BEHIND PATA โดย ธรรม์
BEHIND PATA
โดย ธรรม์
#คิดอย่างเจอนัล นักหัดเขียน ss.2
“ผู้ไร้เสียงในสถานการณ์ COVID”
‘วันนี้เราเปิดประเทศแล้ว’
‘แต่วันก่อนหน้านั้นเราต้องผ่านอะไรมาบ้าง’
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือ COVID-19 ในประเทศไทยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2563 อ้างอิงจากการรายงานข่าวของเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ และระหว่างที่ผู้ติดเชื้อในประเทศยังมีจำนวนน้อยและการป้องกันยังหละหลวม อาการเจ็บป่วยนี้ได้เล็ดลอดเข้ามาทางความประมาทเป็นผลสำเร็จ
.
หลังการระบาดในระลอกแรกประเทศไทยได้ดิ้นรนและหาทางปกป้องตัวเองด้วยหลากหลายวิธี และวิธีที่เห็นได้มากที่สุดคือการเลือกปิดกั้นเพื่อปกป้องความปลอดภัยในชีวิต เมื่อไม่เปิดโอกาสให้ เชื้อโรคก็ไม่อาจติดต่อสู่กันและกัน วิธีนี้ถูกนำมาประกาศใช้ด้วยแนวความคิดพื้นฐานเช่นนี้เอง
ทว่าการไม่เปิดรับ กล่าวอีกอย่างสำหรับเหล่าพ่อค้าแม่ค้าคือ‘การไม่เปิดร้าน’อีกด้วย เหล่าเจ้าของกิจการไปจนถึงลูกจ้างตามร้านค้าเล็กๆได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนากันถ้วนหน้า แทบไม่มีใครสามารถพูดได้เต็มปากว่าสามารถรักษาสถานภาพทางการเงินเช่นเดิมไว้ได้ ไม่ว่าจะอาศัย ค้าขาย หรือประกอบธุรกิจอยู่ในมุมไหนของเมืองหลวงแห่งนี้ก็ตามที
.
การสั่งปิดย่อมมีผลกระทบในวงกว้างตามมา จากเดิมที่เศรษฐกิจเคยหมุนเวียนด้วยเม็ดเงินจากเหล่าพนักงานบริษัทที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยกิจการรายย่อยในแถบพื้นที่ของตนเอง กลับกลายเป็นถูกปิดตายตามคำว่าล็อกดาวน์ไปอย่างน่าเศร้า พนักงานบริษัทหรือเหล่าลูกจ้างนายทุนซึ่งความจริงยังต้องการพึ่งพาร้านอาหารริมทางในการดำรงชีวิตประจำวันจำเป็นต้องหันมาหาแอปพลิเคชันส่งอาหารมากขึ้น แม้กระทั่งตัวเลือกในการซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารทานเองก็ยังค่อนข้างจำกัดเพราะตลาดสดกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ควรหลีกเลี่ยง
.
บทความนี้ต้องการนำเสนอภาพของพ่อค้าแม่ค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิดในย่านหนึ่งซึ่งหลบซ่อนตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร ที่แห่งนี้ไม่ได้ซ่อนตัวอยู่ในที่แคบพอจะเรียกว่าหลืบ หรือไร้แสงพอจะเรียกว่าซอก แต่ความเป็นเมืองใหญ่ของกรุงเทพได้สรรค์สร้างให้เกิดสถานที่ลับต่างๆ โดยที่คนภายนอกพื้นที่ไม่เคยรับรู้
กรุงเทพเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยที่มีถนนเส้นสำคัญคอยเชื่อมศูนย์กลางชุมชนขนาดใหญ่อยู่หลายเส้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือตรอกและซอยต่างๆจำนวนมากซึ่งเกิดขึ้นสำหรับเป็นทางออกสู่ถนนหลักให้ผู้อยู่อาศัยภายในเมืองกรุงที่ไม่ได้นิยมหรือไม่สะดวกกับการพำนักในบ้านติดถนนใหญ่
.
