ชวนอ่าน “สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในสยาม สมัยรัชกาลที่ 4 - พ.ศ. 2480"
อัปเดตเมื่อ 15 ม.ค. 2564
"ความเป็นสยามที่สร้างจากโครงสร้างแบบตะวันตก (เช่นสถาปัตยกรรมตะวันตก วัฒนธรรมตะวันตก และเศรษฐกิจเสรี) สิ่งที่สยามคิดว่าเป็นเพียงสัญลักษณ์ของความเจริญเท่านั้นในตอนแรก แต่ในที่สุดมันค่อยๆ กลืนกินความเป็นสยามดั้งเดิมไปหมด อย่างที่สยามก็ไม่อาจจะคาดคิดได้ แม้ว่าสยามจะปลอบใจตนเองในเรื่องวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเอง ที่คิดว่ายังมีอิทธิพลในจิตใจพลเมืองเหนืออารยธรรมตะวันตกอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว วัฒนธรรมเดิมที่เหลืออยู่เป็นเพียงสัญลักษณ์เดิมๆ ที่มีโครงสร้างแบบตะวันตกค้ำจุนอยู่เท่านั้น"
คำอธิบายปกข้างต้นที่ผู้เขียนยกมานี้เรียกได้ว่าน่าจะเป็น key สำคัญของหนังสือเล่มนี้ "สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในสยาม สมัยรัชกาลที่ 4 - พ.ศ. 2480" เขียนโดยศ.สมชาติจึงสิริอารักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ตลอดการทำงานและการสอนในห้องเรียนเกือบ 30 ปีไว้ในหนังสือสุดคลาสสิกเล่มนี้
เนื้อหาสำคัญในหนังสือจึงไม่ได้เป็นเพียงการรวมรวมแบบสถาปัตยกรรมและภาพถ่ายจำนวนมากของอาคารแบบตะวันตกในสยามเท่านั้น แต่ยังมีบทวิเคราะห์ที่หลักแหลม เฉียบคมสอดแทรกปรัชญาทางความคิดอันแสดงให้เห็นถึงความเข้าอกเข้าใจในรากเหง้า ที่มาของสถาปัตยกรรมแต่ละแห่งของผู้เขียนได้เป็นอย่างดีและมันก็ทำให้หนังสือเล่มนี้มีเสน่ห์มากทีเดียว
สถาปัตยกรรมตะวันตกในสยามเป็นเสมือน "สัญลักษณ์ทางสังคม" เป็นตัวแทนยุคสมัย เป็นประจักษ์พยานทางวัตถุที่สะทัอนให้เห็นถึง "ความโกลาหล" ของจิตวิญญาณของผู้คนในสังคมและนำมาซึ่ง "ความโกลาหล" ทางสถาปัตยกรรมอันเป็นผลมาจากการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตกต่อเนื่องมาจนถึงการล่าอาณานิคมของระบอบประชาธิปไตยที่กำลังตื่นตัวแล้วทั่วโลกในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี
คำถามสำคัญคือ...
ทำไมต้องรัชกาลที่ 4 - พ.ศ. 2480 ?
