ชื่อเสียงเรียงนาม : ลักษณะเฉพาะของศาสนสถานเนื่องในศาสนาอิสลามลุ่มทะเลสาบสงขลา
อัปเดตเมื่อ 18 ก.พ. 2564
โดยสามารถ สาเร็ม
เผยแพร่เมื่อ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
กรณีศึกษาจากชุมชนแขกปลายน้ำคลองอู่ตะเภา ลุ่มทะเลสาบสงขลา
บ้านควน คือหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา บริเวณปลายน้ำคลองอู่ตะเภาที่กำลังจะไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา เป็นที่ตั้งบ้านเรือนของชาวมุสลิมที่เรียกตนเองว่า คนแขก สิ่งหนึ่งที่ต้องมีคู่กับหมู่บ้านชาวมุสลิมคือสถานที่สำหรับประกอบพิธีทางศาสนา ซึ่งบ้านควนนั้นถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เด่นชัดที่แสดงให้เห็นระบบของศาสนาสถาน และระบบความเป็นอยู่ของคนแขกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้ดี
เป็นที่ทราบกันที่ว่าศาสนาสถานทางศาสนาอิสลามนั้นเรียกว่า มัสยิด ซึ่งเป็นการเรียกตามภาษาอาหรับ แต่ในพื้นที่จะมีคำเรียกว่า สุเหร่า ซึ่งเป็นคำมลายู ทั้งสองนั้นใช้ในความหมายเดียวกัน จากการเก็บข้อมูลภาคสนาม พบข้อสังเกตว่า สุเหร่า นั้นเป็นคำที่ใช้มาแต่เดิมหมายถึงศาสนสถานที่สร้างด้วยไม้ส่วนมัสยิดนั้นเพิ่งมาเรียกภายหลังในยุคที่เริ่มมีการสร้างอาคารมัสยิดด้วยปูนซึ่งเกิดขึ้นในราวหลังพ.ศ. ๒๕๐๐ มาแล้ว
สุเหร่าหรือมัสยิดในอดีตนั้นจะมีการสร้าง นาซะ ไว้บริเวณทางเข้าด้านหน้า มีลักษณะเป็นหลา (ศาลา) ขวาง ส่วนของ นาซะ ซึ่งน่าจะกร่อนมาจากคำว่า มัดรอซะ ในภาษาอาหรับมีความหมายว่า โรงเรียน ใช้สำหรับเป็นพื้นที่ของการทำเรียนหนังสือ หรือใช้เป็นพื้นที่ทำบุญเช่น มูโลด
บาลาย ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบของศาสนสถานที่ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของคนในพื้นที่ ในแง่ของภาษาคำว่า บาลาย เป็นการเรียกตามภาษามลายูกลาง Balai และ บาแล ในภาษามลายูปตานี ทั้งนี้ในภาษาไทยมีคำว่า พาไล พะไล พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสภา ๒๕๕๔ ให้ความหมายว่า น. เรือนหรือเพิงโถง ต่อจากเรือนเดิมหรืออยู่ในบริเวณของเรือนเดิม ใช้เป็นที่นั่งเล่นหรือประโยชน์อื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่ห้องนอน, พาไล ก็ว่า.[๑]
บาลายนั้นแบ่งออกเป็น ๒ แบบคือ
๑. บาลายของปอเนาะ - ปอเนาะ คือสถาบันสอนศาสนาหรือที่เรียกกันในภายหลังว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ในพื้นที่จะมี บาลายของปอเนาะบ้านควน โรงเรียนส่งเสริมวิทยามูลนิธิ
๒. บาลายของหมู่บ้าน - ตามละแวกบ้านย่อยจะมีการสร้าง บาลายไว้สำหรับประกอบพิธีทางศาสนาเช่น การละหมาดห้าเวลาในหนึ่งวัน แต่บาลายจะไม่สามารถใช้ละหมาดวันศุกร์ได้ การละหมาดวันศุกร์จะต้องไปละหมาดร่วมกันที่มัสยิด บาลายจึงไม่มี มิมบัร หรือแท่นเทศนาธรรมเหมือนในมัสยิด ถือเป็นข้อแตกต่างสำคัญระหว่างบาลายกับมัสยิด
