top of page
รูปภาพนักเขียนคิดอย่าง

การชุมนุมของผู้ไร้เสียง ณ แยกดินแดงแดนสมรภูมิ

อัปเดตเมื่อ 2 ธ.ค. 2564

โดย J.Pag


 

#คิดอย่างเจอนัล นักหัดเขียน ss.2

“ผู้ไร้เสียงในสถานการณ์ COVID”


 

“ผมคิดว่าเขาคิดว่าเราก่อความวุ่นวาย คิดว่าเรามาทำอะไรไร้สาระ ก่อความวุ่นวาย สร้างความเดือดร้อน
แต่เรามาเพื่อพูดสิ่งที่พวกเราอยากจะพูด
แต่พูดไม่ได้ เอ่ยก็โดน ทำอะไรก็โดน ไม่สามาถพูดถึงพวกเขาได้” [1]

นี่คือเสียงความคับแค้นใจของเยาวชนที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมกล่าวถึงมุมมองของบุคคลทั่วไปที่มีต่อกลุ่มเยาวรุ่นทะลุแก็ส และเป็นเสียงที่แสดงถึงความต้องการการเปลี่ยนแปลงแต่สิ่งที่ได้รับกลับมามีเพียงความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซ้ำยังไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จากผู้มีอำนาจ นับตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาปี 2564 เป็นต้นมาก็มีการชุมนุมแทบทุกวัน โดยเฉพาะช่วงเย็นบริเวณแยกดินแดงมีการประทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและกลุ่มฝ่ายกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) รายวันและมีการจับกุมผู้เข้าร่วมชุมนุมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการชุมนุมนี้เน้นการประเชิญหน้าแบบปะทะ-ตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ


ในช่วงเวลานั้นฉันได้มีโอกาสได้ไปมีส่วนร่วมการชุมนุมนี้กับพี่สาว พี่สาวของฉันเป็นบุคคลที่มีอุดมการณ์เดียวกันกับผู้ชุมนุมและได้มีส่วนร่วมกับการชุมนุมแยกดินแดงบ่อยครั้งแม้จะไม่ได้เป็นคนในพื้นที่ พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าว จากการลงพื้นที่หลายต่อหลายครั้งทำให้ได้รับรู้ถึงข้อมูลอีกด้านเกี่ยวกับระบบโครงสร้างของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ประกอบไปด้วยกลุ่มน้อยใหญ่จากหลากหลายพื้นที่, องค์ประกอบและบทบาทของกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้สนับสนุนการชุมนุมอย่างหน่วยปฐมพยาบาล รถเข็น/รถกระบะขายหรือแจกอาหาร, ความสัมพันธ์ของการใช้พื้นที่และการเคลื่อนไหวของแต่ละฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม ณ แยกดินแดงแห่งนี้ ภายใต้เงื่อนไขของช่วงเวลาและกฎหมายพรก.ฉุกเฉิน จึงได้นำประสบการณ์ที่ศึกษาจากการลงพื้นที่จริงมาวิเคราะห์และถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงการใช้พื้นที่บริเวณแยกดินแดงในการชุมนุมของกลุ่มผู้ไร้เสียงและกลุ่มผู้สนับสนุนการชุมนุม ที่คนภายนอกเห็นพื้นที่แห่งนี้เป็นเพียงพื้นที่อันตรายที่เกิดจลาจลแทบทุกวันเพียงเท่านั้น


