ร่างโครงการนิทรรศการออนไลน์: The Journey of Wat Chaiwatthanaram - in the unseen perspective
Supatida Kaewsumran
ศุภธิดา แก้วสำราญ
นักศึกษาฝึกงานโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม ปี 2564
Intern of Wat Chaiwatthanaram Conservation Project (AFCP Wat Chai Internship 2021)
The Journey of Wat Chaiwatthanaram
ข้อมูลการจัดนิทรรศการ
ชื่อนิทรรศการ
The Journey of Wat Chaiwatthanaram - in the unseen perspective
คำอธิบาย
นิทรรศการ The Journey of Wat Chaiwatthanaram - in the unseen perspective เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงเรื่องราวของวัดไชยวัฒนารามในมุมมองที่คนทั่วไปไม่เคยได้รับรู้ โครงการอนุรักษ์ การร่วมงานกันขององค์กรต่างๆ หลักการอนุรักษ์สากล การทำงานของช่างฝีมือ เรื่องเล่าจากวัดไชย โดยเป็นการนำเสนอเรื่องราวใหม่ๆ ผ่านผู้คนที่รัก ศรัทธา และเติบโตจากที่แห่งนี้
กลุ่มเป้าหมาย
บุคลทั่วไปทุกเพศทุกวัย
วัตถุประสงค์โดยรวมของการจัดนิทรรศการ
- เพื่อถ่ายทอดประวัติความเป็นมาโดยสังเขป
- เพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องหลักการอนุรักษ์สากล
- เพื่อบันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ของการทำงาน
- เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้สนใจได้รับรู้เรื่องราวของวัดไชยวัฒนารามและได้เสวนาแลกเปลี่ยนความคิด หรือได้ต่อยอดจุดประสงค์ของโครงการนี้ต่อไป
ประเภทนิทรรศการ
- จำแนกตามขนาดของนิทรรศการ เป็นนิทรรศการทั่วไป
- จำแนกตามวัตถุประสงค์ในการจัด เป็นนิทรรศการเพื่อการประชาสัมพันธ์
- จำแนกตามระยะเวลาในการจัด เป็นนิทรรศการกึ่งถาวร
- จำแนกตามสถานที่ที่ใช้ในการจัด เป็นนิทรรศการออนไลน์
ลักษณะการจัดแสดง
- การจัดแสดงเพื่อการเรียนรู้
ลักษณะของนิทรรศการ
ภายในนิทรรศการจะจัดแบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 7 ส่วน โดยมีการจัดเรียง ดังนี้
ส่วนที่ 1 ประวัติวัดไชยวัฒนาราม
ส่วนที่ 2 การอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม
ส่วนที่ 3 การอนุรักษ์พื้นที่ภายนอก
ส่วนที่ 4 การอนุรักษ์พื้นที่ภายใน
ส่วนที่ 5 ผู้คนของวัดไชยฯ
ส่วนที่ 6 กิจกรรม workshop
ส่วนที่ 7 จำหน่ายของที่ระลึก
ระยะเวลาจัดนิทรรศการ
มกราคม ปี 2565
สถานที่จัดนิทรรศการ
นิทรรศการออนไลน์, เว็บไซต์, Instagram
ระยะเวลาการเข้าชม
00:00-23:59 น.
การจัดแสง/เลือกใช้สี
ภายในนิทรรศการจะเลือกใช้สีจัดแสดงเป็นโทนสีสบายตา เช่น สีน้ำเงิน ฟ้า ม่วง ขาวครีม ขาว เพื่อสร้างบรรยากาศภายนนิทรรศการให้มีความสดใส ร่าเริง สร้างความรู้สึกสนุกสนาน น่าค้นหา และน่าตื่นเต้น
สื่อที่ใช้ในนิทรรศการ
สื่อที่ใช้ภายในงานประกอบไปด้วย
1. สื่อสามมิติ
2. สื่อวิดิทัศน์ เพื่อสร้างประสบการณ์ในการพบเห็นให้แก่ผู้ชม
3. สื่อที่ผู้ชมสามารถมีกิจกรรมร่วมได้ในกิจกรรม workshop
การประชาสัมพันธ์
การประชาสัมพันธ์ของนิทรรศการ The Journey of Wat Chaiwatthanaram จัดเป็น 3 ช่วง ดังนี้
1. การประชาสัมพันธ์ก่อนการแสดงนิทรรศการ นำสื่อที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ไปเผยแพร่ในพื้นที่ออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram, twitter เป็นต้น
2. การประชาสัมพันธ์ระหว่างการจัดแสดง
ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ และใช้พื้นที่ออนไลน์จัดกิจกรรมเพื่อให้เข้าถึงผู้ชมได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เช่น Quiz, หรือกิจกรรมลุ้นรับของที่ระลึกจากการเล่าถึงความประทับใจในการร่วมนิทรรศการหรือข้อเสนอแนะ
