พระเวท อาคม เสียงกระซิบ และการกลายเป็นหนึ่งเดียวกับทิพยสภาวะของเจ้าผู้ปกครอง
อัปเดตเมื่อ 27 ม.ค. 2564
พระเวท อาคม เสียงกระซิบ และการกลายเป็นหนึ่งเดียวกับทิพยสภาวะของเจ้าผู้ปกครอง
"ข้าพระพุทธเจ้าขออนุญาตถวายพระเวท มัตติไนพุตตะไมยุนตาน... - เสียงถูกตัดไป"
นับแต่การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนารถบพิตรในปีพุทธศักราช 2493 ล่วงเวลามานานถึง 69 ปีจึงได้เห็นการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง พิธีกรรมแต่ละขั้นตอนถูกถ่ายทอดผ่านสัญญาณภาพและเสียงสู่โสตถ์ประสาทของผู้คนนับล้าน ทั้งที่คอยจับจ้องรายละเอียดที่ปรากฏผ่านรัฐนาฎกรรมอันสำแดงออกมาจากขุมคลังขนบธรรมเนียมอันเก่าแก่ ทั้งที่รอคอยรายละเอียดใหม่ ๆ อาทิพระนามแผ่นดิน #ปฐมบรมราชโองการ หรือการสถานปนาพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งเกิดขึ้นแทรกแซมอยู่ในระหว่างที่พิธีการดำเนินไป
ในท่ามกลางลำดับพิธีกรรมอันซับซ้อนและเต็มไปด้วยรหัสนัยจากอดีต สิ่งที่เกิดขึ้นในขั้นตอนหนึ่งที่ค่อนข้างแปลกและชวนให้ติดใจอยู่คือ #เมื่อกษัตริย์ทรงรับน้ำอภิเษกแล้วเสด็จขึ้นเถลิงภัทรบิฐ พระราชครูพราหมณ์ถวายบังคม กราบขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต #ถวายพระเวท พระเวทจากโอษฐ์พระราชครูพราหมณ์สะท้อนผ่านการถ่ายทอดอยู่ไม่ครบโศลกเสียงก็เงียบสนิทไป สัญญาณเสียงถูกตัดจนกระทั่งพระเวทจบลงจึงกลับมาเป็นปกติ
คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า #พระเวทที่พระราชครูพราหมณ์ร่ายถวายเป็นพระเวท ที่เชิญพระศิวะลงมาสถิตยังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามที่เชื่อว่าทรงเป็นสมมติเทพ เนื่องจากเป็นพระเวทที่กล่าวต่อองค์พระมหากษัตริย์จึงลดเสียงให้เบาลง เรียกพระเวทนี้ว่า #เวทสรรเสริญเปิดศิวาลัยไกรลาศ [1]
ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือด้วยนามอันเป็นที่สนิทใจคนไม่น้อยว่า #เชฟหมี เผยแพร่คำอธิบายต่อประเด็นพระเวทเปิดศิวาลัยไกรลาศในเฟสบุ๊คส่วนตัว ซึ่งภายหลังได้ถูกนำไปเผยแพร่ในข่าวหลายสำนัก และได้ขยายเป็นบทความลงในมติชนสุดสัปดาห์ในเวลาต่อมา [3] โดยอธิบายว่า #ทำเนียมการถวายพระเวทบทนี้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นไม่ปรากฏในอินเดีย น่าจะเป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นในวัฒนธรรมของเรา (คือราชสำนักไทย) เอง โดยพราหมณ์ไทยถือว่าพระเวทบทนี้สามารถเชิญพระเป็นเจ้าให้เสด็จลงมายัง ณ สถานพิธีได้จึงนับถือว่า #ศักดิ์สิทธิ์มาก ทว่าพระเวทที่กล่าวถึงอยู่นี้ ที่จริงแล้วไม่ใช่ พระเวท ในความหมายของคัมภีร์พระเวท (ฤคเวท สามเวท ยชุรเวท อาถรรพเวท) และไม่ใช่ภาษาสันสกฤต โดยอ้าง "#รายงานการสำรวจตำราพระราชพิธีพราหมณ์สยาม" งานศึกษาของพราหมณ์สุพรามัณยะ ศาสตรี [4] ที่ตรวจสอบพบว่า