-----------------------------


แยกดินแดง สมรภูมิที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ มีต้นกำเนิดจากกลุ่มคนที่พักอาศัยที่ ‘แฟลตดินแดง’ ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยที่ผันเปลี่ยนเป็นแหล่งโควิด ผู้ที่พักพิงที่นี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชาชนคนชั้นล่างและได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงวิกฤตการณ์โควิด ตกงาน ไร้รายได้ในการดำรงชีวิต ไร้โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ไร้ซึ่งเงินเยียวยาใดๆ มีผู้คนเจ็บป่วยล้มตายภายใต้คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ ส่งผลให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มเยาวชนชาวดินแดงและก่อตั้งกลุ่มผู้ชุมนุมในชื่อ ‘เยาวรุ่นทะลุแก๊ส’ เพื่อออกมาเรียกร้องสิทธิที่พึงได้รับ ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศในทางที่ดีขึ้น และแสดงออกถึงการต่อต้านความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อประชาชน โดยตั้งเป้าหมายที่จะเคลื่อนที่จากพื้นที่แยกดินแดงใต้ทางด่วนไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นบ้านและที่ดินของพล.อ.ประยุทธ์บนถนนเส้นวิภาวดีรังสิต เพื่อเสียงของกลุ่มคนเหล่านี้ได้ไปถึงผู้มีอำนาจได้รับรู้และรับผิดชอบในความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ระบบการศึกษาในสังคมไทย และการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยให้นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันหรือพล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากหน้าที่


“ในจุดเริ่มต้น เขาไปกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกราชประสงค์ แยกอโศก แต่ตอนท้ายการไปแสดงออกในจุดต่างๆ ที่เขาแสดงออกกันมา ไม่ได้รับการตอบรับ ทุกคนก็มองว่าบ้านผู้นำ ท่านพักอยู่ตรงไหน

ก็รู้ว่าพักอยู่ที่กรมทหารราบที่ 1 ตรงถนนวิภาวดี ทุกคนก็เลยมุ่งเป้าว่าถ้าอย่างนั้นมาเรียกร้อง มาแสดงออกที่บริเวณหน้าบ้านพักนายกฯ” [2]

.

“เราแค่มาออกเสียงร้องเรียน เราไม่ได้อยากจะตีกับเขา แต่เขาเป็นฝ่ายที่กระทำกับเราก่อน

ถ้าเราไม่ตอบโต้ก็เหมือนเราโดนฟรีๆอะพี่.. มาให้เขายิงเล่น มาตีเล่น”


-----------------------------



การชุมนุมจะเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงประมาณ 4 โมงเย็นเป็นต้นไป ณ แยกดินแดงใต้ทางด่วน เป็นตำแหน่งที่รวมพลและหลีกหนีกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้ง่าย เพราะสามารถเข้าพื้นที่ชุมชนดินแดงหรือขึ้นแฟลตดินแดงได้สะดวก เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่มาชุมนุมมักจะเป็นคนจากดินแดงจึงชำนาญพื้นที่ระแวกนี้เป็นพิเศษ รู้จักซอกซอยทางหลบหนีเป็นอย่างดี การรวมกลุ่มของผู้ชุมนุมในจุดนี้เพื่อมุ่งหน้าไปยังบ้านของพล.อ.ประยุทธ์ บนถนนเส้นวิภาวดีรังสิต การจะมุ่งหน้าไปที่แห่งนั้นได้จำเป็นต้องผ่านตู้คอนเทนเนอร์ของกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนที่ยกมาปิดกั้นเส้นทางไว้ตั้งแต่ในช่วงเดือนกันยายน และถูกเคลื่อนย้ายในเดือนสิงหาคมมาตั้งบริเวณกรมดุริยางค์ทหารบกก่อนทางขึ้นทางด่วน เหตุผลที่เคลื่อนย้ายคาดว่าเป็นเพราะต้องการขยายพื้นที่ในการควบคุมตัวผู้ชุมนุมบนถนนเส้นวิภาวดีรังสิตให้ได้มากยิ่งขึ้น และเนื่องจากผู้ชุมนุมอยู่ถนนใหญ่ไม่สามารถข้ามถนนหรือวิ่งย้อนหลบหนีเข้าแฟลตดินแดงได้ง่ายๆ


