ใครๆก็ (ไม่) ไปกิมหยง
ใครๆก็ (ไม่) ไปกิมหยง
โดย Merced
#คิดอย่างเจอนัล นักหัดเขียน ss.2
“ผู้ไร้เสียงในสถานการณ์ COVID”
.
เนื้อหาในบทความต่อไปนี้จะกล่าวถึง ‘พื้นที่ของผู้ไร้เสียงในยุคโควิด 19’ ซึ่ง‘ผู้ไร้เสียง’ ในที่นี้คือกลุ่มบุคคลที่ถูก ‘ตีกรอบ กดขี่ มองข้าม เหมารวม ตัดสินแบบผิดๆ และถูกเพิกเฉยจากสังคม’ นำเสนอเรื่องราวความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้เสียงของพวกเขาไม่ไร้เสียงอีกต่อไป...
.
‘นักท่องเที่ยว’ เป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้หลักที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในไทย จากข้อมูลพบว่า ในปี 2562 ประเทศไทย มีรายได้จากการท่องเที่ยว 3.18 ล้านล้านบาท และ 2.02 ล้านล้านบาทจากทั้งหมด มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 40.8 ล้านคน แต่เมื่อเกิดโรคระบาดอย่าง ‘โควิด 19’ ที่นำไปสู่การปิดประเทศและควบคุมประชากรในแต่ละพื้นที่ที่เป็นไปอย่างเข้มงวด แน่นอนว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปแปรผันตรงกับสภาพเศรษฐกิจทุกพื้นที่โดยเฉพาะ ‘แหล่งท่องเที่ยว’ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เหล่าผู้ประกอบการจะต้องกลับมาทบทวนถึง ‘แหล่งรายได้’ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่ไม่แน่นอน กับความจริงที่ว่า
“ถ้าหากไม่มีนักท่องเที่ยว แล้วจะขายใคร ?”
หนึ่งในพื้นที่ ‘ไร้เสียง’ ในมุมมองของการ ‘ถูกมองข้ามในยุคโควิด’ ที่จะนำเสนอนั่นคือ ‘ตลาด’ แน่นอนว่าหากเป็นเพียงแค่ตลาดทั่วไป เราทุกคนรับรู้ถึงผลกระทบได้ไม่ยาก แต่หากพูดถึง ‘ตลาดกิมหยง’ หนึ่งในตลาดชื่อดังของ ‘อำเภอหาดใหญ่’ที่หลายคนคงรู้จักกันดีในฐานะตลาดสินค้า ‘ของฝาก’ เลี่ยงภาษีที่มีชื่อเสียง ถึงตรงนี้ก็คงจะไม่เข้าใจกันนักว่าพวกเขาถูกมองข้ามอย่างไร
ไร้เสียงยังไง ? ตลาดออกจะดังนะ’
ใช่ค่ะ ตลาดแห่งนี้มีเม็ดเงินเฉลี่ยเข้าออกต่อปีค่อนข้างมาก ถึงแม้ว่าจะมีค่าแผงที่สูง แต่หากเป็นคนค้าขายก็ยอมจ่ายเพื่อให้ได้ขายของในตลาดแห่งนี้ ด้วยวลีตลอดกาลที่กล่าวว่า
‘มาหาดใหญ่ ไม่ไปซื้อของฝากที่กิมหยงถือว่ามาไม่ถึง’ นั่นเอง นั่นก็เพราะทำเลที่ตั้งของตลาด ตั้งอยู่บนถนนเพชรเกษม ซึ่งเป็นทางหลวงหมายเลข 4 และยังอยู่ใกล้กับ ‘ชุมทางรถไฟหาดใหญ่’ ซึ่งเป็นสถานีรถไฟแห่งแรกและแห่งเดียวของอำเภอ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งอำเภอ จึงถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกที่หนึ่งของหาดใหญ่
อิทธิพลและชื่อเสียงของตลาดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ยังทำให้พื้นที่โดยรอบที่เป็น ‘สถานบันเทิง ร้านอาหาร โรงแรม’ มีรายได้มากตามไปด้วย เรียกได้ว่าในยามค่ำคืนพื้นที่ระแวกนั้นคึกคักและเป็นสีสันของหาดใหญ่ ถ้าจะให้พูดตามตรง หากได้ชื่อของตลาดแห่งนี้ หาดใหญ่ก็อาจจะไม่ใช่หนึ่งในอำเภอที่มีชื่อ ถึงขั้นที่บางคนเข้าใจผิดว่าเป็นจังหวัดมาจนถึงทุกวันนี้ ตลาดแห่งนี้จึงเหมือน ‘เส้นเลือดใหญ่’ ที่เป็นแหล่งรายได้ที่เป็นจุดเริ่มต้น สร้างหลากหลายอาชีพ และอยู่คู่อำเภอมาตลอดตั้งแต่เริ่มก่อตั้งนั่นเอง
.
