top of page
รูปภาพนักเขียนคิดอย่าง

WAT CHAI STORY: เรื่องเล่าจากวัดไชย ตอนที่ 2

อัปเดตเมื่อ 26 ต.ค. 2564


Wat Chaiwatthanaram: History, Design, and Conservation


วัดไชยวัฒนาราม: ประวัติศาสตร์ การออกแบบ การอนุรักษ์


เรื่องโดย

วราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล

Waraporn Suwatchotikul


 






บรรดาโบราณสถานทั้งหมดกว่า 700 แห่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปฏิเสธไม่ได้ว่าวัดไชยวัฒนาราม หรือเรียกกันสั้นๆในท้องถิ่นว่า “วัดไชย” นั้นถือเป็นหนึ่งในโบราณสถานสำคัญทั้งในด้านประวัติศาสตร์ และรูปแบบศิลปสถาปัตยกรรม วัดไชยวัฒนารามตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่ทางทิศใต้ของเกาะเมืองอยุธยา โบราณสถานแห่งนี้มีความโดดเด่นและงดงามด้วยการวางผัง ประกอบกับเส้นสายลีลาที่อาคารประกอบส่งขึ้นไปรับกับปรางค์ประธาน ด้วยจังหวะและชั้นเชิงที่ผ่านการออกแบบมาอย่างวิจิตร ทว่าแปลกใหม่อย่างสร้างสรรค์ของช่างโบราณในยุคสมัยของพระเจ้าปราสาททอง งานก่อสร้างครั้งใหญ่ในพุทธศักราช 2173 อันเป็นรัชสมัยที่กล่าวได้ว่าศิลปะเขมรถูกนำมาฟื้นฟูอย่างมีชีวิตชีวาในราชสำนักอยุธยาอีกครั้ง และยังผสมผสานรูปแบบศิลปะเปอร์เซียเข้าไปในบางองค์ประกอบอย่างแนบเนียน มีข้อสันนิษฐานหลายประการถึงมูลเหตุในการก่อสร้างวัดไชยวัฒนาราม แต่ข้อสันนิษฐานที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ พระเจ้าปราสาททองทรงสร้างวัดไชยวัฒนารามเพื่ออุทิศบุญกุศลแห่งการถวายที่ดินให้กับพระราชชนนี เนื่องจากพื้นที่ตั้งวัดไชยวัฒนาราม

เดิมคือนิวาสสถานของพระราชชนนีของพระองค์


Among the over 700 historical monuments in Ayutthaya, Wat Chaiwatthanaram or ‘Wat Chai’ is one of the most significant in history, art, and architecture. Located on the west bank of the Chao Praya River, south of the ancient city of Ayutthaya, Wat Chaiwatthanaram is renowned for its distinctive floor plan, exquisite traditional craftsmanship, and the majestic complementary design of its main and subordinate structures. It was constructed as a Buddhist temple in 1630 during the reign of King Prasat Thong when Khmer influence in architecture was revived and endorsed by the court. There are several assumptions on why and where it was built. The most widely accepted one is that King Prasat Thong had the temple founded on the land of his mother's old residence to commemorate her.