ผู้เขียนเฉลยให้เรารู้อย่างไม่อ้อมค้อมตั้งแต่ต้นเล่มว่า รัชกาลที่ 4 เป็นช่วงก่อเกิด คือมีปัจจัยทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจบีบบังคับให้เราจำเป็นต้องสร้างสถาปัตยกรรมตะวันตกขึ้นมา ทั้งที่จริงๆแล้วเรามีการก่อสร้างสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกอย่างเป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่สมัยอยุธยาโดยเฉพาะในรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ในยุคดังกล่าวไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นความจำเป็น
ในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น หน้าตาของอาคารแบบตะวันตกอาจจะไม่ได้สร้างความภาคภูมิใจอะไรให้เรามากนักเนื่องจากเป็นแบบเจ๊กปนไทยมากกว่าจะเป็นแบบฝรั่ง ลักษณะดังกล่าวส่งผลให้ในสมัยรัชกาลที่ 5 รัฐบาลสยามตัดสินใจนำเข้าสถาปนิกต่างประเทศจำนวนมากโดยคาดหวังว่าจะได้อาคารที่เป็นตะวันตกอย่างสมบูรณ์แบบ ประเทศที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ อิตาลีเนื่องจากไม่ใช่ประเทศเจ้าอาณานิคมที่สยามต้องระแวดระวังหรือหวาดกลัว แต่ด้วยความที่เจ้าของงานและผู้ใช้งานที่แท้จริงเป็นชาวสยาม อาคารส่วนใหญ่ในยุคนี้แม้จะมีรูปร่างหน้าตาแบบฝรั่งแต่ space ภายใน จังหวะ้และลำดับการเข้าถึงกลับคงลักษณะไทยไว้อย่างสะบัดไม่หลุด แม้จะเป็นการก่อสร้างอาคารหลังสุดท้ายในรัชกาลนี้ที่สร้างต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลที่ 6 อย่างพระที่นั่งอนันตสมาคมก็ตาม
ในสมัยรัชกาลที่ 6 กระแสการล่าอาณานิคมเริ่มเบาบาง แทนที่ด้วยการค่อยๆล่มสลายลงของระบอบกษัตริย์ที่เริ่มเกิดขึ้นทั่วโลก สถาปัตยกรรมตะวันตกในสยามยุคนี้จึงหันกลับไปหาหน้าจั่วหลังคาไทยอันแสดงให้เห็นถึงพระราชอำนาจของกษัตริย์ที่จำเป็นต้องเข้มข้น เข้มแข็งขึ้นนั่นเอง
ในสมัยรัชกาลที่ 7 ถือเป็นรอยต่อสำคัญอันเนื่องมาจากการที่สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ความเรียบเกลี้ยงของผนังและหลังคา การสร้างอาคารแบบโมเดิร์นจำนวนมากบริเวณถนนราชดำเนินเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของชัยชนะที่มีต่ออำนาจเก่า
ส่วนการที่ผู้เขียนเลือกปี พ.ศ. 2480 เป็นจุดสิ้นสุดการศึกษานั้น เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่าทัศนะต่อการสร้างสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกได้ลงหลักปักฐานแล้วอย่างมั่นคง รวมทั้งมันได้กลายเป็นวิถีชีวิตหนึ่งแล้วของสยามทุกชนชั้น ไม่ว่าชาวสยามจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว จะยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ตาม และมันทำให้เราได้เห็นภาพต่อเนื่องของการก่อเกิดและเติบโตของสถาปัตยกรรมตะวันตกในสยามจากมิติของอดีตมาจนถึงปัจจุบัน
หนังสือเล่มนี้ยังคงใช้ Timeline แบบเก่าคือใช้ประวัติศาสตร์ราชวงศ์เป็นตัวกำหนดยุคสมัยในการก่อสร้างสถาปัตยกรรม น่าคิดว่าหากลองใช้ตัวเลือกอื่นๆ อาทิช่างก่อสร้าง สถาปนิกวัสดุและเทคโนโลยีในการก่อสร้าง รวมไปถึงuser หรือตัวผู้ใช้อาคารเองมาเป็นตัวกำหนด Timeline ดูบ้างเราก็อาจจะได้เห็นมุมมองอะไรแปลกใหม่ที่น่าสนใจมากขึ้น อีกทั้งเรายังไม่ค่อยเห็นบรรยากาศของชาวสยามในชนชั้นอื่นๆ โดยเฉพาะชาวบ้านธรรมดาสามัญว่าพวกเขามีความรู้สึกต่อสิ่งแปลกปลอมใหม่นี้อย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังสือคลาสสิคเล่มนี้ได้กลายมาเป็นคลังปัญญาสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทยที่สร้างรอยต่อระหว่างอดีตกับปัจจุบันได้อย่างงดงามที่สุด เพราะคำถามที่จะผุดขึ้นมาหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบคือ แท้จริงแล้วสยามสร้างสถาปัตยกรรมตะวันตกขึ้นมาเพื่อหนีความเป็นไทยหรือรักษาความเป็นไทย และมันมีหน้าที่รับใช้อดีตหรือปัจจุบันกันแน่ และอีกประเด็นหนึ่งที่ชวนให้ขบคิดต่อเมื่อมองย้อนกลับมาในปัจจุบันคือ สิ่งที่เรียกว่า "น้ำยา" ของสถาปนิกคืออะไร "ช่างเขียนแบบ" หรือ "ปัญญาชน"
Comments