top of page
รูปภาพนักเขียนสามารถ สาเร็ม

ปัต : ขนมร่วมรากต่างศรัทธาผู้คนบนคาบสมุทรไทย-มาเลย์

อัปเดตเมื่อ 18 ธ.ค. 2565



ต้มขนมที่ทำจากข้าวเหนียว น้ำกะทิ เกลือ น้ำตาลทราย นำมาผัดให้เข้ากันอาจจะมีการใส่ถั่ว ลงไปผสม ห่อด้วยใบกะพ้อเป็นรูปสามเหลี่ยม ภาษามลายูกลางเรียกขนมในลักษณะเดียวกันนี้ว่า Ketupat ส่วนมลายูปตานีเรียกว่า ตูปะ เป็นขนมที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง


ต้มตามการเรียกของผู้คนที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ ตรงกับภาษามลายูกลางว่า Ketupat และมลายูปตานีเรียก ตูปะ และกลุ่มคนแต่ละวัฒนธรรมจะมีคติ ต้มตัวผู้ ต้มตัวเมียเหมือนกันอีกด้วยในภาพนี้เป็นต้มตัวผู้ของชาวมลายูมุสลิมในตัวเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช


ทั้งนี้มีความน่าสนใจอย่างหนึ่งในวัฒนธรรมของผู้คนตอนบนในเขตจังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช มีขนมที่เรียกว่า ปัต มีลักษณะเป็นแท่งยาว นิยมนำใบไม้ที่มีในท้องถิ่นมาใช้ห่อ เช่น ใบอ้อย ใบเตยหอม ใบจาก ใบลาน ใบมะพร้าว[1] ใบกล้วย[2]( มักใช้ส่วนของยอดใบที่อ่อน ๆหรือใบเพสลาด )ฯลฯ ซึ่งชาวมลายูปตานีบางพื้นที่ก็มีการทำเช่นเดียวกันเรียกว่า Ketupat Daun tebu ( Daun tebu มีความหมายว่า ใบอ้อย)[3]ส่วนที่ชวาภาคกลางนิยมห่อด้วยใบอ่อนมะพร้าวที่ประเทศอินโดนีเซียจะเรียกว่า Lepet[4] บางแหล่งข้อมูลระบุว่าในภูมิภาคมาเลย์และอินโดนีเซียจะเรียกขนมชนิดนี้ว่า Lepat ด้วยเช่นกัน[5] และที่บ้านหัวทาง จังหวัดสตูลเรียกว่า "ต้มมัดไต้"[6] ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่า ปัต น่าจะกร่อนมาจากคำว่า Lepet ภาษาชวาภาคกลาง หรือ Lepat ตามการเรียกในภาษามลายู นั่นเอง


ปัต ห่อด้วยใบอ้อยที่บ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา บ้านของผู้เขียนทำขึ้นเนื่องในวันรายาหรือออกบวช สำหรับใบอ้อยที่นำมาทำนั้นจะเลือกใบเพสลาด ใบที่ไม่อ่อนไม่แก่


Lepet ที่เกาะชวาภาคกลางประเทศอินโดนีเซียจะทำกันโดยทั่วไปในเทศกาลสิ้นสุดการถือศีลอด(อีดิ้ลฟิตรี)และช่วงเทศกาลอีดิลอัฎฮา เทศกาลเฉลิมฉลองตามหลักการทางศาสนาอิสลาม ที่มาภาพ : https://bit.ly/3WuCXOi


