#คิดเล่าข่าว: กิจกรรม “ห้องเรียนอนุรักษ์” ครั้งที่ 2
อัปเดตเมื่อ 6 ก.พ. 2565
อนุรักษ์สนทนา: กองทุนโบราณสถานโลกและโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม
KID Report: The 2nd “Conservation Classroom”
Dialogue: World Monuments Fund and
Wat Chaiwatthanaram Conservation Project
เรียกว่าได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดีสำหรับกิจกรรม “ห้องเรียนอนุรักษ์” ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ "อนุรักษ์สนทนา: กองทุนโบราณสถานโลกและโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม" ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา 116200 การอนุรักษ์โบราณสถานและแหล่งโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้รับผิดชอบรายวิชาคือ รศ. ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการจัดงานสัมมนาที่ช่วยตอบคำถามของใครหลายคนว่ากองทุนโบราณสถานโลกที่เป็นองค์กรระดับนานาชาตินั้นเข้ามาทำงานอนุรักษ์วัดไชยวัฒนารามที่ประเทศไทยได้อย่างไร และจะใช้ระยะเวลานานเท่าไรจนเสร็จสิ้นโครงการ การจัดกิจกรรมครั้งนี้ถือว่าเป็นการรวมบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนารามทั้งจากฝั่งกรมศิลปากร กองทุนโบราณสถานโลกและสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ใครที่พลาดเข้าร่วมฟังในวันนั้น คิดอย่างถือโอกาสนี้ นำเรื่องราวในงานสัมมนามาเล่าให้ทุกคนได้อ่านกัน รวมทั้งท่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยายได้ที่: https://drive.google.com/drive/folders/1ivOeV8WU5jcN739GgFAmQQ5hMfDoKfwk?usp=sharing
กิจกรรม “ห้องเรียนอนุรักษ์” ครั้งที่ 2
อนุรักษ์สนทนา: กองทุนโบราณสถานโลกและโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม
กล่าวต้อนรับ/ Welcome remarks
คุณเดบ มาร์ก
รองผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรมและการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา กรุงเทพฯ
Deb Mak
Assistant Cultural Attache, the U.S. Embassy Bangkok
คุณกัญชลี จิตต์แจ้ง
ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
Kanchalee Jitjaeng
Senior Cultural Affair Specialist, U.S. Embassy in Thailand
คุณสุกัญญา เบาเนิด
ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร
Sukanya Bao-Noed
Director of the 3rd Regional Office of the Arts Department, The Fine Arts Department
วิทยากร/ Speakers
คุณชญาดา สุวรัชชุพันธุ์ นักโบราณคดีชำนาญการ
สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร
Chayada Suwaratchupan
Archaeologist of Ayutthaya Historical Park, Ayutthaya, The Fine Arts Department
คุณวีระศักดิ์ แสนสะอาด นักโบราณคดีชำนาญการ
สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร
Veerasak Sansaard
Archaeologist of Ayutthaya Historical Park, Ayutthaya, The Fine Arts Department
คุณเจฟ อัลเลน
ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม กองทุนโบราณสถานโลก
Jeff Allen
Program Director Wat Chaiwatthanaram Conservation Project, World Monuments Fund
คุณโจเซฟิน ดิลลาริโอ
หัวหน้านักอนุรักษ์ โครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม กองทุนโบราณสถานโลก
Josephine D’Ilario
Chief Project Conservator,
Wat Chaiwatthanaram Conservation Project, World Monuments Fund
คุณอานันท์ วัฒนธรรม
นักศึกษาฝึกงานโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม กองทุนโบราณสถานโลก
Anan Wattanathum
Intern, Wat Chaiwatthanaram Conservation Project, World Monuments Fund
ดำเนินรายการ/ แปล
Moderator/ Translator
คุณวราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล
สถาปนิกและผู้จัดการโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม กองทุนโบราณสถานโลก
Waraporn Suwatchotikul
Project Architect and Manager
Wat Chaiwatthanaram Conservation Project, World Monuments Fund
กิจกรรมเริ่มจากคุณเดบ มาร์ก รองผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรมและการศึกษา จากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา กรุงเทพฯ ได้กล่าวต้อนรับคณะอาจารย์และนักศึกษาจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งบุคคลภายนอกที่เข้ามาร่วมรับฟังการบรรยาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้โครงการกองทุนเอกอัครราชทูตเพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมหรือที่เรียกกันสั้นๆว่า กองทุน AFCP ในฐานะที่กองทุนนี้ให้งบประมาณสนับสนุนการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนารามรวมทั้งกิจกรรมการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ กองทุน AFCP ถือเป็นกองทุนสำคัญในระดับโลกที่ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ทั้งแหล่งที่ตั้งทางวัฒนธรรมหรือแหล่งโบราณคดี ศิลปวัตถุรวมไปถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นนามธรรม ด้วยการสร้างบทบาทของการเป็นผู้นำและแสดงวิสัยทัศน์ของการพยายามที่จะอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมเอาไว้ และในปีนี้ก็ถือว่ามีความสำคัญเนื่องจากครบรอบ 10 ปีที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาภายใต้กองทุน AFCP ได้ร่วมมือกับกรมศิลปากร และกองทุนโบราณสถานโลก (World Monuments Fund) หรือ WMF ในการบรรเทาภัยพิบัติที่มีต่อโบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม จากมหาอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 โครงการดังกล่าวค่อยๆเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสถานทูตสหรัฐฯ สนับสนุนงบประมาณทั้งหมด 4 ครั้ง มูลค่ารวมมากกว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐผ่านกองทุนโบราณสถานโลก จากจุดเริ่มต้นของการดำเนินงานที่เป็นการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยที่วัดไชยวัฒนารามอย่างเร่งด่วนก็ค่อยๆเปลี่ยนผ่านไปสู่การมุ่งเน้นงานอนุรักษ์ต่อตัวโบราณสถาน เริ่มตั้งแต่เมรุทิศเมรุราย และระเบียงคดที่เชื่อมระหว่างองค์เมรุ ผลของความร่วมมือในโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนารามนี้ยังประโยชน์ให้กรมศิลปากรมีศักยภาพในการจัดเก็บข้อมูลงานอนุรักษ์ที่เป็นมาตรฐาน
