top of page
รูปภาพนักเขียนคิดอย่าง

อ่านใหม่พระนครศรีอยุธยา ผ่านภาพวาดของ Vingboons



ภาพเขียนปริศนา

 

ภาพเขียนสี “ทิวทัศน์ของยูเดีย” (View of Judea) ของสองพี่น้อง Johannes และ David Vingboons จิตรกรชาวดัทช์ ที่เขียนในปี 1663 สมัยต้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ และภาพ “ภูมิทัศน์ยูเดียด์ นครหลวงแห่งราชอาณาจักรสยาม” (Afbeldinge der Stadt Iudiad Hooft des Chooninclick Siam) ของ Johannes ที่เขียนในปีถัดมา เป็นภาพมุมกว้างพระนครศรีอยุธยาที่เก่าที่สุดชุดหนึ่ง โดยภาพ “ทิวทัศน์ของยูเดีย” เป็นต้นฉบับ ส่วนภาพปี 1664 เป็นการเขียนเลียนตามแต่แต่งเติมในรายละเอียดและมุมมอง


ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภาพชุดนี้ได้ถูกตั้งคำถามและถกเถียงในวงวิชาการมาโดยตลอดถึงความถูกต้องขององค์ประกอบและรูปแบบของสิ่งก่อสร้างในอยุธยา นักวิชาการส่วนหนึ่งเห็นว่าภาพเขียนชุดนี้เขียนขึ้นตามมุมมองของชาวตะวันตกที่ไม่คุ้นเคยกับศิลปะสถาปัตยกรรมของชาวสยาม ทำให้การเขียนรายละเอียดองค์ประกอบมีความผิดเพี้ยน จิตรกรที่เขียนก็ไม่เคยเดินทางมาสยาม การเขียนจึงเป็นการปะติดปะต่อจากคำบอกเล่าและภาพร่างของเหล่านักเดินทางและพ่อค้า ที่สำคัญภาพต้นฉบับอย่าง View of Judea นั้นใช้เพื่อประดับตกแต่งสำนักงานของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัทช์ หรือ VOC (Dutch East India Company) ให้ดูหรูหรา (ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช 2006: 41-5) (Zandvliet 2009: 1441-2) จึงไม่มีความจำเป็นว่าต้องเขียนให้ถูกต้องตามความจริง ขณะที่นักวิชาการอีกฟากกลับเห็นว่า แผนที่ชุดนี้ (รวมทั้งเอกสารต่างชาติอื่นๆ) มีความน่าเชื่อถือมากกว่าพระราชพงศาวดาร (พิริยะ ไกรฤกษ์, 2562: 34-9) ที่มีวัฒนธรรมการปรับปรุงแก้ไขในสมัยต่อมาเสมอๆ และมีเป้าประสงค์ทางรัฐศาสตร์ นอกจากนั้นยังมีผลงานวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งที่หยิบยกภาพวาด มาใช้อธิบายผังและสถาปัตยกรรมพระนครศรีอยุธยาร่วมกับหลักฐานอื่นๆ เช่น บทความของ Chris Baker ที่ตีพิมพิมพ์ในวารสาร Siam Society


แนวคิดต่างๆ ที่กล่าวมามีเหตุผลต่างมุมที่น่าสนใจ แต่ก็ยังไม่มีแนวคิดใดมองภาพ View of Judea อย่างครอบคลุมในเรื่องผังเมือง บทความจึงนี้จะทดลองมองภาพ View of Judea ผ่าน “โครงสร้างผังเมือง” และ “องค์ประกอบของพระนครศรีอยุธยา” เปรียบเทียบกับหลักฐานอื่นๆ เพื่อกลั่นกรองว่าส่วนใดของภาพที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ และส่วนใดที่คาดว่าจะเป็นจินตนาการของศิลปิน


แกะรอยสถาปัตยกรรมจากผัง “ทิวทัศน์ของยูเดีย”

 

สิ่งที่ต้องทราบก่อนในเบื้องต้นคือ ภาพของ Vingboons นำเสนอบรรยากาศเฉพาะบนเกาะเมืองเท่านั้นทั้งนี้ตามข้อเท็จจริงแล้ว ประชากรส่วนใหญ่น่าจะอยู่อาศัยนอกเกาะโดยรอบ (Baker 2014: 180) สามารถเดินทางเข้า – ออกพระนครได้อย่างสะดวกจากท่าเรือข้ามฟากรอบทิศทาง และทำนบหัวรอ “สะพานใหญ่” บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ในแผนที่กรุงศรีอยุธยา (Plan de la ville de siam) จากบันทึกของ de La Loubère ราชทูตฝรั่งเศสชุดที่ 2 ที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในปี 1687 ก็แสดงให้เห็นว่าพื้นที่รอบเกาะเมืองมีชาวสยามและชาวต่างชาติอาศัยอยู่

