ก่อนจะกลายมาเป็นบรมบรรพต : เกือบจะเป็นปรางค์สูงที่สุดในสยาม
อัปเดตเมื่อ 27 ม.ค. 2564
ภูเขาทองที่ไม่ทันได้เห็น หากสร้างเสร็จตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวควรจะเป็นอย่างไร ?
เกริ่นนำ
พระปรางค์ภูเขาทองของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สร้างเสร็จเพียงชั้นฐานแล้วตัวฐานเกิดทรุด จึงทิ้งร้างมาจนรัชกาลที่ ๔ ได้ซ่อมแปลงขึ้นเป็นภูเขาพระเจดีย์ดังปัจจุบัน คิดอย่างเกิดความสงสัยว่า หากภูเขาทองนั้นสร้างเสร็จเป็นปรางค์อย่างพระราชประสงค์แล้วจะเป็นอย่างไร จึงสืบเทียบองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมพระปรางค์สมัยรัชกาลที่ ๓ ออกมาเป็นแบบสันนิษฐานด้วยนึกสนุกนี้
...โปรดให้ขุดคลองต่อจากคูพระนครข้างเหนือวัดสระแกตรงไปทางตะวันออกอีกคลอง ๑ พระราชทานนามว่า #คลองมหานาค อย่างคลองทำนองเดียวกันกับที่กรุงเก่า ในครั้งนั้นโปรดให้สถาปนาวัดสระแกเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามใหม่ว่าวัดสระเกศ...
โปรดให้แต่งคลองมหานาคตอนริมวัดสระเกศ แลคลองเดิมหน้าวัดให้กว้างขวาง และทำเป็นเกาะหลายเกาะ #สำหรับเป็นที่ชาวพระนครประชุมเรือเล่นนักขัตฤกษ์ในฤดูน้ำ...
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริจะสร้างพระปรางค์ใหญ่ ให้มีในกรุงรัตนโกสินทร์อีก ๑ องค์ #เรียกกันว่าภูเขาทองมาแต่แรกสร้าง เพราะเหตุที่อยู่ใกล้คลองมหานาคเหมือนอย่างภูเขาทองที่กรุงเก่า... (1)
เมกกะโปรเจคที่สร้างไม่เสร็จ
...โปรดให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา ฯ (ทัด บุนนาค) เป็นแม่กอง ทำพระปรางค์ใหญ่องค์ ๑ ฐานไม้สิบสอง ด้านหนึ่งยาว ๕๐ วา ขุดรากลึกลงไปถึงโคลนแล้ว เอาหลักแพทั้งต้นเป็นเข็มห่มลงไปจนเต็มที่แล้ว เอาไม้ซุงทำเป็นและปูเป็นตาราง แล้วเอาศิลาแลงก่อขึ้นมาเกือบเสมอดินจึงก่อด้วยอิฐ ในระหว่างองค์พระนั้น เอาศิลาก้อนซึ่งราษฎรเก็บมาขายบรรจุลงไปจนเต็ม การก่อขึ้นไปได้ถึงชั้นทักษิณที่สอง ศิลาที่บรรจุข้างใน กดหนักลงไปจนและทรุดลงไปถึง ๙ วา อิฐที่ก่อหุ้มข้างนอกนั้น ก็แตกร้างรอบไปทั้งองค์ ของนี้ไม่ทลายก็เพราะทรุดกลางกดกันลงไป
พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา ฯ ให้ขุดดินริมฐานพระชัณสูตรดู ก็พบหัวไม้และระเบิดขึ้นมาหมด จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ขอแรงพระราชวงศานุวงศ์ แลขุนนางข้าราชการที่ตามเสด็จพระราชพระกฐิน ผู้คนยังพรักพร้อมกันอยู่ ให้ปักเสาหลักแพเป็นหลักมั่นกันข้างนอกให้แน่นหนาเป็นหลายชั้น กั้นฐานพระปรางค์ไม่ให้ดินถีบออกไป สิ้นไม้หลักแพหลายพันต้นแล้วก็จัดการก่อแก้ไขที่ทรุดหนักลงมาอีก ๓ วา เห็นว่าจะแก้ไขไม่ได้แล้ว ก็เลิกการนั้นเสีย จึงทำแต่การอื่นต่อไป... (1)