อย่างไรก็ดีพบว่าพจนานุกรมภาษาไทยถิ่นใต้ พุทธศักราช ๒๕๒๕ ของสถาบันทักษิณคดีศึกษา ได้เก็บความหมายของคำว่าปัตเอาไว้ว่า “…ปัด น.ข้าวปัด…” โดยขยายความว่าปัตมีที่มาจากคำในภาษามลายูคำว่า “…Petepat…” แต่จากการสืบค้นพจนานุกรม Kamus Nusantara Dewan Bahasa dan Pustaka Brunei พิมพ์ครั้งที่ 2 2003[7]และพจนานุกรม Kamus Bahasa melayu ของประเทศมาเลเซีย[8]ซึ่งเป็นพจนานุกรมภาษามลายูที่ถือว่าสมบูรณ์ที่สุด พบว่าไม่พบคำว่า Petepat ในพจนานุกรมทั้งสองฉบับ ดังนั้นข้อเสนอในพจนานุกรมภาษาไทยถิ่นใต้ พุทธศักราช ๒๕๒๕ ที่ว่าปัตกร่อนมาจากคำมลายูว่า Petepat จึงน่าจะคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง หรืออาจเกิดจากความผิดพลาดขณะจัดพิมพ์ต้นฉบับก็เป็นได้



สำหรับพื้นที่ที่พบการทำปัตนั้นนอกจากคาบสมุทรไทย - มาเลย์ ทั้งที่อยู่ในเขตประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย และเกาะชวาในประเทศอินโดนีเซีย จากการสืบค้นพบว่าชาวเขมรในจังหวัดสุรินทร์ก็มีการทำปัตเช่นกันแต่เรียกด้วยภาษาเขมรพื้นถิ่นว่า “อันซอมโดง” อันซอม หมายถึง ข้าวต้ม โดงหมายถึงมะพร้าว หรือแปลเป็นไทยว่า ข้าวต้มใบมะพร้าว[9]และภาคตะวันออกของประเทศไทยก็มีการทำปัตเช่นกันแต่เรียกว่า ข้าวต้มมัดไต้ โดยมีชาวยวนเป็นผู้นำวิธีทำข้าวต้มมัดไต้นี้มาเผยแพร่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย[10]


“อันซอมโดง” หรือ ข้าวต้มใบมะพร้าวของชาวเขมรที่จังหวัดสุรินทร์ จะใส่กล้วยลงไปด้วยต่างจากปัตของภาคใต้ที่ไม่ใส่กล้วยลงไป ที่มาภาพ : https://bit.ly/3KQy64Q


จากข้อมูลที่ยกมานำเสนอผู้เขียนเชื่อว่า ปัตของสงขลานั้นมีความสัมพันธุ์กับภูมิภาคมลายูและชวามากกว่าจะสัมพันธ์กับอันซอมโดงของชาวเขมรด้วยเหตุผลสองประการคือ ๑.ชื่อเรียกปัตที่สะท้อนถึงการเป็นคำเดียวกับLepat หรือ Lepat กับ ๒.วัตถุดิบกล่าวคือปัตของคนสงขลาและ Lepat Lepet ไม่มีการใช้กล้วยมีเพียงข้าวเหนียวซึ่งต่างจาก อันซอมโดงของชาวเขมรที่ใช้กล้วย แต่ก็มีความน่าสนใจที่ขนมชนิดนี้ห่อเหมือนกันอาจจะด้วยการใช้ใบของพืชที่มีลักษณะแบบเดียวกันคือเป็นใบไม้ที่มีลักษณะยาว เหมือนกันนั่นเอง


อีกทั้งพบว่าในกรณีของมุสลิมในวัฒนธรรมซิงฆูรา ซึ่งอาศัยอยู่รอบลุ่มทะเลสงขลาและที่อ่าวบ้านดอนบริเวณอำเภอไชยา อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะมีวัฒนธรรมบางอย่างที่มีรากเง้ามาจากวัฒนธรรมชวา อาทิจารีตคำเรียกเครือญาติ ด้วยเหตุนี้การทำปัตของคนกลุ่มนี้จึงยิ่งมีน้ำหนักที่สะท้อนให้เห็นเค้าลางความสัมพันธุ์กับทางชวาหรือมลายูได้อีกด้วย[11]

 

