top of page
รูปภาพนักเขียนคิดอย่าง

สมมติจินตภาพครั้งใหม่ของมหาธาตุ เมืองสุพรรณ


โมเดลphotogrammetry สภาพปัจจุบันมหาธาตุ เมืองสุพรรณ


สมมติจินตภาพครั้งใหม่ของมหาธาตุ เมืองสุพรรณ


การหาคำตอบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะสถาปัตยกรรม มหาธาตุ เมืองสุพรรณ กลับมาคักคักอีกครั้งในช่วงหลายปีมานี้ ส่วนหนึ่งเพราะมีการขุดค้นการขุดแต่งทางโบราณคดีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี ปี 2558 โดยสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี และเทคโนโลยีใหม่อย่าง Photogrammetry ที่ใช้ภาพถ่ายนำมาประมวลผลเพื่อจำลองภาพสามมิติแสดงสัดส่วนรูปทรงของโบราณวัตถุสถานที่แม่นยำกว่าการรังวัดที่มีแต่เดิม ทำให้เกิดการวิจัยในมิติใหม่ๆ มากขึ้น คิดอย่างในฐานะทีมที่มีโอกาสได้ซึมซับองค์ความรู้จากครูบาอาจารย์ที่ได้เสนอความเห็นพัฒนาการของมหาธาตุแห่งนี้หลายแนวทางมาระยะหนึ่ง และยังติดตามข้อถกเถียงที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบันเสมอ ด้วยนึกสนุก แอดมินจึงทดลอง ตีความ ต่อยอด นำเสนอรูปแบบสันนิษฐานศูนย์กลางสุพรรณภูมิแห่งนี้เพื่อเป็นสีสันหนึ่งในการต่อบทสนทนาไปสู่ข้อถกเถียงที่จะมีต่อไป



ก่อนอื่นขอเท้าความข้อเสนอเรื่องข้อเสนอด้านศิลปะสถาปัตยกรรมของปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ สุพรรณ บางส่วนที่น่าสนใจ เช่น


ข้อเสนอที่ 1

#ปรางค์ประธานวัดมหาธาตุสุพรรณเป็นงานสกุลช่างอู่ทอง สร้างสมัยก่อนอยุธยา

ทฤษฎีของน. ณ ปากน้ำ ที่เสนอว่าปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ สุพรรณ สร้างก่อนสมัยอยุธยา ตัวปรางค์ก่ออิฐแบบสอดิน (ไม่สอปูน) ปรางค์มีปรางค์บริวารขนาบข้าง (ปีกปรางค์) แบบเดียวกับที่วัดมหาธาตุ ลพบุรี อาจารย์น. จึงสันนิษฐานว่าเป็นปรางค์รุ่นเดียวกัน รวมทั้งวิเคราะห์แผนผังวัดว่าคล้ายกัน ประกอบด้วยกลุ่มปรางค์ประธาน ล้อมรอบด้วยระเบียง มีวิหารตั้งอยู่ด้านหน้าทางทิศตะวันออก (ประยูร อุลุชาฎะ, 2558: 430-1, 471-3)


  • เสนอ นิลเดช ได้วิเคราะห์ผังวัดรับกับแนวคิดอาจารย์น. โดยชี้เสริมให้เห็นว่าเจดีย์ทรงกลมฐานแปดเหลี่ยม หรืออีกชื่อที่เรียกกันคือ เจดีย์ทรงสูง สององค์ที่ขนาบข้างวิหาร วัดมหาธาตุ เมืองสุพรรณ เป็นองค์ประกอบแบบเดียวกับที่พบในวัดมหาธาตุ ลพบุรี (เสนอ นิลเดช, 2549: 12) ลักษณะแผนผังแบบนี้อาจจะเป็นโครงสร้างผังช่วงแรกๆ ของวัดมหาธาตุ ทั้งที่สุพรรณภูมิและละโว้


  • น. ณ ปากน้ำ สันนิษฐานว่ากษัตริย์ผู้สร้างมหาธาตุ คือกษัตริย์แคว้นสุพรรณภูมิก่อนสถาปนาพระนครศรีอยุธยา (ประเสริฐ ณ นคร, 2549: 186) โดยเชื่อมโยงกับจารึกลานทอง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี (หลักที่ 47) ที่กล่าวถึง พระเจ้าจักรพรรดิ พระราชาแห่งอโยชฌ (อยุธยา?) สร้างสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ภายหลังพระราชาธิราชได้บูรณะสถูปให้สูงใหญ่กว่าเดิม (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2564) แต่จารึกนี้มีช่องว่างให้สันนิษฐานได้มาก จึงมีข้อเสนออื่นๆ อีกหลายแนวทาง


