเอาไว้ในเอกสารเก่าแก่เล่มหนึ่งของโลกมลายูชื่อว่า ตารีค ปตานี (6)

ตารึค ปตานี เรียบเรียงขึ้นในปตานีโดย ชัยค์ ฟากิฮฺ อาลี บินวันมูฮัมหมัด บิน ชัยค์ ศอฟียูดดีน อัลอับบาส ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 20 เพื่อแสดงความเป็นมาของอาณาจักรปตานีนับแต่ก่อนการเกิดขึ้นของศาสนาอิสลามผ่านความทรงจำ และเอกสารต่าง ๆ ที่รวบรวมได้ในขณะนั้น โดยได้รับคำแนะนำจากชาวนครศรีธรรมราช ผู้นับถือศาสนาพุทธคนหนึ่งในการอรรถาธิบายความที่ยากแก่การเข้าใจของผู้เรียบเรียงที่เป็นชาวมุสลิม

ตารีค ปตานีกล่าวว่า หลังจากกษัตริย์ศรีวิชัยอภิเษกกับมเหสีที่ไชยาต่อมาก็มีโอรสองค์หนึ่ง ส่วนที่ 3 ของเอกสารกล่าวถึงเหตุการณ์การอภิเษกของสองนครว่า

...ต่อมาได้มีการอภิเษกสมรสกันระหว่างโอรสราชาศรีวิชัยกับพระธิดาราชาสันญูรา (สงขลา) การเลี้ยงฉลองมีขึ้นถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน เชิญแขกมาตั้งแต่เมืองจีน อินเดีย และปาเล็มบัง... มีการละเล่นกันสนุกสนาน #มีช้างจำนวนมากที่เป็นพาหนะบรรทุกสิ่งของเพื่อนำมาถวายพระราชา เป็นที่กล่าวกันว่าการอภิเษกสมรสกันครั้งนั้นช้างจำนวนมากไม่มีสถานที่จะผูกเลี้ยงไว้จึงได้หลุดหนีไป...

ในส่วนที่ 4 ของตารีค ปตานี กล่าวถึงการอภิเษกของสองนครอีกครั้งหนึ่งว่า พระธิดาของราชาสันญูรา (สงขลา) มีสิริโฉมงดงามยิ่ง เป็นเหตุให้โอรสของราชาลิกอร์ (นครศรีธรรมราช) มัวแต่เฝ้าเพ้อฝันถึงทั้งกลางวันกลางคืน จนทั้งบรรทมก็ไม่ได้เสวยพระกระยาหารก็ไม่ได้ ราชาลิกอร์จึงนำกองทัพบุกไปยังสันญูรา (สงขลา) เพื่อชิงพระธิดาของราชามาให้พระโอรสจนเกิดเป็นสงครามย่อม ๆ ที่กษัตริย์ศรีวิชัยยื่นมือเข้ามาช่วยสงบศึก


พระมหาธาตุเจดีย์วัดจะทิ้งพระ

แน่นอนว่าตำนานมุขปาฐะ กับที่ถูกบันทึกไว้ในตารึคปตานีซึ่งเก่าแก่กว่า แต่ก็บันทึกหลังจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นแล้วหลายร้อยปีนั้นไม่ตรงกันชนิดคำต่อคำ แต่เชื่อได้ว่าท่านผู้อ่านน่าจะมองเห็นสายสัมพันธ์จาง ๆ ของเรื่องราวจากทั้งสองแหล่งนี้ และกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ในที่นี้เราคงยังไม่ได้ใช้เรื่องราวที่ปรากฏในตำนานเหล่านี้ในฐานะเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงย้อนไปในประวัติศาสตร์อันแสนไกล หากแต่ใช้เพื่อตั้งข้อสังเกตในสองประเด็นคือ

1. สทิงพระมีโลกทัศน์ทางวัฒนธรรมของตนเอง และมีปรัมปราคติที่พัฒนาเรื่อยมาโดยไม่ได้ยึดโยง หรืออิงกับแม่บทตำนานของเมืองนครศรีธรรมราชในลักษณะผู้รับเพียงอย่างเดียว (โครงเรื่องว่าด้วยพระทนตกุมาร นางเหมชาลา แม้ว่าจะปรากฏอยู่ก่อนในทาฐาธาตุวงศ์ - ตำนานพระเขี้ยวแก้วลังกา แต่สทิงพระน่าจะรับเรื่องนี้ผ่านตำนานพระบรมธาตุนครมากกว่า) คำอธิบายอาทิพระบรมธาตุได้เคยประดิษฐานที่สทิงพระมาก่อนจะไปยังเมืองนคร (หรือตำนานท้องถิ่นบ้านสนามชัย ที่ว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกทรงตั้งทัพที่บ้านสนามชัย บนสทิงพระก่อนจะไปตั้งเมืองนครศรีธรรมราช) นั้นอาจชี้ให้เห็นร่องรอยของสำนึกที่พยายามจะอธิบายสถานะบางประการของแผ่นดินสทิงพระ และพระบรมธาตุแห่งสทิงพระในฐานะที่เท่าเทียม หรือเป็นรากเหง้าของความเป็นนครศรีธรรมราชในสมัยต่อมา

