อู่ตะเภา - คลองเชื่อมเส้นทางเมืองสงขลา - เมืองไทรบุรี (เคดาห์)
จากแผนที่นครศรีธรรมราช (Map 11) ในชุดแผนที่พบใหม่ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งตีพิมพ์อยู่ใน Royal Siamese Maps
อู่ตะเภา - คลองเชื่อมเส้นทาง สงขลา - ไทรบุรี (เคดาห์) ตอน ๑
จากแผนที่นครศรีธรรมราช (Map 11) ในชุดแผนที่พบใหม่ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งตีพิมพ์อยู่ใน Royal Siamese Maps เมื่อพิจารณาแผนที่ในบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลาเราจะการระบุถึงสถานที่ไว้ดังนี้
ป้อม - ป้อมดังกล่าวปัจจุบันยังปรากฏอยู่บนเขาแดงบริเวณใกล้ปากทะเลสาบสงขลา เป็นป้อมที่สร้างขึ้นสมัยเมืองสงขลาปกครองโดยสุลต่านสุไลมาน
ถ้าปอง ยังไม่ทราบว่าคือที่ไหน
เมืองสงขลา จากตำแหน่งที่เขียนน่าจะคือเมืองสงขลาที่แหลมสน เพราะฝั่งตรงกันข้ามเขียนว่า ค่ายบ่อยาง ซึ่งการย้ายเมืองสงขลาจากแหลมสนมาฝั่งบ่อยางเกิดขึ้นในสมัย ร. 3 แสดงให้เห็นว่าแผนที่ดังกล่าวเขียนขึ้นก่อนการย้ายเมืองสงขลาในสมัย ร.3
ฝั่งตรงข้าม คือฝั่งอำเภอเมืองสงขลาในปัจจุบัน บริเวณปากทะเลสาบสงขลา ระบุสถานที่ไว้คือ #ปากสงขลา#ค่ายท่าทราย#ค่ายบ่อยาง จากค่ายบ่อยางใช้เวลา #2 วัน เดินทางถึงเมือง จะนะ จากเมือจะนะในเวลา #วันหนึ่ง ถึงเทพา
จากแผนที่เราจะพบว่าเส้นทางจากค่ายบ่อยาง ใช้เวลาเดินทาง 1 วัน ( #วันหนึ่ง) ถึง #บ้านรัง ซึ่งเป็นเส้นทางที่เป็นแม่น้ำลำคลองเชื่อมต่อกับ #ทะเลน้ำจืด ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง ผู้เขียนเชื่อว่าแม่น้ำสายนี้คือ #คลองอู่ตะเภา ส่วน บ้านรัง น่าจะคือบ้านนารังนก ตำบลแม่ทอง อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองอู่ตะเภา หรืออาจจะคือบ้านหัวหรัง หรือ ท่าหรัง ที่อยู่ในตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (อย่างไรก็ตามในปัจจุบันบ้านหัวหรังไม่ได้อยู่ริมคลองอู่ตะเภา)
จากบ้านรังใช้เวลาเดินทาง 2 วัน (#๒วัน) ถึง #บ้านพะโตง ปัจจุบัน พะตงเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และคลองอู่ตะเภายังไหลผ่านอยู่ จากบ้านพะโตง ถึงด้าน #ประตูไทร#จากด่านประตูไทร ถึงค่าย #ตะพานสูง ใช้เวลาเดินทาง 5 คืน ถึงเมืองไทร
แผนที่ฉบับนี้ถือเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงให้เห็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรไทย - มาเลย์ จากเมืองสงขลาไปยังเมืองไทรบุรี บางหมู่บ้านปลายน้ำคลองอู่ตะเภามีเรื่องเล่าของชุมชนว่ามีบรรพบุรุษมาจากเมืองไทร มีญาติย้ายไปยู่เมืองไทร เดินทางไปเก็บข้าวที่บ้านญาติฝั่งเมืองไทร เมื่อครั้งอดีตบรรบุรุษเหล่านั้นคงใช้เส้นทางคลองอู่ตะเภานี้ในการไปมาหาสู่กัน
