พื้นที่พักผ่อน สีแดง
อัปเดตเมื่อ 2 ธ.ค. 2564
โดย อาภรณ์วิวาห์
#คิดอย่างเจอนัล นักหัดเขียน ss.2
“ผู้ไร้เสียงในสถานการณ์ COVID”
ถ้าพูดถึงพื้นที่พักผ่อนทุกคนน่าจะนึกถึงพื้นที่ ที่อยู่แล้วปลอดภัย แต่ถ้าพื้นที่เหล่านี้อยู่ในเขตพื้นที่การระบาดของโควิดอันดับต้นๆของประเทศล่ะ ทุกคนอยากจะมาพักผ่อนอยู่ไหม
“โอ๊ย!! พอเขาได้ยินชื่อ จังหวัดสมุทรสงคราม เขาก็ไม่มาแล้ว”
ซึ่งหลายๆ คนเมื่อพูดถึงจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม หรือจังหวัดละแวกแถวนี้ ก็กลัวที่จะเดินทางมาหรือบางคนก็ไม่อยากจะผ่านมาทางนี้ด้วยซ้ำ เพราะจังหวัดเหล่านี้ล้วนได้รับเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เพราะมีการเกิดคลัสเตอร์ของโควิดอยู่หลายพื้นที่ทำให้เกิดการระบาดอย่างหนัก แล้วถ้าทุกคนไม่อยากมา พื้นที่พักผ่อนเหล่านี้จะอยู่ต่อไปอย่างไร ?
นับตั้งแต่การระบาดของโควิด 19 รัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ มากมาย เพื่อจะหยุดยั้งเชื้อไวรัส เช่น การประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน การปิดประเทศ ไม่รับนักท่องเที่ยว แล้วยังมีการรณรงค์ “อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ” ให้ทุกคนพยายามทำงานที่บ้าน Work from home ไม่เดินทางออกนอกจังหวัดหรือไปยังจังหวัดที่เสี่ยง ซึ่งเราคงจะได้เห็นและได้ยินสิ่งเหล่านี้อยู่จนชิน และก็ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
มาตราการเหล่านี้ทำให้ส่งผลกระทบอย่างหนักกับภาคธุรกิจโรงแรมหรือรีสอร์ตซึ่งอยู่ในระบบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยตรง จนทำให้เราเห็นภาพข่าวมากมายของโรงแรมหรือรีสอร์ตที่พักต่างๆ ออกมาเรียกร้องต่อรัฐบาลถึงมาตราการ การเยียวยา ที่รัฐควรจะมีให้กับโรงแรมหรือรีสอร์ตด้วย ถึงขนาดต้องออกมาประกาศ ขอร้องให้รัฐบาลสั่งปิดโรงแรมเถอะ [1] เพราะถ้ารัฐสั่งปิดอย่างน้อยก็จะได้รับการเยียวยาจากรัฐบ้าง ซึ่งในหลายที่ก็ต้องจำยอมปิดตัวลงเองเพราะไม่มีแขกจะมาพัก หรือบางทีก็ต้องให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐในการปิดสถานที่ด้วยเช่นกัน
ในภาคธุรกิจโรงแรมหรือรีสอร์ตเหล่านี้ ยังคงมีกลไกเล็กๆ ที่อยู่ในระบบด้วยเช่นกัน ก็คือ แรงงานลูกจ้าง ซึ่งบรรดาเหล่าพนักงานโรงแรมทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ชะตากรรมว่าจะไปทางไหนดี หลายคนจึงต้องตกอยู่ในสภาวะการว่างงาน โรงแรม รีสอร์ตหลายที่ก็พยายามที่จะหาวิธีการมาช่วยเหลือลูกจ้างเหล่านี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสายป่านทางการเงินของแต่ละที่ด้วยเช่นกัน [2] บ้างก็ลดจำนวนพนักงานลง ลดเงินเดือนบ้าง หรือบางที่ก็ปิดตัวลงไปเลย หรือก็ต้องคิดหาวิธีการต่างๆ ออกมาต่อสู้ การช่วงชิงวิกฤติให้เป็นโอกาส เปลี่ยนจาก Work from home มาเป็น Work from hotel การเปิดขายอาหารระดับโรงแรมแต่ราคาถูกลง เป็นต้น
