จากชวาถึงสงขลา : กริชสกุลช่างสงขลากับการเข้ามาของดาโต๊ะโมกอล (ตอนที่ 1)
เร็ว ๆ นี้ ภายหลังที่มีการค้นพบจารึกภาษาชวาโบราณที่สลักไว้บนตาหนา-แลสัน ณ “สุสานหลวงสุไลมาน” ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ผู้เขียนได้กลับมาพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่ก่อนหน้านี้ยังคลุมเครือ การค้นพบโดยอัศจรรย์ใจนี้ ถือได้ว่าเป็น “ข้อต่อที่หายไป” (Missing jigsaws) ของประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของสงขลา หรือ Singora ที่จวบจนปัจจุบันเรายังมีข้อมูลเกี่ยวกับรัฐสุลต่านมลายูสงขลา (Sultanate of Singora) อยู่น้อยมาก และการศึกษาจากหลักฐานยังขาดความเป็นวิชาการอยู่พอสมควร
นอกเหนือไปจากการค้นคว้าเอกสารชั้นต้นที่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว การศึกษาจากหลักฐานอื่น ๆ อาทิ วัตถุพยาน เป็นสิ่งที่ควรนำมาพินิจประกอบด้วย ในประเด็นนี้ผู้เขียนมีความสนใจเกี่ยวกับ “กริช” ซึ่งหมายถึงมีดสั้นชนิดมี 2 คมประเภทหนึ่งในวัฒนธรรมชวา-มลายู ซึ่งประเด็นเรื่องกริชนี้ ผู้เขียนเป็นทั้งนักสะสมและผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกริชมาระยะเวลาหนึ่ง แต่ที่ผ่านมาแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับกริชในประเทศไทยนั้น อยู่อย่างจำกัดมาก ทฤษฎีเกี่ยวกับวัฒนธรรมกริชในประเทศไทยนั้นถูกพูดถึงครั้งแรกโดย อ. พิชัย แก้วขาว นักวิชาการท้องถิ่นชาวสงขลา ในราว ๆ 30 - 40 ปีก่อน ซึ่งในขณะนั้น อ.พิชัย ได้ทำการรวบรวมข้อมูลศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมการใช้กริชในพื้นที่ภาคใต้ คือ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ พบว่า มีกริชสกุลหนึ่งที่วงการกริชสากลยังคงตกสำรวจ โดยไม่ปรากฏในสารระบบของฐานข้อมูลวิชาการ กริชชนิดนี้ลักษณะด้ามและฝักภายนอกดูคล้ายคลึงกับกริชตะยง สกุลช่างปัตตานี (Keris Tajong) แต่ลวดลายบนด้ามกลับแกะเป็นลายไทยไม่ใช่มลายู และมีโครงสร้างที่เรียบง่ายแต่โบราณกว่ากริชตะยงปัตตานีมาก อ.พิชัย จึงสรุปว่า กริชชนิดที่ว่านี้ น่าจะมีความเก่าแก่กว่ากริชตะยงและเป็นบรรพบุรุษของกริชตะยงด้วย กริชดังกล่าวนี้พบหนาแน่นบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา และพัทลุง มีทั้งที่ด้ามทำจากไม้ งาช้าง และวัสดุโลหะบุ/ดุนขึ้นรูป ทั้งเงินและทองคำ โดยชาวบ้านเรียกกันอย่างสามัญว่า "กริชหัวนกพังกะ" เพราะด้ามมีลักษณะคล้ายหัวของนกกระเต็น (นกกินปลาชนิดหนึ่ง - Kingfisher) ดังนั้น อ.พิชัย แก้วขาว จึงตั้งกริชสกุลนี้เป็นสกุลใหม่ว่า “กริชสกุลช่างสงขลา” (Keris Songkla) ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ปรากฏในหนังสือ กะเทาะสนิมกริช แลวิถีชีวิตชาวใต้ตอนล่าง (2543)