กลุ่มผู้ชุมนุม มาจากการรวมตัวของมวลชนและรถจักรยานยนต์จากกลุ่มคนเล็กๆหลายๆ แห่งประกอบไปด้วยกลุ่มคนในชุมชนดินแดง, กลุ่มสถาบันอาชีวะ, เพื่อนต่างสถาบัน และจากที่อื่นๆ โดยกลุ่มคนเหล่านี้มีวิธีการสื่อสารข่าวสารการชุมนุมแบบปากต่อปากและบนโซเชียลมีเดีย อุปกรณ์หลักในการร่วมชุมนุมเพื่อตอบโต้กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐนั้นมีปะทัดยักษ์, หนังสติก, ระเบิดปิงปอง, ดินปีนขย่ำกับกองก้อนหิน และ มีอุปกรณ์ป้องกันตัวเองจากแก๊สน้ำตา


“ผมยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ผมต้องการแค่ป้องกันตัวไม่ให้เขามาทำร้ายเรา

ถ้าพวกผมไม่ทำ พวกเขาก็ต้องยิงผม พวกเขาก็ตีผม กระทืบผม

ถึงผมจะโดนจับไปก็ดี แต่แม่งก็ตีผมกระทืบผมในสน.อยู่ดี”


โดยอุปกรณ์ที่กล่าวข้างต้นเป็นสิ่งของที่ผู้ชุมนุมแต่ละกลุ่มนำมาใช้และแบ่งปันกันเอง ไม่ได้มีการแบ่งหน้าที่การผลิตหรือหาอุปกรณ์อย่างชัดเจน


“เด็กกลุ่มนี้เป็นการร่วมตัวแบบไม่มีแกนนำ พอไม่มีแกนนำมันก็ควบคุมไม่ได้

พอควบคุมไม่ได้มันก็จะเกิดความวุ่นวายแบบนี้

มันเป็นการรวมตัวของเด็กที่พ่อแม่เขาประสบปัญหาเรื่องโควิด อะไรๆมันก็บวกกันเข้าไปหมด

นี่คือปัญหาที่เขาออกมาต่อสู้” [3]


แม้การชุมนุมนี้จะไม่มีแกนนำ แต่ตลอดการปะทะจะมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งคอยรายงานสถานการณ์ตลอดการชุมนุมผ่านเครื่องเสียงตั้งแต่เริ่มจนจบการชุมนุมท่ามกลางกลุ่มผู้สื่อข่าวที่คอยถ่ายทอดสดอยู่ที่เกาะกลางถนนแยกดินแดงใต้ทางด่วน


ในขณะที่เกิดสมรภูมินั้นหน่วยอาสาปฐมพยาบาล ‘People for people’, ร้านค้ารถเข็น และรถกระบะแจกอาหารก็เริ่มทะยอยเข้ามาตั้งเต็นหาที่ทางของตัวเองบริเวณตลอดแนวเส้นถนนดินแดงฝั่ง IT Management CO. ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับแยกดินแดงที่มีการปะทะกัน ข้อดีของการประจำอยู่ ณ บริเวณนี้นอกจากอยู่ใกล้ผู้ชุมนุมสามารถคอยสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ชุมนุมได้ทันท่วงทีแล้ว ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินหรืออันตรายก็สามารถเคลื่อนย้ายออกได้ทันทีไม่ฝ่าพื้นที่ที่มีการปะทะหรือจลาจลเพราะการปะทะมักจะเกิดขึ้นแค่บนถนนเส้นวิภาวดี, แยกดินแดง และเขตชุมชนแฟลตดินแดงเท่านั้น ด้วยเหตุนี้พื้นที่นี้จึงเป็นหนึ่งพื้นที่ที่ยืดหยุ่น ผู้ชุมนุมหาตำแหน่งเต็นหรือร้านอาหารได้ไม่ยากเนื่องจากตั้งอยู่บริเวณนี้เป็นประจำ และหลีกเลี่ยงอันตรายได้เป็นอย่างดี