ย่านปิ่นเกล้าซึ่งมีแหล่งความบันเทิงและจุดรวมอาคารพักอาศัยหลากหลาย ทั้งยังเป็นแหล่งเศรษฐกิจของฝั่งธนบุรีที่มีถนนหลักคือถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้าและทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนีซ้อนทับกันอยู่ถึงสองเส้น มีห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ที่แทบทุกคนต่างคุ้นหูเมื่อได้ยินชื่อตระหง่านอยู่ พาต้ายังคงยืนหยัดอย่างเงียบเชียบท่ามกลางคนจำนวนมากที่ไหลผ่านมาเพื่อต่อเที่ยวรถโดยสารสาธารณะ
.
ด้านหลังของหน้าฉากนี้เป็นที่ตั้งของซอยที่อัดแน่นไปด้วยหอพักและร้านรวงต่างๆซึ่งคอยอำนวยความต้องการในชีวิตประจำวันของผู้พักอาศัย กำลังเหยียดตัวสร้างทางลัดตัดระหว่างถนนจรัญสนิทวงศ์และถนนอรุณอมรินทร์ในชื่อซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 ซอยลัดแห่งนี้แทบไม่เคยเงียบเหงาจากรถยนต์และผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา และในมุมมองของผู้พักอาศัยที่ต้องพึ่งพารถโดยสารสาธารณะก็ยังสามารถเป็นทางเดินที่ใช้ลัดเลาะไปถึงป้ายรถเมล์หน้าพาต้าได้โดยไม่ต้องเดินผ่านแยกบนถนนใหญ่อีกด้วย
.
ร้านอาหาร ร้านซักรีด บริษัทขนส่งเอกชน ช่วยสร้างความคึกคักให้ชุมชนในซอยที่อุดมไปด้วยหอพักหลากหลายราคา ปะปนกับร้านสะดวกซื้อของแบรนด์ใหญ่และร้านขายของแบบรถเข็นที่มักมาตั้งบนพื้นที่ว่างที่พอจะหาได้เมื่อตกเย็น แสงสีเสียงเล็ดลอดออกมาจากร้านเหล้ายามเที่ยงคืน
อาจกล่าวได้ว่าเมื่อถึงวันหยุด เหล่าผู้พักอาศัยแทบไม่ต้องออกไปไหนเพื่อจะหาข้าวสักมื้อรับประทาน เนื่องจากภายในซอยมีปัจจัยขั้นพื้นฐานเกือบครบทุกอย่าง และอยู่อาศัยด้วยการพึ่งพากันตามแบบชุมชนขนาดเล็กในเมือง หากต้องการชอปปิ้งก็เพียงแค่เดินตัดลานจอดรถออกไปขึ้นรถเมล์สู่เซ็นทรัลปิ่นเกล้าในชั่วอึดใจ หรือเดินข้ามรถไฟฟ้าMRTไปยังตลาดนัดอินดี้ก็ยังได้
แต่แล้วความสัมพันธ์นี้ก็กลับต้องพังทลายลงเมื่อนโยบายการสั่งปิดมาถึง
จากซอยที่เคยมีชีวิตชีวาจนถึงยามค่ำคืนกลายเป็นเงียบเหงา จริงอยู่ว่าด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ด้านที่เหล่าผู้ประกอบการต้องประสบพบเจอกับความลำบากก็เป็นเรื่องจริงเช่นกัน
ผลกระทบส่วนมากส่งผลโดยตรงถึงคนค้าขายทั่วไป ในซอยแห่งนี้มีร้านเสริมสวยที่ถูกสั่งปิดนานหลายเดือน ร้านเหล้าที่ต้องเปลี่ยนตัวเองมาขายก๋วยเตี๋ยว รวมไปถึงร้านอาหารที่เปิดตัวใหม่เนื่องจากความต้องการของเหล่าผู้พักอาศัยที่ไม่กล้าเสี่ยงออกไปไหนไกลเพิ่มมากขึ้น
.
