top of page
รูปภาพนักเขียนคิดอย่าง

แม่ยายบ้านโพธิ์ เจ้าที่แขกในรูปปราสาทยอดเจดีย์ ฯลฯ



ซักสามปีก่อนลุงหมู อาจารย์กิตติพงษ์ บุญกันภัย พาผมไปไหว้แม่ยายบ้านโพธิ์ อยู่ตะวันตกวัดพระธาตุ ตำนานว่าเมื่อขุดคลองชักน้ำมาล้างพระธาตุเตรียมจะซ่อม พอเข้าหน้าน้ำ น้ำลงแรงจากปากหมากซัดตลิ่งพังแล้วหินรูปปราสาทยอดเจดีย์นี้ก็ลอยขึ้นจากน้ำ


ชาวบ้านเอาเชือกล่ามควายผูกจะฉุดชักจากน้ำก็ไม่ขึ้น จนได้ผู้มีวิชาเอาด้ายแดงผูกจึงชักขึ้น ช่วยกันลากเข้าหมู่บ้าน ลากมาได้ระยะหนึ่งชักไม่ไปต่อ จึงประดิษฐานอยู่ตรงนี้จนปัจจุบัน เดิมมีเพิงคลุมง่าย ๆ แล้วเจ้าบ้านข้าง ๆ ผมลืมชื่อแก ได้ทำเป็นศาลคอนกรีตคลุมเอาไว้ มีการทำบุญทุกเดือน 4 ด้วย (จริง ๆ ก็ลืม ๆ ว่าเค้าทำตอนสวดทุ่งหลังเก็บเกี่ยวรึเปล่า) ผมยังไม่เคยมาร่วม




ความน่าสนใจของแม่ยายบ้านโพธิ์มีอีกคือ ลุงหมู กับเจ้าบ้านที่อยู่ข้าง ๆ แม่ยายว่า แม่ยายเป็นแขก พื้นที่รอบ ๆ แม่ยายนั้นเลี้ยงหมูไม่ได้ หมูตาย ของไหว้ก็เว้นหมูไว้ไม่เอามาใช้


ผมยังไม่มีโอกาสถามให้มากพอที่จะเข้าใจกระบวนการที่ศิลารูปปราสาทยอดเจดีย์นี้ได้ก่อร่างอัตลักษณ์กลายเป็นเจ้าที่แขก แต่นี่ก็อาจให้เค้ารอยกับเราถึงยุคที่เมืองไชยาปกครองโดยเจ้าเมืองแขกจากลุ่มทะเลสาบสงขลาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์จนเสียกรุง



เมืองไชยายังมีพื้นที่ของเจ้าที่แขกท่ามกลางชุมชนพุทธอีกหลายจุด ปฎิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนพุทธ แขก ต่อเจ้าที่เหล่านี้เป็นร่องรอยการผสานกลมเกลียวระหว่างคนดั้งเดิม กับผู้ปกครองและผู้คนที่เข้ามาใหม่ ถ้าลองสืบค้นดูอาจจะเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจก็ได้ครับ




 

ธรรมาสน์ / หิ้งพระ จำลอง จากวัดจำปา ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา พิพิธภัณฑ์กำหนดอายุให้อยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ระหว่าง พศว 24 - 25 (ผมคิดว่าควรกำหนดอายุใหม่ลงมาราวปลาย พศว 23 - ไม่เกินครึ่งแรกของพศว 24)


ธรรมาสน์นี้ตั้งหันหน้าออก มีอยู่วันหนึ่งขออนุญาตป้า ๆ หันด้านหลังออกมาถ่ายรูป พนักเก้าอี้ทำเป็นนาค ถ้าสมบูรณ์มันจะมีเศียรนาคชูขึ้นมาทั้งสองข้างเก้าอี้ด้วย ซึ่งจะทำให้ฟอร์มโดยรวมต่างไปจากที่เห็นนี้อยู่นิดหน่อย




จุดที่น่าสนใจคือลายด้านหลังนี้ ใช้ลายพฤกษาอยุธยาที่พัฒนามาจากลายในศิลปะอิสลาม วิธีการออกลายดูคล้าย ๆ ลายที่ป้ายหลุมศพสุสานมรหุ่มบ้านสงขลา ซึ่งก็อยู่ไม่ไกลกันเท่าไหร่