หน่วยอาสาปฐมพยาบาล ‘People for people’ เริ่มตั้งเต็นตั้งแต่ม็อบเริ่มจนกระทั้งม็อบยุติหรือสลายการชุมนุม โดยตำแหน่งที่ตั้งของเต็นท์จะอยู่หัวมุมแยกดินแดงหรือสักตำแหน่งตลอดแนวเส้นถนนดินแดงฝั่ง IT Management CO. ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ กลุ่มคนเหล่านี้มีคุณตู่-ชาญชัย เป็นหัวหน้ากลุ่มปฐมพยาบาล People for people พวกเขารวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มปฐมพยาบาลเพราะการชุมนุมนี้ไม่มีทีมแพทย์ลงพื้นที่ เมื่อเด็กได้รับบาดเจ็บจะติดเรื่องอายุ พอเจ็บก็จะส่งโรงพยาบาลเลยไม่ได้ กลุ่มอาสานี้ก็ดูว่าปฐมพยาบาลให้ก่อนได้มั้ย ดูว่าเคสหนักมั้ย ถ้าหนักก็ดูแลให้พ้นวิกฤติก่อนแล้วค่อยส่งไปโรงพยาบาล เวลามีคนเจ็บในพื้นที่ก็จะส่งมาที่นี่ก่อน คุณชาญชัย หัวหน้ากลุ่มปฐมพยาบาล People for people เล่าให้ฟังว่า


“เราเห็นว่าไม่มีทีมแพทย์ เราก็เลยตั้งกลุ่มขึ้นมา น้องๆอาสาหลายคนก็มาอยู่ด้วยกัน ช่วยรักษาปฐมพยาบาลคนที่บาดเจ็บ เพราะเจ้าหน้าที่ร่วมกตัญญูเขาจะไม่ทำเบื้องต้น ทำให้เกิดปัญหา คือ เด็ก จะติดเรื่องอายุ พอเจ็บก็จะส่งโรงพยาบาลเลยไม่ได้ เราก็ดูว่าปฐมพยาบาลให้ก่อนได้มั้ย ดูว่าเคสหนักมั้ย ถ้าหนักก็ดูแลให้พ้นวิกฤติก่อนแล้วค่อยส่งไปโรงพยาบาล เวลามีคนเจ็บในพื้นที่ก็จะส่งมาที่นี่ก่อน”

ชาญชัยบอกกับผู้สังเกตการณ์ว่า ช่วงหลังๆ ตำรวจจะมาขอความร่วมมือให้ถอนออกจากพื้นที่ก่อนสามทุ่ม ทีมพยาบาลก็ปฏิบัติตามนั้น โดยที่จะเก็บเต็นท์ออกแล้วใช้วิธีให้อาสาพยาบาลแยกย้ายกันไปตามจุดต่างๆ เขายืนยันว่า ทีมอาสาพยาบาลจะออกจากพื้นที่เมื่อการชุมนุมเลิกแล้วเท่านั้น คุณชาญชัยบอกว่า


“ที่เรามาทำวันนี้ก็คิดว่ากำลังสร้างเมล็ดพันธุ์ใหม่ขึ้นมา เผื่อเราเป็นอะไรก่อน

ไม่รู้ว่ามันจะจบที่รุ่นเราหรือเปล่า เราสร้างเมล็ดใหม่ๆขึ้นมาเพื่อให้เค้าทำงานเป็น

ให้เค้าโตมาแทนเรา การโค่นไม้ใหญ่ต้องใช้เวลา เราเป็นรุ่นใหญ่แล้วก็ต้องดูแล ต้องสอน

เด็กที่มาช่วยเยอะนะ ของกลุ่มพี่เกือบ 20 คน น้องๆอาสาที่รวมกันก็อีก 20 คน

เราก็สอนให้เอาตัวรอดในม็อบ ทำงานให้เป็น ถ้าพี่ไม่เป็นตัวหลักแล้วใครจะสอนน้องๆ เหล่านี้” [4]


