top of page
รูปภาพนักเขียนคิดอย่าง

FUNERAL DISTANCING

อัปเดตเมื่อ 2 ธ.ค. 2564

โดย น้องปลาทาโร่

 

#คิดอย่างเจอนัล นักหัดเขียน ss.2

“ผู้ไร้เสียงในสถานการณ์ COVID”


 

“ตาเสียชีวิต ในวันเดียวกับที่ภรรยาของเขา ถูกรถพยาบาลมารับตัวไปรักษา สาเหตุมาจาก...ทั้งคู่ติดเชื้อโควิด.”

พิธีเริ่มตอนสาย ที่ศาลาวัด มีเพียงการตั้งกรอบรูป และดอกไม้ มีพิธีเลี้ยงเพลพระสงฆ์ สวดอภิธรรม กรวดน้ำแผ่เมตตา ขณะที่เรา (หมายถึง ผู้ให้สัมภาษณ์ หลานสาวของผู้เสียชีวิตทั้งสอง – ผู้เขียน) รอให้รถพาร่างของตามาถึงวัดแล้วขึ้นเมรุ เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเผา ทุกคนถูกห้ามไม่ให้เข้าไปใกล้กับเมรุอย่างเด็ดขาด ซึ่งวันเดียวกันนั้นยายของเราก็อาการไม่ดีเอาเสียเลย จึงให้รถพยาบาลนำตัวส่งไปรักษาต่อ

.

ทั้งหมดเริ่มที่ตาของเราอายุ 79 ปี ได้รับเชื้อโควิด คาดว่าติดมาจากหลังไปรักษาโรคประจำตัวที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ พักอยู่นานหลายวันหมอบอกให้กลับบ้านได้ เขากลับมาบ้านที่ต่างจังหวัด ด้วยอาการไอ เหนื่อยหอบ ท่าทางไม่สู้ดีเท่าไหร่ พบว่าเขาติดเชื้อโควิด และถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด

.

โชคไม่เข้าข้างนักภรรยาของเขาที่อาศัยด้วยกัน อายุ 82 ปี ก็มีอาการคล้ายติดเชื้อโควิดเช่นเดียวกัน สมาชิกทุกคนในบ้านจำเป็นต้องกักตัวด้วย 2 วันหลังจากนั้น คุณตาได้เสียชีวิตในคืนวันที่ 19 กรกฎาคม ในวันเดียวกันนั้นก็มีรถของโรงพยาบาลเข้ามารับคุณยายที่บ้าน ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพราะคุณยายอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้ คือ คำบอกเล่าของหลานสาว ของตา กับ ยาย ที่ติดเชื้อโควิด และเสียชีวิตในวันไล่เลี่ยกัน.

.

ตาของเราเสียชีวิตด้วยโควิดช่วงก่อนอาทิตย์ตกเพียงไม่กี่ชั่วโมงของวันที่ 7 หลังจากรู้ว่าพบเชื้อได้เพียง 2 วันเท่านั้น ข่าวคราวถูกแพร่สะพัดออกไปอย่างรวดเร็ว เพราะด้วยชื่อเสียงของคุณตาที่มีคนรู้จักเขามากมาย แต่ไม่สามรถเดินทางมาร่วมงานได้

.

ภายในคืนเดียวกันเจ้าอาวาสวัดที่รู้จักกันก็ร่วมกันสวดมนต์ให้ ก่อนที่จะจัดพิธีแบบชาวพุทธอีกครั้งในตอนสาย เรากับแม่เตรียมเอกสารวุ่นวายทั้งเช้า เพราะญาติสนิทคนอื่น ได้รับผลกระทบต้องเข้ากักตัว 14 วัน เพราะอาศัยอยู่กับตายาย จำนวนญาติสนิทที่มาร่วมงานก็ลดน้อยลง.

.

“ช่วงเวลาที่ยายใช้ในโรงพยาบาล เราและครอบครัวไม่สามารถเข้ามาเยี่ยมคุณยายได้เลย

หนทางเดียวที่สามารถติดต่อกันให้พอหายคิดถึงได้ คือ โทรศัพท์ ...

เราโทรหาคุณยายทุกวัน เช้า เย็น เพราะเป็นห่วงกลัวยายจะเสียกำลังใจ

อย่างน้อยได้ยินเสียงของหลานก็คงจะคลายกังวลให้ยายได้บ้าง

.

