ความเจ็บปวด หยดเลือด และน้ำหมึก
อัปเดตเมื่อ 2 ธ.ค. 2564
โดย อรรถกร คำยวง
#คิดอย่างเจอนัล นักหัดเขียน ss.2
“ผู้ไร้เสียงในสถานการณ์ COVID”
หากจะกล่าวถึง“ผู้ไร้เสียงในสถานการณ์ COVID-19” คงจะเป็นคำจำกัดความที่เหมาะสมกับอาชีพช่างสักไม่น้อย แต่หากจะให้พูดให้ถูกคงต้องบอกว่าพวกเขาถูกปฏิบัติเหมื่อนผู้ไร้เสียงมาโดยตลอด
แม้ปัจจุบันช่างสักจะได้รับการยอมรับมากขึ้นจากสังคม อีกทั้งมีบทความและเรื่องราวมากมายถูกเผยแพร่ให้คนทั่วไปมีความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีบางส่วนที่ยังดูถูก และไม่พยายามที่จะเข้าใจอาชีพนี้อย่างแท้จริง อีกทั้งในสถาณการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในขณะนี้ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจเป็นวงกว้าง ทุกภาคส่วนได้รับความเดือดร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมาตรการณ์การเยียวยาของภาครัฐเองก็ไม่เหมาะสมกับทุกกลุ่มอาชีพอย่างแท้จริง ซึ่งอาชีพช่างสักเองเป็นหนึ่งในอาชีพเหล่านั้น
-เพราะการสัก ไม่ใช่สักแต่จะทำ-
ช่างสักเป็นรูปแบบของอาชีพที่จะต้องทำงานภายใต้ความเสี่ยงอย่างสูงในการติดเชื้อจากโรคต่างๆตั้งแต่ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อยู่แล้ว เพราะการสักจะต้องทิ่มเข็มน้ำหมึกลงไปชั้นใต้ผิวหนังของมนุษย์โดยตรง จึงเป็นไปได้ยากมากที่จะหลีกเลี่ยงการต้องสัมผัสกับเลือดของลูกค้าโดยตรง
แน่นอนว่าไม่มีใครจะตระหนักถึงความเสี่ยงเหล่านี้มากไปกว่าตัวของช่างสักเอง ส่งผลให้เกิดการปรับตัวเพื่อให้พวกเขาปลอดภัยจากการทำงานที่พวกเขารัก ไม่ว่าจะเป็นการสวมถุงมือ และใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะทำงาน อีกทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการสักเองก็มีหลากหลายแบบ ซึ่งแต่ละแบบก็ให้คุณภาพของเส้นที่แตกต่างกัน เกิดเป็นความถนัดที่ต่างกันของตัวช่างแต่ละคนผ่านลายเส้นและอุปกรณ์ที่แตกต่างกัน
-การปรับเปลี่ยน-
“หยุดรับงานไปเลยครับ ตามคำสั่งทุกครั้ง” คำตอบจากตัวเจ้าของร้านหลังจากได้ทำการสอบถาม ว่าการล็อกดาวน์ที่ผ่านมาทางร้านมีการปรับตัวอย่างไรบ้าง สะท้อนความเข้าใจและพร้อมจะทำเพื่อสังคมส่วนรวม เพื่อจะให้การแพร่ระบาดของโรคลดลง
ซึ่งร้านสักที่ผมได้มีโอกาศสอบถามนั้น มีการปรับตัวในเชิงพื้นที่ที่ค่อนข้างน่าสนใจไม่น้อย
เหตุการณ์ที่ทางร้านต้องประสบเริ่มจากร้านต้องปิดตัวตามคำสั่งของรัฐในวันที่ 17 มกราคม 2564 หลังจากนั้นสามารถกลับมาเปิดต่อได้อีกระยะหนึ่ง จนเข้าช่วงเดือนมิถุนายนในปีเดียวกันมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ทางร้านจึงต้องรัดกุมกับเรื่องความปลอดภัยให้มากขึ้นโดยได้มีการขอความร่วมมือให้ลูกค้าที่จะมาใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยตลอดการทำงาน แล้วห้ามไม่ให้ผู้ติดตามเข้าไปด้วยขณะทำงาน ต่อมาก็ต้องปิดตัวลงในช่วงเดือนสิงหาคมที่มีการล็อกดาวน์อีกครั้ง แต่เนื่องจากทางร้านไม่สามารถพยุงสถานการณ์ทางการเงินเอาไว้ได้จึงต้องแอบเปิดร้านในช่วงปลายเดือนสิงหาคม แล้วล่าสุดได้มีการโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียให้มีการจองคิวรอบเดือนกันยายน ตุลาคม และ พฤษจิกายนตามลำดับ