ทั้งหมดที่กล่าวมาประกอบกับที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับธุรกิจโรงแรมหรือรีสอร์ตว่าได้รับผลกระทบอย่างไรและต้องหาทางรอดกันอย่างไร บทความนี้จะนำเสนอภาพเรื่องราวบางส่วนของการหาทางรอด ของธุรกิจรีสอร์ตเล็กๆ ในพื้นที่สีแดง ที่ทุกคนไม่อยากจะเดินทางมากันเท่าไหร่ ซึ่งรีสอร์ตเหล่านี้ไม่มีสายป่านทางการเงินที่ยาวพอ เขาจะจัดการกับพื้นที่รีสอร์ตของเขาอย่างไรและจัดการกับลูกจ้างอย่างไรให้สามารถอยู่รอดได้
จังหวัด ที่ท่องเที่ยวสุดปัง ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มาสัมผัสวิถีชีวิตชาวสวน ริมแม่น้ำแม่กลอง
“..เมืองต้องห้าม..พลาด เมืองสายน้ำ สามเวลา สมุทรสงคราม…” [3]
เชื่อว่าหลายคนเมื่ออยากเที่ยวแต่มีเวลาไม่มาก และอยากจะสัมผัสวิถีชีวิตแบบธรรมชาติ คงจะหนีไม่พ้นที่จะนึกถึงจังหวัดสมุทรสงครามเพราะเป็นจังหวัดหนึ่ง ที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย เช่น ดอนหอยหลอด ตลาดน้ำอัมพวา ตลาดร่มหุบ อุทยาน ร.2 และมีกิจกรรมหนึ่งที่เคยนิยมกันคือ การมานั่งเรือชมหิ่งห้อย และยังเป็นจังหวัดที่ยังคงมีธรรมชาติอยู่มาก มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ทำให้ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ที่อยากจะมาสัมผัสวิถีชีวิตชาวสวน วิถีชีวิตริมคลอง ต่างก็มาท่องเที่ยวและพักผ่อนกันที่นี้ จนทำให้ ภาครัฐจัดให้เป็นเมืองต้องห้าม..พลาด
ทำให้สิ่งที่ตามมาในการท่องเที่ยวที่คึกคักเช่นนี้ก็คือ โรงแรมและรีสอร์ต เพราะทุกคนก็อยากจะมาพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ มาสัมผัสวิถีชีวิต ทั้ง 24 ชั่วโมง ทำให้ธุรกิจเหล่านี้เติบโตขึ้นมาอย่างมาก และชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะในเริ่มแรกธุรกิจเหล่านี้จะเป็นรีสอร์ตเล็กๆ ของชาวบ้านทั่วไป ยังไม่ค่อยเห็นเป็นรีสอร์ตหรือโรงแรมขนาดใหญ่เท่าไหร่นัก ต่อมาเมื่อเริ่มมีนักท่องเที่ยวมากขึ้นก็จะเริ่มมีกลุ่มนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้าน เพื่อไปสร้างเป็นโรงแรมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ดินแพงมากเลย ยิ่งเป็นที่ดินติดแม่น้ำยิ่งแพงเข้าไปใหญ่ แต่สิ่งที่ตามมาก็คือคนในพื้นที่ก็ไปสมัครงานกับทางโรงแรมหรือรีสอร์ตเหล่านั้น ทำให้มีรายได้ที่พอจะมั่นคงมากขึ้น และโรงแรมหรือรีสอร์ตเหล่านี้ ค่อนข้างจะมีทุนสูงทำให้เขาสามารถจะดึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างขวางมากกว่า รีสอร์ตเล็กๆ ทำให้พนักงานที่นั้นก็จะได้รับค่าตอบแทนที่ดีมากขึ้นไปด้วย
