“แก่” “ปะแก่” “มะแก่” คำร่วมราก ; จารีตคำเรียกเครือญาติของคนแขกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
อัปเดตเมื่อ 11 เม.ย. 2565
บทความเรื่องคนแขกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาของผู้เขียน ตีพิมพ์อยู่ในวารสารเมืองโบราณ“สงขลาหัวเขาแดง เมืองสุลต่านสุไลมาน” ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๔ ตุลาคม - ธันวาคม ๒๕๖๑ ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับคำเรียกเครือญาติของคนแขกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา[๑] ไว้ในระดับหนึ่งที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสงขลา-พัทลุง พบว่าทุกพื้นที่มีการใช้คำว่า แก่ ในความหมายของการเรียกผู้สูงอายุตรงกับการเรียกของคนไทยคือ ตา,ยาย,ปู่,ย่า โดยจะมีการใช้คำเรียกดังนี้
๑. แก่ หมายถึง ยาย,ตา,ย่า,ปู่
๒. แก่ ตามด้วยชื่อ เช่น แก่หมัด
๓. แก่ ตามด้วยการระบุเพศ แก่หญิง หมายถึง ยาย,ย่า แก่ชาย หมายถึง ตา,ปู่
แก่ ที่มีการเติมคำขยายคือ คำว่า ปะแก่ หมายถึง ตา,ปู่ มะแก่ หมายถึง ยาย,ย่า (กรณีนี้คำว่า ปะ มะ คือคำขยายของคำว่า แก่ เราจะเห็นว่า การเติมคำขยายไว้ข้างหน้านี้ไม่ปรากฏในรูปแบบของภาษาไทย(?) แต่เป็นรูปแบบหลักไวยากรณ์ที่พบในภาษามลายูอาทิเช่น ฉันมีความสุขมาก ภาษามลายูจะเขียนเรียงประโยคว่า Saya Sangat Gembira (Saya มีความหมายว่า ฉัน ,Sangat ,มีความหมายว่า มาก , Gembira มีความหมายว่า ความสุข) โดยทั่วไปคนแขกจะใช้คำว่า ปะหมายถึงพ่อ ใช้คำว่า มะหมายถึงแม่ ๔. แก่ ใช้เรียกพี่น้องของปู่ย่านตายาย โดยใช้คำเรียกตามข้อมูลข้างต้นในการเรียก ๕. แก่โต๊ะ,แก่หยัง,แก่แหน๊ะ หมายถึง ทวด[๒] อย่างไรก็ดีพบว่าคนไทยนับถือพุทธในลุ่มทะเลสาบสงขลาบางพื้นที่ของจังหวัดพัทลุงเช่นที่ บ้านยางขาครีม ตำบลทุ่งนารี อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ,บ้านตำนาน ตำบลตำนาน อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง มีการใช้คำว่า พ่อแก่หมายถึงตา ใช้คำว่า แม่แก่หมายถึงยาย โดยจะไม่มีการใช้คำทั้งสองในการเรียกปู่กับย่าแต่อย่างใด ให้ข้อมูลโดยคุณ เสาวลักษณ์ ทองแป้น[๓] ทั้งนี้คนไทยพุทธโดยส่วนใหญ่ในพื้นลุ่มทะเลสาบสงขลาจะใช้คำว่า พ่อเฒ่าหมายถึงตา ใช้คำว่าแม่เฒ่าหมายถึงยาย
ภาพวาดชาวซัมซัมและชาวซิงฆอเรียน(สงขลา) สมัยรัชกาลที่ห้า สืบค้นได้จาก shorturl.asia/KijIL
ทั้งนี้ คุณเพชรภูมิ กสุรพ[๔] ชาวไทยพุทธใช้ภาษาไทยสำเนียงเจ๊ะเห ที่บ้านร่อน ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาสให้ข้อมูลว่าในหมู่บ้านของตนจะใช้คำว่า พ่อแก่หมายถึงตากับปู่ แม่แก่หมายถึงยายกับย่า และ คุณธีระเทพ จิตต์หลัง นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาลัยธรรมศาสตร์เป็นชาวมุสลิมที่บ้านควน ตำบลบ้านควน อำเภอเมืองสตูลให้ข้อมูลว่าระบบคำเรียกเครือญาติฝ่ายพ่อของตนซึ่งเป็นคนมุสลิมพูดภาษาไทยถิ่นใต้ที่ บ้านทุ่งสะโบ๊ะ ตำบลทุ่งบุหลัน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูลมีการใช้คำเรียก ปะแก่หมายถึงตากับปู่ มะแก่หมายถึงย่ากับยายและเท่าที่สังเกตพบว่าคำว่าแก่นี้ยังใช้ในบางพื้นที่ของอำเภอละงู อีกด้วยส่วนอำเภออื่น ๆ ของจังหวัดสตูลกลับแทบไม่พบการใช้คำนี้เลย ทั้งนี้ผู้เขียนพบว่า ชาวมุสลิมที่โยกย้ายไปจากลุ่มทะเลสาบสงขลาไปตั้งหมู่บ้านในแถบอำเภอควนกาหลงก็ยังคงมีการใช้คำว่าแก่มาจนถึงปัจจุบัน