“แต่เพราะรอบล่าสุดมันใช้เงินที่เก็บไว้จนหมดแล้วครับ เลยจำเป็นที่ต้องกลับมาเปิดใหม่” คำพูดที่แสดงให้เห็นว่าตัวเจ้าของร้านเองตระหนักดีว่าตนกำลังทำผิดอยู่ แต่จะให้ทำอย่างไรในเมื่อเขาไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องกลับมาทำงานสักอีกครั้ง แต่จะเรียกว่ากลับมาเปิดตามปกติก็คงจะไม่ได้ เพราะแม้ตัวของเขาจะฝ่าฝืนคำสั่งจากทางรัฐแต่เขาเองก็ตระหนักถึงความเสี่ยงที่เขาจะได้รับจากการทำงานดี จึงส่งผลให้เกิดการปรับตัวเพื่อให้สามารถทำงานได้แม้ในสถานการณ์แบบนี้
การปรับตัวของทางร้านเริ่มด้วยจากเดิมที่รับได้วันละ 2 - 4 คนเหลือเพียงวันละ 1 คนเท่านั้น โดยตอนนี้สามารถรับได้เพียงงานสเกลเล็กๆ (3000-5000 บาท) เท่านั้น ลูกค้าที่ทำการจองกับทางร้านจะถูกคัดกรองโดยจะอิงจากขนาดของรอยสักเป็นหลัก “เพราะผมไม่สามารถเช็คได้แน่นอนครับ คือผมก็เข้าใจว่าเสี่ยงอยู่แล้วครับ แต่ตอนนี้สถานการณ์การใช้ชีวิตมันหยุดไม่ได้จริงๆ ครับ” คือเหตุผลที่ทางเจ้าของเลือกที่จะคัดกรองลูกค้าจากขนาดของรอยสักเป็นหลัก
ลูกค้าที่ได้คิวจะต้องทำตามาตรการณ์ที่ทางร้านกำหนดอย่างเคร่งครัด คือ ส่วมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาทำงาน ห้ามไม่ให้มีผู้ติดตามเข้ามาด้วยขณะทำการสัก แล้วตัวช่างเองสวมหน้ากากอนามัย และถุงมือ พร้อมทั้งลดการพูดคุยเพื่อลดความเสี่ยงระหว่างช่างกับลูกค้าให้มากที่สุด
“ห้องเล็กสะดวกในการเก็บมากกว่าครับ” คือเหตุผลที่เจ้าของร้านทำการย้ายห้องในการทำงานจากห้องเดิมที่มีขนาดใหญ่กว่าและเชื่อมกับส่วนอยู่อาศัยของตัวบ้านของเขาไปยังห้องที่เล็กลงและไม่ได้เชื่อมต่อกับส่วนอยู่อาศัย โดยจะเห็นว่าการย้ายพื้นที่ทำงานครั้งนี้ไม่ได้เป็นการหาพื้นที่เพื่อหลบหลีกทางภาครัฐ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อให้ตัวของเขาสามารถทำงานสักได้ง่ายขึ้นและในห้องนั้นจะมีเครื่องระบายอากาศเพื่อให้เกิดการถ่ายเทของอากาศภายในห้องแม้จะเปิดแอร์อยู่ อีกทั้งการที่ขนาดของห้องเล็กลงทำให้ง่ายต่อการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อของทางร้าน
โดยการปรับตัวของทางร้านนอกจากจะแก้ไขในส่วนของมาตรการณ์ที่จะทำให้สามารถลดความเสี่ยงในการทำงานที่เราเห็นได้จากธุรกิจอื่นๆ แล้ว ยังมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ซึ่งโดยทั่วไปจะปรับเปลี่ยนเพื่อหลบหลีกทางภาครัฐเมื่อตนเองกำลังฝ่าฝืนคำสั่ง แต่กลับปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อให้ตอบสนองต่อฟังค์ชั่นการทำงาน และการดูแลพื้นที่ที่ดียิ่งขึ้น เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการปรับตัวที่เหมาะสมในสถานการณ์แบบนี้