เอกลักษณ์สำคัญที่ทำให้วัดไชยวัฒนารามแตกต่างไปจากโบราณสถานแห่งอื่นๆในอยุธยาคือสถาปัตยกรรมที่มีองค์ประกอบเป็นเมรุุทิศเมรุรายรวมแปดองค์คั่นอยู่เป็นจังหวะของระเบียงคด รายล้อมรอบพระปรางค์ประธาน องค์ประกอบเหล่านี้ถูกจัดวางอย่างเป็นระบบ มีระเบียบ สง่าและสมมาตร เมรุทิศเมรุรายซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การดำเนินงานอนุรักษ์ของโครงการเหล่านี้ ส่งผลให้วัดไชยวัฒนารามมีความโดดเด่นและงดงามเป็นเอกลักษณ์ สันนิษฐานว่าเมรุของวัดไชยวัฒนารามได้รับรูปแบบศิลปะมาจากอาคารที่ใช้สำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้าหรือพระมหากษัตริย์ หลักฐานที่พบคือภาพเขียนลายรดน้ำบนฝาผนังสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเป็นภาพพระเมรุมาศสำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ การที่เมรุทิศและเมรุรายใช้รูปแบบอาคารที่ทำเป็นเรือนธาตุสูงชะลูดขึ้นไปรับกันเป็นจังหวะ ส่งเส้นสายให้พระปรางค์ซึ่งเป็นอาคารประธานดูสมบูรณ์และสวยสง่าในทางตั้งแล้ว ในทางแผนผัง ลักษณะการออกแบบดังกล่าวยังเอื้อประโยชน์ให้โครงสร้างภายในมีปริมาตรเพียงพอที่จะประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ปางมารวิชัย (รูปแบบเดียวกับพระประธานที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ) เสมือนเป็นปฏิมาฆระหรือพระประธานของแต่ละองค์เมรุ โดยเมรุทิศจะมีพระประธานประดิษฐานอยู่หนึ่งองค์ และเมรุรายหรือเมรุมุมจะประดิษฐานพระประธานสององค์ ล้อไปกับรูปแบบอาคารที่มีการหักศอก สร้างผังที่ต่อเนื่องไปกับระเบียงคด เดิมระเบียงคดมีหลังคาคลุมและประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ถึง 120 องค์ เมื่อพิจารณวัดไชยวัฒนารามในแง่การออกแบบแล้ว จึงถือว่ามีความน่าตื่นตาตื่นใจ นำสมัย ใช้เทคนิคการก่อสร้างที่แปลกใหม่ เป็นศิลปะประจำรัชกาลของพระเจ้าปราสาททองอย่างแท้จริง


What distinguishes Wat Chai from other significant archaeological sites in Ayutthaya is its square-layout complex which constitutes of a main tower or prang surrounded by eight conical pavilions or merus connected by galleries. While other sites were often later packed with inconsistent and different-looking buildings, almost every element at Wat Chai was laid out in an organized and symmetrical pattern. Much of its original design remains clear. Wat Chai is also unique with its meru-shaped structures, under restoration in the ongoing “Wat Chaiwatthanaram Conservation Project”. Unlike other typical stupa forms found at several Buddhist temples, such as a bell shape or a traditional Khmer-influenced prang, the merus at Wat Chai are believed to be built following the design of a crematory tower for the Buddha and the royals. The evidence of this resemblance can be seen on a gilded lacquer painting, kept at the Wang Suan Pakkad Museum in Bangkok, depicting the Buddha’s crematorium which dates back to the late Ayutthaya period. The merus’ tall and tapered design vertically emphasizes the central prang’s grandeur while their spacious interior floor plan allows for Buddha image statues, in the subduing Mara pose, to be enshrined inside each meru. The design was unprecedented and can be regarded as the artistic style of the King Prasat Thong’s reign





พระพุทธปรางค์ของไทยถูกออกแบบภายใต้แนวคิดจักรวาลที่พัฒนามาจากจักรวาลคติแบบฮินดูคือมีเขาพระสุเมรุเป็นแกนประธาน หากเปรียบเทียบกับวัดไชยวัฒนารามแล้ว ในที่นี้คงแทนด้วยพระปรางค์ซึ่งมีความสูงถึง 35 เมตร ส่วนประกอบที่เป็นปรางค์ทิศเล็กๆ อีก 4 องค์ หมายถึงทวีปทั้ง 4 ส่วนเมรุทิศเมรุราย และระเบียงคดที่ล้อมรอบคงเปรียบได้กับขอบกำแพงแห่งจักรวาล พื้นที่ชานชาลาภายในของเขตระเบียงคดที่เข้ามาถึงองค์ปรางค์นั้นสื่อถึงมหานทีอันกว้างใหญ่ไพศาล และเฉกเช่นเดียวกับวัดโบราณในอยุธยาส่วนใหญ่ ที่การออกแบบจะใช้เส้นแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตกเป็นแกนประธาน ตามความเชื่อของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทิศตะวันออกนี้ นอกจากจะเป็นทิศที่สำคัญและเป็นมงคลสูงสุดในผังของอาคารทางศาสนาแทบทุกแห่งแล้ว ที่วัดไชยวัฒนารามแห่งนี้ ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ ทิศตะวันออกยังเป็นทิศที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งนอกจากจะมีความสำคัญในแง่ที่ใช้เป็นทางสัญจรหลักของวัดในอดีต ยังเปรียบได้กับเหตุการณ์ทางพุทธประวัติที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวช ทรงตัดพระเมาลี ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา และเมื่อพิจารณามุขด้านหลังของเมรุทิศเมรุรายที่อยู่ถัดจากพระอุโบสถไปทางทิศตะวันตกยังปรากฏประติมากรรมปูนปั้นพุทธประวัติ รวมทั้งมีภาพเหตุการณ์ตอนเสด็จออกผนวช ภาพปูนปั้นดังกล่าวต่อเนื่องและสอดรับอย่างพอเหมาะพอดีกับทิศและที่ตั้งของพระอุโบสถแห่งนี้