3. การประชาสัมพันธ์ต่อเนื่องหลังการจัดแสดง
ประชาสัมพันธ์ถึงโครงการต่อเนื่อง เช่น โครงการฝึกงาน โครงการเสวนาออนไลน์ Virtual Outreach
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ผู้เข้าชมนิทรรศการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวัดไชยวัฒนาราม ทำความรู้จักงานอนุรักษ์ และรู้จักโครงการ
2. ผู้เข้าชมสามารถตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์โบราณสถาน และตระหนักถึงข้อควรประพฤติปฏิบัติเมื่อมาเยี่ยมชมโบราณสถาน
3. ผู้ชมได้รับความรู้ที่แปลกใหม่ เป็นมุมมองที่ไม่เคยทราบมาก่อน
4. เป็นการบันทึกเรื่องราวที่เป็นส่วนสำคัญในการเดินทางของวัดไชยวัฒนาราม
แผนผังนิทรรศการ
การจัดแสดงจะดำเนินในรูปแบบออนไลน์เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด และเพื่อให้เข้าถึงผู้คนได้ง่ายที่สุด การจัดแสดงจะจัดขึ้นผ่าน Instagramและเว็บไซต์ ซึ่งสำหรับ Instagram จะมีการทำข้อมูลให้อ่านง่าย เข้าถึงบุคคลทั่วไปได้ง่ายที่สุด จัดเป็นโพสต์ เรียงตามหัวข้อ
สำหรับในเว็บไซต์ จะมีการจัดทำข้อมูลที่มีความละเอียดมากยิ่งขึ้น ให้ความรู้ได้อย่างครบถ้วน และมีสื่อที่ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมในการเข้าชมได้
เนื้อหาที่จัดแสดง
ส่วนที่ 1 ประวัติวัดไชยวัฒนาราม
วัดไชยวัฒนารามตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเมืองอยุธยา ที่ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ราวปี พ.ศ.2173 เป็นโบราณสถานสมัยอยุธยาตอนปลาย ลักษณะทางสถาปัตยกรรมโดยรวมสะท้อนถึงอิทธิพลของเขมร สิ่งก่อสร้างที่เหลืออยู่เป็นหลักฐานแสดงถึงความสำคัญและความวิจิตรงดงามของวัด ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติโดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2478 โดยปัจจุบันได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งมรดกโลกในฐานะส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ภายในเขตวัดไชยวัฒนารามประกอบไปด้วยพระอุโบสถที่หันไปทางทิศตะวันออก ปรางค์ประธาน ระเบียงคด เมรุทิศ เมรุราย ปรางค์น้อย เจดีย์ทรงระฆัง ทางเดิน และกำแพงต่าง ๆ สำหรับการเรียกอาคารที่มุมและด้านของระเบียงคดว่า “เมรุทิศ” และ “เมรุราย” มีปรากฏหลักฐานเป็นอย่างน้อยในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)
ความสำคัญของวัดไชยวัฒนารามต่อการศึกษาวัฒนธรรมอยุธยามีหลายประการ กล่าวคือ เป็นตัวแทนของการรับรูปแบบความเชื่อและศิลปะเขมรโบราณ หลังจากสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ในปี 2173 เช่น แผนผังแบบภูมิจักรวาล และลวดลายปูนปั้นบางแบบซึ่งไม่อยู่ในพื้นฐานความนิยมโดยทั่วไปของศิลปะอยุธยาในขณะนั้นแล้ว เป็นต้น อย่างไรก็ดี ยังคงเชื่อได้ว่าวัดไชยวัฒนารามเป็นพระอารามในศาสนาพุทธนิกายเถรวาท
ส่วนที่ 2 การอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม
โครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนารามยึดถือหลักสากลว่าด้วยการอนุรักษ์สิ่งก่อสร้างทางปะวัติศาสตร์ตามกฎบัตรเวนิส, นารา20+ และข้อชี้แนะของอิโคโมส (ICOMOS) และพิจารณาถึงการประเมินและข้อชี้แนะโดยทั่วไปของICOMOS ว่าด้วยเรื่องวัสดุและขั้นตอนงานอนุรักษ์ที่ปฏิบัติกันในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หลักการอนุรักษ์ที่วัดไชยวัฒนารามตั้งอยู่บนพื้นฐานของทำการแทรกแซงให้น้อยที่สุด โดยพิจารณาเฉพาะงานอนุรักษ์ที่จำเป็นต่อการรักษาสิ่งก่อสร้าง โบราณวัตถุ และส่วนประกอบประดับตกแต่งที่เหลืออยู่ อีกทั้งให้ความสำคัญกับการเสริมความมั่นคงของโครงสร้างและวัสดุเดิมเป็นหลัก วัสดุใหม่สำหรับเปลี่ยนทดแทนต้องเข้ากับวัสดุเดิมที่เหลืออยู่และเป็นวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ต้องดำเนินการรื้อถอนปูนซีเมนต์และใช้วัสดุอื่นในการทดแทน นอกจากนี้ วัสดุและวิธีการอนุรักษ์ต้องเปลี่ยนกลับคืนสู่สภาพเดิมได้หรือทำงานอนุรักษ์ได้อีกในอนาคต พร้อมทั้งใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อช่วยในงานอนุรักษ์ ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่เป็นอันตรายต่องานอนุรักษ์ ต้องดำเนินการให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ผ่านการอบรมสัมมนาและการฝึกปฏิบัติ เพื่อพัฒนาทักษะและความชำนาญของช่าง
สำหรับพื้นที่ในการดำเนินงานอนุรักษ์ที่วัดไชยวัฒนารามแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่ พื้นที่ภายอก และพื้นที่ภายใน
ส่วนที่ 3 การอนุรักษ์พื้นที่ภายนอก
1.การทำความสะอาดพื้นที่ภายนอก เพื่อขจัดสิ่งสกปรก (เชื้อรา มอส ตะไคร่ ยีสต์ แบคทีเรีย) ที่ทำลายโบราณสถานด้วยสารละลายเบนซาคลอเนียม
2.การก่ออิฐและการสกัดซีเมนต์ เป็นการเปลี่ยนอิฐที่เป็นวัสดุทดแทนซึ่งเสื่อมสภาพด้วยอิฐใหม่ เพื่อรักษาความมั่นคงของโครงสร้างอาคาร และสกัดซีเมนต์ที่เคยใช้เป็นวัสดุอนุรักษ์ออกเพื่อไม่ให้เกิดความชื้นสะสม
3.การเสริมร่องอิฐเก่า ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำเข้าไปทำลายผิวอิฐและปูนสอที่อยู่ภายใน และชะลอการเสื่อมสภาพของโครงสร้างที่เกิดจากน้ำขังเวลาฝนตก
4.การเสริมร่องอิฐใหม่ ช่วยป้องกันน้ำเข้าไปขังในร่องอิฐ และการกัดกร่อนปูนที่ใช้ก่อซึ่งช่วยรักษาสภาพหรือยืดอายุการใช้งานของอิฐที่ก่อใหม่
5.การจับขอบ ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำเข้าไปทำลายและกัดกร่อนชั้นผิวปูนภายในรอยแตกระหว่างปูน ซึ่งส่งผลต่อการเสื่อมสภาพของปูนโดยตรง
6. การฉีดน้ำปูน เพื่อเสริมความแข็งแรง และแก้ปัญหาการผุกร่อนเป็นโพรงใต้ชั้นผิวปูนดั้งเดิม
7.การฉาบปูน การฉาบรอยแตกของปูนหรือพื้นผิวอิฐที่เสื่อมสภาพซึ่งปูนเดิมหายไปเพื่อรักษาสภาพอิฐและปูนเดิมในบางบริเวณ
ส่วนที่ 4 การอนุรักษ์พื้นที่ภายใน
1. การทำความสะอาดพื้นที่ภายใน (พระพุทธรูป บัวหัวเสา ภาพจิตรกรรม ฝ้าเพดาน และผนัง) เพื่อขจัดสิ่งสกปรก เชื้อรา รังแมลง ที่ทำลายโบราณสถาน
2. การจับขอบ (พระพุทธรูป บัวหัวเสา และผนัง) เป็นการเสริมความมั่งคงให้กับพื้นผิวรักและปูนที่แยกตัวออกจากกัน
3. การฉาบปูน (พระพุทธรูป บัวหัวเสา และผนัง) เพื่อรักษาสภาพปูนเก่าและพื้นผิวอิฐ
4. การรีทัช (พระพุทธรูป บัวหัวเสา และภาพจิตรกรรม) เป็นการใช้สีในงานอนุรักษ์เพื่อรักษาสุนทรียะและความเป็นเอกภาพ โดยคำนึงถึงจุดประสงค์ที่ต้องการรีทัช บริเวณที่ทำการรีทัช ประวัติศาสตร์และศิลปะที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทัศนียภาพองค์รวมของพื้นที่นั้นๆ
ส่วนที่ 5 ผู้คนของวัดไชย
จัดแสดงเรื่องราวการทำงานของสมาชิกทีมงานโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม
ส่วนที่ 6 กิจกรรมที่ให้ผู้เข้าชมได้ร่วมมีส่วนร่วม
ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมได้ด้วยการลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม workshop การอนุรักษ์ 1 วัน ณ วัดไชยวัฒนาราม โดยโครงการจะจัดตารางการ workshop ในอต่ละเดือนและอัปเดทผ่านเว็บไซต์
ส่วนที่ 7 โซนจำหน่ายของที่ระลึก
มีสินค้าของที่ระลึกจัดจำหน่าย อาทิเช่น พระพุทธรูป(พระเครื่อง)จำลองขนาดเล็ก
Prototype
Comentarios