ภาพของ Vingboons ส่วนที่แม่นยำมากที่สุดคงไม่พ้นบริเวณกำแพงเมืองฝั่งทิศใต้ของเกาะเมือง เพราะพื้นที่นี้เป็นถิ่นที่อาศัยของผู้สังเกตการณ์ชาวยุโรป ซึ่งเมื่อสืบสวนภาพองค์ประกอบป้อม กำแพงเมืองเครื่อก่อ ประตูน้ำเครื่องไม้ทรงหูช้าง และชุมชนชานพระนครบริเวณกำแพงเมืองในบริเวณนี้ เทียบกับแผนที่และลายเส้นที่ได้รับความเชื่อถืออย่างสูงของ Engelbert Kaempfer ที่สำรวจสถานที่จริงและเขียนขึ้นในปี 1690 สมัยสมเด็จพระเพทราชา ก็จะเห็นว่ามีลักษณะใกล้เคียงกัน


หลักฐานหนักแน่นที่ยืนยันความน่าเชื่อถือของสมมติฐานนี้ คือ “ป้อมเพชร” จุดหมายตาแรกที่ชาวต่างชาติรู้จักกันดี ตั้งอยู่บริเวณคุ้งน้ำที่แม่น้ำป่าสักและเจ้าพระยามาบรรจบกันทางทิศใต้ของเกาะเมือง ป้อมแห่งนี้ในภาพของ Vingboons มีแผนผังเป็นรูปวงกลม สอดคล้องกับหลักฐานการขุดค้นของกรมศิลปากรที่นำโดยประทีป เพ็งตะโก ที่ชี้ให้เห็นว่าป้อมเพชรมีฐานรากแบบผังกลมมาก่อนเปลี่ยนมาเป็นป้อมผังเหลี่ยมที่สร้างซ้อนทับในสมัยหลัง (พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, 2562: 252-7) อย่างที่เห็นในปัจจุบัน


ส่วนร่องรอยคลองและถนนภายในกำแพงเมืองพระนครศรีอยุธยาจากสภาพปัจจุบัน แผนที่ Jean Courtaulin ที่เขียนในปี 1672 – 1674 Jacques Nicolas Bellin ปี 1687 Kaempfer ปี 1690 และพระยาโบราณราชธานินทร์ในปี 1907 ล้วนมีลักษณะผังแบบตาราง (grid line) แต่ภาพของ Vingboons เป็นเช่นนั้นแค่บางส่วน เรื่องนี้เป็นข้อสังเกตที่สำคัญ เพราะโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมหลักเช่นนี้เป็นสิ่งที่เพิ่มเติมได้ แต่เปลี่ยนแปลงได้ยาก การวิเคราะห์ข้อสังเกตนี้จะช่วยให้สามารถสันนิษฐาน “ขอบเขตการสังเกต” ของชาวยุโรปในต้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้เป็นอย่างดี


ส่วนที่น่าจะแม่นยำอีกแห่งคือ “ประตูชัย” ที่เป็นประตูน้ำลำดับที่ 4 หากนับจากป้อมเพชรไปทางตะวันตก ซึ่งใกล้ๆ ประตูชัยจะเป็น “ถนนมหารัถยา” ถนนหลวงที่มุ่งไปยังพระราชวัง ระหว่างเส้นทางเป็นที่ตั้งของ “หอกลอง” ที่ฝั่งตรงข้ามถนนมีพระปรางค์องค์ใหญ่ตั้งตระหง่าน ที่น่าจะหมายถึง “วัดพระราม” แม้ว่าดูเผินๆ ในภาพรวมของภาพ Vingboons ตำแหน่งของหอกลองและวัดพระรามจะเบี่ยงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเมือง ต่างจากความเป็นจริงที่สิ่งก่อสร้างทั้งสองจะตั้งอยู่กลางพระนคร สาเหตุอาจเป็นเพราะข้อมูลในการเขียนภาพนั้นแยกมาเป็นส่วน ๆ อย่างกระท่อนกระแท่นจากนักเดินทางหลายคนมาประกอบกัน จึงมีช่องโหว่ของข้อมูลอยู่มาก ศิลปินจึงต้องพยายามเขียนให้สมบูรณ์โดยใช้ข้อเท็จจริงผสมกับจินตนาการเข้ามาเติมเต็ม Baker อธิบายว่า ตำแหน่งหอกลองที่ตราไว้ในกฏมณเฑียรบาลและในแผนที่ร่างสำรวจของ Kaempfer ได้ระบุที่ตั้งหอกลองว่าอยู่บริเวณสี่แยกตะแลงแกงกลางเมือง ริมถนนมหารัถยาทางทิศใต้ ไม่ไกลจากพระราชวังมากนัก ขณะที่หอกลองในภาพของ Vingboons ตั้งอยู่เกือบสุดทิศตะวันตกของพระนคร อาจจะเพราะส่วนทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองหายไปจากภาพอย่างสิ้นเชิง (Baker 2014: 183-4)


