top of page
รูปภาพนักเขียนคิดอย่าง

มหาสถูปบนเขาน้อยปลายคาบสมุทรสทิงพระกับความเสี่ยงที่จะพังทลายในเร็ววันนี้


ภาพถ่ายเมื่อปี 2563 ปัจจุบันมีการขุดไถเข้ามาถึงกว่านี้มาก


จากกรณีการรุกล้ำพื้นที่เขาน้อย และเขาแดง ที่ อ.สิงหนคร สงขลา ปลายคาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปีจนกระทั้งการขุดไถอย่างวินาศสันตะโรในปีนี้ บริเวณเขาแดงถูกขุดไถเป็นทางยาวเพื่อทำถนน มองเห็นได้ไกลจากเมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง กลายเป็นรอยแผลใหญ่บนเทือกเขาที่เป็นหัวใจสำคัญของภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมบริเวณปากทะเลสาบสงขลา


ที่เขาน้อย ซึ่งเป็นที่ตั้งของซากเจดีย์ขนาดใหญ่สมัยอยุธยา มีการขุดพบหลักฐานศิลปกรรมย้อนไปนับพันปีอยู่ภายใน ถูกขุดดินไปเป็นจำนวนมากไล่จากเชิงเขาขึ้นมาจนถึงระยะห่างเพียง 30 เมตรเศษก่อนถึงฐานโบราณสถาน ซึ่งเสียงต่อการเกิดดินถล่ม และที่เขาแดงหากเกิดดินถล่มโดยได้เกิดขึ้นแล้วบางส่วนจะส่งผลกระทบต่อชุมชนบ้านบ่อสวน ชุมชนที่มีทั้งไทยมุสลิม คนไทยอาศัยอยู่ร่วมกันที่ตั้งอยู่เชิงเขา ดินอาจถล่มลงมาฝังกลบหมู่บ้าน และเมื่อถึงหน้าฝนในไม่กี่เดือนข้างหน้า อาจเกิดดินถล่มครั้งใหญ่ ที่ชะเอาซากเจดีย์โบราณบนเขาน้อยนี้พังถล่มลงมาด้วย


ซากมหาสถูปปริศนา


สภาพปัจจุบัน


นอกจากซากฐานสถูปขนาดใหญ่ กับการขุดค้นพบกุฑุขนาดเล็กมีลายหน้าคนซึ่งกำหนดอายุย้อนไปก่อนยุคศรีวิชัย เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเจดีย์นี้มากนัก ฐานของเจดีย์ที่เห็นในปัจจุบันมีระบบฐานคล้ายอย่างชุดฐานตรีรถะแบบทวารวดี แต่ฐานที่เห็นนี้ไม่ได้เก่าแก่ขนาดนั้น มันเป็นงานสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 22 โดยการที่สถูป และมหาสถูปบนสทิงพระนั้นได้เก็บรักษาองค์ประกอบของเจดีย์แบบทวารวดีเอาไว้อย่างมหาศาล และคงรักษาเอลเมนต์หลายอย่างอาทิเจดีย์เอวคอดไม่มีบัลลัง มีหม้อน้ำที่ยอด เอาไว้ได้จนกระทั่งต้นรัตนโกสินทร์ก็ยังทำกันอยู่ รายละเอียดเรื่องนี้คิดอย่างอาจนำเสนอในอนาคตอันใกล้ หากงานศึกษาว่าด้วยชีวิตของเจดีย์ทวารวดีหลังยุคทวารวดีเสร็จโดยเร็ว ในที่นี้อาจจะขอนำเสนออย่างเร็ว ๆ เพื่อให้เห็นความสำคัญของเจดีย์บนเขาน้อยที่กำลังเผชิญวิกฤตการณ์ร่วมกับโบราณสถาน และผู้คนที่อยู่รอบ ๆ เทือกเขาปลายคาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งถูกขุดไถโดยคหบดี และนักการเมืองท้องถิ่น


