การมีอยู่อย่างเป็นรองของร้านค้าริมทาง
การมีอยู่อย่างเป็นรองของร้านค้าริมทาง
โดย สาธิน โชติพุทธิกุล
#คิดอย่างเจอนัล นักหัดเขียน ss.2
“ผู้ไร้เสียงในสถานการณ์ COVID”
.
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของร้านค้าริมทางที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในเมืองจำนวนมากมาอย่างยาวนานและได้กลายไปเป็นพื้นที่ทางสังคมที่สำคัญสำหรับคนในเมือง แต่ภายใต้แนวติดเรื่องพื้นที่สาธาราณะแบบใหม่ที่ตายตัวจากภาครัฐซึ่งขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนกลับทำให้ร้านค้าเหล่านี้กลับกลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายแม้ว่าร้านค้าเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตคนในเมือง ซึ่งในบทความนี้จะนำเสนอการเป็นอยู่อย่าง” เป็นรอง ”ของร้านค้าริมทางที่ถูกกดขี่จากทั้งทางการเมืองและสังคม
.
ความเป็นมาของร้านค้าริมทาง
อาหารริมทาง คืออาหารพร้อมรับประทานหรือเครื่องดื่มที่ขายข้างถนนหรือสถานที่สาธารณะต่างๆ เช่น ตลาด หรือ งานออกร้าน มักจะมาจากซุ้มขายอาหาร รถเข็นอาหาร หรือรถบรรทุกอาหาร และราคาถูกกว่าอาหารในภัตตาคาร จากการศึกษาขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เมื่อปี ค.ศ. 2007 ประชาชน 2.5 พันล้านคนรับประทานอาหารข้างถนนทุกวัน ทุกวันนี้คนอาจจะซื้ออาหารข้างถนนด้วยเหตุผลบางประการ เช่น เพื่อได้อาหารที่ราคาสมเหตุสมผลและรสชาติในสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร
.
ซึ่งบทบาทหน้าที่ของร้านอาหารริมทางในเมืองไทยนั้นเกิดจากรูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองมาตั้งแต่โบราณ จนเรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์อย่างนึงของการมีอยู่ของเมือง ด้วยรูปแบบร้านที่ตอบสนองการใช้งานพื้นที่ทางสังคมแบบเรียบง่าย สะดวกต่อผู้ซื้อและผู้ขาย ทำให้ร้านริมทางกลายไปเป็นส่วนสำคัญของเมืองอย่างขาดไม่ได้ ในปัจจุบันร้านค้าต่างๆ ก็ได้เข้ามาจับจองพื้นที่ในเมืองเพื่อใช้เปิดร้านค้าของตน สังเกตได้ว่าการวางตัวของร้านค้านั้นมักจะมาจากพื้นที่โดยรอบเสมอ โดยมักจะเลือกตั้งในจุดที่มีคนเดินผ่านเยอะๆ ใกล้ที่พักอาศัย หรือแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ
.
ดังนั้นการมีอยุ่ของร้านค้าริมทางในสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมนั้นอาจช่วยส่งเสริมเอกลักษณ์และภาพจำในสถานที่ได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่นถนนเยาวราชนั้นแรกเริ่มก็เรื่มมาจากบรรดาร้านค้าชั่วคราวในลักษณะนี้ จนเมื่อเวลาผ่านไปร้านเหล่านั้นได้สร้างประสบการณ์การใช้งานของคนที่มาท่องเที่ยวจนกลายเป็นร้านชื่อดังไปในที่สุด ย่านข้าวสารเอง หรืออีกตัวอย่างคือการรวมกลุ่มของร้านค้าชั่วคราวในลักษณะนี้กลายไปเป็นตลาดนัด เช่นตลาดนัดรถไฟรัชดา ตลาดนัดจตุจักร ซึ่งนำเอาจุดเด่นของร้านชั่วคราวไปใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างภาพจำที่เป็นเอกลักษณ์แก่ย่านนั้นๆอีกด้วย
.