อีกเหตุผลที่แสดงให้เห็นว่าข้อมูลในการเขียนภาพมีความสับสน คือ กรณี “ถนนสายตลาดเจ้าพรหม – ป่าถ่าน” กับ “ถนนสายย่านตะแลงแกง – ป่าโทน (แขกมัวร์)” ลักษณะถนนทั้งสองสายมีแนวยาวตามทิศตะวันออก – ตะวันตกเหมือนกัน ถนนสายตลาดเจ้าพรหม – ป่าถ่านจะมุ่งออกมาจากสนามหน้าจักรวรรดิผ่านระหว่างวัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะ ส่วนถนนสายย่านตะแลงแกง – ป่าโทน (แขกมัวร์) จะถัดลงมา ในแนวพาดผ่านกลางเกาะเมือง ซึ่งกรณีนี้ในภาพของ Vingboons มีความคลาดเคลื่อนอย่างชัดเจน ดังที่เห็นว่าแนวถนนทั้ง 2 สาย อยู่ต่ำลงมาทางทิศใต้มากเกินไป ข้อสังเกตนี้ทำให้เราพอทราบว่านักเดินทางชาวยุโรปที่ให้ข้อมูลกับสองพี่น้อง Vingboons ขาดข้อมูลถนนทั้ง 2 สายที่ครบถ้วนตลอดแนว ภาพในส่วนนี้จึงผิดเพี้ยน


“วัดมหาธาตุ” ถือเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญที่มีรายละเอียดค่อนข้างแม่นยำประกอบด้วยพระวิหารหลวง พระระเบียง ซึ่งความยิ่งใหญ่และการพังทลายของปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ น่าจะเป็นที่ทราบโดยทั่วไปในนิคมชาวต่างชาติถึงปรากฏในบันทึกของ Jeremias van Vliet (ฟาน ฟลีต, 2546: 245) ต่อมาพระปรางค์ประธานได้ถูกซ่อมแปลงมีทรวดทรงให้สูงเพรียวขึ้นในปี 1633 สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พนรัตน์, 2535: 159) ในภาพวาดจึงอาจเขียนรายละเอียด (ที่จะต้องพิสูจน์ต่อไป) รูปทรงของพระปรางค์วัดมหาธาตุให้ชะลูดกว่าปรางค์วัดพระรามที่วาดเป็นทรงพุ่มและล่ำกว่าเล็กน้อยอย่างตั้งใจ (อย่างไรก็ตามปรางค์วัดพระรามที่เห็นในปัจจุบันน่าจะถูกบูรณะแล้วในสมัยอยุธยาตอนปลาย) ใกล้ๆ พระราชวังบริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นที่ตั้งของ “วิหารพระมงคลบพิตร” ภาพวาดได้แสดงลักษณะหลังคาทรงพีระมิด คล้ายหลังคาทรงมณฑปที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมตามที่ระบุไว้ในพระราชพงศาวดารพอสมควร (ก่อนถูกบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยหลัง) (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2561: 60-1) ด้านหน้าพระวิหารฯ เป็นสนามใหญ่ หรือ “ท้องพระเมรุ” พื้นที่โล่งมี่เชื่อมกับ “สนามหน้าจักรวรรดิ” ที่มีรูปร่างของผังที่ใกล้เคียงกับหลักฐานเปรียบเทียบอื่นๆ ส่วน “พระราชวัง” ผู้สังเกตชาวต่างชาติไม่น่าจะเก็บข้อมูลได้มากนัก เนื่องจากเป็นพื้นที่หวงห้าม โครงข่ายถนนที่ผิดเพี้ยนบ่งชี้เหตุผลข้อนี้ได้เป็นอย่างดี อาจเป็นไปได้ว่าชาวยุโรปโดยทั่วไปสามารถมองเห็นพระราชวังได้แค่จากนอกกำแพง ในระยะที่ไม่ใกล้นัก


