ชวนอ่าน "ประวัติ แนวคิด ทฤษฎีและการปฏิบัติการในการอนุรักษ์โบราณสถาน"
อัปเดตเมื่อ 14 ม.ค. 2564
"การยอมรับในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ของโบราณสถานเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในระดับสากล
เพราะคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความเป็นของแท้
ย่อมมาก่อนความสมบูรณ์งดงาม ที่ไม่มีผู้ใดสามารถกำหนดได้ว่าจะพอที่จุดใด"
คำโปรยสุดเฉียบนี้มาจากหนังสือ "ประวัติ แนวคิด ทฤษฎี และการปฏิบัติการในการอนุรักษ์โบราณสถาน" ของ สมชาติ จึงสิริอารักษ์ แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หนังสือเล่มสำคัญของวงการอนุรักษ์ในประเทศไทยที่เราอยากชวนให้ทุกคนอ่านในวันนี้
หนังสือที่เป็นอารัมภบทแรกของการอนุรักษ์โบราณสถาน ไม่เพียงแต่จะเหมาะต่อการเป็น "คู่มือและคู่คิด" ให้กับสถาปนิกหรือคนที่ทำงานด้านการอนุรักษ์อาคารแต่ยังเหมาะต่อการเป็น "คู่สนทนา" ในการเข้าชมโบราณสถานอย่างมีอารยะให้กับประชาชน
หนังสือเล่มนี้ช่วยตอบคำถามเราว่า...
ทำไมไม่ควรต่อเติมส่วนต่างๆของอาคารให้กับซากโบราณสถานที่เหลือเพียงฐาน เสา หรือผนัง? ทำไมไม่ควรสร้างหลังคาระเบียงคดที่หายไปให้กลับมามีสภาพดังเดิม? ทำไมไม่ควรต่อเติมพระพุทธรูปที่เหลือเพียงครึ่งองค์ให้เต็มองค์และทำการลงรักปิดทองให้เหมือนเมื่อแรกสร้าง? จิตรกรรมที่แหว่งเว้า ทำไมไม่วาดให้เต็ม? และเข้าสู่คำถามสำคัญที่ว่าทำไมเราจึงต้องสร้างทัศนคติของการเข้าชมโบราณสถานว่ามันคือการเข้าไปศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นตัวแทนของยุคสมัย ไม่ใช่เข้าไปชื่นชมความงดงามเพื่อกราบไหว้บูชาหรือชุบชูจิตใจ?
เมื่อโบราณสถานเป็นสมบัติร่วมกันของคนในชาติ หน้าที่ในการอนุรักษ์จึงไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่สังคมต้องทำงานร่วมกันอย่างมีความรับผิดชอบ นักอนุรักษ์มีหน้าที่ปฏิบัติการ ในขณะเดียวกันคนในสังคมมีหน้าที่ตระหนักรู้ถึงความพอดีในการอนุรักษ์ อาการ "ติดรูป" กับโบราณสถานที่อยากจะให้กลับมาสวยสมบูรณ์แบบนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยแต่เป็นปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวพุทธที่รักพระพุทธศาสนา ยอมอุทิศเงินจำนวนมากเพื่อรักษาศาสนวัตถุ ศาสนสถาน แต่หากรักโดยปราศจากความรู้จะมีประโยชน์อะไร โบราณสถานในประเทศไทยเสียหายไปไม่น้อยกับการพยายามยัดเยียดความสวยงามแบบหลงรูป โหยหาอดีต และยึดติดความงามไว้เพียงแบบเดียว คือการนิยามว่าความงามคือความสมบูรณ์แบบ การซ่อมโดยเปลี่ยนวัสดุจนไม่เหลือความเป็นของแท้ การตระเวนทาสีทองให้กับโบสถ์ วิหาร เสมา โดยไม่สนใจว่าอนุชนรุ่นหลังจะต้องการแบบนี้หรือไม่ เป็นความเห็นแก่ตัวที่ไม่เพียงทำลายโบราณสถานอย่างเลือดเย็นแต่ยังทำลายสิทธิและผลประโยชน์ที่คนในอนาคตจะได้เห็น ได้ศึกษาอาคารประวัติศาสตร์ที่เป็น "ของแท้" ด้วย แม้แต่โบสถ์ วิหารหรืออาคารในพระพุทธศาสนาที่ยังใช้งานในปัจจุบันก็ยังถูกทำลายด้วยอาการหลงรูปนี้เช่นกัน การที่ทางวัดติดหลอดไฟจำนวนมากเพื่อขับเน้นพระประธานให้โดดเด่นอย่างเกินพอดี การตั้งพระพุทธรูปหรือประติมากรรมอื่นใดจนล้นเกินเพื่อให้คนกราบไหว้บูชา เร่งปฏิกิริยาของเงินบริจาคจนสูญเสียสุนทรียภาพทั้งทางสายตาและจิตใจถือเป็นการทำลายอย่างน่าเสียดายเช่นกัน