มุมมองต่อร้านริมทางทั่วไป
ในอีกด้านหนึ่งตรงข้ามกับร้านค้าตามแหล่งท่องเที่ยว ร้านค้าริมทางทั่วไปที่กระจายตัวอยู่ทั่วเมืองกลับไม่ได้การยอมรับที่ดีเท่าไหร่นัก เนื่องจากร้านจำพวกนี้ส่วนมากไม่ได้ขึ้นชื่อหรือเป็นที่น่าจดจำเท่าไหร่นัก บวกกับการอยู่แบบไร้กฎระเบียบที่ชัดเจนทำให้ภาพจำของร้านพวกนี้มักจะเป็นร้านราคาถูกที่ไม่ได้สร้างคุณค่าอะไรให้แก่บริบทโดยรอบ ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นร้านผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นล้วนเข้าไปจับจ่ายใช้สอยอยู่เป็นประจำ ร้านเหล่านี้เองที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ทางสังคมของคนทั่วไป ด้วยความที่ร้านตั้งกระจายอยู่ทั่วเมืองทำให้ผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยได้สะดวก ราคาถูก จึงทำให้ร้านประเภทนี้ยังคงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมแก่ผู้คนที่ไม่ได้รายได้สูงมากนัก ซึ่งร้านพวกนี้เองช่วยทำให้เมืองเกิดความหลากหลายทางการใช้จ่ายมากขึ้น
.
ขณะเดียวกันด้วยความที่ร้านค้าริมทางเกิดขึ้นมาโดยผู้ค้าที่ยึดเอาพื้นที่สาธารณะริมทางเท้าไปใช้โดยไม่ถูกหลักเกณฑ์ ทำให้ร้านเหล่านี้ขาดการจัดการที่เป็นระเบียบ ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้สร้างความเดือดร้อนแต่ก็ถือว่าทำผิดกฎเกณฑ์ของสังคมสมัยใหม่ เป็นการเอาเปรียบร้านค้าที่ต้องจ่ายค่าเช่าที่ และสร้างความไร้ระเบียบให้พื้นที่เมือง ทำให้ทางการต้องออกมาจัดระเบียบความเรียบร้อยให้พื้นที่สาธารณะ โดยการจัดระเบียบในลักษณะนี้เองทำให้ความเป็นร้านค้าริมทางเริ่มหายไป จากการถูกจำกัด และกำหนดสิทธิในการใช้พื้นที่สาธารณะต่างๆ ทำให้ร้านค้าริมทางที่อยู่ในละแวกที่ไม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งค้าขายนั้น เริ่มหายไป แต่สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไป หากผู้ค้าเหล่านั้นไม่สามารถหาทางออกในการประกอบอาชีพสุจริตได้ การกลับมาขายริมทางก็คงเป็นทางเดียวที่พวกเขาจะดำรงชีวิตอยู่ในเมืองแห่งนี้ได้ ถึงแม้จะต้องเสี่ยงกับการกระทำผิดกฎก็ตาม
.
