top of page
รูปภาพนักเขียนสามารถ สาเร็ม

เรื่องอลวนของ “เหนียวลาหวาก” หรือ “เหนียวลาวะ”

อัปเดตเมื่อ 15 เม.ย. 2565



“เหนียวลาหวาก” หรือ “เหนียวลาวะ”[1] ขนมหวานชนิดหนึ่งของคนแขก[2]บ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทำจากข้าวเหนียวนึ่งสุกรับประทานคู่กับน้ำราดซึ่งมีส่วนประกอบหลักคือน้ำกะทิ น้ำตาลทรายหรือน้ำตลาดโตนด กวนรวมกับ สาคู ไข่เป็ดหรือไข่ไก่ เรียกว่า “น้ำลาหวาก”หรือ “น้ำลาวะ”


ผู้คนบนคาบสมุทรสทิงพระจะเรียกว่า “เหนียวหละวะ”(สมปราชญ์ อัมมะพันธุ ,๒๕๕๑)[3]แต่สำหรับบ้านหัวเขา ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาเรียกว่า "เหนียวลาวะ" และปรากฏว่าบางพื้นที่ก็เรียกสั้น ๆ เพียงคำว่า "ขนมหวาน" สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้เล่ม ๒ ขยายความเพิ่มเติมว่า ถ้าส่วนประกอบของน้ำกะทินั้นไม่มีสาคู และไข่ ก็จะไม่เรียกว่า "เหนียวหละวะ" แต่จะเรียกตามส่วนผสมหลักที่นำมาใส่ในน้ำกะทิ เช่นถ้าใช้ทุเรียนแทนเรียกว่า “เหนียวเรียน” (สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ,๒๕๔๒)[4] ส่วนที่รัฐยะโฮร์ของประเทศมาเลเซียมีขนมหวานที่น้ำราดทำจากกะทิ สาคู ไข่ ทุเรียน น้ำตาลทราย กวนรวมกันรับประทานกับข้าวเหนียวนึ่งสุกเรียกว่า serawa durian ( durian คือทุเรียน ) เช่นกัน[5]



serawa durian ที่รัฐยะโฮร์ประเทศมาเลเซีย ที่มาภาพ : https://bit.ly/3uGPHqj


และที่หมู่บ้านของ ชาวสงขลาพลัดถิ่น ที่บ้านสงขลา ตำบลตลาด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎรธานี ซึ่งเป็นลูกหลานของกลุ่มคนที่ถูกเทครัวไปจากเมืองสงขลาหัวเขาแดงหลังเแพ้สงครามให้กับกองทัพของอยุทธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[6] โดยคุณครูสะอาด ร่าหมาน อดีตข้าราชการครู นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของบ้านสงขลาให้ข้อมูลว่า


“…บ้านสงขลาเรียกว่า เหนียวลาวะ ทำด้วยกะทิ น้ำตาลทราย ไข่เป็ดหรือไข่ไก่ หัวหอม ตั้งไฟแล้วกวนให้เข้ากัน เเต่ไม่มีการใส่สาคูลงไป สันนิษฐานว่า ลาวะ น่าจะกร่อนมาจากคำว่า ลาวา หมายถึงสิ่งที่พุ่งออกมาจากภูเขาไฟเมื่อมันระเบิด อาจเป็นขนนมหวานที่เป็นของอินโดนีเซีย…”


วะนีเราะ เเม่ค้าขายขนมหวานของบ้านควน บางวันจะทำเหนียวลาหวากหรือเหนียวลาวะมาขายสลับกับขนมอื่นอื่น ๆ เช่นขนมคอม หัวมันหน้าเทะ และขนมเม็ดข้าว

ทั้งนี้เมื่อสมัยที่ผู้เขียนศึกษาอยู่ที่จังหวัดปัตตานีนั้น พบว่าคนนายู (มลายูมุสลิมปตานี) ในพื้นที่ก็มีขนมหวานที่มีชื่อเรียกใกล้เคียงกับ เหนียวลาหวาก หรือเหนียวหละวะของพื้นที่ลุ่มทะเลสาบเช่นเดียวกันเรียกว่า "ปูโละซาเวาะ" ( ปูโละ คือข้าวเหนียว ซาเวาะคือน้ำราด ) น้ำราดนั้นถึงแม้ทำจากกะทิเหมือนกันแต่ไม่ใส่ สาคู แต่จะใส่ขนุนลงไปแทน ทำให้มีกลิ่นหอมของขนุนเจือ ๆ อยู่