ปัตในบทเพลงเรือแหลมโพธิ์


จากการสืบค้นเอกสารเกี่ยวกับขนมที่ชื่อว่า “ปัต” พบว่าปรากฏอยู่ในบทร้องเพลงเรือแหลมโพธิ์ซึ่งเป็นเพลงที่ร้องกันในเทศกาลลากพระของชาวไทยพุทธในลุ่มทะเลสาบสงขลาตอนล่างที่ลากเรือพระไปชุมชุมกันที่หาดแหลมโพธิ์ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ เรื่องเพลงเรือแหลมโพธิ์จังหวัดสงขลา เรียบเรียงโดย สนิท บุญฤทธิ์ ชื่อว่าเพลงกล่อมเรือพระ นายสังข์ ไชยพูล เป็นทั้งผู้แต่งและแม่เพลง อาศัยอยู่ที่บ้านหนองม่วง ตำบลบางกล่ำ กิ่งอำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา ( ปัจจุบันคืออำเภอบางกล่ำ ) โดยมีนางสาวพะยอม อัมโร กับนางสาวจารุณี ยาวงษ์ บันทึกเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๒๕ มีคำร้องดังนี้


“…ลางบ้าง(บ้าน-ผู้เขียน)จัดแจงเหนียวเจ้าข้าวใหม่

ทำต้ม ทำปัด เข้ามาจัดกันไป

ฝูงคนไสวฉาวโฉโกลา…”[12]


เรือพระที่หาดแหลมโพธ์ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่มาภาพ : จากหนังสือบทความของ สนิท บุญฤทธิ์ เรื่องข้อสังเกตเเนวโน้มการประยุคต์ใช้เพลงเรือเเหลมโพธิ์ในปัจจุบัน พิมพ์ร่วมเล่มอยู่ใน วารสารทักษิณคดี ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑ เดือนตุลาคม-มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๕-๒๕๓๖ ลุ่มทะเลสาบสงขลา : วัฒนธรรมเเละการพัฒนา


ปัต ขนมงานบุญร่วมราก ต่างศรัทธาของผู้คน


จากข้อมูลภาคสนามของผู้เขียนรวมถึงจากการสืบค้นจึงพอจะสรุปได้ว่า ชาวไทยพุทธเช่นในพื้นที่ของอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวไทยพุทธที่ลุ่มทะเลสาบสงขลาตอนล่าง (หมู่บ้านแถบปลายน้ำคลองอู่ตะเภา) จะทำ ปัต ในงานบุญประเพณีลากพระจัดขึ้นหลังออกพรรษาหนึ่งวัน

ทั้งนี้ยังพบว่าชาวไทยพุทธที่บ้านเขาใน ตำบลเชิงแส อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลามีการทำ ปัต ในงานบุญวันว่างหรือว่างเปลวเช่นกัน คือการทำบุญให้บรรพบุรุษในเดือน ๕ ตามปฏิทินจันทรคติส่วนคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลาบางพื้นที่เช่นที่หมู่บ้านปลายน้ำคลองอู่ตะเภาจะทำปัตในงานบุญประเพณีเช่น


๑.วันรายา หรือ วันออกบวช (สิ้นสุดการถือศีลอด)

๒.การทำบุญกุโบร์ หรือนูหรีกูโบร์ คือการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับจะทำใน ช่วงเดือน ๕ - ๗ ตามปฎิทินจันทรคติ

๓.ทำบุญมูโลด (เมาลิดนบี) คือการทำบุญวันเกิดให้กับนบีมูฮัมหมัด ในช่วงเดือนรอบีอุลเอาวาล เดือนลำดับที่สามตามปฎิทินอาหรับ


ทั้งนี้คนนายู ( มุสลิมพูดมลายูปตานี ) บางพื้นที่ก็มีการทำเช่นเดียวกันในเทศการ ฮารีรายอ (สิ้นสุดการถือศีลอด)


ปัต แขวนพระลากของวัดแห่งหนึ่งจากอำเภอปากพนัง ลากมายังวัดพระธาตุนครผู้เขียนถ่ายภาพเมื่อปีพ.ศ.๒๕๖๓ คุณโกมล พันธรังษี อยู่ที่บ้านสวนตก ตำบลเกาะทวด อำเภอปากพนัง ให้ข้อมูลว่าที่อำเภอปากพนัง "...ปัตก็เรียก ต้มก็เรียก ดั้งเดิมจะทำในช่วงทำบุญออกพรรษาเป็นหลัก แต่ปัจจุบันทำกันทุกงานบุญ..."



