นครคน - เมืองลิง ในวิกฤตโควิด
อัปเดตเมื่อ 2 ธ.ค. 2564
โดย ...เทเลทับบี้วิ่งในวัด....
#คิดอย่างเจอนัล นักหัดเขียน ss.2
“ผู้ไร้เสียงในสถานการณ์ COVID”
เมื่อพูดถึงจังหวัดลพบุรี คนจะนึกถึงลิง จนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดไปเสียแล้ว ไม่ว่าจะจุดขายด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ ความเชื่อว่าลิงลพบุรี เป็นลูกของเจ้าพ่อพระกาฬบ้าง เป็นสมุนบริวารของหนุมานบ้าง และลิงลพบุรีก็มีเสน่ห์มากพอที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก หลั่งไหลมารวมตัวกันที่สถานีรถไฟลพบุรี หรือเมื่อเดินเลียบตลาดลพบุรีไปตามถนนแล้ว จะพบแลนมาร์คอย่างพระปรางค์สามยอดที่เป็นจุดถ่ายรูป เช็คอินสำคัญของบรรดานักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมเมืองเก่าในจังหวัดลพบุรีแห่งนี้ ซึ่งแน่นอนเจ้าถิ่นอย่างลิงลพบุรีก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ส่งผลให้มีรายได้หลั่งไหลเข้ามามหาศาล ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าลิงลพบุรีมีส่วนร่วม และช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไม่น้อยเลยทีเดียว
เมื่อเวลาผ่านไป แน่นอนการเพิ่มขึ้นของประชากรที่มากขึ้นไม่เพียงแต่คนเท่านั้น ลิงเองก็เช่นกัน ร่วมถึงการเข้ามาของเทคโนโลยี บริบททางสังคมใหม่ๆ และการมาเยือนของโรคระบาดที่รู้จักกันในนามของ “โควิด19 ” ส่งผลกระทบมาถึงความขัดแย้งมากมาย สภาพตัวเมืองที่ซบเซา ร้านค้าตามตลาดปิดตัวลง ลิงขาดแคลนอาหาร คนขาดรายได้ ตัวเมืองเก่าจังหวัดลพบุรีจึงเป็นพื้นที่ของสงครามระหว่างปัญหาคนกับลิง ทั้งคนในพื้นที่ พ่อค้า แม่ค้า ซึ่งต่างก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน เกิดเป็นพื้นที่ทับซ้อนของปัญหามากมาย ตั้งแต่ความเชื่อ ความศรัทธา พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ การใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างไม่ลงตัว นำมาซึ่งบาดแผลบอบช้ำทางกายและใจทั้ง 2 ฝ่าย ดังก้องอยู่ในหูของชาวเมืองที่ได้ยินกันทุกวันจนเป็นภาพชินตา ผู้คนในพื้นที่ตัวเมืองเก่ากำลังเร่าร้อนใจ พวกเขาพยายามลุกขึ้นมาทำสิ่งต่างๆ ตามเท่าที่กำลังของตัวเองจะมี ไม่ว่าจะเรียกร้องไปทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือการอุทิศตัวเองในการแก้ไขปัญหาลิง เพื่อให้พื้นที่หน้าบ้านของพวกเขามีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่เหมือนปัญหาเหล่านี้ยังไม่ถูกคิด และการจัดการที่ถูกต้องอย่างเป็นระบบ พวกเขาเริ่มเหนื่อย และเคยชินกับความเป็นอยู่ของตัวเอง จนอาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ โบราณสถานที่เคยสวยงามแห่งนี้ เริ่มเป็นพื้นไร้เสียง อย่างเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว
“ที่แถวนี้มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์เลยนะ และความเจริญมันก็ค่อยๆไล่ไป ที่นี่คือถิ่นของเค้า(ลิง)มาก่อน” เสียงจากป้าอ๋อยเจ้าของอะไหล่ร้านชโยวานิช กล่าวในรายการมหึหมา (Gluta Story) ตอนที่ 88
ผู้สัมภาษณ์ “ เหมือนเราบุกรุกลิงอีกทีนึงใช่ไหมครับ”
ป้าอ๋อย “ ใช่แล้ว ”
ด้วยความเชื่อ และการปรับตัวเข้ากับสัตว์ป่าเหล่านี้ จึงมีคนพื้นที่อยู่จำนวนมาก ที่ยังศรัทธา เคารพรัก และเลี้ยงดูเหมือนลูกหลาน ลิงสร้างความสุขใจให้ป้าอ๋อย ป้าอ๋อยสร้างความปลอดภัยให้ลิง โดยใช้พื้นที่หน้าร้านให้กับลิง เป็นที่นอน ให้อาหาร และบ้าน เชื่อว่านักท่องเที่ยวหลายคนที่เดินทางมาเยี่ยม ยังหลงใหลในเสน่ห์ ของเมืองที่มีลิงรายล้อมพระปรางค์สามยอดและศาลพระกาฬ ดั่งที่เห็นในรูปถ่ายตามอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดียต่างๆ ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้เศรษฐกิจในจังหวัดลพบุรี มีรายได้หลั่งไหลเข้ามามากโขทีเดียว
ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ของทุกๆปี จะมีการจัดงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ที่เต็มไปด้วยความคึกคัก มีขบวนพาเหรดการแต่งชุดไทยสมัยก่อน ตั้งแต่หน้าพระปรางค์สามยอดเดินเรียบถนนไปจนถึงพระนารายณ์ราชนิเวศน์ที่อยู่ด้านใน หรือที่ชาวเมืองลพบุรีเรียกขานกันว่า “งานวังนารายณ์ ” การใช้เงินพดด้วงในการจับจ่ายใช้สอยในตัวงาน รวมถึงเวทีแสดงแสงสีเสียง มีการแสดงช่วงตอนของรามเกียรติ์ ฉบับสั้นๆที่พูดถึงหนุมานได้มาลงหลักปักฐานที่นี่ หรือแม้กระทั่งเทศกาลโต๊ะจีนลิง ที่เป็นไปอย่างครื้นเครง นักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติให้ความสนใจเป็นอย่างมาก คนลพบุรีเองก็จะใช้ส่วนนี้เป็นจุดขายสร้างรายได้สู่ชุมชนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการนำโลโก้มาติดบนแพ็คเก็จ ที่มีรูปการ์ตูนลิงน่ารักๆ อยู่ด้วยเสมอ ตราที่ติดบนถุงขนม สติ๊กเกอร์ข้างรถขนส่งโดยสาร เสาไฟตามท้องถนน จนเป็นที่น่าจดจำ และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลพบุรีก็ว่าได้
ถึงแม้ว่าจะมีกลุ่มคนไม่น้อยเลยที่รักและศรัทธาสัตว์ป่าที่มีชีวิตและอยู่คู่บ้านคู่เมืองมาแต่ยาวนาน แต่ก็มีกลุ่มคนอีกหลายกลุ่มเช่นกัน ที่พบเจอปัญหามากมายในชีวิตประจำวันเมื่อต้องอยู่ร่วมพื้นที่เดียวกับลิง จนมีข้อถกเถียงเรียกร้องให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาเร่งแก้ไข แต่เหมือนจะไม่ได้เสียงตอบรับที่มากพอ เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของจังหวัดลพบุรี ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