-ความในใจจากผู้บริโภค-
ตัวผมได้มีโอกาสพูดคุยกับลูกค้าที่มีความต้องการจะไปสักตอนนี้แล้วได้คำตอบที่น่าสนใจมาก คือ การสักในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีความปลอดภัยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเลย การสักของช่างในประเทศไทยได้พัฒนาไปในระดับที่สูงพอๆ กับต่างประเทศแล้ว ไม่ได้น่ากลัวเหมื่อนที่คนส่วนใหญ่คิด
ทุกขั้นตอนในการสักตั้งแต่การวางเลยเอาท์ ลอกลาย ลงเส้น ลงสี ทุกขั้นตอนล้วนใช้อุปกรณี่ต้องผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้วและอุปกรณ์ในการสักเองก็สามารถหาซื้อได้ง่ายมากกว่าในอดีตมากจึงแทบจะไม่ต้องกังวลเรื่องความสะอาดเลย อีกทั้งเครื่องสักที่ทางร้านเลือกใช้เป็นเครื่องสักแบบ Coil ซึ่งจะทำให้เลือดที่ออกมาขณะทำการสักมีไม่มากเท่ากับการสักแบบ Hand Poke และตัวอุปกรณ์เองในตอนนี้ก็สามารถหาได้ง่ายกว่าสมัยก่อนมาก ตัวช่างสักเองก็คำนึงถึงความปลอดภัยของลูกค้า มีการใส่หน้ากากอนามัยและสวมถุงมือตลอดเวลาที่ทำการสักอยู่แล้ว ฉะนั้นเขาจึงมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยในการสักอย่างมาก
อีกทั้งตัวลูกค้าเองมีความชื่นชอบในผลงานของช่างสักท่านนั้นมาเป็นเวลานานแล้ว เขาบอกกับผมว่า "ช่างสักก็เหมือนศิลปินท่านหนึ่ง ส่วนรอยสักก็คืองานศิลปะชิ้นหนึ่ง” พร้อมทั้งเขาต้องการที่จะมีรอยสักของช่างคนนี้ซักครั้ง ฉะนั้นเมื่อปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินและเวลาของเขาพร้อมในเวลา ณ ตอนนี้ เขาจึงตัดสินใจได้เลยว่ายังไงเขาก็เลือกที่จะสักมันลงไปแม้จะอยู่ระหว่างการแพร่ระบาดของโรค COVID - 19 เช่นนี้ก็ตาม
นี่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนหนึ่งที่มาจากตัวผู้บริโภคที่มีความมั่นใจในตัวช่างสัก และคิดว่าน่าจะเป็นคำตอบของคำถามที่ว่ามีคนกล้าไปสักในตอนนี้จริงหรือได้อย่างครอบคลุม ผ่านคนที่มีประสบการณ์เคยสักมาก่อนเพื่อให้คนที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ได้เข้าใจศาสตร์ในวงการนี้มากขึ้น
-ความจำเป็นที่ถูกมองข้าม-
“เขาก็คงจะมองว่าการสักมันก็ไม่ได้จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในตอนนี้หรอก ใครมันจะไปเสี่ยงแถมยังต้องมาเจ็บตัวสักอีก แต่ชีวิตของตัวช่างสักมันจำเป็นไง” ประโยคนี้จากช่างสักท่านหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการสะท้อนภาพลักษณ์ความเป็นผู้ไร้เสียงของช่างสักออกมาอย่างชัดเจน