 

วิธีการทำปัต


ข้อมูลการทำปัตของคนเเขกบ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จะทำปัตโดยใช้ใบอ้อยนำมาห่อเลือกใบเพสลาด ( ใบที่ไม่อ่อนไม่แก่ ) เมื่อได้มาเเล้วล้างทำความสะอาด ปัตหนึ่งอันจะใช้ใบอ้อยเพียงใบเดียวในการห่อ โดยม้วนโคนใบไปที่ส่วนปลายใบ มีลักษณะเหมือนเรือ ยาวประมาณ ๖ นิ้ว นำข้าวเหนียวที่ผัดกับกะทิที่เตรียมไว้แล้วใส่ลงไปตามขนาดของใบที่ทำไว้ แล้วพับใบอ้อยส่วนบนปิดให้สนิทใช้ใบกะพ้อที่ฉีกไว้เป็นเส้น ๆ นำมามัดพันตลอดตัวปัต แล้วนำไปต้มให้สุก







 

สรุป

ปัต ขนมที่ห่อด้วยใบพืชให้มีลักษณะเป็นรูปกลมยาว ทำจากข้าวเหนียวเป็นขนมท้องถิ่นที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมากเพราะสะท้อนถึงการมีคติร่วมกันของผู้คนในอุษาคเนย์ได้เป็นอย่างดี กล่าวคือเป็นขนมที่พบในกลุ่มคนหลายวัฒนธรรม เป็นขนมงานบุญที่ทำขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ที่มีความหลากหลายของชื่อเรียก และใบของพืชที่นำมาห่อ


 

หมายเหตุ


บทความชิ้นนี้เลือกใช้ กับคำว่า ปัต แทนการใช้ เนื่องจากว่าคำว่า ปัต ในภาษาไทยถิ่นใต้ตามที่ผู้เขียนสันนิษฐานนั้นกร่อนจากคำในภาษามลายูคือคำว่า Ketupat อ่านว่าเกอตูปัต เสียง จึงมีความใกล้เคียงมากกว่า เสียง

อีกทั้งพบว่าตำราเเม่ครัวหัวป่าก์เล่ม ๕ พิมพ์ครั้งแรก ร.ศ.๑๒๗-๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๑-๒๔๕๒) มีการเก็บคำว่า เข้าปัต ซึ่งใช้ตัวสะกดด้วย แทนการใช้ ไว้ด้วยเช่นกัน


ขอขอบคุณภาพจากอาจารย์ปรัชญา ปานเกตุ


ทั้งนี้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้เก็บคำว่า ข้าวปัด ให้ความหมายไว้ว่า

น. ข้าวเหนียวต้มที่ห่อด้วยใบไม้เช่นใบมะพร้าวอ่อนหรือใบเตย มักทำถวายพระในเทศกาลออกพรรษา, ข้าวต้มปัด ก็ว่า. แม่คำของ "ข้าวปัด" คือ ข้าว

 

ขอขอบคุณ

คุณสุรเชษฐ์ แก้วสกุล นักวิจัยอิสระ

อาจารย์ ดร.เอกลักษณ์ รัตนโชติ

 

ที่มา [1]สัมภาษณ์ครูสะอาด ร่าหมาน นักประวัติศาสตร์บ้านสงขลา ตำบลตลาด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่บ้านสงขลามีต้มใบมะพร้าวห่อให้มีลักษณะยาว ๆ แบบเดียวกับที่สงขลาเรียกว่า ปัต [2]สัมภาษณ์ คุณยุทธยา จิตตืโต๊ะหลำ ประธานชุมชนบ้านนอก (บ้านหัวเขา) ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่าปัตของบ้านหัวเขาจะห่อด้วยใบกล้วยหรือใบตอง [3]ตูปะใบอ้อย . Ketupat Daun tebu .สืบค้นจาก : https://bit.ly/3hz2N2z