เรื่องเล่าจากลูกจ้าง .... ถึงความรุ่งเรืองก่อนจะร่วงโรย
ก่อนการระบาดของโควิดที่ 19 รีสอร์ตเล็กๆ ที่ผู้เขียนได้ลงไปพูดคุยกับลูกจ้างภายในรีสอร์ต พี่เขาได้เล่าให้ฟังว่าก่อนที่โควิดจะระบาดว่ามีผู้คนมาพักอย่างไม่ขาดสาย แม้กระทั่งจะไม่ใช่วันหยุดก็ยังมีคนมาติดต่อพักอยู่ตลอด ยิ่งช่วงเสาร์อาทิตย์ ยิ่งคนเยอะมาก ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่เคยมาพักแล้ว ก็จะมาใหม่ แล้วก็มีบอกต่อกันมาบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนไทย ไม่ค่อยมีชาวต่างชาติเท่าไหร่
ภายในรีสอร์ตนี้ มีทั้งส่วนของที่พักและส่วนร้านอาหารกับร้านกาแฟ ซึ่งส่วนของร้านอาหารและร้านกาแฟก็มีคนมาใช้บริการเยอะไม่แพ้กัน “ที่ร้าน อาหารกับร้านกาแฟนะ ก็มีคนมากินกันเยอะมากทั้งคนที่มาพักในรีสอร์ตเองและคนที่มากินข้าวอย่างเดียว และยิ่งร้านกาแฟนะ คนยิ่งเยอะเพราะทางร้านมีการใช้น้ำตาลจากน้ำตาลมะพร้าวมาชงกาแฟ” ซึ่งทำให้กาแฟที่นี้มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์
ตอนที่มีงานลอยกระทงยิ่งคึกคักและมีสีสันมาก ที่รีสอร์ตมีจัดกิจกรรมลอยกระทงเพราะรีสอร์ตติดริมแม่น้ำแม่กลอง คนมาชมบรรยากาศการลอยกระทง และมารอชมการลอยกระทงสายกาบกล้วย ท้องน้ำเต็มไปด้วยแสงจากกระทงไปหมด
แรกเริ่มของการร่วงโรย
หลังจากที่เราได้รับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับโควิด ที่เริ่มแพร่ระบาดในประเทศจีน เราก็ยังไม่ได้จะวิตกเท่าไหร่ว่ามันจะมาถึงตัวเราหรือจะระบาดไปทั่วโลกแบบนี้ ซึ่งภาคการท่องเที่ยวก็เช่นกัน ก็ยังคงเปิดรับนักท่องเที่ยวเหมือนเดิม การท่องเที่ยวก็ยังคงดำเนินต่อไป ต่อมาก็เริ่มมีการตรวจพบเจอเชื้อโควิด เข้ามาพร้อมกับนักท่องเที่ยว ก็เริ่มรู้สึกมีการระวังตัวมากขึ้นแต่ก็ยังคงจำกัดอยู่ในวงแคบแค่เมืองท่องเที่ยวหลักๆ ที่มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาเท่านั้น
จังหวัดสมุทรสงครามตอนนั้นก็เช่นกัน ก็เริ่มที่ทีการระมัดระวังตัวมากขึ้น แต่การท่องเที่ยวก็ยังคงเป็นไปตามเดิม ทำให้โรงแรมและรีสอร์ตก็ยังคงเปิดรับนักท่องเที่ยวตามปกติ แต่ก็เริ่มมีการวัดไข้ สวมแมสปิดปาก ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ โดยรีสอร์ตที่นี้ก็เหมือนกัน ก็เปิดรับนักท่องเที่ยวจามเดิม แค่มีวัดไข้อะไรนิดหน่อย