เริ่มเข้าใจขึ้นบ้างใช่ไหม ว่าทำไมในยุคโรคระบาดโควิด 19 ตลาดแห่งนี้ถึงได้รับผลกระทบที่หนัก การปิดประเทศเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ตลาดเงียบเหงา เพราะกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของตลาดแห่งนี้คือ ‘ชาวมาเลเซีย อินโดนิเซีย สิงค์โปร์ และจีน’ มาตลอดตั้งแต่ยุคบุกเบิก เน้นขายทุกอย่างที่เป็นของฝากราคาถูกแบบเหมาๆ ทั้งอาหารแห้งไปจนถึงเสื้อผ้าลายพื้นเมืองและอุปกรณ์อิเลคทรอนิก โดยไม่ได้คาดคิดว่าจะมีโรคระบาดที่ทำให้นักท่องเที่ยวหายไปแบบกะทันหัน
‘ก็ธรรมดาแหละ ที่ท่องเที่ยวก็โดนกันหมด’
จริงค่ะ ไม่มีใครไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด แต่ต้องบอกว่าอีกหนึ่งสาเหตุของความ ‘ไร้เสียง’ ของตลาดแห่งนี้ที่ทำให้ถูกหยิบขึ้นมานำเสนอคือ ‘ตลาดกิมหยงไม่ใช่แหล่งซื้อของสำหรับคนในอำเภอ’ จากการสัมภาษณ์คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในอำเภอหาดใหญ่และใกล้ชิดกับตลาดโดยตรงกว่า 30 ปี กล่าวว่า
“อย่างตลาดสดนี่เขาก็กระทบไม่เยอะนะ เหมือนตลาดก็มีแบ่งเป็นเกรด A กับเกรด B ตลาดกิมหยงนี่ก็จะเป็นเหมือนอีกเกรดนึง คนที่ไปซื้อก็เป็นคนอีกระดับนึง อย่างเราซื้อของตลาดสด 20 บาท แต่ตรงนั้น (กิมหยง) มันก็ขาย 30 บาท ขายคนละราคากันเลย ไม่ว่าหมูไม่ว่าอะไร เนื้อหมูตลาดสด 120 ที่นั่นขาย 150 - 160 อย่างที่ว่านั่นแหละ เพราะตลาดนี้มันเป็นตลาดที่ดี ที่ตลาดสดคนเยอะมั่วหมด เดี๋ยวนี้มันบังคับให้ขายบนถนนด้วย (ลงมาจากฟุตบาทกินพื้นที่ถนน) ขายบนรถมั่ง รถพ่วงมั่ง อะไรไม่รู้วุ่นวาย”
จากคำบอกเล่าจะเห็นได้ว่า ถึงแม้พื้นที่ตลาดจะมีการปรับเปลี่ยนตลอดวันทั้งอาหารสดในตอนเช้า ของฝากเบ็ดเตล็ดในช่วงกลางวัน และสตรีทฟู้ดในช่วงเย็นไปจนถึงค่ำ แต่ก็ยัง ‘ไม่สามารถดึงดูดคนในอำเภอ’ ได้มากพอเทียบกับตลาดอื่นๆโดยรอบ ด้วยความเคยชินหรือ ‘มายาคติ’ที่หล่อหลอมไปแล้วว่า
‘ตลาดกิมหยง มีไว้เพื่อนักท่องเที่ยว’
จึงส่งผลให้ ‘ราคาค่าเช่าแผงสูง’ และกระทบต่อ ‘ราคาสินค้าในตลาดที่สูง’ขึ้นตามไปด้วย โดยที่ก่อนหน้านี้ราคาที่สูงนั้น ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับตลาดแห่งนี้เพราะเน้นขายนักท่องเที่ยวเป็นหลักอยู่แล้ว แต่กลับกันก็ไม่ใช่ราคาที่เป็นมิตรกับคนในพื้นที่เท่าไหร่นัก ถึงแม้ว่าจะเป็นตลาดสะอาดน่าเดินก็ตาม
.