ร้านค้ารถเข็นและรถกระบะแจกอาหาร เริ่มตั้งร้านตั้งแต่ม็อบเริ่มไปสักระยะและกลับเมื่อถึงเวลาเคอร์ฟิว (17:00 – 21:00 น.) โดยจะมีรถกระบะของกลุ่มกระเทย แม่ลูกอ่อน, รถกระบะข้าวไข่เจียวเพื่อประชาธิปไตย, ร้านรถเข็นคุณลุงขายน้ำอ้อย, ร้านรถเข็นลุงขายโตเกียว และร้านรถเข็นขายผลไม้ โดยตำแหน่งที่ตั้งจะอยู่สักตำแหน่งตลอดแนวเส้นถนนดินแดงฝั่ง IT Management CO. บางทีก็มีรถกระบะแจกอาหารบางคันไปจอดขายที่เกาะกลางแยกดินแดงใต้สะพานลอยที่เป็นจุดรวมพลของผู้ชุมนุม เพื่อความสะดวกต่อปากท้องผู้ชุมนุมในช่วงเวลาที่ต้องการพักผ่อนก็สามารถรับหรือซื้อของกินตามจุดต่างๆ ที่มีร้านตั้งอยู่ได้ในทันที บางรถกระบะแจกอาหารก็จะมีการรายงานสถานการณ์การชุมนุมระหว่างแจกอาหารไปด้วย ซึ่งผู้ที่มารับอาหารไม่ได้มีเพียงแค่กลุ่มผู้ชุมนุมเพียงเท่านั้น จะมีผู้อยู่อาศัยระแวงนั้นพาลูกหลานมารับอาหารด้วยเช่นกัน นอกจากร้านค้าที่มาขายเป็นประจำแล้วก็ยังมีกลุ่มคนนอกพื้นที่มาคอยสนับสนุนเรื่องอาหารเช่นกัน


“ก็น้องเขาไล่ประยุทธ์ไง ป้าก็อยากไล่ประยุทธ์ เพราะว่าอาชีพของป้าเลยจริงๆ

ป้าขายพวงมาลัยอยู่ศาลพระพรหม เอราวัณ อยู่มา 2 ปีแล้วไม่มีทัวร์ ป้าไม่ได้ขายเลย..

เด็กมันไล่ประยุทธ์ เราก็ช่วยเด็กมัน เผื่อประยุทธ์ไปแล้วอะไรมันจะดีขึ้น” [5]


เมื่อถึงช่วงเวลาสลายการชุมนุมหลังเคอร์ฟิว กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐนั้นจะเตรียมกำลังไว้รอช่วงเวลานี้ก็ออกตัวเพื่อจับกลุ่มผู้ชุมนุมทันที โดยมีสถานที่ประจำการอยู่สองตำแหน่ง คือ กรมดุริยางค์ทหารบกและสน.ดินแดง ส่วนการเคลื่อนไหวนั้นจะมาจากสามเส้นทาง คือ ทางอนุสาวรีย์, เส้นถนนดินแดง และเส้นถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อล้อมทั้งสามทิศทางและปิดช่องทางนี้ของผู้ชุมนุมทั้งทางระดับพื้นดินและอุโมงค์ใต้ดินใต้ดิน เริ่มต้นจากการที่กลุ่มเจ้าหน้ารัฐเคลื่อนพลต้อนผู้ชุมนุมจากเส้นวิภาวดีไปยังแยกดินแดง จากแยกดินแดงให้เข้าไปยังเขตชุมชนดินแดง ส่วนกลุ่มผู้สื่อข่าวจะย้ายตำแหน่งไปอยู่บริเวณหัวมุมถนนฝั่งตรงข้ามแฟลตดินแนวเพื่อดำเนินการถ่ายทอดสดอย่างต่อเนื่อง