วัดจำปา เป็นวัดสำคัญของตำบลทุ่งในสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นย่านชุมชนพุทธสมัยอยุธยาตอนปลายขนาดใหญ่ที่สุดติดกับย่านชุมชนแขกของเจ้าเมืองไชยาซึ่งอพยพมาจากเมืองสงขลาที่หัวเขาแดง


ก็เลยมีข้อสังเกตว่าธรรมาสน์จำลอง หรือลายที่ธรรมาสน์จำลองนี้ มันอาจจะสัมพันธ์กับลายที่ป้ายหลุมศพเจ้าเมืองอยู่บ้าง เท่าที่ผมคิดได้อยู่สองสามประเด็นคือ อาจจะเป็นทั้งในแง่ที่ทั้งสองศาสนาแชร์รูปแบบทางศิลปะระหว่างกัน


หรือเกิดช่างฝีมือที่รับทำงานให้กับผู้ว่าจ้างโดยไม่ได้จำกัดศาสนา หรือเจ้าเมืองแขก/ขุนนางแขกที่ถูกส่งไปปกครองชุมชนพุทธ ก็อาจเกื้อหนุนชาวพุทธใต้ปกครองผ่านการให้ศิลปวัตถุบางอย่าง ในยุคที่แขกกับพุทธอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสมัยอยุธยาตอนปลาย


หินปักบนหลุมฝังศพหรือที่บ้านสงขลาเรียกว่า ไม้เเลสัน คุณครูสะอาด ร่าหมาน นักประวัติศาสตร์บ้านสงขลาให้ข้อมูลว่าพบในคลองที่ติดกับพื้นที่ของสุสานเจ้าเมือง

 

เนื่องจากมันเป็นของคิดจากหลักฐานเล็กน้อยที่จริงแล้วอาจไม่เกี่ยวกันเลยก็ได้ครับ


โน๊ตเพิ่มเติมเรื่องแขกปกครองพุทธในไชยา เนื่องจากเราไม่มีเอกสารที่ย้อนไปถึงสมัยอยุธยาตอนปลายเกี่ยวกับกับปกครองของเจ้าเมืองแขกเท่าไหร่ ผมได้ความรู้จาก ลุงหมู กิตติพงษ์ บุญกันภัย เรื่องเจ้าที่แขก หรือพื้นที่ห้ามเลี้ยงหมูในไชยา อาทิ ปะหมอ ปะหมัน ปะหมูไถ แม่ยายบ้านโพธิ์


เจ้าที่แขกเหล่านี้จะมีคอนเซปคล้าย ๆ กันคือ พื้นที่โดยรอบห้ามเลี้ยงหมู เลี้ยงไม่ได้หมูตาย แล้วก็ยังมีการทำบุญ มีสวดทุ่งทุกปี


แม่ยายบ้านโพธิ์นี่เป็นรูปปราสาทหินทรายแดงจำลอง ว่าลอยน้ำมา แต่ตัวแม่ยายเป็นแขก พื้นที่รอบแม่ยายก็ห้ามเลี้ยงหมู แต่แม่ยายมาอยู่กลางชุมชนพุทธทางตะวันตกวัดพระบรมธาตุไชยา ห่างจากชุมชนแขกที่บ้านสงขลามาก



หากมองในแง่คติชนวิทยา มันน่าจะเป็นการเก็บรักษาความทรงจำในสมัยที่ขุนนางแขกถูกส่งมาคุมชุมชนพุทธรอบ ๆ ไชยา ซึ่งกินเวลาอยู่ราว 90 - 100 ปี พอสมัยกรุงธนผู้ปกครองก็เป็นพุทธเรื่อยมา ความทรงจำสมัยแขกปกครองมันคงจะทิ้งร่องรอยตกค้างผ่านร่องรอยพวกนี้


หากถอดรหัสได้ อย่างน้อยก็จะช่วยขยายเพดานความเข้าใจประวัติศาสตร์สังคมของพื้นที่ไชยาในสมัยอยุธยาตอนปลาย ออกไปจากวัด ๆ พุทธ ๆ ได้อีกเยอะ

ดู 367 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentários


bottom of page