จากการระบาดรวมถึงมาตรการต่างๆของรัฐ ที่ส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวและไม่ได้รับการเยียวยา ร้านค้าบางร้านจึงเปิดได้แค่ 3-4 วัน/สัปดาห์ เท่านั้น สาเหตุมาจากต้นทุนที่ลงไปแต่ไม่ได้คืนกลับมา และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘จะเปิดหรือปิดร้าน มีค่าเท่ากัน เพราะขายไม่ได้เลย’ บางร้านจึงต้องขอลดค่าแผงหรือขอผัดไปก่อนเนื่องจากขาดรายได้ เจ้าของแผงรายหนึ่งกล่าว
“แผงเราอยู่รอบนอกริมทางเดิน ไม่ใช่ในตลาดก็จะถูกหน่อยเมื่อก่อน 8000 – 9000 บาทต่อเดือน พ่อค้าแม่ค้าร้อยละ 80 ไม่ใช่เจ้าของแผงกันหรอก เขาก็เช่าเอาทั้งนั้น ตอนนี้ตลาดขายไม่ได้ก็ทยอยคืนแผงเพราะไม่มีเงิน ตอนนี้ให้ 3000 เขายังไม่เอาเลยมั้ง”
การตลาด (ไม่) เน้นนักท่องเที่ยว
ร้านสตรีทฟู้ดชื่อดังข้างตลาด ซึ่งเป็นร้านดังที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปอยู่ในบล็อครีวิวอาหารร้านเด็ดอย่าง‘วงใน’และได้รับพื้นที่ทางสื่อมากมายตลอดหลายปีที่ผ่านมา จากรายการรีวิวอาหารหรือรายการท่องเที่ยว ด้วยราคาที่ไม่แพง แม่ค้ายิ้มแย้มแจ่มใสดี พูดจาดี ปริมาณอิ่มกำลังดี ทำให้ครองใจคนทั้งในและนอกพื้นที่
ร้านนี้เป็นหนึ่งในร้านที่ได้รับผลกระทบไม่มากเท่าร้านอื่นๆ ข้อได้เปรียบของร้านคือเนื่องจากเป็น ‘ร้านดังราคาดี ที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยนักท่องเที่ยว’ ก็มียอดซื้อจาก‘คนในพื้นที่’ด้วยกัน ส่วนตัวผู้เขียนชื่นชอบและซื้อกลับบ้านบ่อยครั้ง ก็สังเกตุว่า ‘กลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นวัยกลางคนขึ้นไปและส่วนใหญ่เป็นคนหาดใหญ่’ แต่ก็ยังได้รับผลกระทบบ้างเพราะ ‘ตลาดปิด’
.
ตลาดปิดทำให้เข้าใจว่า ‘ร้านแทบจะทุกร้านที่เกี่ยวข้องกับตลาดปิดไปด้วย’ หน้าร้านแทบจะไม่มีรถขับผ่าน เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเดินตลาดของฝาก จึงทำให้ถึงแม้จะพอขายได้บ้าง แต่ก็ต้องปรับเปลี่ยนการขายไปขายออนไลน์ด้วย คอยอัพเดตในเพจร้านว่า ‘วันนี้ร้านเปิด’ หรือ ‘สั่งได้นะคะลูกค้า’ ให้รับรู้ว่าร้านเปิด ถึงแม้จะไม่ช่ำชองมากนักแต่ก็ทำให้ร้านยังไปต่อได้
จะเห็นได้ว่าขนาด ‘ร้านอาหารชื่อดัง’ ที่เน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนภายในพื้นที่ ยังแค่พอจะขายได้ บางวันก็ยอดน้อยแบบที่ก่อนโควิดไม่เคยเป็นมาก่อน ร้านอื่นๆที่ต้องหวังพึ่งนักท่องเที่ยว จึงยิ่งน่าเป็นห่วง
.