การแก้ปัญหาแบบกำปั้นทุบดินนี้เองได้สร้างผลกระทบมากกว่าแค่ผู้ค้าที่กระทำผิด แต่ยังสร้างผลกระทบต่อคนที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยร้านริมทางเป็นประจำอีกด้วย การไล่ที่ร้านค้าริมทางนั้นทำให้ทางเลือกของผู้ซื้อนั้นลดลงไปการแข่งขันทางการค้าในท้องที่ก็ลดลง ปัญหาเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาของรัฐนั้นไม่ได้มองลึกไปถึงผู้คนรายได้ต่ำที่มีกำลังซื้อไม่มากนัก และผู้ค้าที่ไม่ได้มีต้นทุนทางธุรกิจ แต่กลับให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมืองมากกว่า
จะเห็นได้ว่าภาพลักษณ์ของร้านริมทางที่อยู่ตามริมทางเท้าทั่วไปนั้นถูกมองอย่าง”เป็นรอง”กว่าร้านริมทางตามแหล่งท่องเที่ยวอยู่มาก และความไม่แน่นอนว่าจะถูกไล่ที่เมื่อไหร่ก็ทำให้พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างเป็นรองกว่าคนเมืองทั่วไป อีกทั้งเมื่อเกิดโรคระบาดก็ถูกมองเป็นต้นเหตุอันดับแรกๆ เพราะความที่ไม่มีการควบคุมความสะอาดอย่างถูกต้อง ทำให้คนเหล่านี้ต้องอยู่อย่างยากลำบาก ปราศจากความช่วยเหลือใดๆ
แผนผังแสดงความสัมพันธ์พื้นที่ร้านริมทางและที่พักอาศัย
ที่ทางของร้านค้าริมทาง
ตัวอย่างที่สะท้อนความเป็นรองของร้านริมทางที่ชัดเจนเช่นพื้นที่ที่อยู่ติดริมถนนบรมณีนาทเส้นนี้ เป็นแหล่งอยู่อาศัยที่มีหอพักและบ้านเรือนอยู่มากมาย มีร้านค้าริมทางเท้ามากมาย จะสังเกตได้ว่าบ้านเรือนของพ่อค้าริมทางจะอยู่ลึกเข้าไปตามแนวคลองระบายน้ำ เป็นย่านที่ไม่ได้น่าอยู่เท่าไหร่นัก จากการที่คลองมีขยะและกลิ่นเน่า อาจกล่าวได้ว่าเป็นย่านที่ถูกปล่อยปะละเลยมากพอสมควร และขาดการจัดการที่ดี เช่นเดียวกับบริเวณหน้าซอยที่เต็มไปด้วยร้านค้าริมทางมากมายที่ถูกตราหน้าว่าเป็นร้านเถื่อน ปะปนอยู่ร่วมกับร้านค้าปกติไปจนแยกไม่ออก ซึ่งการอยู่ร่วมกันในลักษณะนี้ก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นการเอาเปรียบเจ้าของที่หรือไม่ โดยร้านที่จับกลุ่มกันวางขายก็มีการจัดระเบียบกันเองในภายในผู้ขายอีกด้วย มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน จัดการพื้นที่เก็บของ พื้นที่ฝากร้านใกล้ๆกัน เพียงโต๊ะตั้งขายของ และเก้าอี้นั่งคนขาย ส่วนมากมักจะเป็นอาหารปรุงสุก พร้อมทานแล้ว มีบ้างที่เป็นเตาถ่าน เตาปิ้ง ย่าง ซึ่งก็ไม่ได้ต้องการการปรุงที่ยุ่งยากอะไร
โดยร้านริมทางมักจะมี 3 ลักษณะคือ 1.ร้านที่ตั้งหน้าบ้านตัวเอง 2.ร้านประจำถิ่น 3.ร้านรถเข็น
1.ร้านที่ตั้งหน้าที่ดินตัวเอง 2. .ร้านประจำถิ่น 3.ร้านรถเข็น