ผ่านมาหลายปีจนผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์โรฮาณีย์ ปูเต๊ะ อาจารย์สาขาภาษามลายู ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ปัตตานี ถึงเมนูขนมหวานชนิดนี้ อาจารย์ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า


“…ในภาษามลายูกลางนั้นมีคำว่า Serawa หมายถึงขนมหวานที่ทำจากน้ำกะทิเป็นหลัก ในปัตตานีเรียกว่า ซาเวาะ จะนิยมใส่ขนุน จำปาดะ ทุเรียน หรือกล้วยน้ำว้า ไม่ตายตัวว่าต้องเป็นผลไม้ชนิดไหนขึ้นอยู่กับฤดูการของผลไม้แต่ไม่พบว่ามีการใช้สาคูลงไปด้วย ถ้าใช้สาคูจะเรียกว่า บูโบ ( ขนมหวาน ) เช่น บูโบสาคู บวดสาคูในภาษาไทยถิ่นใต้นั้นเอง…”


ส่วนที่จังหวัดสตูลคุณ อลงกรณ์ อำมาตย์นิติกุล ซึ่งยังใช้ภาษามลายูถิ่นสตูลในชีวิตประจำวันให้ข้อมูลว่า

"...ที่บ้านของตน ตำบลฉลุง ตำบลเจ๊ะบิหลัง อำเภอเมือง มีขนมหวานที่ชื่อว่า ปูโลดซาวา ปูโลดหมายถึงข้าวเหนียว ซาวาคือน้ำราดทำจากกะทิ..."


และคุณฟารีดา ปังเเลมาปุเลามุสลิมที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้เป็นภาษาเเม่ที่บ้านเกตรี ตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูลให้ข้อมูลว่า


"...ที่บ้านเกตรีมีขนมหวานชื่อว่า ซาว๋าทุเรียน หมายถึงน้ำแกงทำจากกะทิใส่สาคู ใส่ทุเรียนลงไปทานคู่กับข้าวเหนียวนึ่ง...คำโบราญของหวานทุกอย่างจะเรียกสาว๋าหมด เช่น สาว๋ากล้วย (กล้วยบวชชี) สาว๋าคง สาว๋าหัวมัน สาว๋าเผือก สาว๋าทุเรียน ทุกสาว๋าจะต้องมีการใส่สาคูลงไปด้วยเสมอ..."


ซาว๋าทุเรียนที่บ้านเกตรี ตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ขอบคุณภาพจากคุณฟารีดา ปังเเลมาปุเลา


อย่างไรก็ดีพบว่าที่ภาคกลางของประเทศไทยก็มีขนมหวานที่มีชื่อว่า สละหวะ เช่นกันเป็นขนมหวานของชาวมุสลิมบางกอกน้อย นำเสนออยู่ในหนังสืออาหารในสำรับมุสลิมบางกอกน้อย เรียบเรียงโดย ศ.เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี โดยระบุข้อมูลว่า


“…ถ้าจะล้างปากกันด้วยขนมหวานจับใจก็ต้องเป็นสละหวะ ขนมชื่อแปลกนี้ปรากฏอยู่ในเสภาเรื่องขุนช้างชุนแผน สำนวนครูแจ้ง ตอนที่พลายชุมชลเปิดสำรับขนมว่า…”เอาไข่ไก่ทำใข่สละวะหวาน”(อ้างจากตำราแม่ครัวหัวป่าก์ เล่ม ๓ : ๑๑๖) สละหวะเป็นขนมหวานที่ทำง่ายทำกันบ่อย ๆ ใช้กล้วยขาหรือกล้วยน้ำว้าสุกฝานเป็นแว่น ๆ ลงในน้ำกะทิที่ละลายน้ำตาลมะพร้าว ตั้งไฟให้สุกแล้วใส่ไข่ที่ตีให้เข้ากัน อาจใส่ขนุนหั่น ๆ เป็นเส้น ๆลงไปด้วยก็ได้(วิธีทำกุศลศรี ตอเล็บ)…”[7]


สละวะ ของมุสลิมบางกอกน้อย ที่มา : ศ.เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี.อาหารในสำรับมุสลิมบางกอกน้อย (ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม).สละหวะ. ( หน้า ๑๒๘ )


ลาหวาก ลาวะ หละหวะ ซาเวาะ ร่วมราก Serawa(?)