เผยเเพร่ครั้งแรก : https://bit.ly/3Hednc0
ที่มา - ลิขิตพระครูพิศาลฯ กับสังเขปคำชี้เจงผู้ว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราช เรื่องปฎิสงขรณ์วัดพระบรมธาตุ ร.ศ. ๑๒๘ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
อู่ตะเภา - คลองเชื่อมเส้นทาง สงขลา - ไทรบุรี (เคดาห์) ตอน ๒
เมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ห้ามีการบูรณะวัดพระบรมธาตุเมืองนคร พระครูพิศาลวิหารวัตร เป็นพระสงฆ์รูปหนึ่งในแกนนำการบูรณะครั้งนั้น ท่านมีภูมิลำเนาเดิมเป็นชาวไทรบุรี เมื่อได้เป็นผู้รับหน้าที่หลักในการบูรณวัดพระบรมธาตุเมื่อนครต่อจากพระครูปาลเทพมุนี ท่านได้ออกเดินทางเรี่ยไร่เงินสมทบการซ่อมพระบรมธาตุยังพื้นที่ต่าง ๆ ในภาคใต้ จากนคร ไป สงขลา พัทลุง ตรัง เทพา จะนะ รวมทั้งหัวเมืองมลายู เมือง ไทรบุรี เมืองปะลิด เมืองเกาะปีนัง เมืองเประ เมืองรามัน หนองจิก การเดินทางมีหลายครั้งในหลายเส้นทาง ผู้เขียนได้คัดบางส่วนของการเดินทางในปี รศ. 121 หรือ พ.ศ. 2445 ซึ่งข้อมูลเต็ม ๆ รอติดตามในนิทรรศการ Ligorian And The Great Stupa เนื่องในวันมาฆบูชา 2564 ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช
---------------------------------------
รายชื่อทายกที่โมทนาเงิน เข้าปฎิสังขรณ์ในวัดพระบรมธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ รศ. 111 มาจนถึง รศ. 126 จำนวนเงิน และคน
ออกจากแขวงเมืองนคร ได้มาพักที่ #วัดโดหอม เมืองสงขลา จีนแซ่งได้โมทนา 11 บาท 32 อัฐ รวมทายก 150 คน รวมเงิน 172 บาท 8 อัฐ (หมายเหตุเมืองสงขลา)
ออกจากวัดโดหอมมาพักที่ #วัดป่าขาด นายปิ่นได้โมทนา 5 บาท รวมทายก 190 คน รวมเงิน 251 บาท 32 อัฐ (หมายเหตุเมืองสงขลา)
ออกจากวัดป่าขาดพักที่ #วัดโอเภา นายสีเพ็ชรได้โมทนา 5 บาท รวมทายก 121 คน รวมเงิน 135 บาท (หมายเหตุเมืองสงขลา)
พักที่ #โคกเหรียง นายหนูได้โมทนา 8บาท 16 อัฐ รวมทายก 162 คน รวมเงิน 503 บาท 46 อัฐ (หมายเหตุเมืองสงขลา)
- เข้าไปยัง #เมืองไทรบุรี ได้พักที่ #ท่าหมุนตี นายคงได้โมทนา 5 บาท รวมทายก 165 คน รวมเงิน 1113 บาท 16 อัฐ (หมายเหตุเมืองไทรบุรี)
---------------------------------------
- วัดโดหอม น่าจะคือวัดประดู่หอม ปัจจุบันอยู่ในตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
- ป่าขาด น่าจะคือบ้านหรือวัดป่าขาด ปัจจุบันอยู่ในตำบลป่าขาด อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