บทสวดที่เรียกว่าพระเวทดังกล่าวนั้นเป็น #บทสวดภาษาทมิฬ นักวิชาการด้านวรรณกรรมภาษาทมิฬให้ความเห็นเกี่ยวกับที่มาของบทสวดนี้หลายทาง โดยสรุปคือบทเปิดศิวาลัยไกรลาศนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของบทประพันธ์ชื่อ เทวารัม อันเป็นส่วนหนึ่งของบทกวีสรรเสริญพระศิวะขนาด 18,316 บท โดยบทเทวารัม ถูกประพันธ์โดยกวี 3 คนคือ ติรุชญานสัมพันธ์ ติรุสุนทรมูรติ และ ติรุนาวุกการาจารหรืออัปปาร์ โดยเนื้อหาของบทประพันธ์นี้เป็นการสรรเสริญพระศิวะ และสรรเสริญเขาไกรลาศที่ปรากฏในนิมิตของอัปปาร์เมื่อไปเยือนเทวสถานไอยารัปปาร์หลังหายจากโรคฝีในท้อง ผศ. คมกฤช เสนอว่าบทประพันธ์นี้คง #เป็นที่จับใจชาวทมิฬพลัดถิ่นเพราะกล่าวถึงการปรากฏนิมิตของพระศิวะและเขาไกรลาศตรงหน้า #จึงอาจเป็นที่มาของการใช้บทสวดนี้ในพิธีกรรมต่างแดน
จากข้อมูลข้างต้น เราพอจะเห็นเค้าโครงเลา ๆ ของการที่บทประพันธ์สรรเสริญพระเป็นเจ้าในอินเดียใต้ จะได้กลายมาเป็นอาคมอันศักดิ์สิทธิ์ และโดยเฉพาะต่อองค์พระมหากษัตริย์ผู้เถลิงภัทรบิฐในกาลบรมราชาภิเษก การได้ทรงสดับพระเวทนี้โดยสงบนิ่งและค่อย ๆ หลอมรวมเป็นหนึ่งกับพระเป็นเจ้าผู้ลงมาจากสวรรค์เป็นขั้นตอนอันสำคัญยิ่งยวดอันหนึ่งที่ปรากฏในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุก ๆ รัชกาลเรื่อยมา [5] และด้วยเหตุที่พระเวทนี้เป็นของสำคัญ เมื่อลองตรวจสอบจดหมายเหตุการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ ก็จะพบว่าเอกสารส่วนใหญ่แม้จะระบุคาถาต่าง ๆ ในการพระราชพิธีตามลำดับโดยตลอด แต่เมื่อเป็นพระเวทเปิดศิวาลัยก็จะปรากฏแต่ในฐานะขั้นตอนไม่ได้ปรากฏตัวบทสวดนั้นด้วย
ความลึกลับใด ๆ ในขั้นตอนพิธีกรรม แม้อาจเป็นส่วนที่ใช้เวลาสั้น ๆ ไม่กี่เปอร์เซ็นของห้วงเวลาพิธีกรรมทั้งหมด ก็เป็นองค์ประกอบอันสำคัญยิ่งยวดต่อการประกอบสร้างความศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมทั้งหลาย #การอภิเษกด้วยการเจิมน้ำมันเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุด ที่จะเปลี่ยนสถานะภาพของเจ้าผู้ปกครองอังกฤษให้เป็นกษัตริย์อย่างสมบูรณ์ทั้งทางโลกและทางจิตวิญญาณ ดังที่ทราบว่าแม้จะมีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธโดยตลอด แต่การเจิมน้ำมันก็ยังเป็นส่วนที่สงวนการแพร่ภาพเอาไว้ [6]
#ในการอภิเษกสุลต่านแห่งเปรัก หลังทรงรับราชกกุธภัณฑ์ทั้งหลายแล้ว #ดาโต๊ะศรีนราธิราช (Dato Sri Nara Diraja) [7] สมาชิกอาวุโสของราชวงศ์จะก้าวขึ้นมาบนพระแท่นที่กษัตริย์ประทับยืนรออยู่ และกระซิบถ้อยคำซึ่งเป็นความลับข้างพระกรรณ K.O.Winstedt ระบุว่าเสียงกระซิบที่สุลต่านทรงได้ฟังนั้นคือพระนามของ #วิชิตรัม กษัตริย์แห่งศรีวิชัยผู้เป็นเทือกเถาเหล่ากอของราชวงศ์เปรัก [8] เรายังเห็นการกระซิบนี้ถูกบันทึกอยู่ในการถ่ายทอดพิธีอภิเษก Duli Yang Maha Mulia Paduka Seri Sultan Negeri Perak XXXV สุลต่านแห่งเปรักองค์ที่ 35 [9] อย่างไรก็ดีถ้อยคำที่กระซิบนั้นมีเนื้อความโดยตลอดอย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนนัก จากวีดีโอถ่ายทอดสดเราเห็นว่าสุลต่านแห่งเปรักทรงชะงักงันไปครู่หนึ่งหลังได้ฟังถ้อยคำที่กระซิบจบ