มัสยิด และบาลายในพื้นที่ปลายน้ำคลองอู่ตะเภา ลุ่มทะเลสาบสงขลาตอนล่าง
๑. บ้านควน ปัจจุบันอยู่ในหมู่ที่ ๕ ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลามีมัสยิดของหมู่บ้านชื่อว่า #มัสยิดบ้านควน ตามชื่อของหมู่บ้าน มีบาลาย ในหมู่บ้านสองหลังคือ #บาลายหน้าเสาธง ตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่าในบ้านหรือบนบ้าน กับ #บาลายบ้านใหม่
๒. บ้านควนใต้ ปัจจุบันอยู่ในหมู่ที่ ๓ ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จะมี #มัสยิดบ้านควนใต้ ในหมู่บ้านมี บาลายหนึ่งหลังเรียกว่า #บาลายสำโรง ในอดีตก่อนปี 2515 ชาวบ้านควนใต้จะไปละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดบ้านควน ส่วนวันอื่นจะละหมาดที่ศาลากลางหมู่บ้าน เมื่อมีคนจำนวนเพียงพอสำหรับจัดตั้งมัสยิดจึงตั้งมัสยิดขึ้นมา
๓. บ้าน(ควน)เหนือ ปัจจุบันอยู่ในหมู่ที่ ๗ ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีมัสยิดของหมู่บ้านชื่อมัสยิดบ้านเหนือ มี #ลาบายของปอเนาะบ้านควน(ปอเนาะโต๊ะครูแอ) และ #สุเหร่าทรายของพี่น้องทีนับถือสายตารีกัต (?) อีกหนึ่งหลัง
๔. บ้านควนหัวสะพาน ปัจจุบันอยู่ในหมู่ที่ ๗ ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในอดีตจะไปละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดบ้านเหนือ และจะใช้บาลายละหมาดในวันอื่น ๆ ภายหลังจึงมีการสร้าง #มัสยิดซีร๊อตตุ้ลมุสตากีนขึ้นมาประจำหมู่บ้าน มีบาลายตั้งอยู่ไม่ไกลจากมัสยิดมากนัก เรียก #บาลายหัวสะพาน ปัจจุบันไม่ใด้ใช้งานแล้ว จะใช้เฉพาะตอนทำบุญกุโบร์เท่านั้น และมีบาลายคตหม้อ(หัวทุ่ง) เพิ่งสร้างขึ้นไปนานมานี้
พอจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ทำให้เข้าใจระบบสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาของคนบ้านควน (คนแขกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ปลายน้ำคลองอู่ตะเภา) ทั้งนี้คนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลาตอนใน (คือคนแขกที่อยู่ลึกเข้าไปตอนในแถบเทือกเขาบรรทัด) จะไม่มีคำว่า บาลาย ใช้กันแต่จะใช้คำว่า นาซะ คำว่า นาซะ ของคนแขกตอนในหมายถึง อาคารที่อยู่หน้าสุเหร่ากับอาคารประกอบศาสนาที่อยู่ในปอเนาะ ซึ่งมีลักษณะตรงกันกับ บาลาย ที่ถูกใช้ในกลุ่มคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลานั่นเอง
ศาสนาสถานของคนแขกลุ่มทะเลสาบในพื้นที่อื่น
จากข้อมูลภาคสนามของผู้เขียนที่ได้ตะเวนไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนมีอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งให้ฉายาว่า นักซอกแซกวิทยาซึ่งบ้างครั้งอาจารย์ก็มาร่วมนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซซอกแซกไปด้วยกันก็หลายครั้งและต่อมาก็มีกลุ่มเล็ก ๆ ไว้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันจากการไปพบไปเจอสิ่งต่าง ๆ ตามหมู่บ้านที่ลงไปสำรวจและพบเจอ