‘เราคิดว่าอีกไม่นานยายก็คงได้กลับมาบ้าน’

.

เพราะได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสไปแล้ว

อย่างน้อยตอนนี้ก็ทนคิดถึงกันไปก่อน

.

ไม่รู้เลยว่าในห้วงความคิดนั้นคือครั้งสุดท้ายที่เราได้พูดคุยกัน.”

.

.

หมอห้ามปรามผ่านญาติมาว่า

.

“ยายเริ่มมีอาการหายใจลำบาก ให้ลดการพูดคุย เราคงโทรหายายไม่ได้อีกแล้วนะ”

ทำได้เพียงเฝ้าฝากถาม ผ่านหมอกับพยาบาล ว่าตอนนี้อาการยายเป็นอย่างไรบ้าง

.

เป็นช่วงเวลาที่ความคิดถึงทำงานหนักหน่วง

ไม่มีใครทำอะไรไม่ได้เลยได้แต่รออย่างมีความหวังว่าให้ยายหายจากอาการป่วย ยายอาการไม่ดีขึ้นเลย

อีกทั้งยังขาดการติดต่อไปหลายวันแล้ว

.

จนกระทั่งหมอติดต่อมาอีกครั้ง เขาถามความคิดเห็นญาติว่าอนุญาตให้สอดท่อช่วยหายใจไหม พวกเราปฏิเสธไป เพราะเป็นคำขอจากปากของยายเอง ที่เราเคยตกลงไว้ก่อนหน้านี้ว่าเขาไม่ต้องการ


‘นาทีนั้น เราก็รับรู้พร้อมทั้งเตรียมใจไว้แล้วว่าอาการไม่ดีขึ้นเลย.’

.

ยายเสียชีวิตตอนที่ยงคืน หลังจากรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้ 10 วัน.

.

ที่ผ่านมา

เป็นช่วงเวลาที่เราค่อยๆ ออกจากยายไปไกลเรื่อย ๆ จนกระทั่งทราบข่าวคราว

นี่คงเป็นระยะที่ไกลที่สุด ระหว่างเรากับยาย และ ไม่มีทางพบกันได้อีกแล้ว.

.

ความห่างเหินนี้รวมไปถึงตอนจัดพิธีกรรม มันเรียบง่ายกว่าปกติ

การใช้ระยะทางเป็นคอนเซ็ปต์ ยิ่งทำให้เรารู้สึกหัวใจห่างกันไกลไปมากกว่าเดิม.

.

ถ้าในสถานการณ์แบบปกติแล้ว การจัดงานศพเป็นงานใหญ่ที่เกิดขึ้นในชีวิตคนๆ หนึ่ง

และบรรดาคนที่รู้จักมาทั้งชีวิตจะมาร่วมกันส่งอำลาครั้งสุดท้าย

.

พิธีการแสนเคร่งครัดและซับซ้อน เริ่มจากการทำพิธีสวดมนต์ ตั้งแต่มีผู้เสียชีวิตที่เตียงในโรงพยาบาล จนกระทั่งขึ้นรถ อัญเชิญดวงวิญญาณพามาถึงวัดเพื่อทำพิธีแต่งหน้าศพ เชิญญาติสนิทมารดน้ำศพ การที่จับมือ หรือมองหน้ากัน ทุกการกระทำถูกสืบทอดกันมาอย่างมีนัยยะสำคัญ ในขั้นตอนแสนซับซ้อนนี้

.

แต่คราวนี้พิธีกรรมอำลาแตกต่างออกไปมาก ซึ่งคล้ายคลึงกับพิธีของตา ทำให้ลำดับขั้นตอนมากมายที่เราคุ้นชินแบบปกตินั้นเกือบจะหายไปโดยสิ้นเชิง ทั้งรวดเร็ว และส่งผลให้ความรู้สึกระหว่างเรากับคนที่รัก ห่างกันออกไปไกล

.

ในขณะที่ ยายผู้ติดเชื้อโควิดหมดลมหายใจลง แล้วเจ้าหน้าที่จะใช้ถุงซิปล็อกห่อตัว 3 ชั้น แล้วทำการฆ่าเชื้อ ก่อนที่จะพาไปส่งที่ห้องดับจิต เพื่อรอรถเจ้าหน้าที่ประจำอำเภอ พาร่างผู้เสียชีวิตโควิด ข้อกำหนดคือ ให้ทำพิธีเผาหลังจากเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง โดยที่เจ้าหน้าที่ได้นัดแนะกับเจ้าอาวาสวัดไว้แล้ว ว่าผู้เสียชีวิตจะมาถึงวัดเวลาบ่ายโมง เพื่อจัดแจงเวลาที่จะเริ่มสวดมนต์ให้ใกล้เคียงกับเวลาของรถที่พายายมาที่เมรุขึ้นฌาปนกิจ.