ข้อเสนอที่ 2

#ปรางค์ประธานวัดมหาธาตุสุพรรณเป็นงานสมัยอยุธยาตอนต้น (ตามจริงควรเรียกว่า กลุ่มข้อเสนอจะถูกกว่า เพราะแม้จะทุกความเห็นจะสันนิษฐานว่าปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ สุพรรณเป็นงานสมัยอยุธยาตอนต้นเหมือนกัน แต่ก็มีรายละเอียดต่างกัน ในที่นี้รวมไว้อธิบายร่วมกัน เพื่อให้ง่ายต่อการอธิบาย)


  • จิตร ภูมิศักดิ์ เสนอว่ากษัตริย์ผู้สร้างมหาธาตุ คือ คือพระราชบิดาของสมเด็จพระอินทราชา


  • ส่วนชัย เรืองศิลป์ เสนออีกแบบ โดยใช้หลักฐาน “จารึกพระพุทธฎีกาสมเด็จพระคุรุจุฬามุณีศรีสังฆราช”และ “จารึกเจ้ารัตนโมลีศรีไตรโลกย์” ที่อ้างว่าพบพร้อม “จารึกลานทอง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี (หลักที่ 47)” เนื้อความจารึกทั้ง 2 แผ่น กล่าวถึงเหตุการณ์ในมหาศักราช 1265 และ 1269 โดยเฉพาะปีหลังกล่าวถึงสมเด็จพระบรมราชาธิบดีศรีมหาจักรพรรดิราช และพระราเมศวรราช ชัยจึงเสนอว่าว่า กษัตริย์ผู้สร้างมหาธาตุ คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) กษัตริย์ผู้บูรณะ คือ สมเด็จพระราเมศวร


  • แต่เทิม มีเต็ม ได้ตรวจทานแล้วเสนอใหม่ว่าตัวเลขเดิมคัดลอกคลาดเคลื่อนทำให้ปีนักษัตรไม่ถูกต้อง จึงเสนอใหม่ว่าคือ มหาศักราช 1365 และ 1369 คือ พ.ศ. 1886 และ 1990 จึงเป็นที่มาของทฤษฎีที่ว่า พระปรางค์ประธาน วัดมหาธาตุ สุพรรณบุรี สร้างโดย สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ซ่อมโดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ประเสริฐ ณ นคร, 2549: 179-80) (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) 2555)


  • หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ให้ความเห็นว่าพระปรางค์ประธาน วัดมหาธาตุ สุพรรณบุรี คล้ายกับพระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ อยุธยา แล้วเสนอว่าข้อความในจารึกหมายถึงสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) กับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (อนุวิทย์ เจริญศุภกุล, 2518: 61) (ประเสริฐ ณ นคร, 2549: 180 และ 187)


  • สันติ เล็กสุขุม ก็ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกัน จากการวิเคราะห์ลวดลายบัวรัดเกล้าปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ สุพรรณ ว่าคล้ายกับที่วัดราชบูรณะ อยุธยา และลายเฟื่องอุบะอิทธพลจีนที่คล้ายกับที่วัดจุฬามณี พิษณุโลก (ภัทรชนก นิธังกร, 2559: 65-9 และ 74-82)


  • พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เสนอว่า “จักรพรรดิราช” ในจารึกน่าจะหมายถึง สมเด็จพระอินทราชา และเป็นองค์เดียวกับที่นำกฏหมายลักษณะลักพาเข้าไปบังคับใช้ที่รัฐสุโขทัย ผ่านความสัมพันธ์กับเมืองกำแพงเพชร (ภัทรชนก นิธังกร, 2559: 12) พิเศษยังเขียนบทความอันแยบยลอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์สุพรรณภูมิกับสุโขทัยผ่านเมืองกำแพงเพชร (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, 2545: 151-66) การวางผังเมืองและองค์ประกอบคู ป้อม หอรบ กำแพงเมืองที่คล้ายกันของเมืองสุพรรณและกำแพงเพชรเป็นหนึ่งในเหตุผลที่สนับสนุนทฤษฎีดังกล่าว (ภัทรชนก นิธังกร, 2559: 118-120)