ร้านหน้าบ้าน
ในช่วงโควิดหลายร้านที่ไม่สามารถเปิดร้านขายได้ก็มมีการขยายตัวออกมาขายที่ริมทางเท้าหรือหน้าบ้านของตัวเอง เพื่อค้าขายต่อไป ซึ่งร้านในลักษณะอาจไม่ใช่กลุ่มที่ไร้เสียงซะทีเดียวแต่ก็วางขายอยู่เคียงค้างร้านริมทาง โดยมีลูกค้าประเภทเดียวกันกับผู้ค้าริมทาง ข้อจำกัดที่ร้านประเภทนี้สามารถหลบเลี่ยงได้ก็คือเรื่องเวลาปิดร้าน เพราะไม่ต้อการเวลาในการจัดเก็บร้านเยอะ และสามารถกำหนดเวลาเปิด - ปิดได้เอง
ร้านประจำถิ่น
ร้านประจำถื่นเป็นร้านประเภทที่ตั้งอยู่บนที่สาธารณะบริเวณหนึ่งมานานจนถือเอกสิทธิ์เป็นถิ่นฐาน ของตนไปแล้ว ร้านจำพวกนี้มักเป็นจุดที่คนเดินทางเท้าผ่านบ่อย ใกล้จุด Node สำคัญๆ ตามแนวถนน เช่นออฟฟิศ อพาร์ทเมนต์ โดยการที่ตั้งอยู่อย่างกึ่งถาวรในพื้นที่สาธารณะทำให้เป็นที่จับตามองของตำรวจที่มักมาตรวจไล่ที่อยู่บ่อยๆตามระเบียบที่ออกมาจัดการพื้นที่ทางเท้าให้เป็นระเบียบ ล่าสุดจากการแพร่ระบาดโรคก็ได้มีคำสั่งปิดร้านอาหารข้างทางไปในที่สุด ทำให้ผู้ค้าจำพวกนี้ไม่มีรายได้เลยเนื่องจากการค้าขายริมทางเป็นอาชีพหลักที่ทำ ส่วนการย้ายไปขายออนไลน์เหมือนร้านอาหารทั่วไปแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะพวกเขาไม่ได้มีสินค้าอะไรที่โดดเด่นพอ ซึ่งตามปกติบรรดาพ่อค้าแม่ค้าต่างๆ ก็มีการจัดที่ทางกันเอง วางตารางขาย กำหนดวันขายกันอย่างเป็นระบบ ทำให้ไม่เกิดการทะเลาะแย่งพื้นที่ขายกันเอง
.
ร้านรถเข็น
ร้านรถเข็นเป็นร้านประเภทที่สามารถเข็นรถย้ายไปขายที่ต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม ร้านประเภทนี้จะมีต้นทุนในที่ขายที่ค่อนข้างต่ำ แต่จะไปให้ความสำคัญกับตัวสินค้าเอง จึงไม่ได้ไปอยู่ในระบบของร้านประจำถื่น ซึ่งทำให้บางวันต้องย้ายที่ขายบ้างเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ดีร้านประเภทนี้มักเป็นจุดสนใจของคนที่ผ่านไปมามากกว่าร้านตั้งประจำ เนื่องด้วยสินค้าส่วนใหญ่คือพวกของทานเล่นเช่น ถั่วต้ม ไส้กรอก ทำให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมามักจะหยุดแวะซื้อกันบ่อยๆ โดยร้านประเภทนี้ยังมีรูปแบบบางพวกที่มาเปิดตอนดึกๆอีก เช่นหมูปิ้งตีสาม ไส้กรอกป้าจิต เป็นที่โปรดปรานของพวกวัยรุ่นที่มาสังสรรค์กันในตอนกลางคืนบริเวณห้องพักต่างๆ ในละแวกนั้น ทำให้ตรอกซอกซอยในเวลากลางคืนเป็นพื้นที่ทางสังคมสำหรับพบปะพูดคุยกันไปโดยปริยาย ร้านแบบนี้เองจึงเป็นการสร้างคาแลคเตอร์ให้กับพื้นที่แสนธรรมดาในช่วงเวลาเฉพาะได้อย่างแยบยล
.