.

เรากับแม่ช่วยกันจัดแจงเอกสารตอนเช้า.

หลังจากเสียงระฆังบอกเวลาเพลดังขึ้น เรากับแม่พากันมา งานถูกจัดขึ้นในศาลาเปิดโล่ง ลมพัดปลิวไสวตลอดเวลา มีหลังคาคลุมบริเวณกว้าง ใกล้กับเมรุ เจ้าอาวาสช่วยจัดลำดับพิธีการแบบเรียบง่ายให้อย่างชำนาญการ จำกัดจำนวนผู้มาร่วมพิธี นัดอสม.ประจำหมู่บ้านมาช่วยคัดกรองวัดไข้

.

ญาติคนสนิทจูงมือกันมา ‘จุดธูปไหว้รูป’ ถูกประดับประดาด้วยดอกไม้

ที่ทางวัดเตรียมมาให้ ตำแหน่งที่นั่งถูกจัดแจงแยกห่างจากกันอย่างเป็นระเบียบ

เสียงสวดบทอภิธรรม และ แผ่ส่วนกุศล จบลงอย่างรวดเร็ว ไม่คุ้นหูอย่างที่เคย

.

ช่างแตกต่างจากพิธีการอย่างที่เราคุ้นเคย ฟังสวดมนต์แผ่เมตตา ถวายภัตตาหารพระ เช้า เพล และ

สวดอภิธรรมช่วงกลางคืน

.

หลังจากฟังพระสวดแล้ว เหล่าคนรู้จักที่ไม่ได้พานพบกันมาเนิ่นนานต่างพูดคุยกัน ตั้งวงสนทนาเรื่องจิปาถะ ถามไถ่เรื่องชีวิตทั่วไป ประหนึ่งงานรวมญาติในธีมสีดำ

.

แม้บรรยากาศเจือปนความเศร้าเล็กๆ ทว่าลืมความโศกไปเสียขณะหนึ่ง พลางทานข้าวต้มมื้อดึก ก็ดีไม่น้อย แล้วมาพบกันใหม่ ในงานฌาปนกิจ

.

วันสุดท้ายของการอำลาดำเนินมาถึง งานฌาปนกิจ พิธีเลี้ยงพระ เช้า เพล ยังคงเฉกเช่นเดิม ทว่าจะมีพิธีกล่าวถึงประวัติผู้เสียชีวิต กล่าวคำอำลา เชิญเจ้าภาพขึ้นมาทอดผ้าไตรบังสกุล

.

เริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญด้วย การโยกย้ายผู้วายชนม์ ออกจากโลงเย็นไปสู่โลงไม้ บรรดาชายช่วยกันยกขึ้นราชรถ ผู้ร่วมงานย่างก้าวเข้ามาอย่างเป็นระเบียบ พระสงฆ์โยงสายสิญจน์ เดินล้ำหน้านำขบวนไป ญาติอุ้มกระถางธูป และ กรอปรูปถัดมา จูงราชรถ วนรอบเมรุ 3 รอบ รั้งท้ายแถวด้วยแขกผู้มีเกียรติทั้งหลาย.

.

ก่อนพบหน้ากันเป็นครั้งสุดท้าย โลงถูกวางที่เมรุ ผู้ร่วมงานเดินเวียนกันมาวางดอกไม้จันทร์เพื่อแสดงความอาวรณ์

.

หากเคยคุ้นหูว่า การเปิดหน้าโลง ช่วยให้คนที่มีชีวิตอยู่ ได้รับรู้ว่าชีวิตนั้นมีวันที่สิ้นสุด แต่ไม่ได้หมายถึงทุกคน บ้างก็รู้สึกแทบขาดใจ หากคนที่นอนแน่นิ่งนั้น คือผู้เป็นที่รัก ทว่าขั้นตอนนี้ เป็นการส่งอำลาครั้งสุดท้าย ก็คงเป็นระยะที่ใกล้ที่สุดของกันและกัน

.