หลังจากเริ่มมีการระบาดที่เป็นวงกว้างมากขึ้น เริ่มมีการแพร่ไปในหลายจังหวัด ทำให้ผู้คนเริ่มที่จะกลัวและเริ่มที่จะระวังตัวมากขึ้น ทำให้การท่องเที่ยวเริ่มที่จะชะลอตัวลง คนก็เริ่มจะไม่อยากเดินทางไปมาในจังหวัดที่เสี่ยงเช่นกัน ตอนนั้นทางรีสอร์ตก็เริ่มที่จะกลัวการมาของโควิด ก็เริ่มที่ไม่รับนักท่องเที่ยวมาจากจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง และก็เริ่มมีการวัดไข้อย่างจริงจัง การเว้นระยะห่างต่างๆ ตามที่รัฐสั่ง พอการระบาดที่มากขึ้นทางเจ้าของรีสอร์ตก็เริ่มกลัวจะเป็นปัญหา ก็เลยเลือกที่จะปิดในส่วนร้านกาแฟและร้านอาหารลงซึ่งเป็นส่วนที่มีคนมาใช้บริการมาก เพราะกลัวที่จะเกิดการระบาดภายในรีสอร์ตด้วย ทำให้พนักงานที่ทำในส่วนนี้ ถูกให้ออกไปโดยปริยายไปเป็นกลุ่มแรก
สู่กาล... ร่วงโรย
หลังจากการเข้ามาของโควิดในรอบแรก ทำให้เราอยู่กับโรคระบาดนี้มาโดยตลอดถึงแม้จะไม่ได้แพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็วแต่มันก็ยังคงอยู่ จนกระทั่งมีการพัฒนาสายพันธ์ุขึ้น และเริ่มมีสายพันธ์ุใหม่จากต่างประเทศเข้ามาแพร่ในประเทศไทยทำให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างอีกครั้งและครั้งนี้ รวดเร็วและรุนแรงกว่ารอบแรก ทำให้แพร่ระบาดไปในหลายพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสุดท้ายก็ทำให้ทั่วประเทศกลับมาระบาดอย่างหนักอีกครั้งหนึ่ง และครั้งนี้เองที่มีการระบาดที่จังหวัดสมุทรสาครและลามเข้ามาที่จังหวัดสมุทรสงคราม ทำให้การท่องเที่ยวที่แย่อยู่แล้วแย่ซ้ำลงไปอีก และบางโรงแรมหรือรีสอร์ตที่ช้ำมาจากรอบแรกอยู่แล้วพอมาเจอรอบนี้ซ้ำเข้าไปอีกก็ต้องล์อกที่จบตัวเองลง
“..ตอนระบาดรอบแรกก็ยังมีคนมาพักนะ ก็ยังพอมีรายได้มาช่วยบ้าง แต่พอระบาดรอบนี้มานะต้องยอมปล่อยปิดรีสอร์ตไปเลยเพราะสู้ต่อไม่ไหวจริงๆ..”
โรงแรมและรีสอร์ตในจังหวัดสมุทรสงคราม หลังจากที่การระบาดเริ่มขึ้น ก็เริ่มจะเป็นจุดสิ้นสุดของหลายๆ รีสอร์ต เพราะเริ่มที่จะสู้ไม่ไหวแล้ว ในตอนแรกก็พยายามที่จะฝืน เปิดรับลูกค้าที่ไม่มาจากพื้นที่เสี่ยงมาก รับเป็นกลุ่มบริษัทที่จะหาที่ทำงาน ทำเป็นออฟฟิศชั่วคราว ซึ่งก็อยู่ได้แค่ระยะไม่นาน ซึ่งรีสอร์ตที่ผู้เขียนได้ไปพูดคุยนั้น ก็เริ่มที่จะกลัวและจะไม่รับคนมาจากพื้นที่เสี่ยงเลยจนสุดท้ายก็ไม่มีคนมาพักเลย ก็ต้องปิดชั่วคราวไปก่อน ซึ่งทำให้พนักงานที่เหลือ ก็ต้องออกกันไป บางรีสอร์ตก็เลือกที่จะปิดตัวลงไปเลย และประกาศขายกิจการเพราะจะได้เอาเงินจากการขายรีสอร์ตนี้มา จ่ายเป็นค่าชดเชยใหกับลูกจ้างที่ออกไป
แต่ก็ใช่ว่าทุกโรงแรมทุกรีสอร์ตจะปิดตัวลงหมด ก็ยังคงมีโรงแรมและรีสอร์ตใหญ่ๆ ที่ยังคงมีสายป่านที่ยาวหน่อยก็ยังคงเปิดรับคนที่อยากจะมาพักอยู่ แต่ก็มีการประกาศลดพนักงานลงในบางโรงแรม ซึ่งการเปิดอยู่นั้นก็ต้องหาทางที่จะเรียกลูกค้ามาพักก็มีการใช้การโฆษณาเกี่ยวกับการมา Work from hotel มีการประกาศลดราคาห้องพักอย่างมหาศาล การเปิดขายอาหารของโรงแรม เป็นต้น
