top of page
รูปภาพนักเขียนคิดอย่าง

เมื่อวิถีชาวสยามพบกับวิถีตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 4

อัปเดตเมื่อ 17 มิ.ย. 2565

สยามกับโลกใบใหม่

ความหลงใหล เรียนรู้ และทดลองผ่านสถาปัตยกรรม

 

"(สยาม)ในเวลาล่วงแล้วนั้น ไม่มีความกระด้างกระเดื่องว่าพวกจีนล่อลวงให้เสียยศ

จีนสั่งให้ไปก้องเมื่อไรก็ไปเมื่อนั้น ถูกลวงทั้งก้องทั้งซิ่ว”

 

พระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 4 นี้เป็นหนึ่งในภาพสะท้อนของชนชั้นนำสยามในช่วงเวลานั้นที่ไม่ได้มองประเทศจีนในฐานะมหาอำนาจที่ทรงบารมีอีกต่อไปนับตั้งแต่จีนได้สูญเสียสถานภาพของมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียให้แก่ตะวันตก และเป็นการปิดฉากพระราชนิยมตามอย่างจีนดังที่เคยทำมาในรัชกาลที่ 3 ไปโดยปริยาย พร้อมกับการเปิดรับตะวันตกในฐานะแม่แบบของมหาอำนาจใหม่


ช่วงเวลาดังกล่าวชนชั้นนำสยาม ได้เริ่มเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกด้วยความพิศวง สนใจจะเรียนรู้จากวิทยาการเหล่านั้น ในบันทึกของเซอร์ จอห์นบาวริ่ง หรือนักสำรวจชาวตะวันตกอย่างอ็องรี มูโอต์ ได้บอกเล่าพรรณนาถึงบ้านเรือนของเหล่าขุนนาง ไปจนถึงวังเจ้านายในขณะนั้นไว้ว่าเต็มไปด้วยเครื่องเรือนอย่างตะวันตก พร้อมทั้งเครื่องไม้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ จนวังทั้งหลายเหล่านั้นเปรียบเสมือนห้องทดลองขนาดย่อม เช่นความตอนหนึ่งในบันทึกของอ๊องรี มูโอต์ที่ได้รับการเชื้อเชิญจาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เข้าชมภายในพระที่นั่งของพระองค์


“...ภายในพระที่นั่งเหล่านี้จัดแต่งไว้ให้เป็นที่ประทับโดยสมบูรณ์ ทั้งตกแต่งด้วยเครื่องเรือนตามรสนิยมอย่างยุโรป เครื่องเคลือบเซรามิกจากทั้งตะวันตกและตะวันออก หิ้งหนังสือ เอกสารหลากภาษา แผนที่ภูมิศาสตร์ แผนที่โลกและลูกโลก เครื่องมือทางฟิสิกส์ กล้องโทรทรรศน์ ขวดโหลบรรจุชิ้นตัวอย่างทางธรรมชาติ ของที่ระลึกจากอังกฤษ เครื่องเรือนสัมฤทธิ์ และวัตถุราคาแพงๆ ชิ้นเล็กชิ้นน้อยนับพันๆชิ้น ... และสิ่งละพันอันน้อยจากกวางตุ้ง เครื่องเคลือบลงรักจากญี่ปุ่น ตุ๊กตาจิ๋วจากอินเดีย เครื่องแก้วบัคการาต์ หลอดแก้วทรงสูงสำหรับทดลอง กล้องถ่ายภาพ เครื่องถ่ายภาพ ข้าวของที่ผสมปนเป ดูจะสะท้อนความนึกคิดเยี่ยงสารานุกรมเดินได้แต่ค่อนข้างสับสนของพระผู้เป็นเจ้าของ...” -บันทึกการเดินทางของอองรีต์ มูโอต์