“ โอ้...ถ้าถามผมมีปัญหาเยอะแยะเลยครับตั้งแต่งัดรถ หรือเค้าเห็นรถเนี่ยเค้าก็จะปีนขึ้นมาแล้ว อย่างคิ้วรถ หูช้างเนี่ยพังไม่เหลือ หรือเราเดินถือของมามันก็เดินมาละ พวกลิงขโมยมันจะเอา นึกว่าเป็นของกิน เช่น แว่นบ้าง กระเป๋าบ้าง อย่าให้มันเห็นเชียว ” ช่างจิต (นามสมมุติ) กล่าวกับผู้เขียนตอนนั่งไขว่ห้างอยู่บนมอเตอร์ไซต์ หน้าร้านจำหน่ายอุปกรณ์รถยนต์
“ทุกวันนี้มีประมาณ 10,000 ตัว ให้กรมป่าไม้หรือเทศบาลมาจับ เอากรงใหญ่ๆ เนี่ยแหละ มาวางโยนผลไม้ลงไปก็จับได้แค่ 300 ตัว เอาไปทำหมัน หลังๆ เริ่มจับไม่ได้ มันรู้ มันฉลาดนะ ส่งเสียงเรียกเตือนพวกพ้องของมัน มันไม่เข้าหรอก” ช่างจิต (นามสมมุติ) กล่าวเสริม
“3 ก๊ก 10 แก๊ง”
เมื่อผู้เขียนกลับมาดูข้อมูลจริงๆ แล้ว การบริหารจัดการลิงลพบุรีปี 2561 ได้บอกไว้ว่า ประชากรลิงในจังหวัดลพบุรีมี 11,281 ตัว อาศัยอยู่ในเขตตัวเมืองเก่า (บริเวณศาลพระกาฬและพระปรางค์สามยอด) 3,500 ตัว, อำเภอเมืองลพบุรี 1,630 ตัว และตามอำเภอต่างๆ เช่น บ้านหมี่ ชัยบาดาล ท่าวุ้ง ลำสนธิ กระจายกันออกไป พื้นที่ละพันกว่าตัว ในส่วน 3,500 ตัวนี้จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ฝูงแรกเป็นฝูงลิงหน้าศาลพระกาฬ (ลิงพระกาฬ) และพระปรางค์สามยอด นับว่าเป็นฝูงเดียวกัน เนื่องจากพวกมันจะมาอาศัยอยู่หน้าศาลพระกาฬในช่วงเวลากลางวัน
เพื่อรออาหารจากคนที่มาไหว้เจ้าพ่อพระกาฬหรือนำของมาแก้บน หลังจากไหว้เสร็จ อาหารที่ถูกนำมาก็จัดสรรให้ลิงบริเวณนั้นได้กิน เมื่อตกกลางคืนฝูงของมันจะกลับไปนอนที่พระปรางค์สามยอดซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม ตามซอกหินศิลาแลงบ้าง ในตัวพระปรางค์บ้าง เพราะมีความเงียบกว่า และไม่มีคนมารบกวน
ต่อมาเป็นอีกฝูงที่เรียกว่า ลิงตึก อยู่ตามตึกบ้านเรือนประชาชนและส่วนใหญ่ที่บริเวณหน้าร้านชโยวานิช ลิงฝูงนี้จะอดอยากมากกว่าฝูงลิงหน้าศาลในกลุ่มแรก แต่ยังพอมีกินอยู่บ้าง กลุ่มลิงฝูงสุดท้ายคือ ลิงโรงเรียน ที่ชื่อลิงโรงเรียนนั้นมาจากตอนแรกฝูงของพวกมันอยู่ที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย เป็นโรงเรียนมัธยมชื่อดังประจำหวัด ต่อมาด้วยปัจจัยหลายๆเหตุ ทำให้ลิงฝูงนี้ย้ายไปอยู่ที่บริเวณ “โรงหนังมาลัยรามา” ที่บริเวณโรงหนังแห่งนี้ที่เคยเป็นศูนย์กลางการค้ามาก่อน แต่เมื่อความเจริญแพร่ขยายออกไปโรงหนังจึงปิดตัวลง