ย้อนกลับไปเมื่อสมัยที่ อ.พิชัย ได้ค้นพบกริชสกุลช่างนี้ใหม่ ๆ ท่านยังฉงนสนเท่ห์ว่า เหตุใดจึงปรากฏกริชชนิดนี้ในบริเวรภาคใต้นี้และผู้ใช้กริชชนิดนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพุทธ (มุสลิมก็มี แต่น้อยกว่า) คำถามนี้นำไปสู่การค้นคว้าเพื่อหาคำตอบ ในที่สุด ท่านก็ค้นพบเงื่อนงำบางประการ (Clues) สืบย้อนและเกี่ยวโยงมายังประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลาสมัยเขาแดง หรือสมัยรัฐสุลต่านมลายูสงขลา-หรือ ก่อนหน้าสถาปนารัฐสุลต่านนั้น คือ ยุคของดาโต๊ะ โมกุล ในราวต้น ค.ศ. 17 ที่ท่านอธิบายในปี พ.ศ. 2543 ว่า
......ในสงขลาก็เช่นเดียวกันกับปัตตานี กล่าวคือ ดาโต๊ะโมกอล (ราชวงศ์โมกุล) ... อพยพไพร่พลหาที่ตั้งเมืองใหม่ เมื่อเดินเรือมาถึงหัวเขาแดง เห็นเป็นทำเลที่เหมาะสมจึงได้ตั้งเมืองขึ้นบริเวณนั้น เมื่อมีความเข้มแข็งขึ้น ก็สามารถปกครองคนพื้นเมืองดั้งเดิมได้ การเข้ามาปกครองบริเวณหัวเขาแดงของดาโต๊ะโมกอลนั้น ได้นำเอาวัฒนธรรมที่ตนชื่นชอบเข้ามาด้วย โดยเฉพาะการเหน็บกริชเมื่อจะเดินทางไปไหนมาไหน จึงเป็นอิทธิพลทำให้ค่านิยมในการใช้กริช แพร่ไปสู่ชนพื้นเมืองด้วย....... (หน้า 89)
อย่างไรก็ดี ควรบันทึกไว้ด้วยว่า กริชที่ปรากฏในสมัยดาโต๊ะโมกอล—หรือ ชาวโมกุลโพ้นทะเลที่เดินทางมาจากชวา (Java) ในเขตเมืองสาลัยนั้น แม้จะเป็นกริชเหมือนกัน แต่ลักษณะของกริชในสมัยสงขลาหัวเขาแดงนั้น ยังมีลักษณะแตกต่างกับกริชสกุลช่างสงขลาที่พัฒนามาถึงยุคสุดท้ายในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (ร.1-ร.4) อยู่บางประการ ทั้งนี้ อ.พิชัย แก้วขาว ได้สังเกตกลุ่มตัวอย่างกริชที่เก่าแก่มากปะปนกับกริชสกุลช่างสงขลาที่อายุห่างกันนับร้อย ๆ ปี กริชโบราณที่มีลักษณะคล้ายถึงกับกริชสงขลานั้น เรียกอย่างสากลว่า “กริชเจอริบอน” (Cirebon) ซึ่งเมืองเจอริบอนนี้ ตั้งอยู่ในเกาะชวา (Java) ทั้งนี้ กริชสกุลช่างเจอริบอน ด้ามจับมีกายวิภาควิทยา (Anatomy) คล้ายกับกริชสงขลาในทุก ๆ มิติ เว้นเสียแต่ลวดลายที่เป็นลักษณะอย่างชวา และไม่มีจมูกที่ยาวยื่นออกมาจนคล้ายนกพังกะ (นกกระเต็น) เท่านั้น แต่รายละเอียดอื่น ๆ กับตรงกันอย่างน่าใจหาย ทั้ง ปาก ฟัน ดวงตา นิ้วมือ ขา กำไล ร้อยกรองคอ และฐานบัวของด้ามที่แกะเป็นพระไภรวะ (พระศิวะปางดุร้าย) นั้นยังคงองค์ประกอบเหล่านี้มากว่า 300 ปีแม้จะลดรูปไปบ้าง แต่ก็ยังดูออกว่ารับอิทธิพล (Influence) มาจากกริชจากเมืองเจอริบอน ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะชวา
โดยกริชเจอริบอนนี้ ไม่พบที่อื่นใดเลยในคาบสมุทรมลายูในบริเวณใกล้เคียง ทั้งปัตตานี กลันตัน ตรังกานู เคดาห์ สิงคโปร์ แต่กลับข้ามมาพบเฉย ๆ และมีประชากรกลุ่มตัวอย่างกริชอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (significant) ที่สงขลา นครศรีธรรมราช พัทลุง และข้ามไปลุ่มเจ้าพระยา ทั้งอยุธยา ราชบุรี กรุงเทพฯ ไปจนถึงเพชรบุรี และกลุ่มประชากรกริชเจอริบอนดังกล่าวมีอายุเกินกว่า 300 ปีในช่วงต้นอยุธยาตอนปลายทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี กริชเจอริบอนที่พบในบ้านเรามีทั้งที่นำเข้ามาจากเจอริบอนแท้ ๆ และที่ในส่วนที่เป็นช่างท้องถิ่นทำตามลักษณะกริชเจอริบอน แต่ก็ยังจัดเป็นกริชอย่างเจอริบอนอยู่ อาทิ ด้ามกริชอย่างเจอริบอนที่พบที่บ้านสนามชัย ตำบลสนามชัย อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา แกะจากเขาควายเผือกอย่างเจอริบอน แต่ฝีมือช่างท้องถิ่น อายุหลายร้อยปี ภาพดังกล่าวนำเสนออยู่ในหนังสือ กะเทาะสนิมกริช แลวิถีชีวิตชาวใต้ตอนล่าง หน้า 79
เป็นไปได้อย่างไรที่กริชสกุลช่างหนึ่งจากเกาะชวาอันไกลโพ้น จะปรากฏกลุ่มประชากรอย่างมีนัยสำคัญที่สงขลา เมืองใกล้เคียง และลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐสุลต่านสงขลากำลังรุ่งเรืองหรือเสื่อมลงแต่อยุธยาก็ได้นำครัวชาวสงขลาบางส่วนย้ายไปยังอยุธยา เว้นเสียจะมี “กลุ่มบุคคลผู้มีอิทธิพลต่อแนวคิดราษฎร” นำเข้ามาและเผยแพร่จนกลายเป็นประเพณีนิยม ทั้งนี้ พัฒนาการของกริชเจอริบอนกลับไม่ได้สิ้นสุดไปกับการสูญสลายความเป็นรัฐสุลต่านของสงขลาเสียทีเดียว แต่ยังมีวัฒนาการสืบเนื่องไปอีกกว่าหลายร้อยปี จนถึงจุดสุดยอดและกลายมาเป็น “กริชสกุลช่างสงขลา” หรือ “กริชหัวนกพังกะ” ที่พบอย่างกว้างขวางในแถบภาคใต้ตอนกลางและล่าง รายละเอียดเหล่านี้จะขอนำมาเสนอในตอนต่อไป
ดั้งนั้น การค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างอักษรชวาที่สลักบนตาหนา/แลสันสุสานหลวง และการค้นพบกริชเจอริบอนยุคเก่าโบราณในสงขลานี้ กลับมาตรงและประจวบเหมาะกันอย่างประหลาด เพราะก่อนหน้านี้ล้วนเป็นการคาดเดาสันนิฐานของนักวิชาการและนักสะสมกริชโบราณเท่านั้น แต่การค้นพบที่ใหญ่ยิ่งนี้กลับได้สร้างน้ำหนักให้แก่แนวทฤษฎีวิวัฒนาการขงกริชสกุลช่างสงขลา ที่ อ.พิชัย แก้วขาว คิดค้นไว้เกือบ 4 ทศวรรษอย่างน่าอัศจรรย์ ฤาจะเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าจริง ๆ !
อ้างอิงภาพกริช : สุธิวงศื พงศ์ไพบูรย์.สมบูรณ์ ธนะสุข.พิชัย แก้วขาว.กะเทาะสนิมกริช เเลวิถีชีวิตชาวใต้ตอนล่าง.(๒๕๔๓).หน้า ๗๙.กรุงเทพ : กองทุนสนับสนุนการวิจัย
Comments