2. การอภิเษกของสองนครที่ปรากฏในตำนานมุขปาฐะ และเอกสารในโลกมลายู มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ความเชื่อมโยงของตำนานสะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงของความคิด และผู้คนระหว่างบนสทิงพระ กับโลกมลายูหรือไม่ ? มากแค่ไหน ? ก่อนคนชาติพันธุ์ไท และภาษาไทยจะหลั่งไหลลงมาจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ใครล่ะคือประชากรของไชยา ลิกอร์ สทิงพระ ?

นี่อาจจะเป็นโจทย์ที่น่าจะลองคิดกันต่อไปครับ

 

เชิงอรรถ


1. เพลานางเลือดขาว – การศึกษา “เพลานางเลือดขาว” ฉบับวัดเขียนบางแก้ว อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง : ชัยวุฒิ พิยะกูล

2. พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องเสด็จประพาสแหลมมลายูคราว ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) ที่ว่าการอำเภอจะทิ้งพระ วันที่ 25 มิถุนายน รัตนโกสินทรศก 124 – โครงการห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ https://vajirayana.org/

3. พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องเสด็จประพาสแหลมมลายูคราว ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) ที่ว่าการอำเภอจะทิ้งพระ วันที่ 25 มิถุนายน รัตนโกสินทรศก 124 – โครงการห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ https://vajirayana.org/

4. ตำราพระเพลาวัดบางแก้ว - การปริวรรตวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ ประเภทหนังสือบุด – ชัยวุฒิ พิยะกูล

5. รูปเคารพในพุทธศาสนามหายานก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 พบที่เมืองสทิงพระ - องอาจ ศรียะพันธ์ – วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2533

6. ประวัติศาสตร์ปตานี ชัยค์ ฟากิฮฺ อาลี – ตึงกู อารีฟีน ตึงกูจี แปล

 

งานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับแผนที่โบราณ


1. รายงานการวิจัยพุทธศาสนาแถบลุ่มทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันออกสมัยกรุงศรีอยุธยา - สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ น่าจะเป็นงานศึกษาเกี่ยวกับแผนที่ฉบับนี้งานแรก ๆ มีการตีพิมพ์ภาพลายเส้นของแผนที่แนบอยู่ด้านหลังรายงาน แต่ตัวเล่มรายงานเผยแพร่ในวงจำกัดสมัยนั้น http://wow.in.th/yydW

2. อู่อารยธรรมแหลมทอง คาบสมุทรไทย - ศรีศักร วัลลิโภดม เป็นหนังสือเล่มแรกที่มีการพิมพ์แผนที่ทั้งฉบับพับแทรกอยู่ภายในเล่ม โดยที่ผู้สนใจทั่วไปสามารถซื้อหาได้ง่าย

3. ศึกษาแผนที่ภาพกัลปนาวัดพะโคะ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา - ชาญณรงค์ เที่ยงธรรม วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยทักษิณเล่มนี้ทำการศึกษารายละเอียดที่ปรากฏในแผนที่ตั้งแต่ภาพวาด รายชื่อสถานที่ ร่วมกับการสำรวจเปรียบเทียบกับสถานที่จริง

4. พัฒนาการของพุทธศาสนาและกัลปนาวัดบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 - ชัยวุฒิ พิยะกูล ศึกษาและใช้แผนที่ในฐานะส่วนหนึ่งของหลักฐานอธิบายพัฒนาการทางพุทธศาสนาบนพื้นที่สทิงพระ

5. หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด : ศึกษาประวัติ คติความเชื่อ และผลกระทบที่มีต่อสังคมและวัฒนธรรมภาคใต้ - ชัยวุฒิ พิยะกูล ศึกษาร่องรอยของความเชื่อเกี่ยวกับหลวงปู่ทวดบนสทิงพระ และบริบท ทำความเข้าใจร่องรอยของจุดต่าง ๆ ที่เชื่อกันว่าเป็นที่ปักกลดหลวงปู่ทวดจนนำมาสู่ข้อเสนอว่าแผนที่โบราณนี้เขียนขึ้นโดยการนำสำรวจของสมเด็จพระราชมุนี หรือหลวงปู่ทวด

Comments


bottom of page