ด้วยความรกร้างมาอย่างยาวนาน ผนวกกับตัวอาคารที่เริ่มผุพัง จึงนำมาสู่ที่อยู่ของลิงตึกฝูงนี้ เป็นบ้าน เป็นสังคม เป็นเครือข่าย จนเรียกกันต่อๆ มาว่า “ลิงโรงหนังมาลัยรามา” ซึ่งลิงฝูงนี้เมื่อเทียบกับลิงพระกาฬ หรือลิงตึกหน้าร้านชโยวานิชแล้วถือว่าเป็นฝูงที่ยากไร้มากที่สุด พวกมันหาข้าวกินจากเศษของเหลือ จากชาวบ้านที่นำมาทิ้ง หาน้ำกินจากคลองระบายน้ำตามบ้านเรือน หรือตามหลุมถนนที่น้ำท่วมขังจากฝนตก ถ้าวันใดที่ฝูงลิงอดอยากหิวโหยมากๆ มันจะเริ่มรื้อหน้าต่าง ประตูบ้าน หลังคาสังกะสี ลูกกรงเข้าไปรบกวนชาวบ้านละแวกนั้น จนเกิดความรำคาญ น่ารังเกียจ และความหวาดกลัวของคนท้องที่ นำมาสู่บาดแผลต่างๆ ทั้งทางกายและใจ
ท่ามกลางสถานการณ์โควิดระบาด ร้านค้าค้าต่างๆ ทยอยปิดตัวลง รวมถึงศาลพระกาฬที่ปิดไม่ให้คนขึ้นไปกราบไหว้ไปตั้งแต่เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2564 บริเวณหน้าศาลเงียบร้าง ไร้นักท่องเที่ยว มีเพียงรถสัญจรบ้างสำหรับผู้ติดต่อธุระจำเป็น ลพบุรีกลายเป็นเมืองวานรอย่างแท้จริง และไม่เพียงแต่คนเท่านั้นที่อดอยาก หิวโหย ต้องการความปลอดภัย สังคมของลิงเองก็เช่นกัน ถ้าว่าถึงสังคมชนชั้นลิงพระกาฬ หรือลิงบริเวณร้านชโยวานิช ยังมีคนนำอาหารไปให้ในช่วงเวลาต่างๆ ลิงจึงอยู่บริเวณจุดส่งอาหาร ไม่รบกวนพื้นที่ของชาวบ้านมากนัก แต่เมื่อมองเข้าไปถึงลิงตึกที่ถูกขับไล่ออกจากฝูง ลิงโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่บริเวณโรงหนังมาลัยรามา แน่นอนว่าพวกมันอดอยากมาก ถ้าเทียบกันแล้วเหมือนคนจน มีสถานะยากไร้ ไร้ที่อยู่ ไร้ความปลอดภัย และลิงที่ถูกขับไล่ออกจากฝูงไม่เพียงแต่อยู่บริเวณหน้าโรงหนังมาลัยรามาเท่านั้นในปัจจุบัน ยังมีฝูงลิงที่แตกออกมาอีกหลายจุดมากทีเดียว โดยจุดที่ผู้เขียนได้ทราบข้อมูลการเพิ่มจำนวนประชากรของลิงที่แตกฝูงกลุ่มหลักๆ คือ บริเวณตลาดเทศบาล เป็นต้น
ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับลุงประเสริฐ (นามสมมติ) ซึ่งเป็นคนทำงานในมูลนิธิให้อาหารลิง จึงพบว่าลิงลพบุรีแต่เดิมมี 3 กลุ่ม ดังที่กล่าวไปข้างต้น (ลิงศาลพระกาฬ, ลิงตึก, ลิงโรงหนังมาลัยรามา) แต่แบ่งเป็นกลุ่มย่อย 10 กลุ่ม ที่ลุงประเสริฐ (นามสมมติ) เรียกว่า “ 3 ก๊ก 10 แก๊ง “ แต่ในช่วงหลังที่มีการระบาดของโรคโควิด - 19 ทำให้ลิงแตกออกเป็น 3 ก๊ก 20 แก๊ง ด้วยกัน โดยใน 1 แก๊ง จะมีตั้งแต่ระดับ 10 - 20 ตัว มีหัวหน้าจ่าฝูง 1 ตัว แบ่งเป็นตัวผู้ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ตัวเมีย 60 เปอร์เซ็นต์ ตัวผู้ 1 ตัว มีตัวเมียเป็นบริวาร 4-5 ตัว นับได้ว่านี่เป็นการสร้างอาณาจักรใหม่ของพวกมันแล้ว
“วิถีชีวิตวานร ลิงจรลพบุรี”
เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น แหล่งอาหารและที่อยู่จึงเป็นปัจจัยแรกๆ ในการมองหาของสิ่งมีชีวิต เศษอาหารเหลือๆ จากแม่ค้าขายผลไม้ เศษผักจากตลาด ของเหลือจากซุปเปอร์มาเก็ต ทำให้บริเวณตลาดเทศบาลสามารถตอบโจทย์พวกมันได้เป็นอย่างดี พื้นที่ตรงนี้เป็นแหล่งอาหารที่มีมากพอจะเลี้ยงครอบครัวของพวกมันได้ การครอบครองพื้นที่ส่วนนี้ที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน
“ ลิงกลุ่มนี้ที่มาตลาดเทศบาลเนี่ย เป็นลิงกลุ่มมูลนิธิสามัคคีสงเคราะห์ ซึ่งหลังมูลนิธิเป็นบ้านรกร้าง อยู่หลังร้านชโยวานิชอีกทีหนึ่ง เมื่อก่อนเป็นชุมชนใหญ่ ที่อยู่อาศัย แต่ปัจจุบันคนออกไปเยอะลิงเลยมาอาศัยอยู่แทน”
ลุงประเสริฐกล่าว
และถ้าถามว่าลิงตึกกลุ่มนี้ มีชีวิตความอยู่เป็นไรนั้นผู้เขียนขอเล่าว่า เมื่อช่วง 2 ปีก่อน มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ชอบเดินสำรวจ ก็จะแวะเวียนมาให้อาหารตามจุดให้อาหารบ้าง หรือถ่ายรูป เล่นกับพวกมันบ้างในบ้างครั้งคราว ลิงตึกจึงไม่แตกฝูงมานัก รวมถึงบริเวณโรงหนังมาลัยรามาจะมีนักท่องเที่ยว ศิลปิน นักข่าว รายการวาไรตี้ต่างๆ เข้าไปทำสตอรี่เรื่องราวของลิงกลุ่มนี้อยู่บ้าง เช่น ศิลปิน Paul Barton (Piano for Macaques in abandon cinema) ได้เข้ามาเล่นเปียโนให้ลิงฟัง ทำให้ลิงกลุ่มนี้เกิดความผ่อนคลายพอจะมีอาหารกิน จนกระทั่งเกิดสถานะการณ์โควิดระบาดขึ้น พื้นที่สีแดงเข้มอย่างจังหวัดลพบุรี มีการสั่งห้ามเดินทาง แน่นอนว่าไม่มีใครสามารถเข้าถึงได้ รวมถึงคนในพื้นที่บางส่วนที่มีข้อกังขา และไม่ชอบลิงเป็นทุนเดิม เพราะต่างหวาดกลัว จากทั้งโรคระบาด และรอยแผลทางใจที่เกิดจากลิงมาแต่ก่อน จึงไม่มีใครกล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยว ทั้งบริเวณโรงหนัง และบริเวณที่เพิ่มเข้ามาอย่างตลาดเทศบาล ดังนั้นพวกมันจึงต้องออกหาอาหาร เพื่อความอยู่รอด ออกอาละวาดตามบ้านเรือน รื้อตะแกรงเหล็ก รื้อหลังคา รั้วลวดหนาม หน้าต่างบ้าน ส่งลูกๆของพวกมันเข้าไปตามซอกบ้านเพื่อหาอาหารจากบ้านคน รบกวนพื้นที่ผู้คน ทั้งกลางวันและกลางคืน เกิดความโกลาหลวุ่นวายตามบ้านเรือน จนแม่ค้าร้านขายของแผงลอยต่างๆ ต้องคอยถือไม้ไล่ตลอดเวลา จากลิงบนตึกคอยจ้องขโมยอาหารตามร้านค้า ซ้ำยังไม่มีนักท่องเที่ยวมาเดินซื้อจับจ่ายใช้สอยอีกด้วย หรือกระทั้งในช่วงขาดแคลนอาหารมากๆ พวกมันจะหาแมลงกินตามเสาไฟ กินน้ำจากท่อแอร์ตามบ้าน และบางทีพวกมันก็ถูกเสาไฟฟ้าซ๊อตลงมาตาย อุจาระตามชายคาและหลังคาบ้าน ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว
“ลิงมันไม่มาแย่งผลไม้บ้างหรอป้า” ผู้เขียนที่กำลังหยิบเงาะขึ้นมาใส่ถุง เกิดสงสัยขึ้นระหว่างซื้อผลไม้ที่ร้านป้าละเอียด (นามสมมติ) ร้านขายผลไม้หน้าตลาดเทศบาลลพบุรี ที่พึงปิดตัวลงไม่นาน เนื่องจากพบคลัสเตอร์ใหม่ของการระบาดโควิด19
ป้าละเอียด : “โอ้ยย คอยถือไม้ไล่ตลอด บางทีไล่แล้วยังไม่ไปเลย มันดื้อ ดีนะมี 2 คนไม่งั้นไม่ทัน ที่มันชอบๆ คือ ทุเรียนกับมังคุดนี่ชอบมาก เดี๋ยวเราเก็บร้านมันก็มาละเนี่ยเต็มไปหมด” เสียงจากแม่ค้าตามตลาดเทศบาล ซึ่งเมื่อผู้เขียนถามขึ้น มักจะได้คำตอบที่คนลพบุรีทั่วไปสามารถรับรู้ได้ โดยแทบไม่ต้องบอกเล่ากันเลย
ลิงบนถนนสาย 1
เมื่อผู้เขียนได้พูดคุยกับลุงประเสริฐในช่วงต่อมาจึงพบว่า ลิงตึกกลุ่มนี้อาศัยบริเวณบ้านลุงประเสริฐเกือบทั้งหมด และเนื่องจากฝูงของลิงเริ่มใหญ่ขึ้น ทำให้มีการแยกพวกเป็นบริเวณถนนพระยากำจัด (เดิมชื่อถนนสาย 1) และซอยราชดำเนิน (ถนนสาย 2) มีการทะเลาะกันบ่อยครั้ง และลิงที่รุกล้ำเข้าบริเวณตึก มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้พื้นที่ตั้งแต่ชั้น 2 ขึ้นไป ในตึกแถวหลายๆหลัง พบว่ามีครอบครัวของลิงฝูงใหม่อาศัยอยู่ และพวกมันจะไม่กล้าลงมาบริเวณชั้นล่างในช่วงกลางวันมากนัก เนื่องจากเป็นร้านค้าของคนผู้มาเช่าทำกิจการ ซึ่งการมาครอบครองพื้นที่ที่เพิ่มมากขึ้นในส่วนนี้ เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวและลิงได้อาหารน้อยลงมากตั้งแต่เริ่มเกิดโควิด อาหารไม่เพียงพอ พวกมันจึงต้องหาที่อยู่ใหม่ จนกระทั่งการระบาดรอบสาม บริเวณศาลพระกาฬปิด ส่งผลกระทบซ้ำสองต่อคนในพื้นที่ เพราะนำมาซึ่งเชื้อโรคต่างๆจากลิงสู่คน ที่นอกจจากจะต้องกลัวโรคระบาดอย่างโควิดแล้ว ยังต้องคอยระวังโรคที่มาจากลิงด้วยเช่นกัน เช่น พิษสุนัขบ้า HIV ฝีดาษวานร ฯลฯ สร้างความกังวลใจให้คนในพื้นที่เป็นอย่างมาก หรือกระทั่ง พวกมันทะเลาะกันเองแย่งอาหารเนื่องจากขาดแคลน ออกมาอาละวาดตามท้องถนน สร้างความหวาดกลัว รำคาญแก่คนในพื้นที่ รวมถึงปัญหาจราจรติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วนอีกด้วย
“ตีกันทุกวัน มาดูได้ บ้านลุงเนี่ยพังหมดเลย และก็เดินวนกินน้ำอยู่ทางด้านหลังบ้านลุง ในช่วงเช้าๆ พอบ่ายๆ ก็กลับมาเดินวนมากินน้ำอีกทีนึง เพราะบ้านลุงเป็นบ้านเดียวที่มีแหล่งน้ำกินในระแวกนี้ ” ลุงประเสริฐกล่าว