จิตกรรมมุสลิมมลายูหรือคนเเขกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ที่วัดวัง ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุงเป็นวัดที่เจ้าเมืองพัทลุงซึ่งสืบเชื้อสายมาจากสุลต่านสุลัยมาน ชาห์เป็นผู้สร้าง
แก่ คำร่วมรากผู้คนบนคาบสมุทรไทย-มาเลย์และหมู่เกาะทะเลใต้ (?) การใช้คำว่าแก่จากที่ยกมาข้างต้นเป็นการใช้เรียกที่มีนัยยะถึงการเรียกผู้สูงอายุซึ่งพบข้อมูลที่น่าสนใจในบทความเรื่อง “คำที่เกี่ยวข้องกับตัวตน และเครือญาติคนใกล้ชิด เผยแผร่ออนไลน์ ผ่าน เพจคนพูดไทย” เกี่ยวกับการใช้คำว่า แก่ มีข้อมูลดังนี้ “…ออกนอกเรื่องไปนิดหากคิดได้ว่า “ยี่” และ “ยาย” ก็น่าจะเป็นคำเดียวกับ “ย่า” และ “ยาย” และยังอาจสัมพันธ์ไปถึงคำว่า “ใหญ่” และ “แก่” ของชาวผู้ไททั้งบาง คำว่า “แก่” นี้ ชาวบ้านแถวเกาะกะลิมันตันตอนใต้เรียกใช้กันทั่วไป หมายถึงผู้สูงอายุ และสังเกตว่าพวกผู้ไทเรียกผลไม้ที่กำลังจะสุกว่า “แก่” ในทำนองเดียวกับเรียกผู้หญิง “ท้องแก่” หรืออีกนัยยะคือการสื่อถึงความเป็นเพศหญิง คำนี้ได้ถูกสอบขยายตีความไว้ในบทต่อๆ ไป…”[๕] พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้ความหมายไว้ดังนี้ “…(๑) ว. มีอายุมาก เช่น แก่ไปทุกวัน ไม้แก่ เด็กคนนี้แก่กว่าเด็กคนนั้น, อยู่ในวัยชรา เช่น คนแก่ หญิงแก่, จัด เช่น เหลืองแก่ แก่เปรี้ยว แก่หวาน…”
“…(๒) ว. โดยปริยายหมายความว่า จัดเจน หนัก หรือ ยิ่งไปในทางนั้น เช่น แก่สังคม แก่วิชา แก่เหล้า แก่เล่น แก่ไฟ…” ลูกคำของ "แก่ ๑" คือ แก่กล้า แก่ดีกรี แก่ตัว แก่บ้าน แก่มะพร้าว เฒ่ามะละกอ แก่มะพร้าวห้าว แก่วัด แก่เกินแกง แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน แก่แดด แก่แรด แก่ไฟ…”[๖] จากข้อมูลที่ระบุอยู่ในพจนานุกรพบว่าในภาษาไทยจะใช้คำว่า แก่ ใช้ในความหมายของ คำวิเศษ เช่นคนแก่ หญิงแก่ ไม่มีการใช้ในการเจาะจงเรียกผู้สูงอายุ ในขณะที่กลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ของลุ่มทะเลสาบสงขลาคือคนแขก คนไทยและคนไทยที่ใช้ภาษาไทยสำเนียงเจ๊ะเห ซึ่งมีความใกล้ชิดกับคนในโลกมลายู-ชวามากกว่ากลับมีการใช้คำดังกล่าวในความหมายของการเรียกผู้สูงอายุที่สอดคลองกับการเรียกของกลุ่มคนทางตอนใต้ของเกาะกาลิมันตัน ทั้งนี้การใช้คำว่าแก่เป็นที่น่าสังเกตว่ามุสลิมในพื้นที่อื่น ๆ อาทิเช่นคนมุสลิมมลายูปตานี คนมุสลิมมลายูสตูล คนมุสลิมมลายูในจังหวัดนครศรีธรรรมราช กลับไม่พบการใช้คำนี้พบบางในพื้นที่ที่ต่อแดนกับลุ่มทะเลสาบสงขลา จึงอาจสันนิษฐานเบื้องต้นว่าการใช้คำว่าแก่ของคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลานั้นสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์เฉพาะที่มีความร่วมรากกับกลุ่มคนไทยพุทธบางพื้นที่