คุณเดบ มาร์ก ยังกล่าวด้วยว่ารู้สึกยินดีที่ได้มาพูดคุยกับทุกคนแม้จะอยู่ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านการจัดงานสัมมนาออนไลน์ในครั้งนี้ และอยากเชิญชวนให้นักศึกษาที่เป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในอนาคต มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนารามรวมไปถึงมรดกทางวัฒนธรรมอื่นๆที่สำคัญของไทย ใครก็ตามที่มีความฝันต้องการที่จะมาทำงานด้านการอนุรักษ์ และต้องการที่จะไปศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกาก็สามารถติดตามข่าวสารและสอบถามข้อมูลได้ที่เฟสบุ้คของสถานทูตสหรัฐอเมริกา ทางสถานทูตยินดีให้คำปรึกษาและช่วยเหลือในการสานต่อความฝันนี้ สถานทูตสหรัฐฯ ลงหลักปักฐานในประเทศไทยอย่างลึกซึ้งจนมีความเคารพและเห็นคุณค่าวัฒนธรรมและมรดกทางภูมิปัญญาที่สำคัญของประเทศไทย
จากนั้นคุณกัญชลี จิตต์แจ้ง ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงานและระบุถึงความสำคัญของโครงการฝึกงานของวัดไชยวัฒนารามที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาทั้งปริญญาตรีและปริญญาโทในหลากหลายสาขาได้มีโอกาสเข้ามาฝึกปฏิบัติ ทดลองทำงานเป็นนักอนุรักษ์ที่วัดไชยวัฒนาราม และสิ่งที่พิเศษคือโครงการฝึกงานของวัดไชยวัฒนารามถือเป็นโครงการฝึกงานโครงการแรกของโลกที่อยู่ภายใต้กองทุน AFCP จึงอยากเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้ามาสมัครซึ่งโครงการจะเปิดรับนักศึกษาฝึกงานรุ่นที่ 2 ในปลายปี 2564 นี้
ลำดับต่อไปเป็นการกล่าวต้อนรับจากคุณสุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร โดยได้กล่าวถึงความยินดีที่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมห้องเรียนอนุรักษ์ครั้งที่ 2 ในฐานะที่กรมศิลปากรเป็นผู้ดูแลพื้นที่ และโครงการความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรกับกองทุนโบราณสถานโลกได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ถือเป็นโครงการความร่วมมือของสามองค์กรที่สำคัญ นอกจากนี้ยังกล่าวย้อนไปถึงเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 ซึ่งวัดไชยวัฒนารามได้รับผลกระทบและโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็ประสบปัญหาเรื่องความเสี่ยงและการอนุรักษ์ในพื้นที่ ในตอนนั้นก็มีการแสวงหาปรัชญาของการดำเนินงานอนุรักษ์ร่วมกัน รวมไปถึงเทคนิควิธีการและวัสดุ จึงเป็นที่มาของการหาแนวทางดังกล่าวที่ได้มาตรฐานจากนานาชาติ จึงมีโครงการร่วมมือกับนานาชาติในการอนุรักษ์มรดกโลกในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา การทำงานในครั้งนี้ จึงเป็นลักษณะของการทำงานร่วมกันคือมีการร่วมคิดร่วมตัดสินใจในการอนุรักษ์โบราณสถาน จากการระดมความคิดต่างๆจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เป็นการรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆที่วัดไชยวัฒนาราม ซึ่งจะมีประโยชน์ในการเผยแพร่ต่อนักเรียน นักศึกษาและผู้ที่สนใจ รวมทั้งยังเป็นที่ฝึกฝนนักอนุรักษ์ของกรมศิลปากรที่ได้เข้ามาทำงานร่วมกันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อกล่าวถึงวัดไชยวัฒนาราม เป็นที่ทราบดีว่ามีความสำคัญทั้งประวัติ ความเป็นมาและความโดดเด่นเชิงสถาปัตยกรรม รวมทั้งมีความครบถ้วนในด้านงานอนุรักษ์ คือประกอบไปด้วยงานอิฐ งานปูน งานไม้ งานจิตรกรรม รวมทั้งงานปูนปั้นซึ่งจะทำให้เราสามารถนำองค์ความรู้หรือฝีมือเชิงช่างต่างๆ เข้ามาฝึกฝน ปฏิบัติงานในพื้นที่ได้
เมื่อการกล่าวต้อนรับจากสถานทูตสหรัฐฯ และกรมศิลปากรเสร็จสิ้นแล้ว จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงที่วิทยากรได้บรรยายให้ความรู้กับนักศึกษาและบุคคลภายนอกที่สนใจเข้ามาร่วมฟัง เริ่มจากหัวข้อ “กรมศิลปากรและความร่วมมือกับองค์กรสากลในการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนารามและวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” โดยคุณชญาดา สุวรัชชุพันธุ์ และคุณวีระศักดิ์ แสนสะอาด นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร ในส่วนการบรรยายของคุณชญาดา สุวรัชชุพันธุ์นั้น เริ่มจากการอธิบายประวัติ ความเป็นมาของการก่อตั้งกรมศิลปากรว่า ก่อนปี 2454 ยังไม่มีหน่วยงานใดมีหน้าที่ในการดูแลมรดกทางวัฒนธรรมของไทยอย่างชัดเจน ปี 2456 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีการก่อตั้งกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 27 มีนาคมเพื่อจะดูแลในส่วนของกองช่างและงานพิพิธภัณฑ์เป็นหลัก
ต่อมามีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการในประเทศ ในปี 2469 กรมศิลปากรถูกยุบรวมกับราชบัณฑิตและดูแลด้านพิพิธภัณฑ์เป็นหลักในชื่อ ศิลปากรสถาน ต่อมาหลังช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง กรมศิลปากรก็ถูกจัดตั้งขึ้นอีกครั้งในปี 2476 จนกระทั่งปี 2501 กรมศิลปากรถูกโอนไปสังกัดกับกระทรวงศึกษาธิการ และย้ายมาสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมในปี 2545 สืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน
ในการแบ่งส่วนราชการของกรมศิลปากรนั้น มีอธิบดีกรมศิลปากรดำรงตำแหน่งสูงสุด มีรองอธิบดีกรมศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ระดับกรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมายมรดกทางศิลปวัฒนธรรม นอกจากนี้มีการแบ่งสำนักศิลปากร ปัจจุบันมีทั้งหมด 12 สำนัก สำหรับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ดูแลพื้นที่ทั้งหมด 5 จังหวัดคือ พระนครศรีอยุธยา นครนายก สระบุรี อ่างทองและสิงห์บุรี
บทบาทหน้าที่ของกรมศิลปากรมีดังนี้
ปกป้อง คุ้มครอง อนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ธำรงจารีตประเพณี พระราชพิธีและรัฐพิธี ให้คงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ
สืบทอด สร้างสรรค์ เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม
ปรับเปลี่ยนระบบและกลไกการบริหารจัดการมรดกศิลปวัฒนธรรม
บริหารจัดการองค์ความรู้ และพัฒนามรดกทางศิลปวัฒนธรรม ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว
จัดการศึกษาเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อการอนุรักษ์ สืบทอดและพัฒนาอย่างยั่งยืน
จากนั้นวิทยากรนำเข้าสู่ประเด็นเรื่องการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม ภายใต้ชื่อโครงการฟื้นฟูบูรณะวัดไชยวัฒนาราม ซึ่งมีสาเหตุมาจากมหาอุทกภัยในปี 2554 ทำให้องค์กรสากลต่างๆเข้ามาให้ความร่วมมือและช่วยเหลือในการทำงานร่วมกับกรมศิลปากร เริ่มจากทางสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยร่วมมือกับกองทุนโบราณสถานโลกเขียนโครงการเพื่อของบประมาณสนับสนุนการบูรณะฟื้นฟูวัดไชยวัฒนาราม โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2555 เรียกว่าเป็นระยะที่ 1 (พ.ศ. 2555 - พ.ศ. 2556) คือศึกษาโครงสร้างพื้นฐานของวัดไชยวัฒนาราม มีจุดประสงค์หลักเพื่อการป้องกันอุทกภัยและการระบายน้ำ ต่อมาในช่วงปี 2557 – ปัจจุบันเรียกว่าเป็นระยะที่ 2 และ 3 คือเน้นการอนุรักษ์โบราณสถานเป็นส่วนใหญ่ รวมไปถึงการบันทึกข้อมูลการอนุรักษ์ มีการสำรวจสภาพทั่วไป การศึกษาวัสดุดั้งเดิมเพื่อวางแผนการอนุรักษ์
แนวทางการดำเนินงานนั้นทางกรมศิลปากรได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับกองทุนโบราณสถานโลก ในโครงการฟื้นฟูบูรณะวัดไชยวัฒนาราม โดยเป็นการรวมสหสาขาวิชาจากทุกฝ่าย ได้แก่ นักโบราณคดี สถาปนิก ภูมิสถาปนิก วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการช่างศิลปกรรม นายช่างเทคนิค นายช่างสำรวจ นายช่างโยธา นักวิเทศสัมพันธ์ และนักจดหมายเหตุ ในส่วนของกองทุนโบราณสถานโลกนั้นคณะทำงานประกอบด้วย ผู้อำนวยการโครงการ หัวหน้านักอนุรักษ์ คณะนักอนุรักษ์ และคณะช่างฝีมือ คณะทำงานของทั้งสองฝ่ายต่างทำงานร่วมกันและสะท้อนปัญหาเพื่อหาแนวทางแก้ไขผ่านการประชุมซึ่งจะจัดขึ้นเดือนละหนึ่งครั้ง แต่หากมีกรณีพิเศษที่ต้องหารือเร่งด่วนก็จะดำเนินการทันที เช่น กรณีการหาข้อสรุปเรื่องการอนุรักษ์ช่องโครงสร้างหลังคาภายนอกเมรุ
การทำงานของกรมศิลปากรนั้นยึดระเบียบกรมศิลปากรว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน พุทธศักราช 2528 สรุปใจความสำคัญคือ
· ศึกษาและบันทึกสภาพเดิมรวมทั้งสภาพปัจจุบันของอาคารที่จะทำการอนุรักษ์
· ประเมินคุณค่าและลักษณะความเด่น
· คำนึงถึงภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมของที่ตั้ง
· มีการบันทึก เก็บข้อมูล และทำแผนผังเขียนรูปไว้โดยละเอียด
· หากมีเทคนิคใดที่ยังไม่เคยใช้ ต้องมีการทดลองจนได้ผลชัดเจน
· หากโบราณสถานมีคุณค่าและความโดดเด่นอย่างมากจะใช้เพียงการเพิ่มความมั่นคงแข็งแรง และสงวนรักษาไว้ในสภาพเดิมเท่านั้น
· วัสดุใหม่ที่เติมเข้าไปนั้นจะต้องมีความถูกต้องตามหลักวิชาการ มีหลักฐานยืนยันได้และมีความเรียบง่ายกลมกลืน
ทั้งนี้ หากมีกรณีจำเป็นที่ต้องพิจาณามากกว่านั้น เช่น หากการอนุรักษ์ซากโบราณสถานซึ่งมีคุณค่าทางประวัติและโบราณคดีทำได้โดยการรักษาสภาพเดิมหลังการขุดแต่ง เพราะการจะต่อเติมเข้าไปให้สมบูรณ์นั้น อาจมีข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดีหรือมีข้อมูลทางวิชาการไม่ชัดเจน ควรใช้วิธีการอื่นๆในการสื่อความหมาย เช่น การทำสื่อ การทำหุ่นจำลอง หรือภาพนิทรรศการซ้อนทับการสันนิษฐานรูปแบบ หรือในกรณีโบราณสถานที่เป็นปูชนียสถาน จะต้องไม่เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขจนโบราณสถานนั้นหมดคุณค่าหรือความศักดิ์สิทธิ์ คือไม่ได้มองว่าโบราณสถานเป็นเพียงซากอาคารเท่านั้น สำหรับโบราณสถานที่ยังใช้ประโยชน์อยู่สามารถต่อเติมได้ตามความเหมาะสม และจะต้องไม่ทำลายคุณค่าเดิมของโบราณสถาน นอกจากนี้บางกรณีจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงาน/ สถาบัน/ เอกชน/ ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ
จบในส่วนการบรรยายของคุณชญาดา สุวรัชชุพันธุ์ ต่อไปเป็นการบรรยายของคุณวีระศักดิ์ แสนสะอาด ในหัวข้อ “กรมศิลปากรและความร่วมมือกับองค์กรสากลในการอนุรักษ์โบราณสถานวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” โดยกล่าวว่าโครงการอนุรักษ์โบราณสถานวัดราชบูรณะนั้นถือเป็นอีกหนึ่งโครงการคู่ขนานไปกับโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม หลังเกิดเหตุการณ์อุทกภัยปี 2554 กรมศิลปากรเข้าดำเนินการสำรวจและพบว่ามีโบราณสถานเสียหายจำนวน 154 แห่งทั่วจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 581,151,300 บาท อีกทั้งยังได้ดำเนินโครงการความร่วมมือกับนานาชาติในการอนุรักษ์โบราณสถานประเภทอิฐในแหล่งมรดกโลกพระนครศรีอยุธยา หนึ่งในนั้นคือ “โครงการอนุรักษ์โบราณสถานวัดราชบูรณะ” โดยกรมศิลปากรร่วมกับรัฐบาลประเทศสหพันธรัฐเยอรมัน มีผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันคือ ดร. ฮาน ไลเซน จากมหาวิทยาลัยโคโลญจ์ เป็นหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายต่างชาติ ร่วมกับนักอนุรักษ์ฝ่ายไทย ดำเนินการมาตั้งแต่พุทธศักราช 2555 ถึงพุทธศักราช 2560 กิจกรรมหลักคือการอนุรักษ์ปูนปั้นโดยรอบที่พระปรางค์ประธานตั้งแต่ชั้นฐานซึ่งมีปูนปั้นที่สำคัญคือกลุ่มยักษ์แบกที่อยู่ทางตอนใต้ของพระปรางค์ และชั้นเรือนธาตุจนถึงชั้นครุฑ ทั้งนี้ไม่ได้มีการบูรณะส่วนยอด นอกจากนี้มีการบูรณะเจดีย์ทรงเครื่องที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีการบูรณะซุ้มที่อยู่ทางด้านหน้าของวิหารหลวงของวัดราชบูรณะ ลักษณะงานที่ดำเนินการคือ การสำรวจ วิเคราะห์ความเสียหาย วางแผนหรือกำหนดวิธีการอนุรักษ์ และดำเนินการอนุรักษ์