หากเราจะคิดตามหลักการทั่วไปก็คงจะบอกว่าการสักไม่ได้จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในตอนนี้มากนัก แต่เราไม่ได้นึกถึงว่าแล้วการดำรงชีวิตของตัวช่างสักหละ พวกเขาไม่มีสิทธ์ที่จะได้รับสิทธิ์ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตงั้นหรือ
หากจะให้ตีความพื้นที่ของอาชีพช่างสักก็คงเป็นพื้นที่ที่กำกวม อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้ปลอดภัยจนเปิดได้ เหมือนกับร้านตัดผม แต่ก็ไม่ได้เสี่ยงจนต้องเปิดทีหลังแบบร้านที่คนแออัดแบบร้านเหล้า เป็นพื้นที่สีเทาๆ ที่ไม่ชัดเจน
จากประกาศวันที่ 1 กันยายน 2564 เราก็จะเห็นว่าการประกาศของทางภาครัฐอนุญาติให้ร้านเสริมสวยเฉพาะตัดเท่านั้น (ร้านตัดผม) ร้านนวดเฉพาะฝ่าเท้า และคลินิกเสริมความงามเปิดได้เฉพาะการขายผลิตภันท์ที่สามารถเปิดได้ โดยต้องทำตามข้อกำหนดที่ ต้องเป็นการจองคิวเท่านั้น แล้วร้านจะรับได้แค่ 2 – 4 ชม. ต่อ 1 คน ไม่อนุญาตให้มีผู้ติดตามหรือลูกค้าท่านอื่นเข้าไปรอในร้าน
ต่อมาได้มีการออกประกาศเพิ่มเติมมา ซึ่งในประกาศมีหลายข้อที่เข้าข่ายเดียวกันกับการทำงานของทางร้านสัก แต่ตัวร้านสักเองก็ไม่ได้ถูกระบุอย่างชัดเจนว่าจริงๆ แล้วพวกเขาสามารถที่จะกลับมาเปิดได้อย่างถูกต้องจริงๆหรือไม่ ทำให้ตัวผู้ประกอบการณ์จำเป็นที่จะต้องตีความกันเอาเองว่าสรุปแล้วพวกเขาเปิดได้หรือยัง ซึ่งการที่พวกเขาจะต้องมานั่งตีความกันเอาเองแบบนี้ชี้ให้เห็นความเป็นคนที่ไร้เสียงออกมาชัดเจนมากขึ้น
ด้วยมาตรการที่ค่อนข้างกำกวมเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการมองข้ามในเรื่องเล็กๆ น้อยที่ส่งผลอย่างมากต่อการทำงานของพวกเขาจากทางภาครัฐที่แม้จะมีความเข้าใจมากขึ้นจากทางสังคม แต่พวกเขาเองก็ยังไม่ได้รับการให้ค่าที่ตามที่สมควรจะได้
-มุมมองจากทางภาครัฐ-
แต่จะให้พูดว่าทางภาครัฐมองไม่เห็นพวกเขาก็คงจะไม่สามรถพูดได้เต็มปาก เพราะในการประชุมระหว่างสบค.และตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ ทางสมาคมช่างสักแห่งประเทศไทยเองก็ได้รับคำเชิญให้เข้าไปร่วมประชุมด้วยเช่นกัน
โดยจากการประชุมร่วมกันระหว่างทาง สบค.และกลุ่มอาชีพต่างๆทำ ให้เข้าใจได้ว่าทางตัวของภาครัฐเองก็เข้าใจการทำงานของช่างสักอยู่ในระดับหนึ่ง และมีความต้องการที่จะให้โอกาสเหล่าช่างสักในการเรียกร้องในสิ่งที่พวกเขาต้องการเพื่อหาแนวทางที่ทั้งสองฝ่ายคิดเห็นร่วมกันได้
จากการประชุมกำหนดให้ร้านสักจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับร้านเสริมสวย และคลินิกเสริมสวย โดยอ้างอิงมาจากลักษณะของการทำงานที่คล้ายกัน แต่หลังจากการประชุมเมื่อช่างสักจะไปขอเงินเยียวยากลับถูกจัดอยู่ในกลุ่มของอาชีพอิสระ ซึ่งต่างจากกลุ่มของร้านเสริมสวย และคลินิกเสริมสวย ซึ่งให้ผู้ประกอบการและแรงงานในธุรกิจได้รับการจ่ายเงินเยียวยาในลักษณะเดียวกัน