#พระเทวราช สิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นแกนกลางของสถาบันกษัตริย์เขมรโบราณซึ่งแม้ปัจจุบันยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสถิตย์อยู่ในรูปเคารพแบบใด ได้ถูกสถาปนาขึ้นผ่านพิธีกรรมที่ใช้มนต์ 4 ประการ (พักตร์ทั้งสี่แห่งตุมพุรุ) คือ ศิรศเจตะ วินาศิขา สัมโมหะ และนโยตระ [10] โดยพราหมณ์หิรัณยทามะ พราหมณ์หิรัณยทามะได้สอนมนต์ทั้ง 4 ต่อพราหมณ์ศิวไกวัลยะ พระเจ้าชยวรรมเทวะที่ 2 มีโองการให้เฉพาะแต่ผู้สืบสกุลจากพราหมณ์ศิวไกวัลยะเท่านั้นที่จะสามารถเรียนรู้มนต์ทั้ง 4 และปฎิบัติบูชาพระเทวราชได้ [11] หากเชื่อตามจารึกเท่ากับว่ามีพราหมณ์เพียงสกุลเดียวในสมัยเขมรโบราณที่ทำหน้าที่ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดแห่งกษัตริย์เขมรโบราณ มนต์พิธีกรรมนี้อาจไม่เผยแพร่สู่สกุลอื่น และเป็นที่รับรู้รายละเอียดน้อยมาก
จากกรณีศึกษาข้างต้น #สถาบันกษัตริย์ดูจะเป็นใจกลางของความลึกลับทั้งหลาย โดยเฉพาะในพิธีกรรมที่เกี่ยวแก่ทิพยสภาวะและความเป็นกษัตริย์ ความลึกลับเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญมากอันหนึ่งที่ให้พลังกับสถานะของสถาบันกษัตริย์ในยุคจารีต กลับไปสู่ประเด็นของเปิดศิวาลัยไกรลาศ อย่างที่ทราบกันดีว่าราชสำนักสยามเมื่อเข้าสู่รัชกาลที่ ๕ ได้ปรับตัวจากขอบเขตอำนาจในยุคจารีตเข้าหานิยามอำนาจรูปแบบใหม่ที่มาจากการจัดการระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ที่เป็นสากล ความเป็นกษัตริย์ขยับมาสู่ขอบข่ายของจักรวาลทัศน์แบบวิทยาศาสตร์มากขึ้น อย่างที่แสดงออกผ่านการลดขนาดนาฎกรรมของรัฐเช่นงานพระบรมศพ พระศพ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงบุญญาบารมีที่สำคัญมาแต่โบราณให้มีขนาดเล็กลง การปรากฏพระองค์ในระดับที่ลงมาใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น ในกระบวนการปรับตัวนี้ทางหนึ่ง #จะส่งผลให้มนต์คาถาตั้งเดิมที่เคยถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ สงวนไว้เป็นพิเศษ ได้ลดระดับความสำคัญลงบ้างจนกระทั่งได้มีการจดบันทึก #และตีพิมพ์เผยแพร่บ้างหรือไม่ ? บางทีจากเอกสารที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ เราอาจจะค้นพบการตีพิมพ์เผยแพร่พระเวทเปิดศิวาลัยไกรลาศ โดยได้รับรองยินยอมจากราชสำนักเองก็ได้