ช่างแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับสถานการณ์ที่เราพบเจอ พิธีการของยายเรานั้นถูกย่นย่อให้เหลือเพียงการสวดอภิธรรม กรวดน้ำส่งให้ยายไปสุขคติที่หน้าแท่นกรอบรูป เพื่อรอเวลารถพาร่างของยายมาที่วัด

.

คงเรียกได้ว่านี่เป็น การประจวบเหมาะของยุคสมัย เพราะ ทุกคนยังคงเหลือ

พื้นที่ความสัมพันธ์เสมือนจริง ” บนหน้าจอสีดำขนาดเล็กเท่าฝ่ามือ

ส่งความรู้สึกหากันทางไกล โดยไม่ต้องพึ่งพาพื้นที่ทางกายภาพ

ที่ขนาดเท่าศาลาวัด เพื่อบรรจุ ญาติมิตร ประมาณหลายร้อยคน

.

นั่นจึงเป็นสาเหตุที่

“ตลอดเวลาทั้งวันนี้ เราง่วนอยู่กับการไลฟ์สดพิธีนี้เพื่อให้ญาติที่กักตัว หรือ คนที่เพิ่งทราบข่าว

แต่ไม่สามารถมางานได้ ร่วมกันไว้อาลัยผ่านเฟสบุ๊ค”.

.

พิธีสวดดำเนินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งรถพยาบาลพาร่างของยายมาถึงที่วัดแล้ว เจ้าหน้าที่สวมชุด PPE 4 - 5 คน หามโลงไม้ ขึ้นเมรุ แล้วจุดธูปบอกกล่าว พร้อมด้วยพระสงฆ์ที่สวมใส่ชุด PPE ได้สวดมนต์เพียงบทสั้นๆ ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการเผา.

.

“ไม่มีแม้แต่การเปิดโลงเพื่อให้ได้พบหน้า หรือ ทำสิ่งใดร่วมกันแบบใกล้ชิดเป็นครั้งสุดท้ายเลย

การมองดูรูปภาพของคนที่รักอยู่ในกรอบรูป แล้วส่งใจอาวรณ์ให้ด้วยรัศมี 10 เมตร จากเมรุ”

เป็นเพียงสิ่งเดียวที่เราสามารถร่วมกันทำได้ ทุกคนยืนมองกลุ่มควันสีดำล่องลอยออกมา จากปล่องสูง ดำเนินไปถึงช่วงอาทิตย์ใกล้ตกดิน

.

ขณะเรานั่งรอกับลุง ในศาลาวัดที่สงบ เราทำลายความเงียบด้วยบทสนทนาว่า...

“ยังคงมีความค้างคาใจอยู่ไหม อยากจัดงานอีกครั้ง ให้คนมาไว้อาลัยแบบถ้วนหน้า

เหมือนดาราตลกชื่อดัง ที่ญาติเขาพูดออกทีวีรึเปล่า ?”

.

“บ้านเขาเป็นคนใหญ่คนโต จัดงานในช่วงปกติ 7 วัน ศาลาวัดยังรับแขกไม่พอเลย คงมีคนในครอบครัวไม่ยอมให้งานจบเพียงสั้นๆ เท่านี้เป็นแน่ บรรดาคนรู้จักทั้งชีวิต คงอยากมาร่วมแสดงความเสียใจ”

.

“แต่ที่มันเป็นไปแบบนี้ ก็โอเคแล้วนะ...

จัดงานศพแบบนี้ ไม่เศร้าเท่าไหร่...มันรวดเร็วเสียจน ไม่เหลือเวลา

ให้นั่งฟังพระสวดนาน ๆ...แล้วนึกย้อนถึงเรื่องเศร้าเสียใจ”

งานศพคงเป็นเรื่องของความสบายใจ...ของคนที่มีชีวิตอยู่

.

เขาเรียกให้เราไปเก็บอัฐิได้แล้ว

“นี่คงเป็นห้วงเวลาเดียว ที่เราสามารถเข้ามาชิดใกล้ได้ขนาดนี้

ตั้งแต่ตากับยายติดเชื้อโควิด

เราทำตามมาตรการ Distancing มาโดยตลอด

เราถูกทำให้ห่างไกลกัน จนเหลือเพียงไม่กี่หนทาง ที่จะทำร่วมกันเป็นครั้งสุดท้าย

กายและใจของเราออกห่างกันไปไกลเหลือเกิน ...กว่าจะกลับมาสัมผัสกันได้อีกครั้ง

ก็...ถูกแปรเป็นเถ้าถ่านไปเสียแล้ว.”