เสียงสะท้อนออกผ่านสื่อต่างๆ มากมาย เหมือนยังคงดังก้องอยู่ตลอดเวลา ในใจลึกๆ ของคนจังหวัดลพบุรี ทั้งช่างจิต ป้าละเอียด ลุงประเสริฐนคนในมูลนิธิให้อาหารลิง และตัวผู้เขียนเองด้วย ตั้งแต่คำพูดปากต่อปาก จากประสบการณ์โดยตรง ภาพจำที่ได้เห็นทุกวันจนเคยชิน ร่วมถึงการมาเยือนของสำนักข่าวต่างๆ จนนำไปสู่การพยายามหาทางแก้ปัญหา ตั้งแต่การจับทำหมันประชากรลิง หรือโครงการสวนลิงลพบุรี ณ ตำบลโพธ์เก้าต้น, โครงการนิคมอุสาหกรรมลิงเขาพยาเดินทง จำนวน 2 พันไร่ ที่ใช้ทุนมากถึงหนึ่งพันล้านบาท แต่ส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งไว้ เนื่องจากปัญหาในหลายๆด้าน ทั้งความขัดแย้งของคนด้วยกันเอง และพื้นที่บางโครงการไม่เพียงพอที่จะรองรับประชากรลิงในตัวเมือง
ลุงประเสริฐเป็นตัวอย่างของคนในพื้นที่ ที่เจอความขัดแย้งและปัญหาของการใช้พื้นที่ระหว่างคนกับลิงเช่นกัน เขาอาศัยอยู่ร่วมกับลิงมาเป็นเวลาถึง 65 ปีแล้ว ลุงประเสริฐพยายามเข้าใจในธรรมชาติ บริบทของพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ซึ่งลุงประเสริฐได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เมื่อครั้งที่ลุงเคยเป็นกรรมการมูลนิธิสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย
ลุงประเสริฐได้เบิกเงินประมาณ เดือนละหมื่นกว่าบาท มาซื้อรถเข็นบรรทุกอาหารลิง ส่งอาหารให้ตามจุดต่างๆ ที่ให้อาหารได้ และมีรถเข็นคอยตามเก็บกวาดหลังการให้อาหารอยู่ตลอด ในส่วนนี้ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นโมเดลต้นแบบเล็กๆ ของความคิดคนในพื้นที่ที่อยู่ร่วมกับลิง เข้าใจบริบทของพื้นที่ที่พวกเขาสามารถจะทำได้ ตามกำลังที่ตัวเองมี เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือผู้มีอำนาจได้รับรู้ แต่เหมือนพวกเขาจะไม่ได้รับเสียงตอบรับ หรือการแก้ไขตรงจุดมากเท่าที่ควร
พื้นที่ (ลิง) ผู้ไร้เสียง
ในมุมมองของผู้เขียนแล้วคิดว่า เป็นความจริงที่ลิงรุกล้ำพื้นที่คน มานานหลายปี โดยเฉพาะในช่วงในการระบาดของโรคโควิด - 19 ที่เป็นปัญหาความขัดแย้งที่ซ้ำเติมพื้นที่เดิมมากกว่าเมื่อก่อน และถ้าจะให้ผู้เขียนสอบถามลิงว่าควรแก้ไขอย่างไรนั้น ลิงอาจจะตอบไม่ได้ หรือถ้าพวกมันตอบได้ก็อาจจะกล่าวได้ว่า “สำหรับปัญหาของคนที่มีต่อลิงนั้นมีมากมายหลายอย่าง ช่วยย้ายคนออกไปที ตอนนี้มีคนมากเกินความจำเป็นกับพวกมันแล้ว ทำหมันคนหรือฆ่าตัดตอนก็รีบทำเลย ช่วยจัดการกับการเพิ่มประชากรคนให้หน่อย พื้นที่นี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของพวกมันมาแต่ก่อน คนสร้างปัญหามากและตอนนี้คนบุกรุกที่ของมันมากขึ้นทุกวัน ทุกปี ” แต่ลิงไม่อาจทำแบบสอบถามนี้และตอบเราได้ ลิงลพบุรีจึงเหมือนเป็นจำเลย ถูกคนลพบุรีส่วนใหญ่กล่าวหาความผิดอย่างเลี่ยงไม่ได้