“ประมาณสักเวลาสี่ทุ่ม มีโถมกำลังมา ดักข้างหน้า ดักขวา ดักซ้าย ผมก็สู้ สู้ด้วยของเท่าที่พวกผมมี พอจะหามาได้ มันยิงแก๊สน้ำตา ยิงปืน ยิงมามั่ว พวกผมก็สู้ไม่ได้ ก็ต้องถอย ถอยเข้าไปแอบในตึก” [6]


หลังจากที่กลุ่มเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจะยึดพื้นที่แยกดินแดง และจะเกิดการปะทะกันของทั้งสองฝ่ายในช่วงพื้นที่ระหว่างแยกดินแดงและเขตชุมชนดินแดง ในขณะเดียวกันจะมีกลุ่มเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนบางส่วนเคลื่อนพลเร็วอ้อมไปปิดล้อมผู้ชุมนุมจากอีกเส้นทางหนึ่ง เมื่อสถานการณ์ของผู้ชุมนุมเป็นรองกลุ่มเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน กลุ่มผู้ชุมนุมจะมีวิธีการหลบหนี โดยอาศัยความชำนาญพื้นที่หลบหนีเข้าซอกซอยทะลุต่างๆในชุมชนดินแดง เข้าแฟลตดินแดงเพื่อหลบหนีและมีการหลบหนีบนหลังคาบ้านเรือน เพื่อหนีออกจากการควบคุมตัวตำรวจ เดี๋ยวเหตุนี้จึงทำให้เกิดการไล่ล่า การยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางในเขตชุมชน ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความเสียหายและมีผู้บาดเจ็บจากลูกหลงมากมาย ดังที่เห็นได้จากข่าวหลายๆสำนัก จนกว่าความชุลมุนจะหมดไปพยาบาลอาสาและผู้สื่อข่าวบางกลุ่มจะยังคงกระจายอยู่จุดต่างๆในเขตชุมชนดินแดงเพื่อค่อยช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับบาดเจ็บและถ่ายทอดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนกว่าสถานการณ์จะสงบลงในค่ำคืนนั้นๆ


“ผมเห็นเด็กตัวเล็กๆ อะ โดนไฟฉายทุบ เด็กบางคนก็โดนรองเท้าคอมแบทเตะบ้าง ผู้หญิงโดนยิงบ้าง คนแก่แม่งเดินผ่านมันก็ยิง ใช้คำพูดว่านายสั่งมาๆ อย่างเดียว”

.

“ถ้ายิงเสร็จทำไมไม่ตั้งโต๊ะคุยกันกับเด็ก ไม่เห็นมีตัวแทนมาคุย มีแต่เป่าไมค์ ไล่กระทืบ ขี่รถชน” [7]


-----------------------------


ตลอดการชุมนุมตั้งแต่เริ่มรวมตัวกันจนถึงสลายการชุมนุมนั้น จะพบว่าการใช้พื้นที่รวมตัวของผู้ชุมนุมจะประจำที่แยกดินแดงใต้ทางด่วนเสมอเพื่อที่จะสามารถปะทะกับกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐและสามารถหลบหนีเข้าพื้นที่แฟลตดินแดงเพื่อเลี่ยงการควบคุมตัวจากเจ้าหน้าที่ได้ ในส่วนของกลุ่มผู้สนับสนุนต่อผู้ชุมนุมอย่างหน่วยอาสาปฐมพยาบาล ร้านค้ารถเข็นและรถกระบะแจกอาหาร จะอยู่บริเวณพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่นสามารถประจำตำแหน่งใดก็ได้ขึ้นอยู่กันสถานการณ์แต่ยังคงใกล้และพร้อมจะสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ชุมนุมได้เสมอ ทุกองค์ประกอบของการชุมนุมนี้ต่างมีกลวิธีการเคลื่อนที่และใช้พื้นที่ตามสถานการณ์ต่อช่วงเวลา ณ ขณะนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งในอนาคตอาจมีรูปแบบการใช้พื้นที่เปลี่ยนไปหรืออาจย้ายตำแหน่งการชุมนุมไปที่อื่น แม้รูปแบบการใช้พื้นในอนาคตอาจจะเปลี่ยนไปแต่สิ่งที่มั่นใจว่ายังคงอยู่คือความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ที่จะยังคงสนับสนุนซึ่งกันและกัน