เสื้อผ้าเป็นสิ่ง (ไม่) จำเป็น
การปรับเปลี่ยนพื้นที่การขายและกลุ่มลูกค้าหลักจึงเป็นเรื่องจำเป็น อย่าง ‘ร้านขายเสื้อผ้าเครื่องสำอางค์’ จากการสัมภาษณ์ ร้านนี้เป็นร้านที่อยู่แผงภายในตลาดขายผ้าลายพื้นเมืองที่ต้องอาศัยยอดการซื้อจาก ‘นักท่องเที่ยว’ และ ‘ไม่เป็นที่นิยม’ ในหมู่คนในพื้นที่ ซึ่งได้รับผลกระทบเต็มๆ อย่างแรกเลยคือเพราะสินค้าและพื้นที่การขาย เนื่องจากถึงแม้ว่าช่วงการระบาดน้อยๆจะมีการอนุญาตให้ตลาดเปิดและขายสินค้าได้ แต่ ‘เสื้อผ้าและเครื่องสำอางค์’ ไม่ได้รับอนุญาตให้ขายตามมาตรการรัฐ เพื่อเป็นการลดความแออัดภายในตลาด
“ก็เสื้อผ้า เครื่องสำอางค์ยุคนี้โควิดมาทำให้มันไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องซื้อ ไม่มีเงินใครจะซื้อ ขนาดอาหาร คนยังไม่ค่อยมีเงินซื้อเลย แล้วเสื้อผ้าจะไปเหลืออะไร จะปรับไปขายอาหารก็ไม่มีเงินทุน แล้วก็อีกอย่างก็ไม่รู้จะขายอะไร จะขายได้ไหม เพราะของที่มีอยู่ก็หลายบาทแล้ว ทำได้แค่รอเวลาให้สถานการณ์มันดีขึ้นเนอะ ลองไปขายออนไลน์ก็สู้เขา (ร้านเสื้อผ้าออนไลน์ที่เดิมก่อนโควิดมีอยู่แล้ว) ไม่ได้ บางร้านก็ขายได้นั่นแล เราก็ไม่รู้ทำไม่ค่อยถูกเนอะไม่ใช่คนสาวๆ ยิ่งเครื่องสำอางค์ มันมีวันหมดอายุ ขายไม่ออกก็ต้องทิ้ง นี่โชคดีในร้านยังไม่มีต้องทิ้ง ไม่มีค่าแผงจะส่งก็ขอลดเขา ขอจ่ายตอนที่มี เขาก็ต้องให้อ่ะเพราะเขาก็ไม่มีรายได้เหมือนกันถ้าเราไม่อยู่ต่อ เขาก็ไม่รู้จะเอาที่ไหน ต้องช่วยๆ กันกระทบกันหมดนะลูก”
.