ด้วยสมมติฐานนี้ คิดอย่างจึงลองพยายามตรวจสอบเอกสารจากห้วงเวลาช่วงกลางรัชกาลที่ ๕ เรื่อยมาเพื่อค้นดูว่าเราจะพอมีทางได้เห็นพระเวทอันลี้ลับนี้ได้หรือไม่ และโดยไม่ยากเย็นนักก็ค้นพบจริง ๆ (ที่จริงอาจจะเรียกว่าพบด้วยความบังเอิญระหว่างการรีเสิร์ชข้อมูลทำคอนเทนต์พระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งจะเผยแพร่เร็ว ๆ นี้)
พระเวทเปิดศิวาลัยนี้ คัดมาจากเอกสารจดหมายเหตุกระทรวงวัง ว ๑๗/๓๒ #เรื่องเฉลิมพระที่นั่งอนันตสมาคม ตีพิมพ์เผยแพร่ใน อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางจิตรา บำรุงราชบทมาลย์ ณ สุสานหลวง วัดเทพสิรินทราวาส [11] ภริยาของนายบำรุงราชบทมาลย์ มหาดเล็กในรัชกาลที่ ๖
เหตุที่การเฉลิมพระที่นั่งอนันตสมาคม (คือเปิดพระที่นั่งอย่างเป็นทางการ) #ได้ปรากฏพระเวทเปิดประตูศิวาไลย (ปรากฏ อนุฎุบศิวมนตร์ และอนุฎุบวิศณุมนตร์ ซึ่งสองบทนี้ก็ใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วยแต่ไม่ได้ดูดเสียง) เนื่องมาจากได้ใช้พระราชพิธีพราหมณ์อย่างเดียวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก [12] #ในจดหมายเจ้าพระยาธรรมาธิกรณทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้ปรากฏประเด็นเกี่ยวกับพระเวททั้ง ๓ ข้างต้นที่น่าสนใจ ดังได้คัดมานี้
"...ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายวิธีตั้งพระราชพิธีราชาภิเษก คำเปิดประตูศิวาไลยกับศิวมนตร์แลวิษณุมนตร์ซึ่งพราหมณ์ถวายมา ทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทด้วย
ตามคําชี้แจงการตั้งพระราชพิธีก็เข้ารูปเดียวกันดังเช่นที่เคยมาแล้ว แต่เมื่อไล่เลียงถึงต้นว่า สิ่งไรมาจากที่ใดด้วยเหตุผลประการใด ก็หามีผู้ใดอธิบายได้ไม่ แม้แต่คําที่เรียกว่า “สรรเสริญเปิดประตูไกรลาศ ฤา สรรเสริญเปิดประตูศิวาไลย”..
ที่ว่ายกอนุตุบถวายพระอิศวรครั้งหนึ่งถวายพระนารายณ์ครั้งหนึ่งนั้น ก็น่าจะเป็นคําถวายพระพรพระผู้เป็นเจ้าเมื่อได้ถวายเครื่องสักการ ที่ได้มาถวายแก่พระราชาก็สมมติเอาพระราชาเป็นพระผู้เป็นเจ้าทั้ง ๒ องค์ แต่พราหมณ์หาอธิบายว่ากระไรได้ไม่ เพราะฉนั้นจึงขอพระราชทานเรียนพระราชปฏิบัติ ถ้าหากว่าพระราชพิธีนี้จะมีการบกพร่องไปประการใด จะได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมไว้เป็นหลักฐานต่อไป ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม..." [13]
พระยาพจนปรีชา เป็นผู้คัดมนตร์ทั้ง 3 ตรวจสอบความถูกต้องกับพราหมณ์นำมาพิมพ์ลงดังนี้
---------------------
#เปิดประตูศิวาไลย [14]
---------------------
๑. มัตติไนพุตตะไมยุนตาน ตะมะตะไมยะราย พุดตานกะพางเหเห ฯ
๒. ตรีตระริกกะพันปิก อุตตะรีพันพุน คะติคะตา ติคะนาทิ ปุตตะยะมะปาว่ายเหเห ฯ
๓. หัตตะยมนะราวี นะอะรินทุคันติคะนาทิ ปุตตะยะมะ ปาว่ายเหเห ฯ
๔. มะตะยังนะตัง มะตินะมาไมยะราย พันปะยังปิอัง ตะนิตานะกะพางเหเห ฯ (เป่าสังข์ลา ๑)