มัสยิด นาซะ บาลาย ที่หลงเหลือในลุ่มทะเลสาบสงขลา
จากข้อมูลที่นำเสนอในบริบทของคนแขกบ้านควนซึ่งยังมีระบบศาสนถานครบทุกรูปแบบจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นระบบที่พบได้ในวงกว้างของลุ่มทะเลสาบสงขลา ผู้เขียนขอยกตัวอย่างดังนี้
๑. ”นาซะ” ในความหมายของอาคารขวางหน้ามัสยิดหรือสุเหร่า พื้นที่ที่พบมีดังนี้
๑.๑ มัสยิดยาบัลโรดเหร๊าะหม๊ะ บ้านหัวเขา(ใหญ่) ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาหมู่บ้านที่อยู่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยสมัยอยุธยาเมืองสงขลาที่หัวเขาแดง ตั้งอยู่บนภูเขาเรียกกันภายหลังว่าเขาโรงเรียน และเมื่อร้อยปีที่แล้วได้ย้ายลงมาสร้างหลังปัจจุบัน ปรากฏจารึกบนแผนไม้เป็นภาษามลายู (อักษรยาวี-ผู้เขียน) ประดับไว้ ณ ประตูทางเข้ามัสยิดด้านทิศตะวันออกจำนวน ๒ แผ่น มีใจความว่า
فربوتن هاري جمعة بولن شوال هجرة ١٣٣٦
“…(มัสยิดนี้) เริ่มสร้างวันศุกร์ เดือนเซาวัล ฮิจเราะห์ ๑๓๓๖…” [๒]
หลังปัจบันก็ยังมีส่วนของนาซะปรากฏอยู่ซึ่งมีลักษณะเป็นมุขยื่นออกมาส่วนของหน้าบันมีอักษรอาหรับประดิษฐ์อย่างสวยงามที่เรียกกันว่า “คอต” ประกอบไปด้วย ตรามูฮัมหมัดไขว้ ชื่อของคอลีฟะทั้งสี่คือ อาบูบักร อุมัร อุษมาน และอาลี และอายะอัลกุรอ่าน
๑.๒.มัสยิดยุมัลอิสลาม บ้านคูขุด ตำบลคูขุด อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นมัสยิดไม้หลังเดียวที่ยังเหลืออยู่บนคาบสมุทรสทิงพระ ด้านหน้ามีอาคารขวางเรียกว่า นาซะ
โต๊ะเเล๊ะ (นายเจ๊ะเเล๊ะ หมัดอาดั้ม : บ่าวทอง) เกิดที่บ้านคูขุด (อายุ ๗๑ ปี - ๒๕๖๔) ปัจจุบันอาศัยอยู่กับลูกที่บ้านชุมพลชายทะเล ,หมู่ ๑ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จ.สงขลา ให้ข้อมูลว่า
“…เมื่อท่านอายุประมาณ ๘ ขวบได้มีการซ่อมแซมทั้งสุเหร่าเเละนาซะ โดยกำลังหลักในการสร้างคือปะแก่(ปู่)ของชื่อแอ สุระคำแหง (เป็นโต๊ะบิลาของมัสยิด ผู้ทำหน้าที่ประกาศเมื่อถึงเวลาละหมาดคนแขกเรียกว่า กอบัง) แหน๊ะโหด สุระคำแหง (เป็นโต๊ะกาเต็บผู้เทศนาธรรมในวันศุกร์) และมีแหน๊ะเส็น เป็นอีหม่าม (แหนะ เป็นคำที่ใช้เรียกพี่หรือน้องของปู่ย่าตายาย ผู้เขียนพบว่าคนแขกที่อาศัยอยู่ในเกาะทะเลสาบสงขลาเช่นที่บ้านเกาะนางคำ เกาะหมาก ฯลฯ จะนิยมใช้คำนี้กันแต่คนที่อยู่ตอนในเขาบรรทัดใช้ในความหมายของทวด)
ได้ว่าจ้างช่างชาวไทยพุทธ คือช่างแก้ว เป็นคนบ้านวัดกลาง อ.สทิงพระ จังหวัดสงขลาเป็นผู้ทำหน้าที่ซ่อมแซมจนแล้วเสร็จดังปรากฎอยู่ในปัจจุบัน [๓]
๑.๓. มัสยิดร่อหมันอับหยาด หรือสุเหร่าบ้านทรายขาว ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา สุเหร่าบ้านทรายขาวเป็นมัสยิดทรงนูซันตารา มุงด้วยกระเบื้องดินเผา หน้าบันใต้หลังคาฝั่งทิศตะวันตก ปรากฏตัวเลขไทย ๒๔๘๐ และภายในอาคารมีจารึกปูนปั้น (?) ข้อความภาษาไทยว่า
“…ทำเสร็จวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๑ …”