ข้อเสนอที่ 3

#มุมมองใหม่ของพิชญาสุ่มจินดา ที่เสนอให้พิจารณาจากตัวงานศิลปะก่อนใช้จารึกกำหนดอายุเวลา เพราะปัญหาเรื่องการเคลื่อนย้ายไปมาจนยากจะยืนยันว่าเป็นจารึกที่พบและเนื้อความที่เกี่ยวข้องกับมหาธาตุสุพรรณบุรี โดยได้พิสูจน์สมมติฐานของ น. ณ ปากน้ำ ว่าปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ สุพรรณ องค์เดิม น่าจะสร้างขึ้นสมัยก่อนหรือต้นอยุธยาตามอย่างปรางค์มหาธาตุลพบุรี ทั้งทรวดทรงของปรางค์ประธาน

  • ซึ่งพิชญาเรียกว่าเป็นสายพิมายและมีปีกปรางค์ขนาบ มีการนำผังของมหาธาตุสุพรรณบุรีและลพบุรีมาเปรียบเทียบสัดส่วนด้วยเทคนิค Photogrammetry แล้วสามารถซ้อนทับกันสนิท แม้แต่คูหาของปีกปรางค์ และเป็นเช่นนี้กับปรางค์ประธาน วัดพระรามที่สร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนต้น

  • #ส่วนปรางค์ประธานองค์ที่เห็นในปัจจุบัน พิชญาเสนอว่าสร้างในช่วงปลาย ของสมัยอยุธยาตอนกลาง ที่เกิดจากการปฏิสังขรณ์ครอบทับปรางค์ประธานองค์เดิมไว้ภายในจนไม่เห็นทรงเดิม เหลือเพียงปีกปรางค์ที่ถูกฐานปรางค์ประธานองค์ใหม่ก่อทับไปบางส่วน โดยเปรียบเทียบจากรูปทรงและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมผ่านเทคนิค Photogrammetry เสนอว่าปรางค์ประธานครอบใหม่มีลักษณะใกล้เคียงกับพัฒนาการของปรางค์สายนครวัดเช่นเดียวกับปรางค์วัดมหาธาตุเชลียงและวัดไชยวัฒนาราม ประกอบกับวิเคราะห์ซุ้มบัญชร หรือบัณแถลงโค้ง และลวดลายโดยเฉพาะส่วนที่ได้รับอิทธิพลศิลปะอินโด-เปอร์เซีย มาสอบทานแล้วเสนอว่าน่าจะสร้างขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ 22 (คาบเกี่ยวช่วงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม-สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง - คิดอย่าง) (ชมรมนักโบราณคดีสมัครเล่นเมืองสุพรรณ, 2021)

ภาพถ่ายเก่าราวทศวรรษ 2520* วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี ของรศ.นพ. วิชัย โปษยะจินดา จากศูนย์รูปธรรมศึกษาโปษยะจินดา

*อ้างอิง โครงการศูนย์ข้อมูลรูปธรรมศึกษาโปษยจินดา และหอนิทรรศน์รัตกสิกร. (2555). ศิลปกรรมนอกกรุงเก่า: หนังสือชุดตามรอยภาพเก่า เล่มที่ 5. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, หน้า 5.

 

#คิดอย่างทดลอง สร้างสรรค์วิธี พิสูจน์ข้อสันนิษฐาน

จากการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งล่าสุด แผนผังวัดมหาธาตุ สุพรรณ ประกอบด้วย องค์ประกอบหลักคือ กลุ่มปรางค์สามองค์เป็นศูนย์กลาง ล้อมรอบด้วยระเบียงคด และมีวิหารอยู่ด้านหน้าอย่างไม่ต้องสงสัย ที่แปลกคือบริเวณมุมด้านหน้ากลุ่มปรางค์ประธานภายในระเบียงคดทั้ง 2 มุมมีร่องรอยฐานสี่เหลี่ยนขนาดใหญ่ ซึ่งน่าจะเป็นฐานเจดีย์ทรงกลมคู่เพราะขุดพบชิ้นส่วนที่คล้ายปล้องไฉน