[4] Lepet .ขนมที่นิยมทำกันโดยทั่วไปบนเกาะชวาภาคกลางอ่านเพิ่มเติมได้ใน Resep Lepet, Makanan Lebaran Khas Masyarakat Jawa Tengah.สืบค้นจาก : https://bit.ly/3WuCXOi

[5] Lepat .อ่านเพิ่มเติมใน : https://bit.ly/3PCEWhl [ุุ6]ให้ความเห็นโดย www.faecbook.com / Ratzaa Prapawit ใน https://bit.ly/3OpIQJI [7]สัมภาษณ์อาจารย์ศุภกิจ ศิริเมธากุล อาจารย์ประจำภาคมลายูศึกษาของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี [8]คำว่า Petapat สืบค้นเพิ่มเติมได้ใน : https://bit.ly/3OePF0j [9] “อันซอมโดง-อันซอมเจก” ขนม-ข้าวต้มมัดโบราณของเมืองแขมร์” สืบค้นเพิ่มเติมได้ใน : https://bit.ly/3xw1cmm [10]ข้าวต้มมัดไต้ของภาคตะวันออก สืบค้นเพิ่มเติมได้ใน : https://bit.ly/3xAR8sh

[11] อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่องอักษรชวาในป้ายหลุมศพโบราณที่สงขลา กับจารีตคำเรียกเครือญาติที่มีรากมาจากคำชวาของคนมุสลิมลุ่มทะเลสาบ สืบค้นจาก : https://bit.ly/3qiGrEf [12]สนิท บุญฤทธิ์.เพลงเรือแหลมโพธิ์จังหวัดสงขลา(๒๕๔๐). สำนักศิลปะและวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏสงขลา(หน้า๑๕).พิมพ์ครั้งที่ ๔ .กรุงสยามการพิมพ์ : กรุงเทพฯ



 

สารบัญภาพ


จัง ทำจากข้าวเหนียวผัดด้วยกะทิห่อด้วยใบเตยหอมที่บ้านปากคู ตำบลช้างซ้าย อำเภอกาญจนดิษฐ์ ขอบคุณข้อมูลและภาพจากคุณสหรัฐ สกุลพันธ์


จัง ห่อด้วยใบมะพร้าว สูตรนี้ใช้งวงตาลแห้งมาเผา แล้วนำขี้เถ้ามาแช่น้ำไว้สัก 5-6 วัน ตั้งทิ้งไว้จนตกตะกอน จึงค่อยตักน้ำใส ๆ มาใช้แช่เหนียวหนึ่งคืน แล้วเอาเหนียวห่อ ใบไผ่ หรือ ยอดพร้าว เตยหอม ที่บ้านปากคู ตำบลช้างซ้าย อำเภอกาญจนดิษฐ์ ขอบคุณข้อมูลและภาพจากคุณคุณสหรัฐ สกุลพันธ์


ปัต ย่างห่อด้วยใบลานผู้เขียนถ่ายจากตลาดนัดสี่เเยกชุมพล บ้านชุมพลตำบลชุมพล อำเภอสทิ้งพระ จังหวัดสงขลา


ปัต ที่ตลาดคูขวาง ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช


ต้มมัดไต้ห่อด้วยยอดใบมะพร้าวที่บ้านหัวทาง จังหวัดสตูล ขอบคุณภาพและข้อมูลจากคุณ www.faecbook.com / Ratzaa Prapavit ขอสอบถามเรื่อง ปัต ของผู้เขียนในกลุ่มประวัติศาสตร์สตูล : https://bit.ly/3xv222D


ปัต มีผู้นำมามาทำบุญในช่วงเดือนบวชที่ สถาบันดารุลอุลูม(ปอเนาะหัวแปลง) ต.บางขัน​ อ.บางขัน​จ.นครศรีธรรมราช ขอบคุณภาพเเละข้อมูลจากคุณยาซีน ลีบัง


Lepet (Javanese) , Leupeut (Sundanese), or Lepat (Malay/Indonesian) ที่มาภาพ : https://bit.ly/3hESMTR




Comentários


bottom of page