ดังที่ทราบกันว่าหลังอยุธยาพิชิตเมืองสงขลาได้ในปี พ.ศ. 2223[๗] ชาวเมืองสงขลาถูกเทครัวกระจัดกระจายไปหลายแห่ง ทั้งนี้ชาวสงขลากลุ่มใหญ่ ได้ถูกเคลื่อนย้ายเข้าไปยังอ่าวบ้านดอน และได้ตั้งชุมชนถาวรขึ้นที่บ้านสงขลา เมืองไชยา [๘]
สายสกุลเจ้าเมืองสงขลาจากหัวเขาแดงได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองไชยาต่อมาจนสิ้นสมัยธนบุรีเพื่อพิสูจน์สมมติฐานว่าการใช้ "แก่" นั้นเป็นลักษณะเฉพาะของชาวสงขลาและการใช้ "แก่" ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ ดังนั้นชุมชนชาวสงขลาพลัดถิ่นที่ไชยาก็น่าที่จะต้องมีคำนี้
ผู้เขียนได้ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่บ้านสงขลา อำเภอไชยา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 และต่อมาได้มีโอกาสสัมภาษณ์อดีตข้าราชการครู โรงเรียนวัดโพธิ์ธาราม คือคุณครูสะอาด ร่าหม่าน ปัจจุบันท่านอายุ 72 ปีเป็นคนบ้านสงขลาโดยกำเนิด ปัจจุบันได้ไปพำนักอยู่กับบ้านของภรรยาที่ตำบลพุมเรียง
คุณครูสะอาดเป็นนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของพุมเรียงมีความรอบรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณีของมุสลิมบ้านสงขลาและพุมเรียงเป็นอย่างดี ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจมากว่าคนมุสลิมที่บ้านสงขลา หมู่ 2 ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีธานี ซึ่งแบ่งละแวกบ้านออกเป็น 3 บ้านย่อย คือบ้านสงขลา บ้านสงขลากลาง บ้านโต๊ะเจ้า
"...ตั้งแต่จำความได้ไม่มีการใช้คำว่า แก่,ปะแก่ ,มะแก่ในการเรียกตายายปู่ย่า แต่คำว่า “ปะแก่”ปรากฏการใช้ในหมู่บ้านมาจนถึงปัจจุบันคือสงวนไว้ใช้เรียกท่านสุลต่านมุสตาฟา เจ้าเมืองสงขลาที่หัวเขาแดงบุตรท่านสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ ภายหลังได้เป็นเจ้าเมืองไชยามีราชทินนามว่าพระยาพิชิตภักดี ศรีพิชัยสงคราม (พระยาไชยา มุตตาฟา) เรียกมัรฮูมปะแก่ ซึ่งเป็นการเรียกของคนบ้านสงขลาและใกล้เคียง แต่ในพงศาวดารเมืองไชยานั้นจะเรียกว่า “มะระหุมปะแก” ดังปรากฏอยู่ในตำนานเมืองไชยาเก่า อ้างจากพระยาวิชิตภักดี (บุญชู) ว่า
"...มีแขกมลายู ชื่อ มะระหุมปะแก อพยพครัวและพรรคพวกมาจากบ้านหัวเขาแดง ปากน้ำเมืองสงขลา มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ทุ่ง โฉลก ท้องที่อำเภอพุนพิน ซึ่งในเวลานี้เรียกนามว่า บ้านหัววัง ตั้งทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ สืบมาจนกระทั่งเจ้าเมืองไชยาว่างลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มะระหุมปะแกเป็นเจ้าเมืองไชยา "[๙]
พงศาวดารเมืองไชยากล่าวถึงสุลต่านมุสตาฟา บุตรสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ เรียกว่า มีเเขกมลายูชื่อ มะระหุมปะแก ขอบคุณภาพถ่ายจากคุณครูสะอาด ร่าหมาน
กุโบร์ของสุลต่านมุสตาฟา หรือ มะระหุมปะแก่ สุลต่านแห่งซิงฆอรา เมืองสงขลาที่หัวเขาแดงสมัยอยุธยาภายหลังได้เป็นเจ้าเมืองไชยา ปัจจุบันหลุมกุโบร์ของท่านอยู่ที่บ้านโต๊ะเจ้า
สรุป