ชนชั้นใหม่รสนิยมใหม่


ในขณะที่ชนชั้นนำสยามกำลังเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก กลุ่มชนชั้นใหม่ที่ได้เริ่มก่อตัวขึ้นก็ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในสังคมสยาม คือกลุ่มชนชั้น “กระฎุมพี” หรือกลุ่มชนชั้นกลางพ่อค้าวาณิช เจ้าสัวคหบดี ที่เริ่มเติบโตจากการค้าเสรี ภายใต้สนธิสัญญาบาวริ่งและคนกลุ่มนี้ต่างก็ได้เริ่มประชันกันสร้างบ้านเรือนของตนด้วยสถาปัตยกรรมตะวันตกกระจายอยู่ทั่วพระนคร


สถาปัตยกรรมใหม่ความหมายใหม่


ความนิยมในอาคารและข้าวของอย่างตะวันตกในหมู่ชนชั้นต่างๆไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไม่มีที่มาที่ไปแต่เดิมมาสถาปัตยกรรมไทยเป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยจารีตและข้อห้ามต่างๆเพื่อแสดงความสูงต่ำทางสถานะของแต่ละบุคคล การกำกับที่ว่านั้นคือ ระเบียบทาง “ฐานานุศักดิ์” ในสถาปัตยกรรม การละเมิดหรือทำเทียมเจ้านายเพียงเล็กน้อย เช่นการใช้วัสดุมุงหรือเครื่องไม้อย่างดี อาจหมายถึงโทษกบฏได้


สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกจึงตอบโจทย์ชนชั้นใหม่ พ่อค้า เจ้าสัวที่มีฐานะแต่ไร้ยศศักดิ์ที่กำลังเติบโตขึ้น รวมถึงเหล่าขุนนาง ที่ต้องการเครื่องแสดงออกถึงความมั่งคั่งและบารมีของตนได้โดยไม่ถูกข้อบังคับของจารีตประเพณีในสถาปัตยกรรมแบบเดิม



บ้านฝรั่งแต่ช่างเจ๊ก


การสร้างบ้านเรือนอย่างตะวันตกในช่วงแรก ยังไม่มีการนำเอาช่างหรือสถาปนิกตะวันตกเข้ามาทำงาน การออกแบบและก่อสร้างทุกอย่างจึงเป็นการทดลองเรียนรู้ ลองผิดลองถูกโดยชาวสยามเอง รูปแบบส่วนมากมักเป็นการสังเกตจากบังกะโลของมิชชันนารี การจดจำจากอาคารในประเทศอาณานิคมใกล้เคียงอย่างสิงคโปร์ ไปจนถึงต้นแบบที่มาจากภาพบ้านเมืองในวอลเปเปอร์ที่ฝรั่งนำเข้ามาขาย


ในช่วงนั้นได้ปรากฏกลุ่มนายช่างสยามที่ทำงานอย่าง “ฝรั่ง” ที่ได้ฝากผลงานมากมายให้กับราชสำนักอยู่หลายท่านเช่น กรมขุนราชสีหวิกรม ผู้ซึ่งเป็นนายช่างออกแบบ หมู่พระอภิเนาว์นิเวศ และพระนครคีรีพระราชวังฤดูร้อนในสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เพชรบุรี


สถาปัตยกรรมที่เลือนหายไปกับกาลเวลา


บทสรุปของอาคารตะวันตกสมัยแรกในสยามนั้นส่วนมาก มักสูญหายไปตามความทรุดโทรม และปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือการละทิ้งของคนในยุคสมัยหนึ่งซึ่งมองว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่ขาดสุนทรียภาพเมื่อมองด้วยมาตรฐานสถาปัตยกรรมตะวันตกแท้ซึ่งเกิดขึ้นมาภายหลัง อาคารส่วนมากเหล่านี้จึงถูกรื้อถอนลงไปเกือบทั้งหมด

วังกรมหมื่นราชศักดิ์ขณะทำการรื้อถอน

Comments


bottom of page