การทำงานนั้นมี 4 ระยะคือ
ระยะที่ 1 การบันทึกสภาพปัจจุบัน กำหนดแผนงานและกำหนดการดำเนินงาน (การปฏิบัติงานแบบฉุกเฉิน/ การวางกรอบของกระบวนการต่างๆ ในการดูแลรักษาในระยะยาว) ทั้งการวาดแผนผังด้วยมือและการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์
ระยะที่ 2 การวิจัย ทดสอบ และดัดแปลงวัสดุอนุรักษ์ที่เข้ากันได้ มีการทดสอบด้านวิทยาศาสตร์เพื่อระบุประเภทของวัสดุ ความเสียหายและรูปแบบการเสื่อมสภาพ สังเกตได้ว่าระยะที่ 2 นี้ต่างประเทศจะให้ความสำคัญมากกว่าคนไทย ตัวอย่างการทดสอบวัสดุเช่นว่า วัสดุดั้งเดิมมีองค์ประกอบอะไรบ้าง วัสดุใหม่ที่จะนำมาใช้มีความต้านทาน /มีการดูดซึมน้ำที่ดีอยู่ในระดับใด โดยทางคณะทำงานจากประเทศเยอรมันนี้ ได้เดินทางไปถึงแหล่งผลิตปูนที่จังหวัดสระบุรี เพื่อนำตัวอย่างปูนที่ใช้ในการอนุรักษ์กับปูนโบราณมาดูองค์ประกอบว่ามีความเหมือนหรือความต่างกันอย่างไร
ระยะที่ 3 หลังจากการประเมินสภาพและการวิเคราะห์วัสดุโดยละเอียดแล้ว จึงได้จัดทำ แผนงานเพื่อพัฒนาวัสดุและวิธีการอนุรักษ์ มีการทดลองและค้นคว้าหลายครั้งเพื่อระบุวัสดุและวิธีการ ที่เหมาะสม (ทดสอบวัดความต้านแรงเจาะ / การหาค่าสัมประสิทธิ์การดูดซึมน้ำ / การทดสอบ กระบวนการเสื่อมสภาพจากเกลือ)
ระยะที่ 4 การปฏิบัติงานตามกระบวนการอนุรักษ์ (ทำความสะอาด / การสอปูน / การฉีดปูน การลงสารเคลือบผิว / การสลักเดือย / การติดกาว / การกำจัดวัชพืช)
การดำเนินการอนุรักษ์นั้นเป็นความร่วมมือจากทั้งทางเยอรมันและช่างชาวไทยที่สังกัดกรมศิลปากรและเป็นการทำงานร่วมกัน ช่วงท้ายของโครงการ มีการประชุมสัมมนาเพื่อสรุปและเผยแพร่ผลการดำเนินงานในปี 2560 โครงการนี้ใช้งบประมาณของรัฐบาลเยอรมัน จำนวน 5,000,000 บาท โดยเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ส่งมอบงานบูรณะวัดราชบูรณะ ให้กรมศิลปากรเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560
หลังจบการบรรยายมีการพูดคุยถึงกิจกรรมการทัศนศึกษาตามแหล่งโบราณสถานของคณะอาจารย์-นักศึกษาจากคณะโบราณคดี โดยวิทยากรถามว่า เมื่อเข้ามาเยี่ยมชมโบราณสถานในประเทศไทยมีความคาดหวังหรือมีความคิดเห็นอย่างไรต่อการอนุรักษ์ นักศึกษาท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า สมัยที่เรียนชั้นมัธยมศึกษาและอาจารย์พาไปทัศนศึกษานั้นจะมองแค่ความสวยงามของโบราณสถานและการจัดภูมิทัศน์ แต่พอโตขึ้นการไปเยี่ยมชมโบราณสถานจะมองลึกไปถึงที่มาและความหมาย นอกจากนี้ส่วนตัวมองว่า โบราณสถานที่ไม่ได้มีชื่อเสียงหรือเป็นที่นิยม ความใส่ใจในการอนุรักษ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานนั้นดูเหมือนว่าจะลดน้อยลงไป
จากนั้นเป็นส่วนการบรรยายของคุณเจฟ อัลเลน ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม จากกองทุนโบราณสถานโลกในหัวข้อ “แนะนำกองทุนโบราณสถานโลกและโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม” โดยเริ่มจากการแนะนำว่ากองทุนโบราณสถานโลกนั้นเป็นองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงผลกำไร มุ่งทำงานด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีสำนักงานย่อยหลายแห่งทั่วโลกซึ่งแต่ละสำนักงานย่อยนั้นต่างก็มีการระดมทุนเพื่อหางบประมาณดำเนินการอนุรักษ์ในประเทศของตน อาทิ กองทุนโบราณสถานโลกสำนักงานย่อยที่สเปน อินเดีย เปรู แต่ละสำนักงานย่อยยังมีผู้อำนวยการของตนเองคือแยกการบริหารจากสำนักงานใหญ่ที่นิวยอร์ก และค่อนข้างมีอิสระในการดำเนินงาน กองทุนโบราณสถานโลกมีโครงการมาแล้วกว่า 600 โครงการทั่วโลก เริ่มดำเนินงานในปี 1950 โครงการแรกที่เริ่มดำเนินการนั้นอยู่ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อุทกภัย และเรียกได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกับเหตุการณ์น้ำท่วมที่วัดไชยวัฒนาราม
หลักการของกองทุนโบราณสถานโลกคือการให้คุณค่าสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ควบคู่ไปกับการส่งเสริมคุณค่าความเป็นมนุษย์ โดยมองเห็นคุณค่าที่สำคัญ 3 ประการผ่านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ดังนี้
1. ความรู้สึกหรือการสัมผัสได้ถึงความซาบซึ้งและพิศวง ผลงานอันน่ามหัศจรรย์ของมวลมนุษยชาติที่อยู่ข้ามกาลเวลาและสถานที่ตั้ง เติมเต็มแรงบันดาลใจและความชื่นชม สิ่งที่เราทำคือแสดงความมหัศจรรย์ออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ เน้นให้เห็นความหลากหลาย และช่วยส่งเสียงแทนสิ่งเหล่านี้ เสียงที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาแทบจะไม่เคยมีใครได้ยิน ควบคู่ไปกับการปกป้องภัยทั้งจากธรรมชาติและกำลังมนุษย์ที่คุกคามความอยู่รอดของมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้
2. สถานที่ในโลกที่ไม่สามารถถูกแทนที่และเลียนแบบได้ ถูกสร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์และได้ค้ำจุนผู้คนมาหลายชั่วอายุคน ความเชื่อมโยงระหว่างสถานที่และชุมชนมีความสำคัญ รวมไปถึงความร่วมมือในท้องถิ่นถือเป็นรากฐานการทำงานของเรา เรามีหลักการเรื่องความนอบน้อมถ่อมตน การฟังและการเรียนรู้ก่อน จากนั้นจึงพัฒนาโครงการที่จะสามารถสนับสนุนผลประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาวให้กับชุมชนในท้องถิ่น.