ลาหลาก วาละ หละหวะ คำเรียกที่ใช้กันในกลุ่มผู้พูดภาษาไทยถิ่นใต้ของลุ่มทะเลสาบสงขลากับสละหวะคำเรียกของมุสลิมที่ใช้ภาษาไทยกลางบ้านบางกอกน้อย ผู้เขียนสันนิษฐานว่าเป็นคำที่กร่อนมาจากคำในภาษามลายูกลางว่า Serawa เพราะพจนานุกรมภาษามาเลย์ให้ข้อมูลว่า Serawa คือข้าวเหนียวนึ่งสุกรับประทานกับน้ำกะทิและน้ำตาล[8] มลายูถิ่นปตานีใช้ว่า ซาเวาะ และมลายูสตูลใช้คำว่า ซาราวะหรือซาว๋า อีกทั้งยังมีความร่วมกันคือใช้รับประทานกับข้าวเหนียวที่นึ่งสุกเหมือนกันถึงแม้ว่าน้ำราดจะมีการใส่ผลไม้ที่ต่างกันไปบ้างแต่ยังมีความร่วมกันในเรื่องของการใช้น้ำกะทิเป็นหลักอีกด้วย อย่างไรก็ดีพบว่าน้ำหละวะนั้นบนคาบสมุทรสทิงพระใช้รับประทานกับข้าวสังหยดใหม่ด้วยเช่นกัน (ไพฑูรย์ ศิริรักษ์ : ๒๕๕๓)[9]


เหนียวลาหวากหรือเหนียวลาวะที่บ้านควน ทานกับข้าวเหนียวขาวหรือจะทานคู่กับข้าวเหนียวดำก็ได้เเล้วเเต่ความชอบ สังเกตได้ว่าในภาพจะมีน้ำแกงข้น ๆ จากส่วนผสมของไข่และสาคู


“ออกปาก” เลี้ยงเหนียวลาหวาก


เหนียวลาหวากหรือเหนียวลาวะในหมู่บ้านของผู้เขียนนั้นพบว่าปัจจุบันนาน ๆ ครั้งจะมีคนในหมู่บ้านทำมาขาย บางครอบครัวก็ยังคงทำรับประทานกันภายในครัวเรือนบ้าง แต่เมื่อสืบค้นสอบถามญาติผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่านพบว่าในอดีตนั้นเหนียวลาหวากหรือเหนียวลาวะเป็นขนมที่ใช้เลี้ยงตอบแทนเพื่อนบ้านที่มาช่วยเหลือกัน กล่าวคือเมื่อมีกิจกรรมที่ต้องอาศัยแรงคนจำนวนมากในหมู่บ้านมาช่วยเช่น หามเริน (ย้ายบ้าน) ยกร่องอ้อย ยกเสาเอก เก็บข้าว ฯลฯ เรียกว่า ออกปาก ก็จะมีการนำเหนียวลาหวากเลี้ยงกัน


เมื่อสอบถามว่าเหตุใดจึงเลือกเลี้ยงด้วยขนมนี้ ญาติ ๆ ให้ข้อมูลว่าเพราะเป็นเมนูขนมหวานที่เราสามารถหาวัตถุดิบได้ง่ายภายในครัวเรือนหรือหมู่บ้านของเรารวมทั้งมีขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งอยากมากนัก ข้าวเหนียวยังทำให้อิ่มทอง ส่วนน้ำลาหวากหรือน้ำลาวะนั้นมีความหวานทำให้เป็นแรง รับประทานแล้วหายเหนื่อยได้


การทำพิธีนูหรี (ทำบุญ) ยกเสาเอก ที่หมู่บ้านของผู้เขียนบ้านควน หลังจากทำพิธีเสร็จจะมีการเลี้ยงเหนียวลาหวากหรือเหนียวลาวะ อันเป็นจารีตประเพณีท้องถิ่นที่สืบทอดกันมา