“ป้าเปิดอยู่ตรงนี้มาแปดปีแล้วลูก” ช่างทําผมของร้านเสริมสวยกล่าว “ช่วงโควิดเขาบอกให้ปิดก็ต้องปิดล่ะเนอะ ดีว่าเจ้าของที่เขาลดค่าเช่าห้องให้”
คุณป้าอยู่ได้ด้วยอาชีพช่างเสริมสวยมาเป็นระยะเวลานาน มีทั้งลูกค้าประจำและลูกค้าใหม่ๆ หมุนเวียนกันมาตามประสาร้านที่ตั้งอยู่ใกล้หอพักซึ่งผู้อยู่อาศัยมีการสับเปลี่ยนตลอดเวลา เมื่อโควิดเข้ามาจึงเป็นกิจการประเภทแรกๆ ที่ต้องหยุดพัก เพราะธรรมชาติของอาชีพที่มักมีการสนทนากับลูกค้า และไม่สะดวกถ้าลูกค้าต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทำผม
ในขณะที่สัมภาษณ์ทางร้านสามารถเปิดได้แล้วก็จริง แต่ปัญหาที่แอบซ่อนอยู่คือการเข้าร้านเสริมสวยหลังจากนั้นลดลงฮวบฮาบ เนื่องจากลูกค้าไม่ออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น และการจัดงานพบปะทางสังคมหรือกินเลี้ยงก็น้อยลง เมื่อไม่จำเป็นต้องพบเจอกับคนอื่นต่อหน้า ผู้บริโภคจึงไม่เห็นความจำเป็นของงานบริการประเภทนี้เท่าเดิม
“เนี่ย ค่าเทอมของลูกสาวได้คืนมานิดนึง เราแก้อะไรไม่ได้ จริงๆนอกจากไปฉีดวัคซีนเอง แล้วก็รอ”
การเฝ้ารอของเจ้าของร้านเสริมสวยที่กล่าวออกมาระหว่างลงมือจัดการกับเส้นผมอย่างช่ำชองพอจะคาดเดาได้ว่าอย่างน้อยงานที่ทำอยู่ก็สร้างความมั่นคงให้เธอได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจเป็นทางด้านจิตใจ หรือเงินที่พอเก็บได้แต่เดิมเมื่อครั้งกิจการยังดำเนินไปได้ แม้เราไม่เห็นความหวังจากการจัดการแก้ไข แต่อย่างน้อยก็พอเห็นความหวังจากความเชื่อมั่นในตัวของแกเองอยู่บ้าง
.
“สำหรับพี่ก็เรื่อยๆนะ พวกร้านที่เราสั่งด้วยประจำก็มีโปรโมช่งโปรโมชั่นให้บ้างอะไรบ้าง” เจ้าของร้านขายของเบ็ดเตล็ดเอ่ยปากหลังจากทางผู้เขียนย้ายมาคุยด้วย
“ก็มีไอ้คนละครึ่งนี่แหละ ทำแล้วก็เลยได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นนิดหน่อย แต่แถวนี้คนชอบดื่มมันเยอะอยู่แล้ว ลูกค้าพี่ไม่หายไปไหนหรอก”
เจ้าของร้านวัยกลางคนตอบด้วยท่าทีไม่เคร่งเครียดเท่าไหร่นัก ทางด้านร้านที่แต่เดิมมีร้านสะดวกซื้อเป็นคู่แข่งทางการค้ามาตลอด หลังสมัครเข้าโครงการและได้รับการช่วยเหลือจากทางรัฐก็หายใจได้มากขึ้น รวมถึงกระแสการรณรงค์ในหมู่คนอ่อนเยาว์ให้หันมาอุดหนุนร้านขายของชำในช่วงก่อนหน้านี้
.
เป็นความจริงที่เลี่ยงไม่ได้ที่ลูกค้าบางส่วนจะยังพอใจในคุณภาพและหน้าตาของสินค้าที่วางขายในร้านสะดวกซื้อมากกว่า และสถานการณ์โควิดทำให้คนหันมาประหยัดมากขึ้น แต่กลับน่าตกใจที่เมื่อเทียบกับร้านค้าประเภทอื่นๆ ร้านประเภทนี้กลับยังคงยอดขายไม่ให้ตกลงได้มากกว่า ส่วนสาเหตุก็เป็นเพราะการปิดตัวชั่วคราวของร้านเหล้าและร้านนั่งดื่มในละแวกนั้นนั่นเอง
.
“ถ้าหมายถึงกลัวโควิดล่ะก็ แถวนี้ก็เคยมีคนติดไปแล้วครั้งนึง จะครั้งหรือสองครั้ง ที่นี่หรือที่อื่น พอมีปัญหายังไงก็ถูกปิดใหม่อยู่ดีมั้ยล่ะน้อง”
ความชินชาที่หลุดมาจากปากโดยไม่ตั้งใจอาจกำลังแสดงให้เห็นว่าผู้คนในซอยนี้อาจปลงใจกับการถูกสั่งให้ปิดบ้างเปิดบ้างแบบกะทันหันเสียแล้ว และแม้จะมีรายละเอียดแตกต่างกันไปเล็กน้อย ทว่าความคิดเห็นคล้ายคลึงกันก็ถูกส่งผ่านมาทางเรื่องเล่าของแต่ละร้าน
.