คิดอย่างลองใช้เทคนิค Photogrammetry มาพิจารณาสัดส่วนสัมพันธ์ (scale and relationship) คือ กำหนดความกว้างของส่วนยอดปรางค์ทุกองค์เท่ากับ 1 หน่วย เทียบกับความสูง แล้วนำปรางค์ต่างๆ มาเปรียบเทียบกัน และสังเกตผลลัพท์ทางเรขาคณิตและสามมิติที่น่าสนใจ โดยให้ความสนใจมิติทางสถาปัตยกรรมเป็นหลัก เพราะไม่ว่าจารึกที่มีปัญหาเรื่องเคลื่อนย้าย ศิลปกรรมก็มีปัญหาในการกำหนดอายุเช่นกัน นักวิชาการมีมุมมองต่างกันทั้งแบบที่กำหนดให้เก่ามาก เก่าน้อยก็ล้วนมีเหตุผลที่มีน้ำหนักน่าสนใจ หรือกรณีที่น่าสนใจ คือ ซุ้มบัณแถลงโค้ง วัดมหาธาตุ สุพรรณตามข้อเสนอของอ.พิชญาว่าไม่เก่ากว่าสมัยอยุธยาตอนกลาง คิดอย่างมองว่าสามารถเทียบได้ตั้งแต่ซุ้มในกรุปรางค์ประธาน วัดราชบูรณะ อยุธยา งานสมัยอยุธยาตอนต้นได้เหมือนกัน



นอกจากนั้นงานศิลปกรรมของช่างไทยส่วนใหญ่เป็นงานองค์ประกอบภายนอกที่เสื่อมสลาย มีการถูกบูรณะแก้ไขได้ง่ายกว่า (ยกเว้น เช่น งานหิน งานในกรุ) เมื่อเปรียบเทียบรูปร่าง รูปทรง ที่เป็นงานช่างก่อสร้างที่ยากจะเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการทดลองนี้จึงใช้ระเบียบวิธีแบบสถาปัตยกรรมนำ แต่ไม่ได้ละเลยศาสตร์อื่นๆ แต่พิจารณาเป็นส่วนรอง


ระบบแผนผังกลุ่มปรางค์ประธาน วัดมหาธาตุ สุพรรณ เป็นแบบมหาธาตุ ลพบุรี และวัดสมัยอยุธยาตอนต้นชัดเจน แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะปรางค์ประธานมหาธาตุ สุพรรณ สังเกตเบื้องต้นก็จะเห็นว่าผัง เรือนธาตุ และรูปทรง ใกล้เคียงกับมหาธาตุที่เชลียงและพิษณุโลก และน่าจะคลี่คลายจากปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ อยุธยา (ที่ยังมีมุขหน้ายื่น แต่ปรางค์ที่คลี่คลายแล้วจะไม่เน้นมุขหน้าเช่นนี้) #ส่วนฐาน ของปรางค์ประธานวัดราชบูรณะยังเป็นแบบทรงพีระมิดบันได (แบบปราสาทเขมร) แต่ที่วัดมหาธาตุ สุพรรณ เชลียงและพิษณุโลก เป็นแบบทรงจอมแห ที่รูปทรงใกล้เคียงกันมาก อย่างไรก็สัดส่วนของส่วนฐานของวัดราชบูรณะ ก็เท่าๆ กับอีก 3 แห่ง มีการพยายามไล่เรียงลำดับฐานที่เป็นลำดับรับกับเรือนธาตุและยอดทรงพุ่ม

#ส่วนยอด ทรงพุ่มเป็นลักษณะที่พบตั้งแต่อยุธยาต้นไปจนถึงอยุธยากลาง การจำแนกโดยละเอียดไม่ใช่เรื่องง่ายด้วยตาเปล่า อย่างไรก็ตามด้วยอุปกรณ์รังวัดด้วยเทคนิค Photogrammetry ที่แม่นยำ ทำให้ทราบว่ายอดมหาธาตุ สุพรรณ มีรูปทรงและสัดส่วนใกล้เคียงกับวัดราชบูรณะมากที่สุด คือ 1:1.58 กับ 1:1.6 (ขนาดกว้างส่วนยอด : ความสูงไม่รวมนภศูล) แม้ว่าสัดส่วนระหว่างชั้นรัดประคดจะไม่ค่อยตรงกันก็ตาม