“วังหน้า” ในภาพวาดก็คงคลาดเคลื่อนมากเช่นกัน ดังที่เห็นได้ชัดว่าบริเวณทางด้านทิศเหนือของเมืองมีแนวโครงข่ายถนนและคูคลองที่ไม่อยู่ในแนวที่ถูกต้อง เช่น “คลองในไก่” ตอนกลางและตอนบน ที่ในภาพของ Vingboons วาดเป็นคลองแยกออกมาจากคลองประตูข้าวเปลือก ที่บริเวณประตูข้าวเปลือก ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับแผนที่กรุงศรีอยุธยาของ Jean Courtaulin, Jacques Nicolas Bellin, Kaempfer พระยาโบราณราชธานินทร์ และหลักฐานทางกายภาพในปัจจุบันที่ยืนยันว่าคลองในไก่และคลองประตูจีน มีแนวคลองที่ขนานกันไป โดยมีคลองแนวขวางเชื่อมทั้ง 2 คลองเข้าไว้ด้วยกัน (บริเวณทางด้านทิศเหนือของเกาะ) ด้วยข้อสังเกตและหลักกฐานดังกล่าว ทำให้อนุมานได้ว่าพื้นที่ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของเกาะเมืองในภาพของ Vingboons ส่วนใหญ่คงเป็นการแต่งเติมเช่นกัน


ข้อมูลที่ผิดเพี้ยนในส่วนพื้นที่ทางด้านทิศเหนือของเกาะเมืองในภาพของ Vingboons อาจจะยกเว้น “พระปรางค์วัดท่าทราย” ที่อยู่ใกล้กับประตูข้าวเปลือก เนื่องจาก Vingboons เขียนไว้ค่อนข้างแม่นยำ สาเหตุคงเป็นเพราะปรางค์องค์นี้ตั้งอยู่บริเวณแหลมที่ยื่นออกไปเล็กน้อย ทำให้ผู้ให้ข้อมูลสามารถสังเกตได้อย่างแจ่มชัดแม้จะมองจากฝั่งตรงข้ามแม่น้ำนอกเกาะเมือง รูปทรงของปรางค์ในภาพวาดก็ใกล้เคียงกับสภาพปัจจุบันเป็นข้อสังเกตหนึ่งที่ทำให้ข้อสมมติฐานมีความหนักแน่นขึ้นไม่น้อย


บริเวณที่ชาวยุโรปคุ้นเคยที่สุดในเกาะเมืองก็น่าจะเป็นพื้นที่ทางทิศใต้ของเกาะเมือง ซึ่งมีย่านชาวต่างชาติหลายแห่ง เช่น ย่านชาวฝรั่งเศส ชาวมัวร์ และชาวจีน ดังปรากฏในแผนที่ของ Jean Courtaulin ย่านการค้าชาวจีน รู้จักกันดีในชื่อ ย่านในไก่ ตั้งอยู่ระหว่างคลองประตูจีนและคลองในไก่ตอนล่าง เป็นตลาดใหญ่ที่มีการค้าคึกคัก ตลาดนี้มี “ถนนจีน” ปูพื้นด้วยอิฐพาดผ่าน ในส่วนริมถนนทั้ง 2 ฟากเป็นเคหสถานทรงตึกก่ออิฐถือปูน แบบเดียวกับบ้านในย่านชาวยุโรปและชาวมัวร์ ซึ่งภาพของ Vingboons ได้แสดงให้เห็นตึกเหล่านี้เช่นกัน สอดคล้องกับพรรณนาภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา เอกสารสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่ได้กล่าวว่า ตลาดนี้มีนั่งร้านขายของสารพัดสิ่ง ไม่ว่าจะเป็น เครื่องทองเหลือง กระเบื้องถ้วย ชาม ผ้าแพรสีต่างๆ แบบจีน ไหมสีต่างๆ เครื่องมือเหล็ก สิ่งของ อาหารและผลไม้มาแต่เมืองจีนวางเรียงราย รวมทั้งของสด เช่น หมู เป็ด ไก่ ปลาน้ำจืด อาหารทะเล หลากหลายพันธุ์ ตลาดแห่งนี้ถือเป็นตลาดใหญ่ในกรุง มีชื่อว่า “ตลาดใหญ่ท้ายพระนคร” (วินัย พงศ์ศรีเพียร, 2551: 81)