ทางรอดทางเลือกที่ต้องตัดสินใจของรีสอร์ต
รีสอร์ตที่ผู้เขียนได้ไปสำรวจมานั้น เป็นรีสอร์ตขนาดเล็ก เลยเลือกที่จะปิดไปก่อน ซึ่งถ้าจะถามถึงการเยียวยาก็คงจะไม่มีเพราะที่นี้รัฐไม่ได้สั่งปิด แต่ทุกคนก็รู้ตัวดีว่าจะต้องจัดการกับตัวเองอย่างไร ภาวะที่จำเป็น....ต้องแลก แต่การปิดรีสอร์ตไปเลยทำให้รายรับไม่มีเข้าเลย ก็เลยจำต้องแลกกับชื่อเสียงของรีสอร์ต ทำเป็นที่กักตัวของคนกลุ่มเสี่ยงของการติดโควิดที่ 19 ซึ่งบางคนยังไม่ค่อยมั่นใจในการไปพักในรีสอร์ตหรือโรงแรมที่ทำการเปลี่ยนเป็นที่กักตัวมาก่อน เพราะกลัวถึงความปลอดภัย
“...เราจำเป็นต้องยอมที่จะทำเป็นที่กักตัว เพราะยังทำให้มีรายได้เข้ามาอยู่บ้าง...”
ภาครัฐก็พยายามจะช่วยเหลือโดยการมาติดต่อทำเป็นที่กักตัวของคนกลุ่มเสี่ยง ทางรีสอร์ตก็ตอบตกลงทันที เพราะอย่างน้อยก็ยังคงมีรายได้เข้ามาใช้จ่ายภายในได้ ซึ่งรีสอร์ตขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เหล่านี้ ถือว่ามีข้อดี เพราะสถานที่ค่อนข้างสันโดษอยู่กลางสวนกลางดง ห่างไกลจากชุมชนที่มีคนอยู่กันจำนวนมาก แต่บางที่ก็อาจจะไม่เหมาะ เพราะบางที่ก็อยู่ลึกเกินไป เพราะต้องอยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาล และบางที่ก็มีขนาดไม่ใหญ่มาก อาจจะรับคนเยอะมากไม่ได้
รีสอร์ตนี้มีพื้นที่ไม่มากนักเลยทำที่กักตัวได้ไม่เยอะ ซึ่งทั้งหมดมี 5 ห้อง ทำเป็นที่กักตัวทั้ง 5 ห้องเลย แล้วตัวรีสอร์ตก็อยู่กลางสวน ห่างไกลชุมชน และค่อนข้างใกล้กับโรงพยาบาล ทำให้อยู่ในตัวเลือกของทางภาครัฐที่จะเลือกมาทำเป็นที่กักตัว ซึ่งการที่รีสอร์ตแห่งนี้ทำเป็นที่กักตัวนั้นก็ไม่ค่อยจะเป็นที่รู้จักมาก เพราะรับคนกลุ่มเสี่ยงที่ติดต่อมาทางรัฐอีกที
โดยในตอนแรกที่จะเริ่มทำเป็นที่กักตัว จะต้องได้รับการตรวจจากทางภาครัฐก่อนว่าสถานที่พร้อมรองรับกับคนกลุ่มเสี่ยงไหม เช่น ตัวอาคารไม่ชำรุด ระบบสุขาภิบาล ระบบปรับอากาศ เป็นต้น
ซึ่งภายในรีสอร์ตจะแบ่งเป็นเขตของคนพักที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และเจ้าหน้าที่ โดยจะใช้พื้นที่ภายในเป็นที่กักตัว และพื้นที่ด้านหน้าเป็นที่อยู่เจ้าหน้าที่ ซึ่งสามารถเดินหากันได้ไม่ไกลกันมาก
การกักตัวอยู่กันที่นี้จะไม่ให้คนภายในนั้นออกมาเดินภายนอกเลย เพราะคนที่มากักตัวที่นี้จะเป็นคนในกลุ่มเสี่ยง อาจจะมีทั้งคนที่ติดและอาจจะไม่ติด เพื่อความปลอดภัยเลยไม่อยากให้ทุกคนออกมาภายนอกสักเท่าไหร่ซึ่งทุกคนจะต้องอยู่ในห้องละคน ถ้าเป็นสามี-ภรรยากันก็อยู่ด้วยกันสองคนได้ ซึ่งรีสอร์ตจะมีห้องหลายขนาดการพักก็ดูเอาตามความเหมาะสม ของคนที่มาพัก ในทุกสามเวลาก็จะมีเจ้าหน้าที่นำอาหารมาส่งให้ ไม่ต้องออกไปเอาเอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ ที่มาทำงานก็จะมีการผลัดเปลี่ยนกัน ทุกสามวันก็จะมีมาเปลี่ยนกันทีหนึ่ง