ในอดีต พระประธานที่เคยงดงามด้วยสุนทรียศาสตร์ของความมืดในพระอุโบสถหรือพระวิหาร
ที่ช่างโบราณตั้งใจให้ทองที่ปิดองค์พระสว่างขึ้นเป็นจุดเด่นในอาคาร
ท่ามกลางความมืดสลัวให้ความรู้สึกศรัทธาอย่างเข้มขลัง
ความสำรวมของผู้เข้ามากราบไหว้จะเกิดขึ้นเองด้วยพุทธกศโลบายนี้
แต่ปัจจุบันองค์พระพุทธรูปส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่เก่าแก่และมีชื่อเสียง มักถูกสาดใส่ไฟจนเกินงาม ชวนให้รู้สึกเศร้าและเสียดาย การไม่จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว จนหลายครั้งผู้คนล้นหลามเต็มพระอุโบสถส่งเสียงเซ็งแซ่ โบราณสถานหลายแห่งซ่อมอย่างขาดความรับผิดชอบ เป็นภาพที่ชวนให้สลดหดหู่ คงไม่มีใครอยากเห็นอยุธยาต้องล่มสลายสองครั้ง ครั้งแรกจากสงคราม ครั้งที่สองจากการซ่อมเช่นนี้ อนาคตของโบราณสถานจึงขึ้นอยู่กับการตระหนักรู้และใส่ใจอย่างเป็นรูปธรรมของพวกเราทุกคน
นอกจากข้อคำนึงของการมองและอนุรักษ์โบราณสถานอย่างเป็นสากลที่หนังสือเล่มนี้เน้นย้ำแล้ว สิ่งที่สำคัญในการทำงานด้านนี้ที่นักอนุรักษ์จะต้องมีคือ "กึ๋น" ของการสร้างสมดุลระหว่างความเป็นของแท้ การรักษาความมั่นคงของโครงสร้างอาคารและวัสดุ ตลอดจนการรักษาการสื่อความทางประวัติศาสตร์ของอาคารที่จะต้องทำหน้าที่ร่วมกัน และน่าจะเป็นสิ่งที่ยากที่สุดของการทำงานอนุรักษ์เพราะแม้จะมีกฎการอนุรักษ์ที่เข้มแข็ง แต่ไม่มีหลักเกณฑ์ใดใช้ได้ตายตัวและใช่ว่าหลักการที่ใช้กับสถานที่หนึ่งจะเหมาะสมกับอีกที่หนึ่ง แม้จะท่องจำกฎบัตรนานาชาติว่าด้วยการอนุรักษ์และบูรณะโบราณสถานได้ขึ้นใจสักเพียงใด สุดท้ายการปฏิบัติจริงยังคงต้องอาศัยปัจจัยและบริบทมากมายในการตัดสินใจ การอนุรักษ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป รักษาสภาพไว้ก่อนหากยังไม่แน่ใจ และตระหนักไว้เสมอว่าเรามีหน้าที่เพียงส่งต่อความเป็นของแท้ให้มากที่สุดให้กับคนรุ่นถัดไป สิ่งที่เราซ่อมวันนี้อาจจะอยู่ได้ 10 ปี 20 ปี นั่นเพียงพอแล้ว ไม่ใช่ตลอดไป ไม่ใช่ซ่อมแล้วจะไม่มีใครมาซ่อมอีก การอนุรักษ์อาคารเป็นงานที่จะไม่มีวันสิ้นสุด และต้องมีความหวังว่า นักอนุรักษ์รุ่นต่อไปจะเก่งกว่าเรา มีความรู้และเทคโนโลยีมากกว่า ย่อมจะต้องซ่อมได้ดีกว่า (หรือเรา ในฐานะนักอนุรักษ์ในอนาคตจะต้องเก่งกว่าเราในปัจจุบัน) ต้องตระหนักไว้เสมอว่าหน้าที่ของนักอนุรักษ์เหมือนการวิ่งผลัดคือการรับไม้มาและส่งไม้ต่อ เพื่อไม่ให้นักอนุรักษ์ในปัจจุบันทำอะไรเกินตัวหรือทำในจุดที่ต้องใช้การคาดเดา เรียกว่าเป็นจุดอันตรายอย่างยิ่ง การศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านและไม่ยอมให้ผลงานถูกจำกัดด้วยเงินระยะเวลา และอคติมากจนเกินไป ยังคงเป็นคำตอบที่ดีของการทำงานอนุรักษ์เสมอ
コメント