...อนึ่งพระปรางค์ใหญ่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นทีี่วัดสระเกศการไม่สำเร็จตลอดไป ทิ้งรกอยู่เป็นกองอิฐใหญ่ ราษฎรเรียกกันว่าภูเขาทอง #ถ้ามีข้าศึกศัตรูเอาปืนไปตั้งบนภูเขาทองนั้น ยิงระดมสาดเข้ามาในพระนครก็เห็นว่าจะรักษาได้เป็นอันยาก จึงโปรดให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษมเป็นคูพระนครชั้นนอกดั่งได้รับพระราชทานพรรณนานาความมาแล้ว แล้วจึงโปรดให้สร้างป้อมรายเป็นระยะตามฝั่งคลองส่วนในพระนคร... (2)
ในรัชกาลที่ ๔ โปรดให้แก้ไขพระปรางค์ใหญ่ ซึ่งค้างมาแต่รัชกาลที่ ๓ ทำเป็นภูเขาทองมีบันไดเวียนสองสายขึ้นถึงยอด แลบนยอดเขาก่อพระเจดีย์องค์ ๑ พระราชทานนามภูเขาว่า บรมบรรพต การยังค้างมาสำเร็จในรัชกาลที่ ๕ (1)
...จุลศักราช ๑๒๕๙ พ.ศ. ๒๔๔๐ มีผู้ขุดพระบรมธาตุของสมเด็จพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าในเนินพระเจดีย์เก่าที่เมืองกบิลพัสดุ์ ในมัชฌิมประเทศ... โปรดให้แห่มาประดิษฐานไว้ในซุ้มพระเจดีย์ ยอดบรมบรรพต เมื่อ ณ วันอังคาร เดือน ๗ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีกุญเอกศก จุลศักราช ๑๒๖๑ พ.ศ. ๒๔๔๒ มีมหกรรมการสมโภชแล้วโปรดให้หล่อพระเจดีย์น้อยตั้งไว้ที่บรรจุพระบรมธาตุเป็นสำคัญปรากฏอยู่จนทุกวันนี้... (1)
การอ้างอิงประกอบการสันนิษฐาน
ระยะ ระดับ องค์ประกอบของฐานพระปรางค์เดิม ใช้หลักฐานจาก
๑. รูปตัดภูเขาทอง จัดทำโดย มล.ชูชาติ กำภู และสว่าง ประภาวดี ซึ่งเป็นการประมวลข้อมูลจากการสำรวจเพื่อปฎิสังขรณ์บรมบรรพตครั้งใหญ่ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๔๙๘
๒. ภาพถ่ายเก่าในราวปี พ.ศ. ๒๔๐๔ - ๒๔๐๖ สันนิษฐานว่าถ่ายโดยปีแอร์ โรซิเยต์
๓. ภาพถ่ายเก่าในราวปี พ.ศ. ๒๔๐๘ โดยจอห์น ทอมสัน
๔. ภาพถ่ายเก่าที่เก็บรักษาอยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
๕. การสำรวจรังวัดร่องรอยของฐานพระปรางค์เดิมที่ยังปรากฏอยู่ที่บรมบรรพตในปัจจุบัน
ข้อมูลต่าง ๆ ได้สรุปเรียบเรียงลงในอินโฟกราฟิกนี้แล้ว ผู้สนใจสามารถโหลดไฟล์ความละเอียดสูงตามลิงค์ด้านล่าง ไปสำรวจติติงกันได้ตามอัธยาศัยครับ
#ว่าด้วยระบบโครงสร้างฐานราก โปรดดูเพิ่มเติม - รศ.สมคิด จิระทัศนกุล : อภิธานศัพท์ช่าง สถาปัตยกรรมไทย เล่ม 2 องค์ประกอบ "ส่วนฐาน"
(1) - ประวัติวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร - สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์
(2) - เทศนาพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เทศน์ถวายที่พระที่นั่งอนันตสมาคม
.
--------------------
--------------------
อนุญาตให้ใช้ข้อมูลได้ภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ - #โดยจะต้องแสดงที่มาของข้อมูลนี้ - #ไม่นำไปใช้เพื่อการค้า - #อนุญาตให้ดัดแปลงชิ้นงานได้ #โดยชิ้นงานที่ดัดแปลงจะต้องเผยแพร่ในเงื่อนไขเดียวกันกับต้นฉบับ_และแสดงที่มาของต้นฉบับนี้
.
พระบรมบรรพต_และทัศนียภาพกรุงเทพฯ จากบนภูเขาทองในสมัยรัชกาลที่ 4 : https://www.facebook.com/Arch.kidyang/posts/1694182083956661
Comentarios