เสียงของผู้ค้าริมทาง
จากการลงพื้นที่สำรวจบริเวณร้านค้าริมทางเท้าย่านปิ่นเกล้านั้น ผมได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปสำรวจวิธีการค้าขายของผู้ค้า พบว่ามีการจัดการวางแผนเป็นอย่างดี โดยเล่าถึงการที่ต้องรับมือกับความไม่แน่นอนของเทศกิจที่มีการเรียกปรับเงินและไล่ที ห้ามขายแต่ก็ไม่ได้มีคำตอบในด้านอาชีพให้ว่าควรจะไปทำอะไร สุดท้ายมีการพูดคุยไกล่เกลี่ยกันจนสุดท้ายอนุญาตให้ขายได้ต่อไป แต่ต้องเลิกขายเป็นครั้งๆ เมื่อนายมาตรวจแสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของอาชีพค้าขายริมทาง ถึงกระนั้นพ่อค้าแม่ค้าหลายคนก็เลือกที่จะขายต่อไปด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดของแต่ละคนที่อาจไม่ได้มีทางเลือกมากนั้น
“ผมค้าขายมาทั้งชีวิต จะให้ไปทำอาชีพอื่นคงเป็นไปไม่ได้”
ลุงพลเป็นพ่อค้าขายข้าวขาหมูในละแวกนี้ได้สี่ห้าปีแล้ว ก่อนหน้าที่จะมาขายก็ได้ประกอบอาชีพในลักษณะเดียวกันมาก่อน แต่เมื่อตอนรัฐประหารปี 57 ได้มีการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 44 เพื่อจัดระเบียบทางเท้า ทำให้ลุงต้องย้ายจากที่เดิมออกมาในละแวกนี้แทน ซึ่งก็ยังโดนไล่ที่อยู่บ่อยๆ แต่ก็ได้เจรจากันไปจนทำให้ไม่โดนไล่ที่แต่ต้องจ่ายค่าปรับแทน ซึ่งก็ไม่ได้มีทางออกที่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่ดี ยิ่งด้วยการระบาดโควิดทำให้มีระเบียบฉบับใหม่ออกมาอีก ต้องถูกสั่งปิดไปเป็นอาทิตย์ เงินเยียวยาที่ได้มาก็พอทำให้อยู่ได้ แต่เมื่อผ่านไปเดือนนึงก็จำเป็นจะต้องออกมาขายอีกถึงแม้ลูกค้าจะน้อย และเสี่ยงต่อการติดโรคแต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว
ลุงพลเล่าถึงขึ้นตอนการเปิด-ปิดร้านว่า ตอนเช้าตัวเองจะขี่มอเตอไซค์มาแต่ตัว แล้วจะไปหยิบอุปกรณ์ในการขายที่ล้างเก็บไว้ ณ ที่จอดรถหลังธนาคาร แล้วเอามาตั้งตรงริมฟุตบาทที่ประจำ จากนั้นจะมีรถเอาอาหาร อุปกรณ์ต่างๆ มาส่งซึ่งก็คือขาหมูชิ้นใหญ่ๆที่ผ่านการปรุงแล้ว มาจัดแจงใส่ตู้กระจกใสพร้อมติดชื่อเมนู ราคาไว้ ส่วนพวกผักเคียงก็จะไปเอาจากร้านขายผักข้างเคียงซึ่งรับมาจากตลาดอีกที ลุงพลได้ใช้พื้นที่หน้าตู้เอทีเอ็มที่ธนาคารบัวหลวงมาเป็นพื้นที่หน้าร้าน ด้านหลังมีรั้วเตี้ยและสวนหย่อมอยู่ทำให้ไม่ได้ไปเบียดเบียบทางเดินใคร ลุงพลทำอาชีพค้าขายมาตั้งแต่เด็กๆ ไม่ได้เรียนหนังสือ เมื่อก่อนขายอยู่ต่างจังหวัดและได้เข้าเมืองมาเมื่อแก่ตัวลง ลุงเล่าว่าปัจจุบันอายุได้ 50 กว่าๆ แล้วให้ไปเริ่มต้นหางานอื่นๆทำก็ทำไม่เป็นแล้วดังนั้นถึงจะมาไล่แค่ไหนก็คงต้องหาทางขายให้ได้ต่อไป โดยลุงคิดว่าเขาไม่ไล่ไปก็ดีแค่ไหนแล้ว
.