สูตรการทำ


สำหรับสูตร และวิธีการทำนี้ผู้เขียนสอบถามจากญาติผู้ใหญ่ซึ่งปัจจุบันยังคงทำรับประทานกันในครอบครัวบ้างเป็นบ้างครั้ง โดยมีส่วนผสมดังนี้ ข้าวเหนียว นำกะทิ สาคู ไข่เป็ดหรือไข่ไก่แล้วแต่ความชอบ เกลือ น้ำตาลทราย


มีวิธีการทำดังนี้ เริ่มจากนำข้าวเหนียวแช่น้ำประมาณ ๓ ชั่วโมง แล้วนำมานึ่งโดยมีเคล็ดลับว่าขณะที่นำข้าวเหนียวใส่ลังถึง ( รางครึ่ง ) จะต้องไม่มีการไปยัดข้าวเหนียวให้แน่น ๆ กันเพราะจะนำให้นึ่งไม่สุก เมื่อนึ่งสุกเป็นอันได้ข้าวเหนียวพร้อมรับประทาน ดั้งเดิมจะใช้การหุ้งข้าวเหนียวเหมือนกับหุ้งข้าวเจ้า ส่วนน้ำลาหวากเริ่มจากน้ำกะทิตั้งไฟให้กะทิพอแตกมันใส่น้ำตาลทราย เกลือ สาคู และไข่ลงไปโดยไข่จะต้องกวนให้ไข่แดงกับไข่ข้าวผสมกันก่อน หลังจากนั้นกวนให้เข้ากันเป็นอันเสร็จ รับประทานคู่กับขาวเหนียวนึ่งสุกได้เลย สำหรับข้าวเหนียวนั้นจะทานกับข้าวเหนียวข้าวหรือข้าวเหนียวดำก็ได้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความชอบสำหรับผู้เขียนจะชอบข้าวเหนียวขาวมากกว่าข้าวเหนียวดำ


เหนียวลาหวากหรือเหนียวลาวะในกะละมังของวะนีเราะ (ถุงทางขวาด้านบนกับถุงทางซ้ายด้านล่าง) ขายรวมกับขนมเม็ดข้าว ขนมคอม เเละหัวมันหน้าเทะ


สรุป

จากข้อมูลที่ยกมานำเสนอจะเห็นได้ว่าเหนียวลาหวากหรือลาวะมีชื่อเรียกต่างกันไปในแต่ละภาษา สำเนียงของผู้คนแต่ละพื้นที่แต่มีความเป็นไปได้ว่าเป็นขนมร่วมรากกันของผู้คนบนคาบสุมทรไทย - มาเลย์ หากพิจารณาจากชื่อเรียกผู้เขียนสันนิษฐานว่าเป็นขนมในวัฒนธรรมลายูหรือชาวมลายูเป็นผู้รังสรรค์คิดค้นขึ้น

สำหรับชาวสงขลาพลัดถิ่นที่บ้านสงขลาซึ่งถูกเทครัวไปจากสงขลาเมื่อปีพ.ศ.๒๒๒๓ มีขนมชนิดนี้ด้วย จะเป็นไปได้ไหมว่าขนมชนิดนี้ถูกนำไปจากสงขลา หากเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่าเหนียวลาหวากหรือลาวะในบริบทสงขลานั้นมีมาแล้วตั้งแต่ยุคสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ สมัยอยุธยา เพราะทั้งบ้านควน บ้านหัวเขา ซึ่งเป็นมุสลิมที่มีวัฒนธรรมเดียวกับมุสลิมบ้านสงขลาที่ยังอยู่ในพื้นที่ก็เรียกด้วยคำเดียวกันว่า “เหนียวละวะ”[10] และเป็นที่น่าสังเกตอีกว่าสำหรับมุสลิมบางกอกน้อยนั้นก็มีเรื่องเล่าของชุมชนว่าเป็นลูกหลานของเฉลยที่ถูกเทครัวไปจากยุคสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ ซึ่งปรากฏการมีขนมหวานชนิดนี้เช่นกัน


 

ขอขอบคุณ

อาจารย์โรฮาณีย์ ปูเต๊ะ อาจารย์สาขาภาษามลายู ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ปัตตานี