ส่วนวัดมหาธาตุเชลียง มีส่วนยอดสูงชะลูดมากกว่า (สัดส่วนประมาณ 1:1.69) แต่สัดส่วนระหว่างชั้นรัดประคดตรงกับวัดมหาธาตุ สุพรรณทุกชั้น


ส่วนวัดมหาธาตุพิษณุโลกใกล้เคียงมากกว่าที่คิด ถึงแม้ว่าส่วนยอดจะอ้วนกว่า แต่สูงเท่ากัน (สัดส่วนประมาณ 1:1.58) และสัดส่วนระหว่างชั้นรัดประคดทุกชั้นตรงกับวัดมหาธาตุ สุพรรณ มากที่สุดอย่างน่าฉงน


แล้วเมื่อเราลองมาพิจารณารูปแบบปรางค์ประธานวัดไชยวัฒนาราม จริงอยู่ที่ไม่มีองค์ประกอบชั้นอัสดง ต่างจากปรางค์ประธานมหาธาตุ สุพรรณ เชลียง และพิษณุโลกทีมีชั้นดังกล่าว แต่รูปทรงก็ใกล้เคียงกับปรางค์กลุ่มดังกล่าวไม่น้อย ความแตกต่างที่น่าสนใจจากการใช้เทคนิค Photogrammetry คือส่วนยอดมีทรงพุ่มที่สูงกว่า (สัดส่วนประมาณ 1:1.71 ) และหนากว่าส่วนยอดของปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ สุพรรณ อาจเพราะช่างเอียงสอบและรวบส่วนยอดทรงพุ่มเอียงองศาน้อยว่า


ยังมีประเด็นเทคนิคเชิงช่างเฉพาะตัวของปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ สุพรรณที่น่าสนใจ คือ การเปลี่ยนจำนวนย่อมุมระหว่างชั้นของส่วนฐาน และระหว่างชั้นของส่วนยอด ซึ่งไม่ค่อยพบเห็นที่ใดนัก จะเห็นอีกที่ก็คือปรางค์ประธานวัดสมณโกฐ อยุธยา ที่พังทลายไปแล้ว (ปกติย่อมุมในส่วนฐาน เรือนและยอด จะมีจำนวนเท่ากันทุกชั้นในส่วนของตนเอง) เราอาจพออนุมานได้ว่าเทคนิคการออกแบบนี้ เป็นการผสานทรงปรางค์ให้ได้ปริมาตรที่ต้องการ หรือเป็นการแก้ไขต่อเติมในภายหลัง

ข้อสังเกตที่นอกเหนือจากบทความนี้แต่มีความน่าสนใจควรจะกล่าวไว้มี 2 เรื่อง คือ

- เมื่อเปรียบเทียบปรางค์สมัยอยุธยากับปรางค์ก่อนสมัยอยุธยา อย่างวัดมหาธาตุ ลพบุรี ก็จะเห็นชัดเจนว่าปรางค์อิทธิพลศิลปะเขมรสมัยบายนนี้ ฐานเตี้ยกว่า และส่วนยอดทรงพุ่มที่รูปทรงสั้นกว่าอย่างชัดเจน (สัดส่วนประมาณ 1:1.37 )

- ปรางค์ประธานวัดไชยวัฒนารามและวัดวรเชษฐ์เทพบำรุง มีรูปแบบ รูปทรงสัดส่วน และองค์ประกอบตลอดทั้งองค์ เหมือนกันมากจนมั่นใจได้ว่าปรางค์ประธานทั้ง 2 เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดแน่นอน


คิดอย่างขอสรุปเป็นจินตภาพจากข้อมูล นำมาเสนอรูปแบบสันนิษฐานเป็นยุคสมัย คือ


สมัยที่ 1

การตีความและสันนิษฐานของคิดอย่างได้ทบทวนโครงสร้างผังวัดมหาธาตุ สุพรรณบุรี ตามที่อาจารย์ น.และอาจารย์เสนอวิเคราะห์ไว้ว่าคล้ายกับวัดมหาธาตุ ลพบุรี พระปรางค์ประธานที่เราเห็นในปัจจุบันครอบทับองค์เดิมตามทฤษฎีของอาจารย์พิชญาน่าจะมีความเป็นไปได้มาก เพราะร่องรอยสภาพปัจจุบันรอยต่อระหว่างปรางค์ประธานและปีกปรางค์บ่งชี้เช่นนั้น คิดอย่างจึงใช้ศูนย์กลางเมืองละโว้เป็นตัวแทนรูปแบบในสมัยแรก ส่วนหลักฐานอื่นๆ ที่สนับสนุน คือ การขุดค้นที่พบโบราณวัตถุ และพระพิมพ์ตรีกายแบบเดียวกับที่พบในวัดมหาธาตุลพบุรี (ภัทรชนก นิธังกร, 2559: 97-113) เป็นต้น