และยังมีจารึกปูนปั้น (?) ภาษามลายู อักษรยาวี มีข้อความดังนี้
سوده تمام
فد سنه نبي
1367
อาเนาะ ปันตัย (นามแฝง) แปลได้ว่า “…สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี (ฮิจเราะฮ์) ของท่านนบี…” [๔]
ปัจจุบันฮิจเราะฮ์ที่ ๑๔๔๒ ดังนั้นสร้างเสร็จเมื่อ ฮิจเราะฮ์ที่ ๑๓๖๗ ดังนั้นนับจากวันที่สร้างเสร็จจนถึงตอนนี้มัสยิดมีอายุ ๗๕ ปี แต่จากจารึกภาษาไทยที่ว่า ทำเสร็จ ๒๔๙๑ เมื่อนำมาลบกับ ๒๔๘๐ ซึ่งผู้เขียนสันนิฐานว่าคือปีที่เริ่มสร้างสุเหร่าหลังนี้จึงใช้เวลาสร้างประมาณ ๑๑ ปีจึงแล้วเสร็จ จากข้อมูลภาคสนามของผู้เขียนโต๊ะ(ผู้สูงอายุ)ท่านหนึ่งในชุมชนให้ข้อมูลว่าสุเหร่าหลังเดิมจะอยู่ที่บริเวณที่ตั้งของโรงเรียนแขกในปัจจุบัน(โรงเรียนสอนความรู้พื้นฐานทางศาสนาอิสลามให้กับเยาวชน)
ส่วนนาซะนั้นเดิมถูกใช้เป็นที่เรียนหนังสือความรู้ทางศาสนา ใช้เป็นพื้นที่ทำบุญร่วมกันของชุมชนปัจจุบันก็ยังใช้งานอยู่แต่มีสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมคือหลังคามุงด้วยกระเบื้องแบบใหม่ไม่ใช่ดินเผาเหมือนตัวสุเหร่า
๑.๔. มัสยิดดารุสลามบ้านเขารักเกียรติ ตำบล กำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ สงขลา ซึ่งเป็นมัสยิดทรงนูซันตาราอีกหลังหนึ่งของลุ่มทะเลสาบสงขลาอายุประมาณ ๘๐ ปี ด้านหน้าของตัวอาคารสุเหร่ามีศาลาขวางที่เรียกว่า “นาซะ”
มะกอมก่อด้วยอิฐรอบกุโบร์ของผู้บริจาคที่ดิน ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของมัสยิด คือมะกอมของนายหมาน หีมมะหมัด รูปแบบเดียวกับมะกอมของขุนท่าชะมวง (สัน ฉางหวาง) ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณมัสยิดท่าชะมวง (ริมคลอง) สังเกตง่าย ๆ ว่าในเขตพื้นที่อำเภอรัตภูมิ เท่าที่รู้มีเพียงมัสยิด 2 แห่งเท่านั้นที่มีมะกอมตั้งอยู่ในบริเวณมัสยิด แสดงถึงความเก่าแก่ของชุมชนข้อมูลจากคนเฒ่าคนแก่เล่าว่า ราว 100 กว่าปีที่แล้ว
คนที่นี่อพยพมาจากทุ่งเลียบ (ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านห้วยโอน) ซึ่งห่างจากพื้นที่ปัจจุบันไม่มากนัก เล่ากันอีกว่าบริเวณนั้นมีผู้อาศัยทั้งพี่น้องแขกและพุทธไม่กี่ครัวเรือน มีหลักฐานอิฐดินปรากฏอยู่ แต่ปัจจุบันหายไปแล้วอันเกิดจากการปรับพื้นที่ปลูกยางพารา ยังไม่ทราบเหตุผลในการอพยพออกมาจากทุ่งเลียบ คาดว่าน่าจะเกิดโรคระบาด (ไข้ป่า /อหิวาตกโรค) ? เมื่ออพยพออกมาแล้วก็แยกย้ายกันไป คาดว่าคนพุทธย้ายไปอยู่ฝั่งวัดเขารักเกียรติ แต่ที่แน่ๆ มุสลิม 2 ตระกูลอพยพมาตั้งรกรากที่นี่ คือ ตระกูล ละกะเต็บ และหีมมะหมัด ซึ่งทั้งสองตระกูลเป็นเครือญาติกัน เริ่มต้นก่อตั้งประมาณ 10 ครัวเรือนในบริเวณรายรอบมัสยิด [๕]