- วัดโอเภา น่าจะคือวัดอู่ตะเภา (วัดเก่า) ปัจจุบันอยู่ในตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
- โคกเหรียง น่าจะคือบ้านโคกเหรียง หรือวัดโคกเหรียง ปัจจุบันอยู่ในตำบลโคกม่วง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา
- ไปยังเมืองไทรพักที่ท่าหมุนตี ยังไม่ทราบว่าคือที่ไหน
- จากชื่อวัด – บ้านที่ท่านพระครูพิศาลวิหารวัตร์ทำการจดบันทึก จะเห็นว่าเมื่อออกจากนครท่านเดินทางมาแวะที่วัดประดู่หอม ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลาซึ่งอยู่ไม่ไกลจากริมทะเลสาบสงขลา เดินทางต่อมาที่บ้าน – วัดป่าขาด จากนั้นมายังวัดอู่ตะเภา สันนิษฐานว่าท่านนั่งเรือข้ามทะเลสาบสงขลามาเข้าที่คลองอู่ตะเภา เพราะวัดอู่ตะเภาอยู่ริมคลองอู่ตะเภาในปัจจุบัน จากนั้นน่าจะล่องเรือต่อไปที่บ้านโคกเหรียงแล้วไปขึ้นที่บ้านท่าหมุนตีเขตเมืองไทรบุรี
เผยแพร่ครั้งเเรก : https://bit.ly/3UzHLRe
อู่ตะเภา คลองเชื่อมเส้นทาง เมืองสงขลา-เมืองไทรบุรี (เคดาห์) (3)
จากพระนิพนธ์ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช รายงานเสด็จหัวเมืองในแหลมมลายูฝั่งตะวันออกสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๗ เมื่อกว่า ๑๓๖ ปีมาแล้ว เมื่อครั้งเดินทางมาเมืองสงขลา และได้เดินทางมาที่วัดคูเต่าผ่านทางคลองอู่ตะเภา พระองค์ท่านได้บันทึกไว้ดังนี้
“ท้ายเกาะยอทางตะวันตกเฉียงใต้ มีคลองแห่งหนึ่งชื่อ #คลองอู่ตะเภา ปากคลองกว้างประมาณ ๔ วา น้ำลึกประมาณ ๒ ศอก ในลำคลอง ๒ ฟาก มีต้นไม้ชายเฟือย ต้นเหงือกปลาหมอ ปลงไข่เป็นต้น ในลำคลองน้ำลึกประมาณ ๕ – ๖ ศอก คลองลดเลี้ยวไปประมาณ ๑๐๐ เส้นเศษ มีสวนมะพร้าว สวนผลไม้ต่าง ๆ มีสวนส้มเป็นสวนวิเศษตลอดไปทั้ง ๒ ฟากคลองประมาณ ๒๐ สวนเศษ เป็นส้มจุก ซึ่งชาวกรุงเรียกว่า #ส้มการังตานู สวนเหล่านี้เป็นสวนไทยสักส่วนหนึ่ง สวนจีนทั้ง ๒ ส่วน มีบ้านเรือนตั้งประจำอยู่ที่สวนเป็นอันมาก ในคลองระหว่างสวนส้มนั้น มีวัดอยู่แห่งหนึ่งชื่อ #วัดสระเต่า มีศาลาที่พัก ๒ หลัง มีพระสงฆ์ ๑๗ รูป ที่ตรงมุมวัดนั้น มีคลองแยกไปทางตะวันตก ไปออกทะเลสาบอีกทางหนึ่ง เรียกว่า #คลองเกาะนก เป็นคลองกว้างออกไปทุกทีไปจนถึงกว้าง ๒๐ วา แต่ในตัวลำคลองอู่ตะเภานั้น ตรงไปทางเหนือปลายน้ำตลอดถึงแดนเมืองไทรบุรี”
ต้นเหงือกปลาหมอ คือ #ต้นหนามหมอ ยังคงพบได้ที่ปากคลองอู่ตะเภาทั้งสองฝั่ง
#ปลงไข่ คือต้นหน่อปง ในพื้นที่นิยมนำมากินกับน้ำชุบ(พริก)
#สวนไทย สักส่วนหนึ่ง #สวนจีนทั้ง ๒ ส่วน มีบ้านเรือนตั้งประจำอยู่ที่สวนเป็นอันมาก คือ บ้านจีน(บ้านคูเต่า) ม.6 ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับวัดคูเต่า ต.แม่ทอม อ.บางกล่ำ จ.สงขลาในปัจจุบัน