สุดท้ายถ้ามีการย้ายออกของคนที่มากักตัว ก็จะมีการเข้ามาทำความสะอาดของเจ้าหน้าที่ มีการเปลี่ยนที่นอนหมอนมุ้งต่างๆ ทำความสะอาดพื้นที่ซึ่งเชื่อมั่นว่าปลอดภัยและปลอดเชื้อ และสามารถรับคนที่มากักตัวใหม่ได้ ซึ่งที่นี้รับกักตัวอยู่ระยะเวลา 2 - 3 เดือน เพราะหลังจากนั้น ทางภาครัฐก็ไม่มีเงินมากพอที่จะจ้างต่อไปได้เลยสุดท้ายทางภาครัฐไปเลือกวัดเป็นสถานที่กักตัวแทน
พื้นที่ รีสอร์ต และผู้คน
พื้นที่รีสอร์ต ยังสัมพันธ์กับลูกจ้างภายในรีสอร์ต ที่ไม่สามารถจะเรียกร้องสิ่งใดได้มากนัก ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของรีสอร์ต ว่าจะให้อยู่หรือให้ไป และด้วยสถานการณ์เช่นนี้รีสอร์ตเล็กๆก็ไม่ได้มีทุนสำรองพอที่จะมาจ้างให้ลูกจ้างอยู่ต่อได้ จำก็จะต้องให้ลูกจ้างออกไปดิ้นรนหาทางรอดกันเอาเอง บางคนก็ไปรอด บางคนก็ไปไม่รอด แต่ละคนก็มีวิถีทางเป็นของตัวเอง
หลังจากที่เริ่มมีการระบาดของโควิด ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป วิถีชีวิตของคนก็ต้องเปลี่ยน ทำให้รีสอร์ตไม่มีคนมาพัก รายได้ก็เริ่มไม่มี รีสอร์ตก็ต้องปิดไปก่อน ระหว่างนี้ลูกจ้างก็ต้องหากิจกรรมอย่างอื่นทำ พี่ที่ผู้เชียนได้ไปพูดคุยด้วย ได้เลือกที่จะลองเอาขนมปังมาขาย แต่ก็ไม่ได้สร้างรายได้ที่ดี และยังต้องลงทุนสูงอีก แต่ในขณะนั้นรีสอร์ตก็ยังมีคนมาพักอยู่บ้าง ก็ยังคงให้มีรายได้อยู่ที่เป็นรายเดือน
จนสุดท้ายการระบาดก็มากขึ้นจนต้องปิดตัวรีสอร์ตลง ทำให้พี่เขาต้องออกจากงานทันที ซึ่งพี่เขาก็ไม่ได้มีทุนสำรองมากพอที่จะไปอยู่บ้านก่อนแล้วค่อยหางานทำ “...พี่ก็ต้องคิดหางานทำเลย ว่าอะไรที่มันจะลงทุนไม่มากจะไปสมัครงานที่อื่นๆ เขาก็ไม่ค่อยจะรับกันเพราะเขาก็ให้พนักงานออกเหมือนกัน...” พี่ก็เลือกที่จะออกมาขายน้ำปั่น เพราะลงทุนไม่มากและก็วัตถุดิบเก็บได้นาน และก็ยอมลงทุนต่อรถมอเตอร์ไซค์ให้เป็นรถพ่วง(ซาเล้ง) จะได้ออกไปขายได้ไกลๆ แต่ก็ยังคงมีที่ประจำเป็นธนาคาร ซึ่งช่วงนี้ดีหน่อย รัฐบาลออกมาตราการเยียวยาออกมาหลายอย่าง หลายคนก็ต้องมาทำเรื่องกันที่ธนาคาร แล้วก็ขับไปขายตามซอยต่างๆ ก็ยังพอทำให้มีรายได้อยู่บ้าง การออกมาขายน้ำปั้นนี้ ก็เป็นการเริ่มต้นใหม่ของพี่นะ เพราะตอนทำงานในรีสอร์ตเราทำงานเป็นต้อนรับ ก็ไม่ได้มีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน ก็มาเริ่มใหม่ทั้งนั้นเลย มานั่งกะนั่งตวงกันเอาเอง ถูกใจลูกค้าก็เอาอย่างนี้แหละ ไม่ได้มีหลักมีการอะไร
"แล้วพี่ไม่ไปลองเลือกทำอย่างอื่นๆที่ดูมั่นคงบ้างเหรอครับ..."