โดยกลุ่มของร้านเสริมสวย และคลินิกเสริมสวยมีการนำแนวทางดังกล่าวมาใช้พิจารณากำหนดการเยียวยาในครั้งนี้ ซึ่งแบ่งเป็นแรงงานในระบบประกันสังคม กลุ่มลูกจ้างจะได้รับเงิน 50% ของค่าแรง แต่ไม่เกิน 7,500 บาท แรงงานสัญชาติไทยได้รับเงินพิเศษอีก 2,000 บาทต่อราย ส่วนกลุ่มนายจ้างหรือผู้ประกอบการได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อราย แต่ไม่เกิน 200 คน
แต่ช่างสักที่ถูกแบ่งเป็นประเภทเดียวกัน กลับถูกจัดเป็นกิจการที่อยู่นอกระบบประกันสังคม ซึ่งจะได้รับความช่วยเหลือโดยต้องยื่นลงทะเบียนกับระบบประกันสังคมภายใน 1 เดือน โดยลูกจ้างสัญชาติไทยได้รับเงินเยียวยาคนละ 2,000 บาท และนายจ้างได้รับความช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อราย แต่ไม่เกิน 200
จะเห็นว่ามาตรการณ์ที่ทางรัฐกำหนดออกมาให้กับอาชีพช่างสักนั้นค่อนข้างมีความสับสนอยู่พอสมควร แม้จะมีการพูดคุยหาแนวทางก็จริงแต่ผลสรุปที่ออกมาก็ยังคงสร้างความสับสนให้กับพวกเขาได้อยู่ดี
ด้วยมาตรการต่างๆ ที่ทางรัฐได้ประกาศออกมาเราจะสังเกตุเห็นได้เลยว่าทางรัฐไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควรกับกลุ่มอาชีพแบบช่างสัก ไม่ว่าจะเป็นการออกประกาศที่กำกวม การแบ่งประเภทของอาชีพที่ชวนสับสน ซึ่งพวกเขาควรจะได้รับการยอมรับและให้ความสำคัญมากกว่านี้ เพราะการจะผลักดันเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต้องมาจากทุกกลุ่มอาชีพไม่ใช่แค่อาชีพใดอาชีพหนึ่งเท่านั้น
แน่นอนว่าการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลกระทบต่อทุกกลุ่มอาชีพเป็นวงกว้างไม่ใช้แค่เพียงอาชีพช่างสักเท่านั้น แต่หากจะต้องยกอาชีพใดอาชีพหนึ่งที่เป็นตัวแทนของ “ผู้ไร้เสียงในสถาณการณ์ COVID” ช่างสักก็คงจะมีเสียงแผ่วเบาไม่น้อยกว่าใคร
เราคงไม่สามารถที่จะมองข้ามการทำผิดกฎหมายเหล่านั้นว่าควรมีข้อยกเว้นให้แม้จะจำเป็นเท่าไร แต่หากเรามองให้ลึกลงถึงปัญหาเหล่านั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ได้รับการดูแลที่ไม่ครอบคลุมต่อพวกเขาจริงๆ มาโดยตลอด เพราะแม้พวกเขาจะปฏิบัติตามที่ภาครัฐกำหนดมาทุกอย่างสุดท้ายพวกเขาก็ยังคงได้รับการดูแลที่ไม่เหมาะสมอยู่
ไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้เลยว่าการปรับตัวของแต่ละอาชีพนั้นไม่ว่าจะปรับมากหรือน้อย ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการเยียวยาจากทางภาครัฐที่แตกต่างกัน ซึ่งทางภาครัฐเองก็ควรที่จะต้องจัดการให้ได้ประสิทธิภาพที่มากกว่านี้ต่อทุกกลุ่มอาชีพอย่างเหมาะสมจริงๆ เพราะทุกคนก็ต้องดิ้นรนเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้
หวังว่าบทความนี้จะทำให้ทุกคนได้เข้าใจถึงสิ่งที่ช่างสักได้รับมาโดยตลอด และหวังให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเพื่อให้พวกเขาได้มีเสียงอย่างที่ควรจะเป็นเสียที
Comments