“ไม่เคยคิดมาก่อนว่าวันนึงต้องมาขายในที่แบบนี้”
ร้านข้าวไข่เจียวเป็นร้านหน้าใหม่ในละแวก ต่างจากร้านขาหมู ร้านนี้ขายโดยพี่สาว 2 คนที่ดูเหมือนจะไม่ได้มีอายุเยอะนัก โดยพวกเขาไม่ได้ทำอาชีพนี้ค้าขายริมทางเป็นหลัก หากแต่ทำร้านกาแฟมาก่อนแต่จากโรคระบาดทำให้ต้องปิดตัวลง การมาขายของริมทางจึงเหมือนเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะยังสร้างรายได้ ด้วยสภาพเศรษฐกิจช่วงนี้ได้บีบบังคับพวกเขาที่ไม่สามารถประกอบอาชีพอื่นๆได้ การมาขายข้าวริมทางจึงเป็นทางออกหนึ่งที่ทำให้เขายังชีพอยุ่ในเมืองได้ แต่ก็เป็นอาชีพที่ขาดความแน่นอนและการคุมครองจากรัฐ
.
“ป้ามีแค่นี้แหละลูก มันก็พออยู่ได้”
ป้าจิตเป็นหนึ่งในร้านรถเข็นที่นิยมมากในย่านนี้ มีจุดเด่นจากการที่เริ่มขายค่อยข้างดึก ป้าจิตอาศัยอยู่ในละแวกนี้จึงทำให้การเข็นมาขายนั้นง่าย ในช่วงโรคระบาดป้าจิตถูกบอกให้เลิกขายภายใน 3 ทุ่ม แต่ตำแหน่งที่ตั้งของร้านนั้นหลบลึกเข้ามาในซอย ทำให้สามารถขายเกินช่วงล็อคดาวน์ได้ในช่วงโควิด ซึ่งเวลาขายจะน้อยลงเป็นอย่างมาก บวกกับลูกค้าก็จะน้อยลง ทำให้เสียรายได้จากไปเกินร้อยละ 45 จากเวลาปกติ ป้าจิตเป็นร้านเล็กๆ ที่สร้างพื้นที่ทางสังคมที่สำคัญแก่คนในพื้นที่ เป็นจุดนัดพบกันสำหรับบรรดานักศึกษาที่พักอยู่ในละแวกนั้น เป็นหนึ่งในร้านค้าริมทางที่มีบทบาทที่สำคัญแก่เมือง แม้จะเป็นร้านรถเข็นที่ไม่ได้มีที่ทางขายที่ชัดเจนแต่ด้วยตัวป้าจิตเองทำให้คนอยากมาซื้อมาพูดคุยกับแก เรียกได้ว่าป้าจิตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตใครหลายๆ คนที่อาจจะต้องทำงานตอนกลางคืนและอยากออกมาเดินพักผ่อนคลายเพื่อพร้อมลุยงานต่อก็ได้
.
“ขายกลางคืนมันไม่ค่อยมีคู่แข่ง คนก็จำเราได้”
ลุงเหวงแป็นรถเข็นขายหมูปิ้งที่จะเริ่มขายตั้งแต่ตีหนึ่งไปยันเช้าของอีกวัน เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กในซอบจากการที่วัยรุ่นเที่ยวกลางคืนจากละแวกรอบๆ มักจะมาแวะตลอดทั้งคืน โดยร้านลุงเหวงจะตั้งหน้าซอย 19 ทำให้เป็นที่สังเกตได้ง่ายจากรอบๆ ด้วยเวลาขายแบบโต้รุ่งทำให้ลุงเหวงได้รับผลกระทบจากการเคอร์ฟิวอย่างมาก เพราะไม่สามารถตั้งร้านได้เลย ทำให้ขาดรายได้ทั้งหมด ลุงเหวงมีภรรยาที่ทำอาชีพค้าขายเช่นกันโดยปกติจะตั้งร้านในช่วงเช้าต่อกันจากลุงเหวง ซึ่งการขายของในเวลากลางวันจะต่างจากกลางคืนเป็นอย่างมากด้วยกลุ่มลูกค้าที่ต่างกันทำให้สร้างรายได้ได้น้อยกว่ามากๆ ซึ่งจนถึงเวลาปัจจุบันเมื่อเทียบกับป้าจิตที่ได้ผ่อนปรนสามารถขายได้เป็นเวลานานขึ้น แต่หมูปิ้งลุงเหวงก็ยังไม่มีวี่แววจะกลับมาขายได้อีกครั้ง
.