ตามคติแล้วพระอุโบสถยังเปรียบได้กับที่ตั้งของโพธิบัลลังก์ที่ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิหรือปางมารวิชัยอันเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า และเป็นที่สุดท้ายที่ไฟบัลลัยกัลป์จะเผาผลาญโลกจนสิ้นไป แต่ก็จะเป็นที่แรกของการตั้งกัปใหม่โดยมีโพธิบัลลังก์ผุดขึ้นเหนือน้ำขึ้นมาอีกครั้งเพื่อรองรับการตรัสรู้ของอนาคตพระพุทธเจ้า ด้วยรูปแบบและแผนผังดังกล่าว วัดไชยวัฒนารามจึงเป็นพุทธสถานที่ใช้สัญลักษณ์ทางโลกผ่านรูปแบบและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเพื่อสื่อความหมายและมิติทางธรรมได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์


Temples in Thailand were designed as architectural renderings of the Buddhist cosmology, developed from the Hindu one, placing the world mountain, Mount Meru at the center of the universe. Interpreting this on Wat Chai, its central prang of 35-meters height stands for Mount Meru while its four small prangs represent four continents. Moving outward, the open space can be viewed as Si Thandorn Ocean. Lastly, the eight merus and their connected galleries symbolize the enclosure of the universe. Like other temples in Ayutthaya, Wat Chai’s buildings primarily align in an east-west axis. The east, where an ordination hall is located, is the most important direction in the layout of a religious site. At Wat Chai, the east is also where the river lies as a main mode of transport in the past. This proximity can be compared to a scene in the Buddha’s life story when he went into the monkhood, cutting his hair off on the bank of the Niranjana River. The scene is depicted in a form of bas-relief on the wall of a meru situated right behind the ordination hall and facing the river. The ordination hall where a subduing-Mara Buddha image statue is housed, representing the Lord Buddha, can also be interpreted as the Bo tree. The tree is the last thing annihilated by fire ending a cosmic cycle, according to Buddhist cosmology. Starting a new cycle, it re-emerges from water to serve for the next Buddha’s enlightenment. With these interpretations, Wat Chai is considered a Buddhist site where religious believes are fully symbolized through its architectural designs and elements.




หลังจากการล่มสลายของอาณาจักรอยุธยาในพุทธศักราช 2310 วัดไชยวัฒนารามถูกทิ้งร้างไว้ท่ามกลางป่ารกชัฏมายาวนานกว่า 200 ปี ชื่อของวัดไชยวัฒนารามมาปรากฏอีกครั้ง ในพุทธศักราช 2444 เมื่อคราวที่พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าดำเนินการรื้อถางปรับปรุงภูมิทัศน์ของอยุธยา เพื่อรับเสด็จการประพาสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต่อมาวัดไชยวัฒนารามได้รับการจดทะเบียนขึ้นเป็นโบราณสถานสถานแห่งชาติโดยกรมศิลปากรเมื่อพุทธศักราช 2478


อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกโดยองค์กรยูเนสโกเมื่อพุทธศักราช 2534 แต่วัดไชยวัฒนารามซึ่งมีพื้นที่ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองจึงไม่่ถูกนับรวมให้เป็นหนึ่งในมรดกโลกของอยุธยาด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น กรมศิลปากรได้ดำเนินงานอนุรักษ์และฟื้นฟูวัดไชยวัฒนาราม ซึ่งถือเป็นงานสำคัญส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 มีการจัดสรรงบประมาณในการขุดค้นทางโบราณคดี สร้างเขื่อนริมน้ำ ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ และบูรณะฟื้นฟูตัวอาคารตลอดจนองค์ประกอบทางศิลปกรรม รวมระยะเวลาดำเนินการอนุรักษ์ 5 ปี วัดไชยวัฒนารามจึงพลิกฟื้นจากการถูกปล่อยให้เป็นวัดร้างกลางป่ามาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาสืบมาจนถึงปัจจุบัน


After the fall of the ancient Ayutthaya Kingdom in 1767, Wat Chai was left abandoned for more than 200 years. Time, changes in settlement patterns, and the tropical environment took its toll. Its name reappeared in an official document in 1901 when Phraya Boran Ratchathanin, the government general of the Ayutthaya region cleaned the landscape in preparation for a visit by King Chulalongkorn. Later in 1935, Wat Chai, in an overgrown and ruinous state, was registered in the list of national monuments.

In 1991, Ayutthaya Historic Park was declared a UNESCO World Heritage Site but Wat Chaiwatthanaram was not included due to its location outside the Ayutthaya Island. However, the first official interest in reviving the site took shape in the same period when the Fine Arts Department of Thailand developed a five-year restoration initiative as part of the 6th National Economic and Social Development Plan. This past campaign included excavation work, embankment, conservation of structures and artefacts, and landscape development, transforming Wat Chai from an inaccessible “jungle” to a presentable archaeological site for visitors.




พุทธศักราช 2554 วัดไชยวัฒนารามได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน น้ำท่วมไหลทะลักเข้ามาในพื้นที่โบราณสถานและท่วมขังอยู่นานหลายเดือน ในการนี้ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยสนับสนุนงบประมาณผ่านกองทุนเอกอัครราชทูตเพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม (The U.S. Ambassadors Fund for Cultural Preservation หรือ AFCP) โดยประสานกับกรมศิลปากรและกองทุนโบราณสถานโลก (World Monuments Fund หรือ WMF) ในการบรรเทาภัยพิบัติจากมหาอุทกภัย ต่อมาจึงได้เกิดเป็นโครงการอนุรักษ์นำร่องที่ผสานการดำเนินงานอนุรักษ์เพื่อเสริมความแข็งแรงและมั่นคงทางโครงสร้างตลอดจนรักษางานศิลปะให้กับวัดไชยวัฒนาราม ที่สำคัญคือเป็นการทำงานอนุรักษ์ที่เกิดขึ้นคู่ขนานไปกับการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องและนิสิตนักศึกษาในประเทศไทย


Decades later, the unexpected 2011 floods trapped the site as an island for months, threatening the survival of several features. In response, an Ambassadors Fund for Cultural Preservation grant formed the partnership between the Fine Arts Department of Thailand, the U.S. Embassy in Thailand, and World Monuments Fund. Initial efforts to mitigate the flood damage evolved and expanded under a pilot conservation project that integrates physical interventions to stabilize Wat Chai with capacity-building initiatives for Thai conservators and outreach to Thai university students.





ในบล็อกหน้า เราจะพาทุกคนไปสำรวจการดำเนินงานต่าง ๆ ภายใต้โครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนารามว่ามีกระบวนการและขั้นตอนอย่างไร และกว่าที่วัดไชยวัฒนารามจะมาเป็นโครงการต้นแบบเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถานในประเทศไทยนั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง พบกับเรื่องราวดังกล่าวได้ในตอนต่อไป


Through our next blog posts, we will explore what has been and is being done under the Wat Chaiwatthanaram Conservation Project to preserve this magnificent piece of architecture, making it a model for historical conservation in Thailand.



 

 

ดู 394 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page