จากการสอบถามได้มีการนำเสื้อผ้าและเครื่องสำอางค์ไปลองขายแถวบ้านและใต้สะพานลอยแบบแอบๆเพราะถูกห้ามขายอย่างจริงจัง แต่เป็นการ ‘เร่ใส่หลังรถกระบะ’ และขายในราคาเท่าทุนบ้าง ขาดทุนบ้างเพราะในตลาดอื่นๆก็ไม่ได้ให้ขายเหมือนกัน
“ทุกใส่รถไปเหมือนขายลองกอง มังคุด อะไรพันนี้แล แต่เป็นเครื่องสำอางค์ เสื้อผ้า ก็ขายไม่ค่อยได้หรอก มันเงียบทั้งเมือง ตลาดบางที่เขาคุมเข้มไม่ให้พ่อค้าแม่ค้ามาเลยแหละ แต่มันก็มีคนผ่านไปมาบ้างจะให้ทำไงก็ดีกว่าไม่ขายเลย ไม่มีเงินแล้วทุกวันนี้มาเปิดก็แทบจะเฉือนเนื้อตัวเองกินแล้ว”
นี่เป็นส่วนหนึ่งของคำบอกเล่าของแม่ค้าเสื้อผ้าในตลาด ในจุดที่สินค้าของตนไม่ได้รับอนุญาตให้ขายเพราะถูกระบุว่าเป็น ‘สินค้าไม่จำเป็น’ และไม่ได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด รวมถึงสินค้า ‘ไม่ได้เป็นที่ต้องการสำหรับคนในพื้นที่’ ถึงแม้จะกลับมาขายได้บางช่วง แต่ทั้งวันก็ไม่มียอดขายเลย เป็นเพียงแค่ของฝากสำหรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น ภายหลังพื้นที่ชุมชนกิมหยงได้รับการเข้าช่วยเหลือบริจาคอาหารเป็นบางวัน แต่สิ่งเดียวที่พวกเขาต้องการมากที่สุดในตอนนี้เพียงแค่ ‘การจัดหาวัคซีนที่ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ’ เพื่อให้สามารถ ‘เปิดประเทศ’ได้โดยเร็วและกลับมามีนักท่องเที่ยวอีกครั้งเท่านั้น
.
ซื้อของอิเลคทรอนิกส์ (ไม่) ไปซื้อที่กิมหยง
ใช่ว่าการจะปรับเปลี่ยนหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆในการขายออนไลน์จะทำได้กับทุกคน ยิ่งเป็นกลุ่มผู้ค้ารุ่นเก่าต่างยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยาก การค้าขายในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องเน้นการขายหน้าร้านเป็นหลักจึงจะอยู่ต่อไปได้
‘ร้านค้าอิเลกทรอนิกส์’ เป็นหนึ่งในโซนสินค้าหลักของตลาดซึ่งตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 ของตลาด เนื่องจากร้านเหล่านี้ไม่มีพื้นที่หน้าร้านในโลกออนไลน์ และพ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอายุค่อนข้างมากและอยู่คู่ตลาดมานาน จากการให้สัมภาษณ์ของหนึ่งในพ่อค้า (จากคลิปวิดิโอ พ่อค้า แม่ค้า ตลาดกิมหยงปรับวิธีขายสู้ COVID-19 : สถานีร้องเรียน (27 ส.ค. 63) ช่อง Thai PBS ) กล่าวว่า
“ยอดขายก็ตกลงครับจากโควิดที่ พฤษภา มิถุนา พอมากรกฎาที่ผ่านมาก็เริ่มดีขึ้นนักท่องเที่ยวมามากขึ้น(นักท่องเที่ยวในประเทศ) แต่ว่ามันก็ซิงค์กับผลของยอดโควิดอะไรอย่างเงี้ย พอยอดไม่มีปุ้ปคนในประเทศก็สามารถมาช้อปปิ้งได้ ทีนี้ก็รอทางมาเลย์ ถ้าเขาปล่อยให้คนของเขามาเที่ยวได้ ก็จะดีขึ้นกว่านี้”
จะเห็นได้ว่าแม้แต่โซนนี้เองก็ยังพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมาจับจ่าย และนี่เป็นคำบอกเล่าเมื่อโรคระบาดช่วงปลายปี 2563 แต่ในปัจจุบันหลังการระบาดรอบ 3 เป็นต้นมา โซนของตลาดอิเลกทรอนิกส์ก็ได้ ‘ปิดทำการอย่างไม่มีกำหนด’ เนื่องจากการไม่อนุญาตให้ขายสินค้าที่ไม่จำเป็นในพื้นที่ตลาดส่วนนึง และถึงแม้ในยามผ่อนปรนก็ยังไม่มีกลุ่มนักท่องเที่ยวอยู่ดี อีกทั้งกลุ่มคนเหล่านี้ล้วนกลัวการติดโรคระบาดเป็นพิเศษมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ หากไม่ได้รับวัคซีนที่ครบก็จะไม่อยากเสี่ยงออกจากบ้าน