มีร้านแผงลอยหลายร้านที่หายหน้าไปจากสองฝั่งถนนเป็นระยะเวลานาน หรือร้านที่ย้ายมาเปิดในซอยนี้เพิ่มเป็นบางเวลา หลังจากที่ตั้งเก่าไม่มีลูกค้าเลยเมื่อตกบ่ายหรือเวลาซึ่งไม่ตรงกับช่วงพักทานข้าว อันเป็นผลดีกับคนในชุมชนที่เกิดอาการเบื่ออาหารจากร้านเดิมๆ แต่ไม่มีงบประมาณพอที่จะสั่งผ่านทางออนไลน์
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นอาจไม่เป็นผลดีในระยะยาวในเชิงความหลากหลายของสินค้าและบริการในชุมชน กิจการรายเล็กต้องทยอยปิดตัวเพราะรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหวสวนทางกับร้านอาหารที่คว้าโอกาสและทำเลกลางย่านที่พักอาศัยเข้ามาเช่าแทนที่ ทำให้บรรยากาศความเป็นชุมชนเจือจางลงทุกวันทีละน้อย
กระทั่งทางเดินที่เคยสามารถเดินตัดผ่านได้ก็ถูกปิดห้ามเข้าจนคนภายในซอยไม่สามารถเดินทะลุไปยังหน้าพาต้าอย่างสะดวกได้อีกต่อไป รั้วสังกะสีถูกนำมากั้นและจัดระเบียบให้เป็นที่จอดรถจักรยานยนต์
เพื่อรองรับไรเดอร์ของแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ รถส่วนตัวที่เคยใช้ซอยนี้เป็นเส้นทางลัดเองก็เลือนหาย
.
ส่วนหนึ่งในย่านปิ่นเกล้าที่เคยพลุกพล่าน เหล่าผู้ประกอบกิจการส่วนตัวยังดูเคว้งคว้างและเลื่อนลอยกับหนทางไปต่อ และทำได้เพียงก้าวตามแนวทางของตนเองเพื่อประคับประคองครอบครัวให้รอดเท่านั้น ไม่ใช่ทุกคนที่มีเงินทุนหรือไอเดียตั้งต้นเพียงพอสำหรับเริ่มอะไรใหม่ๆ ในสภาวะโรคระบาด การกระทำโดยปราศจากความรับผิดชอบจึงไม่เพียงไม่สามารถแก้ไขเยียวยา หากแต่ไม่สามารถค้ำจุนสภาพจิตใจของกลุ่มคนเหล่านี้ให้อยู่ในสถานะมีไฟเสียด้วยซ้ำ
.
ยังไม่รวมถึงคนในชุมชนอีกมากมายที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเหี่ยวเฉาจากการนั่งจับเจ่าทำงานภายในห้อง แต่เมื่อออกนอกประตูมาสูดอากาศภายนอกก็กลับไม่มีสถานที่พบปะพูดคุยหรือคลายเครียดในระยะใกล้ได้เหมือนเคยอีกต่อไป
การหาวิธีรับมือโควิด 19 สุดท้ายเราอาจต้องหันมาพึ่งตนเองอย่างช่วยไม่ได้ และในเวลานั้นเองที่จะเป็นตัวตัดสินเหล่าผู้ประกอบการรายย่อยว่าจะไปต่อหรือไม่ บางรายยอมแพ้จนล้มเลิก บางรายยอมฝืนต่อและหาทางลดภาระค่าใช้จ่าย และก็มีบางรายที่ทำมานานจนอาชีพเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต การจะอยู่รอดในเมืองกรุงในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่พลิกผันเช่นนี้ สุดท้ายแล้วจำเป็นต้องแก้ไปทีละเปลาะในภาพใหญ่ใช่หรือไม่? หรือเราจำเป็นต้องดิ้นรนต่อไปด้วยตนเองจนถึงตอนจบอย่างนั้นหรือ?
Comments