๑. คุตายิมวาริวะรังคะลือ มะดุไทพระไม คะละไซยะ ฆะละตาน ระวะทอ คะนะดี เยนแอตตานวะดิเชนงะริคัม วะฆะลัมพะทินาน วุนเนตประคุมมะหอตตาทิวะยิตตะละนะฆัม ปะทิเยนคุตตะโรคะมุคังเงอ ฆะดิเขต ฆะละอิราตันนัตตุไร ฯ
๒. มุนิยัมสุมักแกอิขะมาขะแอตแตมินยานทะรุพะนุ อะรินฆะ ทิเยนอันยาม พะทิวัปปะ ทิเฆออะทิเยน เวตไตคุทุทักกีมุทักกี ทิตะนันยานคิตะวันแทนไน นิลิวะทะไน นะนุฆา นะตะทุระกะ วะทิตะรันเทอ วะทินันเยนมิณนะทิระตะฆะทิ เขตคะทิวะรัตตาน ณัตตุไร ฯ
๓. ภะนันรัตตะพักคองงัน ทาตะวันทะคุวินฆะไล ฆะละทุลัน วิแน อุมักคาฆะได ทินวายะลุนตาน วะทักกิงคะทิสะไล ทิวัตตุรุลิงพะนินตาน พะฆิตะคันทุเมอ ปุสะวะสะวะลิเพพะเมอ ตุฆันนิชุตุนคะไล คันทะวิตอัตทิเขต คะทิละวะรัตตาน ณะรัตตุไร ฯ (เป่าสังข์ลา ๑)
๑. คอคุไดละวันวิน ภูใดยินตะละมักเกอ ทะนะทุลัง คะวันละคันวัน เนยคุไดยิมนะรานพอนินดานระพะนินแดน ราวารุไต ตะเพ็ชตะคุไดตะพิริมาน พุรุเนอ เวียนพอมมาน นิวะนิน ฯ
๒. นิงทะนิแน ทอคุไดเมณลอนันลาวุม วะดิเยนพะรันยิมวิน ไลใดยอ ทะนะทุลังคะวันระคันวัน อุนพะรันคุมเคอ มุตตะ ลาเตอวะรุทือ เวณตะพิรัน ตะพิริมาน พุรุเมอ เวียนพอม มานนิวะนิน ฯ
๓. คุตตะลาไมวิตะมันมะมะอันแดนมุลิกุน ปะไวพะคะวัน คันนานพะนินแดน ตะนะทุลัง คะวันระคันวัน คัดคะลิเคิต คะลิใดยานคะลันใดยาน พุรุเพตตระพัตตะลุมตะพิริมาน พุรุเมอ เวียนพอมมาน นิวะระนิน ฯ (เป่าสังข์ลา ๑)
๑. พิตาพิไรชุทิพิริมาน ระณะวะรุรานเอตตาน มะระระวาน เทปะหะนิแนมะฆิงแต มะนัตตุไนเพนยานระพิเนอ เตนปาระ วิไนนันโลก รารุตตุไทยุน อาตายะยุนะตะกาลา ยิเรียนันแล นินลา ฯ
๒. พะนัมเยนพะนาลิม นิเทปปิงทิมมะนัตตุไรเพนยาน พิริเฌตติน พิริราฆาวารินเทตติน เวณยานระพิเนต เตนปาระวิใน นันโลก รารุตตุไทยุน อาตายะยุนะตะกาลา ยินิลันแลนินลา ฯ
๓. มินแนมะระแทปะฆิงแตน มะนัตตุไนพันแน นินทาแนไวรัมแม หะระทุมทือ มินนานระพิเนตเตนปาระวิไนนันโลก รารุตตุไทยุน มันนายะยุกะกาลา ยินิอะแลนิลา ฯ (เป่าสังข์ลา ๑)
---------------------
#อนุฎบศิวมนตร์ [15]
---------------------
อะวันนะคะสุวันนะคันนะคันนา วิจาวิจาระนํา คะตาคะตามะหาวันนํา มุตีมุติตํา สะระนิคะติตุโร สะระนิคะติตามา ลํา สะระนิวันนิคุนิยำ พากคา หะริโอมวิไชวิไชยะมาเทมหาไกรลาศ ปติมหาไกรลักขณาเข ๆ ปะตินิกคะนา สันนักคันนะรายยะ ปริยะมาระโธปะติยัมมะ สุปะริคะคันตุม ปะริทะรันโต ทะเย พะกุมปะริพะกุม ปะริปิตันยาเนยาเน สัตรูนาลำนาสลำไพ ยะตะลำไพ ยะมุใหมุให ยะกันนะกันนะกินเนกินเนลั่มพุนทะเรตเนตเตร จตุวะเตรสะซินละมาว สินเตรวะเตรมุตทัตตรัตทะระมัตทะคุมสัง (สทาเตรทะระมัตสัตรูวินาทสนัม มหะริโอมสวัสดิตินาทปตินาท บรมราชาปะติปาตาปะ) (เป่าสังข์ลา ๑)
---------------------
#อนุฎบวิศณุมนตร์ [16]
---------------------