ท้ายที่สุดนั้น กระบวนการของพิธีการแสนละเอียดอ่อน ที่เราคุ้นชิน เพื่อสร้างความรู้สึกบางอย่างในการส่งอำลาครั้งสุดท้าย ทว่าทุกขั้นตอนอันซับซ้อนในพิธีนั้น ให้ความหมายแฝงอย่างมีนัยยะสำคัญ ต่อผู้ร่วมงานเสมอ

.

อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมของบรรดาแขกเหรื่อแบบมีลำดับชั้น ล้วนแสดงตำแหน่งทางสังคม บ่งชี้ลำดับความใกล้ชิด อายุ หรือ ความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างผู้เสียชีวิตเอง หรือ เครือญาติที่พึ่งพาอาศัยกันไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง

สังเกตได้ผ่าน การเป็นเจ้าภาพประจำคืน หรือ การที่ได้มีชื่อครอบครัว หรือ องค์กร บนพวงหรีดที่ถูกวาง ณ ตำแหน่งที่เด่นสุดของงาน ไปจนกระทั่ง เก้าอี้เรียงเป็นระเบียบ ซึ่งเข้าใจตรงกันว่า บริเวณด้านหน้าเป็นของผู้อาวุโส.

.

แม้ว่าในปัจจุบัน เกิดมีกระแสแนวคิดใหม่ เกี่ยวกับพิธีการส่งอำลา ที่แตกต่างจากอดีต เมื่อคนรุ่นใหม่ให้คุณค่าทางความเชื่อลดลง กอปรกับไม่อยากสร้างมลภาวะให้โลกใบนี้มากนัก แต่มิใช่ว่าผู้ที่มอบความสำคัญให้แด่คนที่รัก จะรู้สึกลดคุณค่าของความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพราะรายละเอียดของพิธีลดน้อยลงกว่าเดิม.

.

ทว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยเลย ที่รู้สึกอยากส่งอำลาครั้งสุดท้ายแด่คนที่รัก อย่างครบตามพิธีแต่ละความเชื่อ ศาสนา ตลอดมาเรามอบนัยยะของขั้นตอนลงในแต่ละรายละเอียดของพิธีการ เฝ้าสังเกตได้ผ่านพิธีเริ่มต้นการรดน้ำศพ กับ ไหว้หน้าศพ สื่อถึงการขอขมา ทั้งวางถาดอาหาร เคาะโลงขานชื่อ เพื่อเรียกมาทานอาหาร หรือ นำบุญมาฝาก เช่นเดียวกันกับ กรวดน้ำแผ่เมตตา ท้ายที่สุด การเวียนรอบเมรุ เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจให้ผู้ที่มีชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาท จนกระทั่ง แขกทุกคนวางดอกไม้จันทร์ และ ได้พบหน้ากันก่อนจะไม่หวนคืน.

.

การส่งไปสู่สุขคติผ่านพิธีตามความเชื่อของชาวพุทธแสนซับซ้อน ล้วนกลายเป็นปฏิสัมพันธ์

ระหว่างญาติ และ ผู้จากไป เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกอาวรณ์อย่างสมบูรณ์แบบ.

.

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อรูปแบบใดก็ตาม ไม่ว่าจะรายละเอียดมาก หรือ แบบกระชั้นฉับไว

ทุกคนล้วนยึดถือความเชื่อที่ล้วนเข้าใจร่วมกัน คือ ความรัก และ การร่ำลา.

.

ช่างแตกต่างจากสถานการณ์โควิดในปัจจุบันที่เราเผชิญ ความหมายของการร่ำลาที่ถูกลดทอนพื้นที่ทางกายภาพแบบดั้งเดิม แปรเปลี่ยนไปหลายรูปแบบ อย่างเช่นโซเชีบลมีเดีย ที่กลายเป็นพื้นที่แสดงความรำลึกได้ทางไกล

.

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การจากไปตลอดกาลของผู้เป็นที่รักเกิดขึ้นในชีวิตเราทุกคนเสมอ ไม่ว่าวิธีการอำลารูปแบบใดก็ตามแต่ พวกเราทำได้เพียงมาส่งเท่านั้น แต่การยอมรับความจริง ความเสียใจ แล้วก้าวผ่านพ้นไปให้ได้ก็เป็นเรื่องสำคัญของเราทุกคนเช่นกัน.

 



ดู 54 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page