คำว่า “แก่” ซึ่งเป็นคำที่ถูกใช้ในความหมายของการเรียกผู้สูงอายุนั้นพบว่าคนแขกมุสลิมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาหรือ ( มุสลิมซิงฆอราหรือชาวซิงฆอราพลัดถิ่น )มีการใช้อย่างกว้างกระจายอยู่รอบลุ่มทะเลสาบสงขลาในขณะที่พื้นที่อื่น ๆ กลับแทบไม่พบการใช้หรือที่ใช้ก็เป็นพื้นที่ต่อเเดนกับลุ่มทะเลสาบสงขลามีความเป็นไปไหมว่ากลุ่มมุสลิมที่อยู่นอกพื้นที่ลุ่มทะเลสาบที่ใช้คำว่า แก่ อาจมีความสัมพันธุ์เป็นกลุ่มคนที่มีรากบรรพชนร่วมกับคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลาก็เป็นได้ ทั้งนี้การใช้ยังสอดคล้องกับคนไทยพุทธบางพื้นของจังหวัดพัทลุงและคนไทยพุทธกลุ่มที่พูดภาษาเจ๊ะเหอีกด้วยแต่อาจมีการปรับเปลี่ยนคำให้ต่างกันไปบ้างนั้นคือการเติมคำนำหน้า ว่าพ่อแก่ แม่แก่ ซึ่งการเรียกรูปแบบนี้เป็นการเรียกที่
เหมือนกับคนในหมู่เกาะกาลิมันตันทางใต้อีกด้วยในขณะที่คนไทกลุ่มอื่นมีการใช้คำว่า แก่ แต่ไม่ได้ถูกใช้ในความหมายของการเรียกผู้สูงอายุ ดังนั้นคำว่า แก่ จึงสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของคนในภูมิภาคบ้านเราทั้งผู้คนในวัฒนธรรมชวา-มลายูและผู้คนไทกลุ่มต่างๆ ดังที่ได้ยกมานำเสนอ
ขอขอบคุณ ๑.คุณเพชรภูมิ กสุรพ ๒.คุณคุณธีระเทพ จิตต์หลัง ๓.คุณเสาวลักษณ์ ทองแป้น ๔.คุณครูสะอาด ร่าหมาน ที่มา : [๑] : คนแขกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาคือมุสลิมใช้ภาษาไทยถิ่นใต้แต่มีระบบจารีตคำเรียกเครือญาติที่ใช้จารีตชวา-มลายูอยู่ในวิถีชีวิต . [ ๒ ] : สามารถ สาเร็ม.คนแขกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา.วารสารเมืองโบราณฉบับสงขลาหัวเขาแดงเมืองสุลต่านสุไลมาน.ปีที่๔๔ ฉบับที่๔หน้า๙๗-๑๐๙ . [๓] : เสาวลักษณ์ ทองแป้น.ชาวไทยพุทธที่บ้านยางขาครีม ตำบลทุ่งนารี อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุงสัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๔ . [๔] : คุณเพชรภูมิ กะสุระ.ชาวไทยพูดภาษาเจ๊ะเหที่บ้านร่อน ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส.สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๔ . [ ๕ ] เพจคนพูดไทย.เรื่องคำที่เกี่ยวข้องกับตัวตนและเครือญาติคนใกล้ชิด.(เผยแผร่ออนไลน์) สืบค้นได้จาก https://bit.ly/31bU7pm . [๖] : พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.๒๕๒๕.ระบบสืบค้นออนไลน์ : https://bit.ly/3tJxk0u วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๔ . [๗ ] : สงบ ส่งเมือง - ประวัติศาสตร์เมืองสงขลา ตีพิมพ์ในวารสารปาริชาต ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 กันยายน 2529 , หน้า 7 . [๘] : "...มีแขกมลายู ชื่อ มะระหุมปะแก อพยพครัวและพรรคพวกมาจากบ้านหัวเขาแดง ปากน้ำเมืองสงขลา มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ทุ่ง โฉลก ท้องที่อำเภอพุนพิน ซึ่งในเวลานี้เรียกนามว่า บ้านหัววัง ตั้งทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ สืบมาจนกระทั่งเจ้าเมืองไชยาว่างลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มะระหุมปะแกเป็นเจ้าเมืองไชยา" ดูใน ตำนานเมืองไชยาเก่า อ้างจาก - พระยาวิชิตภักดี (บุญชู) กับหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์เมื่อครั้งแผ่นดินกรุงธนฯ ถึงต้นแผ่นดินกรุงเทพฯ [๙] : เพิ่งอ้าง .
Comments