สมัยที่ 2

เมื่อทดลองนำปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ สุพรรณบุรี องค์ที่เห็นในปัจจุบันครอบทับ รูปแบบสันนิษฐานสมัยที่ 1 ปรากฏว่าครอบได้อย่างสมบูรณ์ ในการขึ้นสามมิติจึงมีการแก้ทรงปลายยอด เพราะจากรูปเก่าปลายยอดหักหายและการบูรณะก็ทำให้เส้นทรงปลายยอดเพี้ยน การสันนิษฐานจึงต้องเทียบเคียงกับวัดราชบูรณะ และวัดมหาธาตุ เชลียง ที่มีรูปแบบและรูปทรงใกล้เคียงกันมากที่สุด


องค์ประกอบอื่นๆ

ปีกปรางค์ คิดอย่างทดลองนำระยะขนาดของฐานที่เหลือในปัจจุบันเป็นตัวตั้ง แล้วนำปีกปรางค์วัดมหาธาตุ ลพบุรี จากภาพเก่ามาทดลองสันนิษฐาน ปรากฏว่าปีกปรางค์มีสัดส่วนที่เล็กไม่ส่งเสริมปรางค์ประธานองค์ที่เห็นในปัจจุบัน จึงลองใช้ปรางค์ทิศวัดไชยวัฒนาราม ปรากฏว่าสูงข่มปรางค์ประธาน จึงมาสรุปที่ใช้ปรางค์ทิศวัดมหาธาตุ อยุธยา แล้วเห็นว่าสัดส่วนเหมาะสมดี


ซุ้มตรงฐานปีกปรางค์ทั้ง 2 ข้าง เป็นองค์ประกอบที่ไม่ค่อยพบ แล้วจากการสำรวจก็มั่นใจไดว่าไม่ใช่ร่องรอยบันได และไม่น่าจะเป็นคูหาในสมัยแรกเพราะไม่ปรากฏร่องรอยบ่งชี้ว่าเป็นห้องภายในปรางค์ จึงน่าจะเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปที่สร้างประกอบฐานเจดีย์มากกว่า อาจจะคล้ายกับซุ้มพระตรงฐานเจดีย์ทรงกลม วัดแร้ง ใกล้วัดสนามไชย เมืองสุพรรณเอง หรืออีกที่ที่พบซุ้มฐานเจดีย์แบบนี้มากก็คือ เมืองกำแพงเพชร จึงนำรูปแบบมาสันนิษฐาน


เจดีย์คู่หน้าปีกปรางค์ เป็นเจดีย์ทรงกลมฐานสี่เหลี่ยมแบบอยุธยา พอขึ้นรูปแบบแล้วด้วยรูปทรงกรวยแหลมทำให้มวลเจดีย์เพรียวไปในอากาศ ไม่ได้เบียดบังการมองเห็นและสุนทรียะของปรางค์ประธานอย่างที่คิดในตอนแรก ยิ่งถ้ามองภายในระเบียงคดตรงไปยังมหาธาตุ จะเห็นได้ว่าเจดีย์คู่ทั้ง 2 องค์เป็นองค์ประกอบที่ส่งเสริมผังและการรับรู้ด้วยสายตาได้เป็นอย่างดี ส่วนระเบียงคดก็คงไม่ได้สร้างช้าไปกว่าเจดีย์คู่นี้ ซึ่งอาจพอเทียบเคียงได้กับการจัดวางที่วัดมหาธาตุ ราชบุรีที่ปรากฎร่องรอยการทำฐานเจดีย์ขนาดใหญ่เป็นบริวารปรางค์รายรอบในระเบียงคดเช่นกัน