เจดีย์นี้ถ้าสมบูรณ์น่าจะอยู่ยังไง เมื่อพิจารณาจากระบบฐาน และกรณีศึกษาเปรียบเทียบที่เขาพิพัทธสิงห์ ระบบการทำซุ้มปราสาทแนบฐานที่วัดเขียนบางแก้ว รูปทรงสัดส่วนของเจดีย์เอวคอดแบบลุ่มทะเลสาบสงขลานับแต่พุทธศตวรรษที่ 22 ลงมาซึ่งยังเหลือให้เห็นอยู่ไม่น้อย ออกมาเป็นแบบสันนิษฐานอย่างไว ๆ นี้


ภาพสันนิษฐาน


มันจะเป็นมหาเจดีย์ หรือมหาสถูปที่สูงกว่า 30 เมตรทีเดียว และเห็นได้ไกลจากทะเล และคงเป็นศูนย์กลางของการเคารพสักการะที่สำคัญแห่งหนึ่งของคนในลุ่มทะเลสาบย้อนไปหลายร้อยปีก่อน


แต่เอกสารเกี่ยวกับวัด และการกัลปนาในพื้นที่ลุ่มทะเลสาบสมัยอยุธยาตอนปลายเท่าที่เหลือมานั้นไม่มีเอกสารชิ้นไหนกล่าวถึงเจดีย์ใหญ่ที่เขาน้อยเลย เป็นไปได้ว่ามันคงพังลงมาก่อนยุคที่สุลต่านสุลัยมาน ชาห์ จะสถาปนานครรัฐซิงกอราขึ้น แล้วควบรวมเขาน้อยนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอาณาบริเวณเมืองซิงกอราของท่าน ดังที่เราพบว่าแผนที่เมืองซิงกอรา ซึ่งถูกเขียนขึ้นโดยเมอซิเยอร์เดอลามาร์นั้นแสดงให้เห็นการปรับฐานของเจดีย์นี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบเครื่องก่อล้อมเมืองซิงกอรา


มหาเจดีย์ หรือมหาสถูปนี้ จะสร้างโดยใคร เมื่อไหร่ สูญหายไปจากความทรงจำเมื่อไหร่ เรายังไม่ทราบแน่ชัด และอาจไม่มีโอกาสศึกษาให้แน่ชัดก่อนที่เจดีย์นี้จะพังทลายลงไปพร้อมดินถล่มจากการลักลอบขุดดินก็ได้


ภาพสันนิษฐาน


ท่านที่สนใจประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรมทั้งหลาย ได้โปรดช่วยจับตาดู และส่งเสียงตามที่ท่านเห็นสมควรต่อกรณีการลักลอบขุดดินที่เขาแดง และเขาน้อย ซึ่งคนสงขลาหลายภาคส่วนกำลังส่งเสียงผ่านสื่อในหลาย ๆ ช่องทางให้สังคมช่วยกันจับตาดู


อย่าให้คนที่ทำลอยนวน อย่าให้ผลกระทบที่เกิดกับเทือกเขาที่ปลายคาบสมุทรสทิงพระ และบริบทเกี่ยวเนื่องทั้งโบราณสถานก็ดี ชุมชนก็ดี ผู้คนก็ดี ถูกเพิกเฉยไปกับกระบวนการที่เชื่องช้า และอาจเอื้อประโยชน์ภายในของกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทยในยุคที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา


หากกรณีการลักลอบขุดดินที่เขาแดง เขาน้อย จบลงอย่างเงียบ ๆ และไม่มีใครต้องรับผิดชอบ วันนึงความเสียหายอาจเกิดขึ้นอีกที่ไหนก็ได้ อาจเป็นพื้นที่ที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์ชุมชนของท่านก็ได้



 

ขอบคุณข้อมูลภาคสนามจาก สามารถ สาเร็ม หนุ่มน้อยชาวซิงกอราผู้รักบ้านเกิด

ดู 77 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด

תגובות


bottom of page