สุกะริกะระทุกันโท สุดจาสุดจามิกกะระปะตัม ประสัมภาประภารัมประสำภาทิโรริกทิโรรัก ยักสักประถมยัก มะลิกกะตานุสาโท จันโมดทะโกฎทิวา ทิวาโสมะนะโชคคะโต โชคะตาอเนกคะนานาจันมะทะโกฎทะวา ทิวาโสมะนะโชดคะตา หิงคะเหราทิราโม ทิวิสิทธิยาปะระนิกุมปะระนิขัน สัตติทันบุญ ปะระนิคะสะรันนิสะแนบพะละจันละโทละทันปะรินามันทะลา พิริพรหมมาน นักขันนักอุราสวาอิสวาสุ สุนะคิรีศรี สัตตะละ สัตตะไนยะเน (หริโอมพรหมมานตะวิไลยละถิปาตระบรมราชา) (เป่าสังข์ลา ๑)
---------------------
จากที่สอบฟังเสียงบทสวดที่ถ่ายทอดคร่าว ๆ อนุฎบศิวมนตร์ และอนุฎบวิศณุมนตร์ นั้นถูกตรงกับที่ตีพิมพ์นี้เกือบทั้งหมด มีผิดคลาดกันเพียงคำสองคำเท่านั้น ส่วนเปิดประตูศิวาไลย เท่าที่มีเสียงให้ได้ยินประโยคสั้น ๆ ตอนต้นไล่ดูแล้วตรงกัน เอกสารจดหมายเหตุกระทรวงวัง ว ๑๗/๓๒ เรื่องเฉลิมพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งบันทึกมนตร์ทั้ง 3 บท เฉพาะเปิดประตูศิวาไลยที่อธิบายกันว่าเป็นของลึกลับนี้ดูเหมือนว่าสมัยหนึ่งซึ่งผ่านมาแล้วนั้นจะเป็นของซึ่งเป็นที่รับรองให้เผยแพร่ได้ และได้เผยแพร่มาแล้วนานถึง 42 ปี คิดอย่างเห็นว่าในเมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่น่าจะเป็นการเสียหายอะไรที่จะนำมาเผยแพร่ต่อเพื่อที่จะได้เกิดการศึกษาต่อไปอย่างกว้างขวาง
(อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ที่คิดว่าจะได้หยิบยืมมนตร์เหล่านี้ไปร่ายเองที่บ้าน การรู้มนตร์ทั้งหมด แต่ไม่รู้ทำนองและกลวิธีอ่านที่ถูกต้องโดยคติแล้วก็ไม่ถือว่ามนตร์สัมฤทธิ์ผลได้)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่อันท้าทายการปรับตัว และอย่างน้อยในรัชกาลของพระภัทรกษัตริย์ที่ล่วงมาก็เป็นประจักษ์พยานให้เห็นว่าทิพยสภาวะของกษัตริย์นั้นอาจแสดงออกได้ผ่านพระกรณีกิจ และวิธีการอื่น ๆ นานัปประการ ในประเด็นที่ว่าด้วยพระเวทอันลี้ลับนี้ หลายท่านคงเกิดความคิดต่าง ๆ กันไป การสงวนรักษา ความสนใจใคร่รู้ การตั้งคำถาม การสลัดอาภรณ์เก่า จะบาลานซ์และดำรงอยู่ร่วมกันอย่างไรคงเป็นประเด็นที่น่าขบคิดกันครับ
บท Pitha Pirai Soodi จาก บทประพันธ์ Thevaram เป็นบทที่มีเค้าโครงสัมพันธ์กับพระเวทบทสี่ 4 ในเปิดศิวาลัยไกรลาศ
---------------------
เชิงอรรถ
---------------------
[1] - พระราชครูถวายมนตร์ เสียงเงียบในช่วงถ่ายทอดพระราชพิธี - https://bit.ly/2GX2sD3
[7] - R. J. Wilkinson - Early Indian Influence in Malaysia
[8] - R. O. Winstedt - Kingship and Enthronement in Malaya
[10] - จารึกปราสาทสด๊กก๊อกธม 2 ด้านที่ 3
[12] - เอกสารจดหมายเหตุกระทรวงวัง ว ๑๗/๓๒ เรื่องเฉลิมพระที่นั่งอนันตสมาคม ตีพิมพ์เผยแพร่ใน อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางจิตรา บำรุงราชบทมาลย์ ณ สุสานหลวง วัดเทพสิรินทราวาส หน้า 43
[13] - เพิ่งอ้าง หน้า 43 - 44
[14] - เพิ่งอ้าง หน้า 47 - 49
[15] - เพิ่งอ้าง หน้า 50
[16] - เพิ่งอ้าง หน้า 51
Comments