หลังจากที่ได้วิเคราะห์ เชื่อมโยงข้อมูลจากหลายศาสตร์ผสานกับมิติรูปทรง-สัดส่วนสัมพันธ์ทางสถาปัตยกรรมนำมาตีความ สันนิษฐานรูปแบบจึงเห็นความเป็นไปได้ของวัดมหาธาตุ สุพรรณ ที่คิดอย่างเอียงๆ ไปในทิศทางที่ว่า วัดมหาธาตุ สุพรรณอาจจะเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา และสร้าง-ซ่อมครั้งใหญ่ในสมัยอยุธยาตอนต้น โดยน่าจะคลี่คลายจากรูปแบบปรางค์ประธาน วัดราชบูรณะ ที่สร้างต้นรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ไปแล้วระยะหนึ่ง และเป็นปรางค์ที่มีแบบอย่างงานช่างเดียวกับมหาธาตุเชลียง และพิษณุโลก (ดังนั้นเสนอไว้เบื้องต้นว่าเป็นงานช่างสมัยปลายรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 - สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) หลังจากนั้นคงมีการซ่อมหลายครั้ง ในระดับองค์ประกอบ จนกระทั่งสิ้นกรุงศรีอยุธยา



การทดลองนี้เป็นการสืบจากหลักฐานทางสถาปัตยกรรม ที่ได้ข้อสังเกตที่มีทั้งส่วนสนับสนุนและคัดง้างทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับวัดมหาธาตุ สุพรรณที่มีมาก่อน สรุปเป็นภาพสมมติอดีตเพื่อต่อบทสนทนาไปอีกสักหน่อย และคิดอย่างก็จะได้ร่วมติดตาม และแลกเปลี่ยนการศึกษาวัดมหาธาตุ สุพรรณที่งดงามแห่งนี้ไปอีกเรื่อยๆ


บทความนี้เกิดจากการ collab กันระหว่างทีม “คิดอย่าง” x นักวิจัยโครงการวิจัยการศึกษาสัดส่วนสัมพันธ์ของพระพุทธปรางค์ประธาน สมัยอยุธยา “คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร” และได้มิตรสหายฝีมือดีจากเพจใหม่ไฟแรง “#วิธี” อย่างคุณปฐมฤกษ์ วงศ์แสงขำ มาร่วมกันขึ้นสามมิติสันนิษฐานที่นับว่าหืดขึ้นคอกับความซับซ้อนของการย่อมุมพอสมควร


 

รายการอ้างอิง


ชมรมนักโบราณคดีสมัครเล่นเมืองสุพรรณ. ข้อคิดเห็นใหม่เกี่ยวกับศิลปะราชวงศ์สุพรรณภูมิที่สุพรรณบุรี โดย รศ.พิชญา สุ่มจินดา. https://www.youtube.com/watch?v=KVH7qYgW2uc

ประยูร อุลุชาฎะ. (2558). ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.

ประเสริฐ ณ นคร. (2549). “จารึกลานทอง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี.” ใน อักษร ภาษา จารึก วรรณกรรม. กรุงเทพฯ: มติชน.

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. (2545). ศาสนาและการเมืองในประวัติศาสตร์สุโขทัย-อยุธยา. กรุงเทพฯ: มติชน.

ภัทรชนก นิธังกร. (2559). “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี วิเคราะห์ศิลปกรรมร่วมกับหลักฐานทางโบราณคดี.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2555). จารึกพระพุทธฎีกาสมเด็จพระคุรุจุฬามุณีศรีสังฆราช ด้านที่ 1. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/image_detail/124

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2564). จารึกลานทอง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี ด้านที่ 1. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/image_detail/24588

เสนอ นิลเดช. (2549). สมุดภาพสถาปัตยกรรมไทย :ศิลปสถาปัตยกรรมล้านนา ศิลปสมัยอู่ทอง สถาปัตยกรรมสุโขทัย. กรุงเทพฯ: ศูนย์ข้อมูลสถาปัตยกรรมไทย ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร.

อนุวิทย์ เจริญศุภกุล. (2518). การศึกษาระบบโครงสร้างและระเบียบการก่ออิฐในอาคารโบราณสถาน. โบราณคดี ปีที่ 6, ฉบับที่ 2 (ธ.ค. 2518): 57-76.


ดู 483 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarios


bottom of page