สุเหร่าที่มีนาซะอยู่ด้านหน้าของสุเหร่าคือ สุเหร่าบ้านดอนขี้เหล็ก (ในบ้านใหญ่) ม.๕ ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาปรากฏอยู่ในภาพถ่าย ส่วนสภาพปัจจุบันมีลักษณะเป็นอาคารเชื่อมต่อกับตัวมัสยิดซึ่งผู้สูงอายุยังเรียกส่วนนี้ติดปากว่านาซะและยังใช้เป็นพื้นที่สำหรับรับประทาอาหารร่วมกันในงานทำบุญมูโลด (รำลึกถึงท่านนบี)หนึ่งปีจะมีหนึ่งครั้งที่นี่ยังใช้พานสำหรับยกสำหรับอาหารมาจากบ้านซึ่งบ้านคนแขกที่อื่น ๆ เปลี่ยนมาใช้ถาดกันหมดแล้วในปัจจุบัน
ทั้งนี้ผู้เขียนพบว่าที่บ้านคลองกั่ว ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลาซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ก่อนเข้าจังหวัดสตูลปัจจุบันมีนาซะ ด้านหลังของมัสยิดเป็นอาคารแยกไปต่างหาก เดิมก็ถูกสร้างไว้ที่ด้านหน้าของมัสยิด ภายหลังมีการรื้อแล้วนำไปสร้างไว้ในที่ดังกล่าวใช้สำหรับทำบุญมูโลดเป็นที่รับประทานอาหารร่วมกันของผู้หญิง
อย่างไรก็ดีผู้เขียนพบว่าศาลาขวางที่หมู่บ้านคนแขกบ้านทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งเชื่อกันว่าสุเหร่าของหมู่บ้านสร้างมีอายุไม่ตำกว่า ๓๐๐ ปี อาคารขวางกล่าวจะเรียกว่า บาลาย อีกพื้นที่ที่ผู้เขียนพบว่าเรียกเหมือนที่นี่คือที่สุเหร่าบ้านป่าขอม อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
สรุป
คนแขกรอบทะเลสาบสงขลาจะมีการใช้คำเรียกศาสนสถาน ๔ คำ คือ สุเหร่า มัสยิด นาซะ บาลาย
สุเหร่ามีสถานะเดียวกับมัสยิด ส่วนนาซะใช้เรียกอาคาร (ศาลา) ขวางหน้ามัสยิด บาลายใช้เรียกศาสนสถานที่ไม่มีสถานะเทียบเท่ามัสยิดพบได้สองกรณีคือบาลายของปอเนาะ กับบาลายที่สร้างไว้ตามหมู่บ้านส่วนคนแขกตอนในนั้นมีคำเรียกศาสนสถาน ๓ คำคือ สุเหร่าหรือมัสยิด นาซะ
สุเหร่ามีสถานะเหมือนมัสยิด ส่วนนาซะพบได้ ๓ กรณีคือ ๑. ใช้เรียกศาลาขวางหน้ามัสยิด ๒. ใช้เรียกอาคารประกอบศาสนกิจที่สร้างไว้ตามหมู่บ้าน ๓. ใช้เรียกอาคารประกอบศาสนกิจภายในปอเนาะ
อ้างอิง
[๑] : พะไล น. เรือนหรือเพิงโถง ต่อจากเรือนเดิมหรืออยู่ในบริเวณของเรือนเดิม ใช้เป็นที่นั่งเล่นหรือประโยชน์อื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่ห้องนอน, พาไล ก็ว่า สืบค้นจาก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสภา( ๒๕๕๔) ออนไลน์ : https://dictionary.orst.go.th/ ( วันที่ ๑๗ กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๔ )
[๒] : กฤษ พิทักษ์คุมพล.(๒๕๕๙).หนังสือที่ระลึก ๑๐๐ ปี มัสยิดยาบัลโรดเหร๊ะหม๊ะ.(คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดยาบัลโรดเหร๊ะหม๊ะร่วมกับสายสกุลพิทักษ์คุมพล.หน้าที่ ๒๑
[๓] : เจ๊ะและ หมัดอาดั้ม สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๓ ที่บ้านชุมพลชายทะเล หมู่ ๑ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงระ จังหวัดสงขลา โดยผู้เขียน
[๔] : อาเนาะ ปันตัย (นามแฝง) ผู้แปล เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๔
[๕] : ยูซุฟ อัลเอลิยา บินอาลี มูเก็ม(ลงพื้นที่สำรวจ) เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๔
Comments