ความจริงและจินตนาการใต้ฝีแปรง

 

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นสมมติฐานบางส่วนที่ชี้ให้เห็นว่าใต้ฝีแปรงของสองพี่น้อง Vingboons น่าจะเป็นการผสมผสานข้อเท็จจริงจากคำบอกเล่าและภาพร่างจากพ่อค้าและนักเดินทางในยุคการค้านำมาปะติดปะกัน ขอบเขตของผู้สังเกตกับความทรงจำที่แม่นยำนั้นมีอยู่อย่างจำกัดในย่านที่พวกเขาดำรงชีวิตอยู่ ทำให้การวาดจำเป็นต้องแต่งเติมภาพด้วยจินตนาการของจิตรกร ดังนั้นภาพเขียนสี “ทิวทัศน์ของยูเดีย” และ “ภูมิทัศน์ยูเดียด์ นครหลวงแห่งราชอาณาจักรสยาม” อันงดงาม จึงเป็นการบูรณาการงานศิลป์ที่นำเสนอบรรยากาศโรแมนติคของกรุงศรีอยุธยา เข้ากับหลักฐานด้านกายภาพของเกาะพระนครศรีอยุธยา ที่จำเป็นที่จะต้องกลั่นกรองอย่างรอบคอบ หากจะนำข้อมูลจากภาพชุดนี้ไปใช้ในเชิงวิชาการ ด้วยการแยะแยะระหว่างข้อมูลที่น่าเชื่อถือ กับการสร้างสรรค์งานศิลปะ พร้อมกับคำนึงถึงข้อจำกัดในการเขียนภาพมุมกว้างของเมืองที่ต้องลดทอนหรือปรับเปลี่ยนรายละเอียดขององค์ประกอบทางกายภาพ วิธีการหนึ่งในการคัดกรองข้อมูลคือการสืบสวนผ่านโครงข่ายและโครงสร้างพื้นฐานของเมืองดังที่บทความนี้ได้ทดลองนำเสนอวิธีวิทยาเพื่อค้นหาภาพความทรงจำของอยุธยาผ่านศิลปะชิ้นเอกชุดนี้


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง “องค์ประกอบทางกายภาพของเมืองท่าในดินแดนใต้ลมยุคการค้า 1450 – 1680” โดย สิริเดช วังกรานต์ กลุ่ม Art and Culture Laboratory ภายใต้ “ศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง" หรือ Urban Ally



รายการอ้างอิง


Baker, Chris. 2014. "Final Part of the Description of Ayutthaya with Remarks on Defence, Policing, Infrastructure, and Sacred Sites” The Journal of The Siam Society 102: 179-210


Zandvliet, Kees. 2009. “Mapping the Dutch World Overseas in the Seventeenth CenturyThe History of Cartography, Volume 3. David Woodward, (ed.), Chicago: University of Chicago Press, 1433 -1462.


ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บรรณาธิการ. 2561. อยุธยา : Discovering Ayutthaya. กรุงเททพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.



ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช. 2549. กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง. กรุงเทพฯ: มติชน


พระพนรัตน์, สมเด็จ. 2535. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาและจุลยุทธการวงศ์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.


พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. 2562. “โบราณคดีสงคราม : สร้างป้อมแปลงเมืองปริมณฑลแห่งอำนาจในสมัยสมเด็จพระนารายณ์” ใน Ayutthaya Underground : ประวัติศาสตร์อยุธยาจากวัด วัง ชั้นดิน และสิ่งของ. กรุงเทพฯ: มติชน


พิริยะ ไกรฤกษ์. 2562. พัฒนาการของการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์


ฟาน ฟลีต, เยเรเมียส. 2546 รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟาน ฟลีต (วัน วลิต). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

วินัย พงศ์ศรีเพียร, บรรณาธิการ. 2551. พรรณนาภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา เอกสารจากหอหลวง (ฉบับความสมบูรณ์). กรุงเทพฯ : อุษาคเนย์.

ดู 1,019 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page