เมื่อธรรมราชาปรากฏกายผ่านภาพถ่าย
The Feudal Photograph of Democratic Dhammaraja โดย Clare Veal
------------------------------------
The Feudal Photograph of Democratic Dhammaraja
โดย Clare Veal
------------------------------------
บทความของนักประวัติศาสตร์ตั้งข้อสังเกตสำคัญ ถึงการนำเสนอแนวคิด ธรรมราชา ผ่านภาพถ่าย
คำถามสำคัญว่า แนวคิดธรรมราชาซึ่งก่อกำเนิดในช่วงก่อนสมัยใหม่ ถูกนำเสนอผ่านภาพถ่ายซึ่ง เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมภายหลังรับอิทธิพลตะวันตกอย่างไร
Veal ได้สืบสาวพัฒนาการแนวคิดธรรมราชา จักรพรรดิราช และบุญ บารมีตามคติพุทธเถรวาท และ การปรับตัวเข้าสู่สมัยใหม่ของสังคมสยามภายใต้อุดมการณ์ ศิวิไลซ์ ที่โหยหาความเจริญ ก้าวหน้า มีเหตุผลอย่างฝรั่ง โดยไม่ต้องตามก้นฝรั่ง ในแง่นี้ แนวคิดก่อนสมัยใหม่ คือ พุทธศาสนา ธรรมราชา จึงถูกนำมาใช้เพื่อนำเสนอภาพอดีตที่สูงส่ง Veal เน้นศึกษาลักษณะและวิธีการหยิบเอาแนวคิดดังกล่าวมาใช้ผ่านเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่สุโขทัยเป็นต้นมา โดยปัญญาชนและผู้มีอำนาจในสังคมไทยทั้งฝ่ายจารีตและคณะราษฎร โดยแก่นความคิดร่วมกัน คือ ไม่ปฏิเสธความเจริญแบบฝรั่ง ตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อความเป็นไทยมีความเจริญทางจิตวิญญาณ/ศีลธรรมที่เจริญสูงส่งกว่า เป็นเครื่องมือวัฒนธรรมในการรักษาอุดมการณ์ ความเชื่อ สถานะ โครงสร้างทางสังคม ระบบอุปถัมภ์ที่พวกเขาต้องการรักษาไว้ควบคู่กับความเจริญแบบที่พวกเขาต้องการ ผ่านแนวคิด ธรรมราชา พ่อปกครองลูก
ภายใต้แนวคิดดังกล่าว ภาพถ่าย เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความเจริญแบบตะวันตกที่สยามปรับตัวเข้าหา ชนชั้นนำใช้ภาพถ่ายเพื่อติดต่อดำเนินความสัมพันธ์เสนอภาพลักษณ์กับโลกภายนอก เพื่อนำเสนอภาพของชนชั้นนำสยามที่ศิวิไลซ์ แตกต่างสังคมและผู้คนที่ล้าหลัง ดังนั้น การสำแดงทิพยภาวะ ความศักดิ์สิทธิ์ ลี้ลับแบบเดิมที่ห้ามราษฎรมองจึงทำไม่ได้ต่อไป
ปัญหาสำคัญ คือ ในเมื่อภาพถ่ายเป็นผลิตผลของความก้าวหน้า แล้วจะนำเสนอภาพของอดีตที่ต้องการรักษาไปพร้อมกับความเป็นสมัยใหม่ได้อย่างไร?