โซนนี้ขายมาตั้งแต่สมัยที่อุปกรณ์อิเลคทรอนิกในหาดใหญ่จะหาได้ต้องเป็นที่นี้เท่านั้นเพราะเป็นตลาดอันดับต้นๆที่นำอุปกรณ์เหล่านี้มาขาย จนมีตลาดคู่แข่งอย่าง ‘ตลาดสันติสุข’ ที่ในยุคหลังถือว่าหากจะหาอุปกรณ์อิเลคทรอนิกก็นึกถึงแต่ตลาดสันติสุขเท่านั้น ไม่ได้นึกถึงตลาดกิมหยงเท่าไหร่
ความที่มีภาพจำของการไปเดินตลาดกิมหยงว่า ‘มีแค่ชาวต่างชาติ’ จึงทำให้ชินไปแล้วว่าเป็นที่ท่องเที่ยว คนพลุกพล่าน ไม่อยากไปเดินเบียดกับคนเยอะๆ ความที่บรรยากาศโดยรวมของตลาดสันติสุขมักจะเป็นคนในพื้นที่มากกว่า ทำให้รู้สึกไปเองว่าน่าเดินมากกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการจัดการพื้นที่ของหน่วยบริหารภายในตลาดกิมหยง ที่มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์เพื่อการท่องเที่ยวล้วนๆ โดยมองข้ามคนในพื้นที่ไป ไม่ทำให้เข้าถึงง่ายแบบตลาดอื่นๆ ไม่ได้ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้า ทำให้คนในอำเภอมองข้ามไปและมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตตอนที่ประเทศเปิดแล้ว โซนนี้ก็อาจจะยังไม่ฟื้นหรืออาจจะถูกปรับเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดแห่งนี้หลังการระบาดของโควิด ถึงแม้จะเป็นการยกตัวอย่างเพียงแค่ไม่กี่ร้าน แต่ร้านที่เหลือที่ไม่ถูกพูดถึงก็มีชะตากรรมที่ไม่ต่างกันนัก การที่ตลาดกิมหยงซบเซาเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของปัญหาเศรษฐกิจอีกที่หนึ่งที่ถูกมองข้าม ถูกคำว่า ‘ต่างจังหวัด’ ครอบไว้ทำให้โดนมองข้ามจากความเจริญและไม่ถูกพัฒนา และอีกแง่ยังถูกกรอบของความ ‘มีชื่อเสียง และตลาดสำหรับนักท่องเที่ยว’ ที่เป็นเพียงมายาคติของคนรุ่นก่อนมาซ้ำ ทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอจากคนในพื้นที่
ไม่ใช่แค่อนาคตที่ไม่แน่นอน ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่เห็นถึงความชัดเจนของอะไรหลายๆ อย่าง 2 ปีที่ผ่านมากับรายได้ที่หายไปและไม่มีกำหนดเวลาว่ามันจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ กลุ่มเป้าหมายของตลาดแห่งนี้ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆที่หวังพึ่งพาเพียงแค่ ‘นักท่องเที่ยว’ จะยังคงเดิมหรือไม่ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะเล็งเห็นถึงความสำคัญของการตลาดภายในพื้นที่ หรือปรับราคาสินค้าบริการให้เป็นมิตรกับคนใกล้ตัวมากขึ้น
.
แน่นอนว่าในปัจจุบันประเทศได้เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว แต่หากลองมองอีกมุมว่าอนาคตหากกลับไปประสบกับปัญหาการปิดประเทศอีก และไม่เปลี่ยนแปลงอะไร การฝากความหวังไว้แค่ที่นักท่องเที่ยว เพียงเพราะขายได้กำไรเยอะกว่า ขายดีกว่า จะยังคุ้มค่ากับการที่ในยามวิกฤตเราก็จะเจอกับเรื่องราวเดิมๆ ที่คงไม่มีใครอยากเจออีกหรือไม่..
Comments