3. ทัศนคติที่เชื่อว่าเราทำได้ เราเข้าถึงทุกสิ่งที่ทำด้วยความหลงใหลและมุ่งมั่น เปิดกว้างต่อความท้าทาย และพร้อมที่จะเข้าไปทำการอนุรักษ์อย่างรวดเร็วในสภาวะที่พร้อมมากที่สุด ซึ่งก็คือการใช้มาตรฐานสากลสูงสุดในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและขยายขอบเขตสาขาไปอย่างต่อเนื่อง
การทำงานของเรานั้นสิ่งสำคัญคือการทำงานรว่มกับ “คน” เป้าหมายและสิ่งที่เน้นย้ำจึงเป็นการใช้ประโยชน์จากการอนุรักษ์อาคารเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับคนในชุมชน หลายโครงการมีความยากและซับซ้อน เช่น โครงการที่บาบิโลน ประเทศอิรัก โครงการนี้เริ่มต้นในปี 2009 ซึ่งก็เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตทางการเมือง รวมไปถึงหลายโครงการที่มีความท้าทายเรื่องสภาพแวดล้อม ปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
แนวทางการทำงาน
ตัวอย่างที่จะยกมาในวันนี้ทั้งสามหัวข้อถือว่ามีความน่าสนใจเพราะสามารถเชื่อมโยงได้กับโครงการอนุรักษ์ที่วัดไชยวัฒนาราม
กองทุนโบราณสถานโลกมีการดำเนินงานใน 4 ภาคส่วน คือ การบริหาร การเงินหรือการระดมทุนเพื่อจัดหาและจัดสรรงบประมาณในการทำงาน ฝ่ายการสื่อสาร และส่วนสุดท้ายที่ถือว่าใหญ่ที่สุดคือ การอนุรักษ์หรือแทรกแซงทางกายภาพ งานภาคสนามคืองานหลักที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของกองทุนโบราณสถานโลก ด้วยการสร้างพันธมิตรในท้องถิ่น พัฒนาสังคมด้วยวิธี่ที่คล้ายคลึงกันคือสร้างทางออกที่ยั่งยืนในพื้นที่และชุมชนทั่วทั้งภูมิภาคและทั่วโลก
การฝึกอบรมคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่แค่การรักษาและฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชุมชนเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจด้วยการสร้างงาน การฝึกอบรมงานฝีมือแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นทักษะที่ถ่ายทอดได้และสามารถเอามาใช้กับการก่อสร้างใหม่ ถือเป็นส่วนหนึ่งของสร้างการเชื่อมโยงระหว่างชุมชนและตัวโบราณสถาน
สิ่งที่กระทำควบคู่ไปกับงานภาคสนามคือ การเสริมสร้างศักยภาพให้กับคนในพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น คุณมูคาเล็ตซึ่งเป็นช่างอิฐที่อิรัก ทำงานเกี่ยวกับการซ่อมอาคารก่ออิฐ ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้เทคนิคการก่ออิฐที่สามารถประยุกต์ใช้ในการทำงานที่อื่นๆได้
การเผยแพร่ความรู้ กองทุนโบราณโลกสนับสนุนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ต่อการอนุรักษ์โบราณสถาน ไม่เพียงแต่เป็นการฝึกฝนความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนในวงกว้าง ที่สำคัญคือการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษา เป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่รับทราบในงานที่เรากำลังดำเนินการอยู่
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือกิจกรรมการเผยแพร่ความรู้เรื่องการอนุรักษ์กับนักศึกษามหาวิทยาลัยภายใต้ความร่วมมือกับสถานทูตสหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการทูตสาธารณะที่กองทุนโบราณสถานโลกได้รับงบประมาณมา
อุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 ได้กลายเป็นตัวเร่งให้งานอนุรักษ์วัดไชยวัฒนารามอยู่ในสภาวะเร่งด่วนและจำเป็น ในปีเดียวกันนั้น กองทุนโบราณสถานโลกร่วมมือกับกรมศิลปากรและสถานทูตสหรัฐฯ เพื่อเข้าไปตรวจสอบความเสียหายอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะแวดล้อมดังกล่าว โครงการใช้การเก็บข้อมูลเพื่อนำไปสู่การวางแผนการจัดการน้ำที่เป็นระบบ ซึ่งก็เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมในปัจจุบันคือกำแพงกั้นน้ำรอบวัดไชยวัฒนาราม รวมทั้งครอบคลุมไปถึงการอนุรักษ์โบราณสถานก่ออิฐด้วย และเราให้ความสำคัญกับโครงการนี้อย่างมากเพราะสามารถเชื่อมโยงกับการทำงานของกรมศิลปากรที่จะต้องจัดการกับโบราณสถานก่ออิฐที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมจำนวนมาก
สุดท้ายคุณเจฟ อัลเลนกล่าวขอบคุณผู้เข้าฟังการบรรยายทุกท่าน รวมทั้งกล่าวว่าหากนักศึกษาหรือผู้ฟังท่านใดมีข้อสงสัยหรืออยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนโบราณสถานโลก สามารถติดต่อคุณเจฟได้โดยตรงที่อีเมลล์ jallen@wmf.org
หลังจากจบส่วนการบรรยายของคุณเจฟ อัลเลนแล้ว ลำดับต่อไปเป็นการบรรยายของคุณโจเซฟิน ดิลลาริโอ หัวหน้านักอนุรักษ์ของโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม ในหัวข้อ “ทฤษฎีและการปฏิบัติงานในการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม”