คุณครูสะอาด ร่าหมาน ชาวบ้านสงขลา ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎธานี

คุณสุกัญยา บิลใบ ผู้บอกสูตรตำรับเหนียวลาหวากของคนแขกบ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอ หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ห้องสมุด The Library At Nakorn

คุณธีร์ธนิน ตุกังหัน

อาจารย์ดร.เอกลักษณ์ รัตนโชติ

คุณยุทธนา จิตต์โต๊ะหลำ

คุณฟารีดา ปังเเลมาปุเลา

คุณอลงกรณ์ อำมาตย์นิติกุล



 

ที่มา

[1]สำหรับบ้านควนนั้นปัจจุบันพบว่าจะเรียกทั้งสองชื่อแต่จากการสอบถามผู้สูงอายุในชุมชนหลาย ๆท่านต่างให้ข้อมูลว่า ลาวะเป็นคำเรียกที่ดั้งเดิมกว่า ลาหวาก

[2]คนแขกเป็นคำเรียกตนเองของมุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาซึ่งใช้ภาษาไทยถิ่นใต้เป็นภาษาแม่ มีวิถีชีวิตที่มีวัฒนธรรมผสมผสานทั้งความเป็นไทยปักษ์ใต้ วัฒนธรรมมลายูและชวา

[3]สมปราชญ์ อัมมะพันธุ.(๒๕๕๑).แหลงใต้ ๑๙.วารสารรูสิมีแล,ปีที่๒๙(ฉบับที่๒),หน้า ๕๘

[4]สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. .(๒๕๔๒).ข้าวเหนียว:กรรมวิธีการปรุง.สุธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์(บรรณาธิการ),สารานุกรมวัฒนธรรมไทยถิ่นใต้ เล่มที่ ๒ (หน้า ๗๒๓)

[5] Serawa Durian สืบค้นได้จาก : https://bit.ly/3iNgBXt

[6] ...มีแขกมลายู ชื่อ มะระหุมปะแก อพยพครัวและพรรคพวกมาจากบ้านหัวเขาแดง ปากน้ำเมืองสงขลา มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ทุ่ง โฉลก ท้องที่อำเภอพุนพิน ซึ่งในเวลานี้เรียกนามว่า บ้านหัววัง ตั้งทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ สืบมาจนกระทั่งเจ้าเมืองไชยาว่างลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มะระหุมปะแกเป็นเจ้าเมืองไชยา" ดูใน ตำนานเมืองไชยาเก่า อ้างจาก - พระยาวิชิตภักดี (บุญชู) กับหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์เมื่อครั้งแผ่นดินกรุงธนฯ ถึงต้นแผ่นดินกรุงเทพฯ

[7]กุสุมา รักษมณี.อาหารในสำรับมุสลิมบางกอกน้อย (ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม).สละหวะ.(หน้า ๑๒๘).

[8] Seawa.Kamus Bahasa malayu .สืบค้นได้จาก : https://bit.ly/2VPwYdC

[9]ไพฑูรย์ ครูฑูรย์ ศิริรักษ์.ที่ไปที่มาของ "ข้าวสังหยด.สืบค้นได้จาก : https://bit.ly/3sqtDxh

[10]สัมภาษณ์คุณยุทธนา จิตต์โต๊ะหลำ ประธานชุมชนบ้านนอก (บ้านหัวเขา) สำหรับบ้านหัวเขานั้นเป็นชุมชนที่สืบทอดผู้คนมาจากยุคสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ ดังปรากฏหลักฐานชั้นต้นแผนที่เดอลามาร์ ที่วาดขึ้นหลังเมืองสุลต่านแพ้อยุธยาเพียง ๗ ปี มีการระบุบ้านเรือนอยู่ในแผนที่ฉบับนี้บริเวณบ้านหัวเขาอย่างชัดเจน สำหรับที่บ้านหัวเขาเรียกว่า เหนียวลาวะ ข้าวเหนียวนึ่งสุกทานกับน้ำราดทำจากกะทิ น้ำตาลทราย ไข่ไก่หรือไข่เป็ดและสาคูกวนให้เข้ากัน

Comments


bottom of page