"งานที่มั่งคงเหรอมันคงจะหาได้ยากแหละ ในสถานการณ์แบบนี้ แต่ตอนที่รีสอร์ตปิดใหม่ๆ ทางภาครัฐเขาก็เข้ามาช่วยเหลือนะ แบบก็ให้ไปทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวในอำเภอ แต่เขาก็ไม่ได้รับทั้งหมดหรอก เขาก็มีเกณฑ์ในการรับ ต้องเอาคนที่ต้องจบปริญญาตรีขึ้นไป ..พี่ไม่ได้จบอะไรมาเลย พี่ก็ไปทำไม่ได้..ก็เลยมาหาอย่างอื่นๆทำเอา"
นี้เป็นเพียงแค่หนึ่งเรื่องราวของลูกจ้างที่ผู้เขียนจะสามารถสอบถามได้เท่านั้น ยังคงมีลูกจ้างอีกมากมาย ที่ยังคงรอคอยการกลับมาของการท่องเที่ยว หรือเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มิได้เพียงแค่พวกเขาจะกลับไปทำงานเพื่อจะมีรายได้มาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตัวเองเท่านั้น ยังจะทำให้คนที่พวกเขาดูแลอยู่ก็ยังคงมีชีวิตรอดต่อไปได้ด้วย
ซึ่งผู้เขียนอยากจะชี้ให้เห็นว่า ยังมีรีสอร์ตเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ไม่ใช่แค่โรงแรมที่เราเห็นทั่วไปในสื่อต่างๆ ซึ่งรีสอร์ตเล็กๆเหล่านี้มีความสำคัญมากเพราะส่วนใหญ่จะเป็นรีสอร์ตที่ชาวบ้านในพื้นที่นั้นๆ ทำกันขึ้นมาเอง ทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ตัวชาวบ้านได้โดยตรง และรีสอร์ตเหล่านี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการพักผ่อนที่จะได้สัมผัสวิถีชีวิตแบบชาวบ้านด้วย
บทสรุปสุดท้ายของการกลับมาฟื้นตัวของธุรกิจรีสอร์ตโรงแรมกับสถาวะคลาดแคลนแรงงาน
“สองปีที่ผ่านมาธุรกิจทุกภาคส่วนถูกกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะ SME ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก กิจการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม สายการบิน ร้านอาหาร ขาดรายได้ ตัดค่าใช้จ่าย ลดเงินเดือนพนักงาน ภาระหนี้สินพอกพูน ขาดสภาพคล่อง จนในที่สุดต้องปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก
ในจำนวนคนที่ถูกเลิกจ้าง มีพนักงานเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น บาริสต้า ช่างซ่อมรถ เชฟห้องอาหาร ดีเจ สจ๊วตสายการบิน ต้องถูกให้ออกไปอย่างน่าเสียดาย บุคลากรเหล่านี้ต้องใช้เวลามากมายในการฝึกฝน อบรม ทดลองทำจนเกิดความชำนาญ เกิดความสามารถพิเศษ เป็นพนักงานทรงคุณค่าของธุรกิจ พวกเขาต้องหาอาชีพใหม่ หรือกลับบ้านต่างจังหวัด ออกจากตลาดแรงงานไปอย่างไม่มีกำหนด” [4]