เริ่มจากการพูดถึงเอกลักษณ์ของศิลปวัตถุและสถาปัตยกรรมว่าถึงแม้จะมีองค์ประกอบชนิดเดียวกัน และอยู่ในสถานที่เดียวกันแต่ด้วยปัจจัยที่แตกต่างก็สามารถสร้างสภาวะเฉพาะอย่างขึ้นมาทำให้ความเสื่อมสภาพต่างกัน ดังนั้นการอนุรักษ์ก็จำเป็นต้องใช้วิธีการที่แตกต่างกัน การพิจารณาถึงความแตกต่างและองค์ประกอบของสิ่งที่จะทำการอนุรักษ์นั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม ซากอาคาร ภาพวาดจิตรกรรม ประติมากรรม รวมทั้งศิลปวัตถุอื่นๆ จากประสบการณ์ทำงานที่วัดไชยวัฒนารามยิ่งชี้ให้เห็นว่าการพิจารณาถึงความเสื่อมสภาพและสภาวะที่เกิดขึ้นของวัสดุแต่ละองค์เมรุเป็นเรื่องที่สำคัญ ฉะนั้นการเข้าใจความเสื่อมสภาพที่แท้จริงจะนำมาซึ่งการวางแผนการอนุรักษ์ที่เหมาะสม
ปัจจัยอันนำมาซึ่งความแตกต่างของศิลปวัตถุหรือโบราณสถานคือ เทคนิคการก่อสร้าง สภาพแวดล้อม การบำรุงรักษา และลักษณะเฉพาะตัวหรือฝีมือเชิงช่างผู้สร้างสรรค์ศิลปะนั้นๆ และสิ่งที่นำมาบรรยายในวันนี้ถือว่าเป็นระบบการทำงานที่สำคัญและถือว่าเป็นแนวทางการปฏิบัติต่อตัวโบราณสถานหรือโบราณวัตถุด้วยความเคารพ
ในการอนุรักษ์โบราณสถานนั้น ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงคือ หลักการปฏิบัติต่อมรดกทางวัฒนธรรมด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างเห็นคุณค่า และการมีแนวคิดรักษาความเป็นของแท้ ส่วนสำคัญที่จะต้องทำแม้จะต้องใช้เวลามากก็คือการตรวจสอบวิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจถึงคุณลักษณะและความเสื่อมสภาพของวัสดุอย่างแท้จริง ที่อยุธยาแม้จะมีกฎบัตรเวนิสและนาราในการปฏิบัติงาน แต่ก็ยังจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยข้างต้นด้วย
ขั้นตอนในการปฏิบัติงานอนุรักษ์ มีดังนี้
· การสำรวจและจัดเก็บข้อมูล จำเป็นต้องบันทึกไว้ด้วยว่าก่อนที่จะทำการอนุรักษ์นั้น อาคารหรือวัตถุที่จะทำการอนุรักษ์มีสภาพเป็นอย่างไร ปัจจัยและสภาพแวดล้อมในการเสื่อมสภาพมีอะไรบ้าง ปัญหาที่พบมีอะไรบ้าง
· การตรวจสอบข้อมูล เพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าความเสื่อมสภาพเกิดจากอะไร และลักษณะเป็นอย่างไร
· ทำความเข้าใจองค์ประกอบของวัสดุ เทคนิคการก่อสร้าง และการบูรณะในอดีต ข้อนี้ถือว่าสำคัญมากโดยเฉพาะเมื่อเราเจอกับพื้นที่การทำงานใหม่ๆ เช่น ผนังปูนที่วัดไชยวัฒนาราม ที่พบว่าพื้นผิวบางส่วนเคยผ่านการบูรณะโดยใช้ซีเมนต์
· ทดสอบและวิเคราะห์วัสดุ มีการเก็บตัวอย่างพื้นผิวและประเมินโดยสังเกตสภาพเป็นระยะ ข้อนี้ถือว่าสำคัญที่สุด เพราะจะทำให้เข้าใจว่าสิ่งที่เราพบนั้นคืออะไร และควรจะปฏิบัติงานอย่างไร วัสดุใหม่ที่เข้ากันได้และเหมาะสมกับวัสดุดั้งเดิมควรเป็นวัสดุชนิดใด
· วางแผนวิธีการอนุรักษ์: เสริมสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนโดยใช้วัสดุชนิดใหม่ที่มีความเข้ากันได้กับวัสดุเดิม
· กำหนดตารางในการบำรุงรักษา
ต้องคำนึงถึงเทคนิคการก่อสร้างและการวิเคราะห์ถึงความเสื่อมสภาพของแต่ละชั้นวัสดุที่เป็นองค์ประกอบของศิลปวัตถุตลอดจนงานบูรณะในอดีตที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ชั้นอิฐไปจนถึงชั้นสี และเทคนิคการก่อสร้าง นักอนุรักษ์ต้องเผชิญกับสภาพพื้นผิวและวัสดุที่แตกต่างหลากหลายที่จะต้องทำความเข้าใจอย่างมากก่อนจะดำเนินการอนุรักษ์ เช่น ชั้นอิฐที่อยู่ใต้พื้นผิวของภาพจิตรกรรม และในการปฏิบัติงานเราต้องการผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา อาทิ สถาปนิก นักโบราณคดี นักอนุรักษ์ ยกตัวอย่างการอนุรักษ์ลวดลายปูนปั้นที่หน้าบันของเมรุทิศใต้วัดไชยวัฒนาราม งานหลักๆคือการเสริมความมั่นคง ทำให้ลวดลายอยู่ในสภาพที่แข็งแรง หากสังเกตปูนที่ลวดลายปูนปั้นและปูนที่พื้นผิวซึ่งรองรับปูนปั้นจะเห็นว่ามีความแตกต่างกัน ดังนั้นการอนุรักษ์ต้องคำนึงถึงความแตกต่างของสีที่พื้นผิวของปูนด้วย
โครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนารามเริ่มงานด้วยแผนงาน 4 แผนงาน 3 แผนแรกเน้นสร้างศักยภาพของผู้ปฏิบัติงาน อีกหนึ่งแผนสุดท้ายนั้นเป็นการสร้างศักยภาพให้นิสิตนักศึกษาในประเทศไทย
1. แผนงานสร้างศักยภาพบุคลากรของกรมศิลปากร ในปี 2559 ในช่วงเริ่มต้นของโครงการนำร่อง มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ 6 ครั้ง โดยเชิญผู้เชี่่ยวชาญจากต่างประเทศมาแลกเปลี่ยนความรู้กับเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร หัวข้อในการจัดจะยึดตามปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเสื่อมสภาพของวัดไชยวัฒนารามเพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมในการอนุรักษ์เมรุทางทิศใต้ของวัดไชยวัฒนาราม (กรมศิลปากรและกองทุนโบราณสถานโลกร่วมคิดหัวข้อร่วมกัน) ตัวอย่างหัวข้อเช่น การอนุรักษ์อิฐ การอนุรักษ์พื้นผิวรักที่ฝ้าเพดาน การป้องกันสัตว์รบกวนในโบราณสถาน โดยเฉพาะนกซึ่งสร้างความเสียหายให้กับวัดไชยค่อนข้างมาก หัวข้อที่จัดเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กันไม่เพียงแต่ใช้ประโยชน์ได้ที่วัดไชยวัฒนารามเท่านั้นแต่ยังสามารถใช้กับวัดอื่นๆในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ประสบปัญหาคล้ายๆกันได้อีกด้วย