ต่อคำถามข้างต้น Veal ได้ชี้ให้เห็นการนำเสนออุดมการณ์สมัยรัชกาลที่ 6 ที่กษัตริย์เป็นผู้แทนของชาติผ่านภาพถ่าย โดยนโยบายที่กำหนดให้สถานีตำรวจจะต้องตั้งแต่งพระพุทธรูป พร้อมกับพระบรมฉายาลักษณ์พระเจ้าอยู่หัวไปพร้อมกัน รวมทั้งการแต่งพระบรมฉายาลักษณ์ในงานเฉลิมฉลองสำคัญของชาติ ตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ พระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 6 ที่ทรงฉลองพระองค์จอมทัพและทรงครุฑไปพร้อมกันตรงกลางรายล้อมด้วยธงนานาชาติ Veal ที่ให้เห็นว่า ในมุมต่างประเทศพระองค์อาจเป็นเพียงประมุขของรัฐที่เท่าเทียมกับรัฐอื่น แต่ในมุมชาวสยามข้างใน เป็นการนำเสนอพระองค์ในฐานะศูนย์กลางจักรวาลแบบพุทธ ในแง่นี้ภาพของพระมหากษัตริย์จึงนำเสนอทั้งบทบาทรัฐโลกวิสัย และ คติความเป็นกษัตริย์ทางศาสนาไปพร้อมกันได้
ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองสถานะของชนชั้นนำถูกสั่นคลอน เมื่อคนธรรมดาก็สามารถนำเสนอความก้าวหน้า ในรูปแบบของตนเองผ่านการศึกษา คุณวุฒิอื่นๆ สังคมเก่าถูกท้าทายด้วยข้อวิจารณ์ระบบศักดินา โดยสื่อมวลชน ความหมายของความศิวิไลซ์ ความเจริญที่ชนชั้นนำกำหนด ขีดเส้นไว้ พร่าเลือนลง
อย่างไรก็ตาม เมื่อจอมพลสฤดิ์ ธนะรัชต์ทำการรัฐประหารเมื่อปี 2500 เกิดการฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาอีกครั้ง นำเสนออุดมการณ์กษัตริย์นิยม และ แนวคิดธรรมราชา ควบคู่กับแนวคิดความประชาธิปไตยแบบไทย หรือ กล่าวอีกอย่างความเจริญแบบไทยไปได้พร้อมกัน ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นภาพถ่ายกลายเป็นเครื่องมือ พระบรมฉายาลักษณ์สะท้อนพระราชจริยวัตรของพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงงานต่างครอบครัวขนาดเล็ก ตรงกันข้ามระบบผัวเดียวหลายเมีย เป็นพระราชบิดาของพระราชกุมาร กุมารี และเป็นอุปมานิทัศน์การเป็นพ่อและแม่ของสังคมไทยไปพร้อมกัน ภาพถ่ายที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ได้ทำหน้าที่สร้างแบบแผนจริยธรรมแก่คนในสังคมไปพร้อมกันในสังคมสมัยใหม่ การได้เห็นพระราชจริยวัตรขององค์ธรรมราชาในแบบที่คนธรรมดารับรู้ เข้าถึงได้ง่าย จึงเป็นบุญตา กล่าวโดยสังเขป คือ ความเป็นธรรมราชาถูกทำให้เป็นมนุษย์มากขึ้น สร้างและกระจายแบบแผน ค่านิยม แก่หน่วยทางสังคมตั้งแต่ครอบครัว ไปจนถึงชาติ
นอกจากนี้ การที่คนธรรมดาได้ร่วมภาพกับกับกษัตริย์อาทิ ภาพรับปริญญา ยังทำให้ความสำเร็จส่วนบุคคลเชื่อมโยงเข้ากับชาติ เป็นโอกาสพิเศษของชีวิต สร้างความโหยหาให้คนธรรมดาอยากมีผนวกเรื่องเล่าของตัวไปในชาติ และ ชาติก็แทรกตัวเองลงไปในชีวิตส่วนตัวของผู้คนไปพร้อมกัน
Veal ทิ้งท้าย ด้วยประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญทางวัฒนธรรมว่า แนวคิดธรรมราชา ยังคงมีอำนาจเหนือ ข้อความคิดประชาธิปไตย กล่าวอีกอย่าง คือ ประชาธิปไตย ยังคงกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับสังคมไทย ความเป็นสมัยใหม่ สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นฝรั่ง ต้องไม่ขัดกับวัฒธรรมไทย หรือ ที่นิธิเรียกว่ารัฐธรรมนูญทางวัฒนธรรม ความสำเร็จของการใช้ภาพถ่ายคือทำให้สถานะทางจิตวิญญาณและสถาบันการเมืองของรัฐของพระมหากษัตริย์อยู่ร่วมไปพร้อมกันได้ Veal ทิ้งข้อสังเกตจ้องหนึ่งไว้ว่า อำนาจเชิงวัฒนธรรมบางทีอาจอำนาจที่ร้ายกาจยิ่งกว่าอำนาจกดปราบอย่างมาตรา 112 เสียอีก
ผู้สำรวจวรรณกรรมขอชื่นชมการนำเสนอท้าทายความเข้าใจความเป็นสมัยใหม่ อำนาจทางวัฒนธรรมของภาพถ่าย และ การเมืองไทยได้เฉียบคมมาก เสนอเพิ่มเติมเล็กน้อยว่า Veal นำเสนอแนวคิดธรรมราชาอย่างรวบรัดไปเล็กน้อย ทำให้ยังไม่เห็นภาพชัดเจนนัก ระหว่าง อำนาจ ธรรมะ บารมี รวมทั้ง การอ้างธรรมะมาช่วงใช้เพื่อรักษาอำนาจ ถึงกระนั้นก็มีงานชิ้นอื่นที่ศึกษาเรื่องนี้ไว้แล้ว และ ไม่ทำให้ข้อเสนอหลักของเธอเสียไปแต่อย่างใด และเธอก็ได้กล่าวไว้ชัดเจนแล้วว่าต้องการเน้นประเด็นที่ธรรมราชาถูกนำมาใช้อย่างไรในภาพถ่ายมากกว่าเป็นสำคัญ
Comments