ข้อความนี้เป็นส่วนหนึ่งในบทความ "ทำไมคนลาออกหลังโควิด" ของกรุงเทพธุรกิจ ทำให้เห็นว่าหลายธุรกิจต้องขาดแรงงานออกไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งเหตุการณ์นี้เห็นได้อย่างชัดเจนหลังจากที่ประกาศเปิดประเทศ รับชาวต่างชาติเริ่มคลายล็อกดาวน์ เริ่มมีการกระตุ้นการท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจโรมแรมรีสอร์ตต่างๆหรือธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง แต่กลับไม่มีแรงงานพอที่จะรับกับการท่องเที่ยวได้ จนเกิดศึกชิงแรงงานกันเป็นจำนวนมาก ถึงกลับยอมจ่ายค่าจ้างวันละ 700-800 บาท [5] ที่เป็นเช่นนี้เพราะแรงงานส่วนมากก็ยังคงอยู่ต่างจังหวัด และยังคงไม่แน่ใจว่ากลับมาแล้วจะเกิดการระบาดอีกรอบไหม และบางคนก็ยังได้รับวัคซีนไม่ครบตามที่กำหนด และปัญหาคลาดแคลนแรงงานนี้ก็นำไปสู่การเข้ามาของแรงงานผิดกฎหมายด้วย [6] ซึ่งทั้งหมดนี้ก็น่าตั้งคำถามกลับไปว่า ในช่วงการระบาดของโควิดยังไม่หนักมาก ถ้ามีการเยียวยาที่ดีให้กับภาคธุรกิจการท่องเที่ยว และเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพได้ หลังจากการเปิดประเทศแล้วธุรกิจการท่องเที่ยวน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วและรองรับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ทั้งยังสามารถสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศอีกเป็นจำนวนมากด้วย.
เชิงอรรถ
[1] BrandAge Online.(2563).ปิดโรงแรมเถอะ ผู้ประกอบการขอร้อง เข้าถึงเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2564 เข้าถึง ได้จาก https://www.brandage.com/article/17963/Hotel
[2] The Bangkok Insight.(2563). โรงแรม กับผลกระทบมหาศาลจากโควิด-19 แต่ยังไร้การเยียวยา เข้าถึง เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2564 เข้าถึงได้จาก https://www.thebangkokinsight.com/news/business/328801/
[3] Painaidii.(2562).ที่เที่ยวสมุทรสงคราม : 10 ที่เที่ยวเมืองต้องห้ามพลาดสมุทรสงคราม เมืองสายน้ำสาม เวลา เข้าถึงเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2564 เข้าถึงได้จาก http://www.painaidii.com/diary/diary- detail/001681/lang/th/
[4] กรุงเทพธุรกิจ.(2564).ทำไมคนลาออกหลังโควิด เข้าถึงเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2564 เข้าถึงได้จาก https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/9704235
[5] TNN Online.(2564).ขาดแคลนแรงงานวิกฤตหลังเปิดประเทศ เข้าถึงเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2564 เข้าถึงได้ จาก https://www.youtube.com/watch?v=0DB5MU6ZR9U
[6] เดลินิวส์.(2564).จับตาวิกฤติแรงงานต่างด้าวขาด 5 แสนราย หวั่นเปิดช่องทุจริตแรงงานเถื่อนทะลัก เข้าถึงเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2564 เข้าถึงได้จาก https://www.dailynews.co.th/news/454985/
Comments