หลาย ๆ ท่านที่เคยได้ไปเยือนวัดคูเต่า คงมีโอกาสได้ชมภาพวาดจิตกรรมฝาผนังที่สวยงามภายในโบสถ์ หรือในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีจะมีตลาดนัด และจุดที่ไม่น่าพลาดนั่นคือสะพานแขวนที่ใช้ข้ามจากฝั่งวัดไปฝั่งตรงข้ามอันเป็นที่ตั้งของโรงพักคูเต่าหลังเก่า ซึ่งบริเวณสะพานเราจะพบว่าคลองอู่ตะเภาได้แยกออกเป็นสองเส้นทาง ทั้งสองเส้นทางสามารถออกสู่ทะเลสาบสงขลาได้ ทางที่ไหลไปทางทิศตะวันตกนั้นจะไหลไปออกทะเลสาบที่บ้านเกาะนก ม.4 ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาในปัจจุบันเส้นทางนี้ไม่มีบ้านคนอาศัยอยู่มากนัก ส่วนเส้นทางที่ไหลไปทางทิศตะวันออกนั้นมีการตั้งบ้านเรือนของผู้คนอยู่อย่างหนาแน่น ทั้งบ้านจีน บ้านควนเหนือ บ้านควนหัวสะพาน บ้านควน บ้านคตหม้อ (หมู่ที่ 7 ต.คูเต่า อ.หาใหญ่ จ.สงขลา) บ้านหัวทุ่งซึ่งปากคลองจะไปออกทะเลสาบสงขลาที่บ้านหัวทุ่ง ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
เมื่อคลองสามารถเดินทางจากทะเลสาบเข้ามาได้สองเส้นทางแล้ว เส้นทางใดกันที่มีความเป็นไปได้ว่าสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ฯ ใช้เดินทางมายังวัดคูเต่า จากบันทึกมีการระบุว่า #คลองลดเลี้ยวไปประมาณ ๑๐๐ เส้นเศษ หากใช้มาตราส่วนมาตรฐาน ๑ เส้นจะเท่ากับ ๔๐ เมตร ดังนั้นข้อความที่ระบุว่าจากปากทะเลสาบมาถึงวัดคูเต่ามีระยะประมาณ ๑๐๐ เส้น เมื่อเทียบกับมาตราส่วนแล้วจะได้ระยะทางประมาณ ๔ กิโลเมตร
ผู้เขียนได้ทำการวัดระยะทางโดยใช้โปรแกรม Google Earth พบว่าคลองที่ไหลไปทางทิศตะวันออกมีระยะทางประมาณ 4.5 กิโลเมตร ส่วนคลองที่ไหลไปทางทิศตะวันตกมีระยะทางประมาณ 5.30 กิโลเมตร ดังนั้นพระองค์ท่านจึงน่าจะใช้เส้นทางทางฝั่งตะวันออกเนื่องจากระยะทางมีความใกล้เคียงกับที่ระบุไว้ในเอกสาร อีกทั้งเส้นทางนี้ยังอยู่ใกล้กับเกาะยอมากกว่าเส้นทางตะวันตก ตรงตามข้อความที่ระบุว่า #ท้ายเกาะยอทางตะวันตกเฉียงใต้ มีคลองแห่งหนึ่งชื่อคลองอู่ตะเภา แต่เมื่อเดินทางกลับนั้น น่าจะใช้เส้นทางกลับทางฝั่งตะวันตก ดังบันทึก #มีคลองแยกไปทางตะวันตก ไปออกทะเลสาบอีกทางหนึ่ง เรียกว่าคลองเกาะนก เป็นคลองกว้างออกไปทุกทีไปจนถึงกว้าง ๒๐ วา
ชีวิวัฒน์เล่ม ๗ พระนิพนธ์ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช นับเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่มีการกล่าวถึงคลองอู่ตะเภาว่าสามารถเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรไทย-มาเลย์ จากสงขลาไปยังไทรบุรี (เคดาห์) ได้
เผยเเพร่ครั้งเเรก : https://bit.ly/3F6nNIj
Comments