และผู้เขียนเชื่อว่าลิงยังคงเป็นลิง เป็นสัตว์มีหาง จัดอยู่ในประเภทสัตว์เดรัจฉาน มีกระดูกสันหลังขนานกับพื้นโลก ลิงไม่รู้จักพัฒนา ลิงไม่รู้จักการจัดระเบียบสังคม ลิงไม่รู้จักสุขอนามัย และลิงไม่รู้จักเชื้อไวรัสโควิด - 19 ดังนั้นจะดีกว่าไหมถ้าเราจะยกบทบาทหน้าที่นี้ให้เป็นของคน ในการจัดการพื้นที่ให้ดีขึ้น สามารถส่งเสริมเศรษฐกิจตัวเมืองจังหวัดลพบุรี โดยไม่ลืมความเป็นอยู่ของคนในชุมชนที่จะพัฒนาได้ไปพร้อมกันๆ ฟื้นฟูสภาพหน้าบ้านของคนในพื้นที่ ร่วมถึงลดปัญหาความขัดแย้งการใช้พื้นระหว่างคนกับลิงให้ได้มากที่สุด ซึ่งผู้เขียนขอใช้พื้นที่บทความนี้ จะเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียง สะท้อนปัญหาที่ฝังรากลึกมานาน ของสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ พื้นที่ผู้ไร้เสียง ที่ขัดกับความเชื่อ ความศรัทธา สัญลักษณ์ รวมถึงสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน ให้ผู้มีสิทธิ มีอำนาจรับรู้หรือได้ยิน นำมาสู่การร่วมกันของหน่วยงานรัฐและเอกชน ที่มีอิทธิพลให้ลงมือแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังและตรงจุดตามเสียงเรียกร้องของคนในชุมชนเมืองเก่าเท่าที่บริบทจะเป็นไปได้
ผู้เขียนเชื่อว่าโบราณสถาน สถานที่สำคัญ ย่อมมีประวัติศาสตร์เรื่องราว เอกลักษณ์ของท้องที่และความสวยงามในตัวของมันเอง ให้ผู้มาเยี่ยมชมได้สัมผัส ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ ซึ่งผู้เขียนขอใช้คำว่า “Sense of Belonging” ถ้าขาดองค์ประกอบบางอย่างไปหรือมากเกินไปจนเกิดความเดือดร้อนไม่ส่วนใดก็ส่วนหนึ่ง พื้นที่โบราณสถานตรงนี้อาจจะไม่สวยงามเท่าที่ควรจะเป็น
รายการอ้างอิง
[1] มูลนิธิเพื่อลิงลพบุรี. (2556). ปัญหาของลิง เข้าถึงเมื่อ 7 พฤศจิกายน เข้าถึงได้จากhttp://www.lmflopburi.com/index.php.
[2] Thai PBS News. (2562). วานรป่วนเมือง เข้าถึงเมื่อ 7 พฤศจิกายน เข้าถึงได้จาก
https://www.youtube.com/watch?v=rkBw60Hs86o.
[3] Thai PBS News. (2562). สำรวจสวนลิงบ้านใหม่ เข้าถึงเมื่อ 7 พฤศจิกายน เข้าถึงได้จาก
https://www.youtube.com/watch?v=z7g_fc-As9k&t=76s.
[4] Thairath Online. (2557). ตามรอยลิงลพบุรี เข้าถึงเมื่อ 7 พฤศจิกายน เข้าถึงได้จาก
https://www.youtube.com/watch?v=Dyk6AYfiOwA.
[5] Thai PBS News. (2564). ยังไม่มีทางออก เมืองทับซ้อนคน-ลิง เข้าถึงเมื่อ 7 พฤศจิกายน เข้าถึงได้จาก
https://news.thaipbs.or.th/content/303088.
[6] โรม บุนนาค. (2563). เปิดตำนานลิงศาลพระกาฬมาจากไหน เข้าถึงเมื่อ 7 พฤศจิกายน เข้าถึงได้จาก
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000028077.
[7] Paul Barton. (2563). Piano for Wild Macaques in Temple เข้าถึงเมื่อ 7 พฤศจิกายน เข้าถึงได้จาก
https://www.youtube.com/watch?v=Ryqu2EVQ1a8.
Comments