การแก้ปัญหาในอนาคตของร้านริมทาง
ร้านค้าริมทางมีความสำคัญต่อเมืองอย่างมาก ถึงแม้ร้านเหล่านี้จะไม่ได้มีชื่อเสียงหรือสร้างอัตลักษณ์ใหม่ใดๆ ให้แก่ย่านเหมือนร้านขึ้นชื่อดังๆ ตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ แต่ร้านเหล่านี้ช่วยสร้างพื้นที่ทางสังคมที่แฝงตัวไปกับชีวิตประจำวันเราได้อย่างแยบยล ไม่ว่าจะเป็นเวลากลับเข้าที่พักในเวลาเลิกงาน เที่ยว หรือทำกิจกรรมอะไร ร้านริมทางก็เป็นจุดแวะพักให้คนได้เสมอ แต่ถึงกระนั้นร้านค้าเหล่านี้กลับถูกมองข้ามจากภาครัฐและคนนอกพื้นที่นั้นๆ ยิ่งในช่วงโควิดการประกาศห้ามขายและมาตรการเยียวยาก็เป็นหนึ่งในสัญญาณที่บ่งบอกว่าคนไม่ให้ความสำคัญกับร้านประเภทนี้ และเหตุนี้เองทำให้ร้านต่างๆ ต้องดิ้นรนขายของแบบนอกกฎหมายซึ่งสร้างความไม่แน่นอนให้แก่ผู้ค้าขาย ซึ่งเป็นความจริงที่น่าเศร้ามากเมื่อคำนึงถึงสิ่งที่ร้านค้าริมทางสร้างพื้นที่ทางสังคมให้แก่เมืองได้ขนาดนี้ เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันประชากรชนชั้นกลางส่วนใหญ่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างสังคมเมืองสมัยใหม่ที่มีความหลากหลายและทำให้เมืองมีชีวิต
.
แต่ในขณะเดียวกันผลเสียที่ร้านริมทางได้สร้างไว้ก็มีมากมาย ทั้งการใช้พื้นที่สาธารณะอย่างไร้สำนึก สร้างความสกปรกให้กับทางเท้า เบียดเบียนพื้นที่สาธารณะ การควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสิ่งที่ขาย อีกทั้งยังถูกมองเป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิดได้อีก ดังนั้นการจัดระเบียบจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องทำ แต่ก็ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ จัดการให้เป็นที่เป็นทางโดยคำนึงถึงวิถีชีวิตของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายด้วย
ดังนั้นการพัฒนาเมืองต่อไปก็ควรที่จะต้องยอมรับในวิถีของเมือง ซึ่งเต็มไปด้วยความแตกต่าง ความขัดแย้ง ความไม่มีระเบียบ ให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ เพื่อให้ผู้คนสามารถแสดงตัวได้อย่างอิสระ โดยต้องปฏิบัติต่อพ่อค้าริมทางให้เหมือนกับผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ ไม่ถูกมองว่าเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย ยึดพื้นที่ทางเท้าไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ช่วยเพิ่มคุณค่าของร้านค้าริมทาง ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ร้านขายของราคาถูก มีศักดิ์ศรีพอที่จะทำอาชีพอย่างสุจริต ไม่ต้องคอยหลบๆซ่อนๆจากภาครัฐที่มาตรวจสอบ และเมื่อเราสามารถยอมรับสภาพเมืองในปัจจุบันได้ หนทางในการพัฒนาเมืองที่สร้างประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่ายก็ไม่ใช่เรื่องยาก
Comments