2. แผนงานสร้างศักยภาพให้กับช่างที่ปฏิบัติงานอนุรักษ์ในพื้นที่ โดยมีกองทุนโบราณสถานโลกและกรมศิลปากรร่วมมือกันเพื่อผลิตช่างที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับงานแต่ละประเภท เริ่มจากกรมศิลปากรจัดหาช่างเข้ามาในโครงการ 4 คน ช่างเหล่านี้ล้วนมีทักษะการทำงานร่วมกับกรมศิลปากรมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยกองทุนโบราณสถานโลกนำมาฝึกเทคนิคเพิ่มเติม เน้นการพัฒนาทักษะและเพิ่มศักยภาพเพื่อให้ปฏิบัติงานที่วัดไชยวัฒนารามได้ดียิ่งขึ้น ต่อมาทางกองทุนโบราณสถานโลกจัดหาช่างมาเพิ่มตามความจำเป็นของงาน โดยค่อยๆฝึกให้ช่างมีความชำนาญและทักษะมากขึ้น ปัจจุบันโครงการมีช่างอนุรักษ์ทั้งหมด 8 คน
3. แผนงานสร้างศักยภาพให้กับนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ ด้วยแผนงานระยะยาวที่จะเป็นโครงการความร่วมมือกับกรมศิลปากรในการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม ต้นปี 2560 กองทุนโบราณสถานโลกจึงได้เปิดรับสมัครคนไทยรุ่นใหม่ที่มีความสนใจด้านวัฒนธรรมและงานอนุรักษ์โบราณสถานจำนวน 4 คน กองทุนโบราณสถานโลกถือว่ามีโอกาสที่ดีอย่างยิ่งในการสร้างทักษะความรู้ ความสามารถในการอนุรักษ์ตั้งแต่แรกเริ่มให้กับคนเหล่านี้ผ่านการฝึกปฏิบัติจริง สิ่งที่เน้นย้ำเสมอคือ ต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับความเป็นของแท้ของวัสดุ วัสดุดั้งเดิมมีสภาพอย่างไร และความเสื่อมสภาพของวัสดุนั้นๆ สัมพันธ์กับบริบทโดยรอบอย่างไร
4. แผนงานสร้างศักยภาพให้กับสถาบันการศึกษา และนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศไทย มุ่งเน้นไปที่นักศึกษาปริญญาตรี ผ่านกิจกรรมทัศนศึกษาและการฝึกงาน แผนงานนี้มีความสำคัญเพราะเป็นการปกป้องและอนุรักษ์โบราณสถานผ่านการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อนักศึกษาในประเทศ โดยให้ความรู้/วิธีการที่ใช้ในการปฏิบัติงานจริงในปัจจุบัน และให้ทัศนะที่หลากหลายต่อวัสดุใหม่ที่จะนำมาใช้กับวัสดุดั้งเดิม
อะไรคือแผนการหรือยุทธศาสตร์ในการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนาราม ?
· การศึกษาภูมิหลังรวมไปถึงข้อมูลทุกๆประเภทที่พบและทำการวิเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการก่อสร้าง เทคนิคการทำงานประดับตกแต่ง
· การเก็บข้อมูล ก่อนและหลังการทำงานอนุรักษ์หรือแทรกแซงนั้น จะต้องมีการเก็บข้อมูลเพื่อส่งต่อให้กับนักอนุรักษ์ในอนาคต บันทึกทั้งวิธีการอนุรักษ์และวัสดุที่ใช้ การเก็บข้อมูลเริ่มตั้งแต่การทำทรีดีสแกน การวาดมือ การถ่ายภาพเพื่อเก็บรายละเอียดทั้งหมดของความเสื่อมสภาพนั้นๆ
· มีข้อมูลสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์ เป็นอีกข้อที่สำคัญเพราะเป็นการใช้ผลวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ในการเข้าใจองค์ประกอบของวัสดุเชิงลึก รวมไปถึงมีประโยชน์ในการหาวิธีการอนุรักษ์ที่เหมาะสมที่สุดจากการประเมินความเข้ากันได้ของวัสดุใหม่ที่จะนำมาใช้
· คำนึงถึงความเข้ากันได้ของวัสดุ สามารถถอดวัสดุออกหรือเปลี่ยนกลับคืนได้ ข้อนี้คือการเอื้อให้นักอนุรักษ์ในอนาคตสามารถปฏิบัติงานซ้ำ ปฏิบัติงานเพิ่มได้ วัสดุที่จะนำมาใช้ต้องมั่นใจว่าจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต
ที่วัดไชยวัฒนารามเราพบวัสดุที่หลากหลาย ภายนอกเป็นงานก่ออิฐ ภายในเป็นการใช้วัสดุไม้ทำฝ้าเพดาน มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในการทำงานจึงต้องไล่เรียงเพื่อทำความเข้าใจวัสดุตั้งแต่ 1) ชั้นที่เป็นการก่ออิฐ ชั้นวัสดุประสานระหว่างพื้นผิวอิฐกับปูนฉาบ 2) ชั้นปูนฉาบชั้นแรก (ใช้เม็ดทรายที่หยาบกว่าชั้นปูนฉาบชั้นที่ 2) ชั้นปูนฉาบชั้นที่ 2 หรือบางกรณีมีการฉาบชั้นที่ 3 เป็นทั้งชั้นที่ปิดพื้นผิวปูนฉาบชั้นที่ 1 รวมไปถึงเป็นชั้นรองพื้นสำหรับการเขียนภาพจิตรกรรมด้วย 3) ชั้นที่เขียนสี และ 4) ชั้นพื้นผิวสีที่มีปฏิกิริยา Carbonation หรือการที่สีเจอกับอากาศและแห้งตัว
· การอนุรักษ์โดยการแทรกแซงให้น้อยที่สุด สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการเสริมความมั่นคงของโครงสร้างและวัสดุดั้งเดิม
· นักอนุรักษ์ต้องแสวงหาความรู้และศึกษาข้อมูลใหม่ๆ รวมทั้งงานวิจัยต่างๆ เนื่องจากวงการอนุรักษ์จะพัฒนาทั้งวิธีการและวัสดุใหม่ๆอยู่เสมอ หมั่นเข้าร่วมการอบรมฝึกปฏิบัติ เพื่อเพิ่มพูนทักษะและเพื่อให้มีความรู้ที่เท่าทันจนสามารถหาวัสดุ/วิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการทำงานครั้งต่อๆไปได้
คุณโจเซฟินได้ยกตัวอย่างภาพจิตรกรรมในเมรุทางทิศใต้ของวัดไชยวัฒนารามซึ่งถือว่าเป็นบริเวณที่มีจิตรกรรมเหลืออยู่มากที่สุดและสมบูรณ์ที่สุด การอนุรักษ์มีเพียงการทำความสะอาดและเสริมความมั่นคงของชั้นสีเท่านั้น และเน้นย้ำด้วยว่าในการทำงานสิ่งที่ต้องคำนึงคือวัสดุที่ใช้จะต้องสามารถเอาออกได้ ไม่ทำอันตรายต่อวัสดุดั้งเดิม
อะไรคือแผนการหรือยุทธศาสตร์ในการปกป้องโบราณสถานในอนาคต ?