สุดท้ายนี้การไม่ประนีประนอมและใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐต่อข้อเรียกร้องเพื่อการเปลี่ยนแปลงของประชาชน สร้างความโกรธและแรงกระตุ้นให้มีผู้ร่วมชุมนุมมากยิ่งขึ้น ความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำต่อประชาชนเพื่อปิดเสียงของประชาชน ได้สร้างความเจ็บปวดและคลาดชีวิตของคนเหล่านี้ การใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐใช้ไม่ควรถูกใช้โดยชอบธรรมต่อประชาชนภายใต้คำสั่งของผู้มีอำนาจ สิ่งนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงการลดทอนความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน ไร้สิทธิ ไร้เสียง ประวัติศาสตร์การคลาดชีวิตคนโดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรซ้ำรอยเดิมเช่นเดียวกับการชุมนุมเสื้อแดง ปี 53 ที่มีรูปแบบการเผชิญหน้าปะทะ - ตอบโต้ที่คล้ายคลึงกัน การเกิดชุมนุมและการปะทะของของเหล่าผู้ไร้เสียงอย่างกลุ่มเยาวรุ่นทะลุแก๊ส ณ แยกดินแดงจะยังคงดำเนินต่อไป จนกว่าเสียงของพวกเขาเหล่านี้จะถูกรับฟังและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศในทางที่ดียิ่งขึ้น


“ทุกสิ่งทุกอย่างมันถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง

เด็กเขาก็มาขอการเปลี่ยนแปลงเท่านั้นเอง”

.

"หากผู้นำแสดงความรับผิดชอบ เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น"

. "หากผู้นำของเราพัฒนาไปถึงจุดตรงนั้นได้ และให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน ว่าสิ่งที่คุณทำหรือว่าบริหารมา เขาพอใจหรือไม่พอใจ ทุกอย่างมันจะจบ" [8]

รายการอ้างอิง

[1] Sound of ‘Din’ Daeng prologue 2, https://www.youtube.com/watch?v=Y2FRv49f6Mo

[2] เสียงของคุณประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตดินแดง-ห้วยขวาง กทม.), ‘ดินแดง’ ดินแดนไม่ประนีประนอม, https://www.youtube.com/watch?v=FR1UvTcP7Ug

[3] เสียงของคุณชาญชัย (หัวหน้ากลุ่มปฐมพยาบาล People for people), Sound of ‘Din’ Daeng Prologue, https://www.youtube.com/watch?v=yY1knprbgIA

[4] นอกจาก แก๊สน้ำตา กระสุนยาง คฝ. และเยาวรุ่น แล้วมีอะไรอีก ที่สมรภูมิดินแดง?, https://freedom.ilaw.or.th/node/965

[5] ม็อบดินแดง ทำไมต้องรุนแรง?, https://www.youtube.com/watch?v=czVEnjXQ424

[6] Sound of ‘Din’ Daeng Prologue, https://www.youtube.com/watch?v=yY1knprbgIA

[7] Sound of ‘Din’ Daeng Prologue, https://www.youtube.com/watch?v=yY1knprbgIA

[8] เสียงของคุณประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตดินแดง-ห้วยขวาง กทม.), ‘ดินแดง’ ดินแดนไม่ประนีประนอม, https://www.youtube.com/watch?v=FR1UvTcP7Ug


 


ดู 41 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page