· หมั่นตรวจตรา ประเมิน สังเกตความเสื่อมสภาพอยู่เสมอ และจะต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญที่สามารถระบุสัญญาณของความเสื่อมสภาพนั้นๆได้อย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยให้โบราณสถานอยู่ในระดับที่ดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสมและทันเวลา เป็นการหลีกเลี่ยงสถานการณ์ของความเสื่อมสภาพที่แก้ไขได้ยากหรือไม่สามารถแก้ไขได้
· หลีกเลี่ยงการให้บริษัทรับเหมาหรือบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอเข้ามาทำงานอนุรักษ์ ผู้ที่จะเข้ามาทำงานได้นั้นต้องมีประสบการณ์ในการทำงานอนุรักษ์โบราณสถานมาก่อน
· พัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรที่ทำงานอนุรักษ์ในพื้นที่โบราณสถานรวมไปถึงบุคลากรที่ทำงานด้านการอนุรักษ์โบราณวัตถุที่มีคุณค่าด้วย
· การเสริมสร้างความรู้อย่างต่อเนื่องให้กับนักอนุรักษ์ที่ทำงานในพื้นที่โบราณสถาน
· การดูแลและควบคุมพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวให้ปฏิบัติอย่างเหมาะสมในการเข้าชมโบราณสถาน วัดไชยวัฒนารามเปิดรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากในแต่ละปี การตรวจตราเฝ้าระวังจึงเป็นสิ่งจำเป็น
หลังจบการบรรยาย คุณโจเซฟินยังกล่าวด้วยว่ารู้สึกยินดีที่ได้มาพูดคุยกับทุกคนในวันนี้แม้จะเป็นการสนทนาและให้ความรู้ทางออนไลน์ โอกาสหน้าหวังว่าจะได้มีโอกาสต้อนรับคณะอาจารย์และนักศึกษาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กันที่วัดไชยวัฒนาราม
หลังจากนั้น ผู้ดำเนินรายการได้กล่าวถึงกิจกรรมฝึกงานของโครงการวัดไชยวัฒนารามและเชิญคุณอานันท์ วัฒนธรรม นักศึกษาคณะโบราณคดีที่อยู่ในวิชาเรียนและยังเป็นหนึ่งในนักศึกษาฝึกงานของโครงการมาเล่าประสบการณ์ในการฝึกงานของตน โดยอานันท์ถือว่าเป็นนักศึกษาฝึกงานที่สามารถนำความรู้จากวิชาโบราณคดี และความรู้ในเรื่องรูปแบบศิลปะ การสันนิษฐานลวดลายและองค์ประกอบของพระพุทธรูป ฝ้าเพดาน มาประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดีในการทำงานอนุรักษ์ที่วัดไชยวัฒนาราม
หลังจากนั้นเป็นการถาม - ตอบ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยคำถามแรกถามว่า การอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมในอาคารกับการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมในถ้ำหรือหน้าผานั้นมีความเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร
- คุณโจเซฟินตอบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมากเพราะวัสดุที่รองรับชั้นสีนั้นมีความต่างกัน ภายในอาคารซึ่งวัสดุอาจจะเป็นปูน การทำความสะอาด การเสริมความมั่นคง การรีทัชสี และการเลือกใช้วัสดุเพื่ออนุรักษ์ก็จำเป็นต้องต่างกันซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป และแม้จะเป็นอาคารพื้นผิวปูนเหมือนกันแต่ต่างลักษณะกัน ยกตัวอย่างเช่น ภายในอาคารของวัดไชยวัฒนาราม การทำความสะอาดใช้สารอะซีโตนซึ่งอาจเหมือนหรือต่างจากอาคารอื่นๆ เช่น อาคารสำนักงานทั่วไป พิพิธภัณฑ์ หลักการทำงานคือต้องวิเคราะห์องค์ประกอบทั้งพื้นผิวและชั้นสีก่อนดำเนินการ
คำถามที่สอง ถามว่าโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนารามถือว่าอยู่ในช่วงไหนของการทำงานและมีแผนในการทำงานจนเสร็จสิ้นโครงการอย่างไร
- คุณวราภรณ์ซึ่งเป็นผู้จัดการโครงการตอบว่า ตอนนี้โครงการอยู่ในช่วงครึ่งทางของการทำงาน คือกำลังซ่อมเมรุที่ 3 ในบรรดา 6 เมรุที่อยู่ในความรับผิดชอบของโครงการความร่วมมือระหว่างกองทุนโบราณสถานโลกและกรมศิลปากร ระยะเวลาที่จะดำเนินการคืออีก 5 ปี ส่วนเมรุอีก 2 เมรุ คือเมรุทิศตะวันออกและทิศตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งปรางค์ใหญ่นั้น แผนที่กำหนดในขณะนี้คือ กรมศิลปากรจะเป็นผู้ดำเนินการ
หลังจบการถาม-ตอบ ผู้ดำเนินรายการกล่าวขอบคุณวิทยากรทุกท่านจากกรมศิลปากร กองทุนโบราณสถานโลก และสถานทูตสหรัฐฯ นอกจากนี้กล่าวขอบคุณ รศ. ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ และนักศึกษาจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ตลอดจนผู้ฟังการบรรยายทุกท่านที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้
Comments