3 ศตวรรษในกาลเวลา กับสายโลหิตที่ไม่เคยเหือดหาย ณ สุสานสุลต่านสุลัยมาน
บทความอนุสรณีย์จากเหตุการณ์คนร้ายเข้าทุบทำลายหลุมฝังศพของสุลต่านสุลัยมาน ผู้ครองเมืองสงขลาในสมัยอยุธยา เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ความเสียหายที่เกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรงตามภาพถ่ายในลิงค์ที่แนบไว้ด้านล่างนี้ #การทุบทำลายนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาติดต่อกันไม่ถึงหนึ่งปี จากความเสียหายเล็กน้อย ทวีความรุนแรงขึ้นจนกระทั่งหลุมศพที่สำคัญที่สุดของสุสานถูกทุบทำลาย จะอย่างไรกันต่อ ? ผู้เขียนก็ยังไม่มีคำตอบ #ขอฝากบทความนี้เป็นบทอาลัย และชวนคิดแก่ท่านที่สนใจครับ
สุสานสุลต่านสุลัยมาน หรือนามอันเป็นที่รู้จักในยุคเก่าก่อนว่า สุสานพญาแขก (มรหุ่ม) ตั้งอยู่บริเวณหมู่ที่ 1 ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา สุสานแห่งนี้มีชื่อตาม #สุลต่านสุลัยมานชาห์ สุลต่านแห่งสงขลา ผู้ปกครองเมืองสงขลาที่หัวเขาแดงอันเป็นเวลาร่วมสมัยกับรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง – สมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยา จากเจ้าเมืองที่ส่งบรรณาการต่อสยาม ต่อมาได้สถาปนาตนขึ้นเป็นสุลต่านแห่งนครรัฐสงขลา ณ ปากทะเลสาบ ในห้วงเวลาสั้น ๆ ของการตั้งตนเป็นรัฐอิสระ สงขลาโดยการนำของสุลต่านสุลัยมานผู้ทรงวิสัยทัศน์ ได้นำบรรยากาศและความท้าทายใหม่ ๆ เข้ามาสู่คาบสมุทรไทย – มาเลย์ ใต้บริบทของกระแสลมแห่งการค้า
พระองค์สิ้นพระชนม์ในต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ท่ามกลางบรรยากาศตึงเครียดเมื่ออยุธยาพยายามทุกวิถีทางที่จะผนวกพื้นที่นี้กลับคืนมาสู่พระราชอำนาจด้วยสงคราม และโดยการสนับสนุนอาวุธยุทโทปกรณ์โดยไม่เต็มใจนักจากพ่อค้าฮอลันดา ร่างของพระองค์ทอดลงเป็นปฐมบนสันทรายที่ตั้งสุสานเหนือขึ้นมาจากเขตกำแพงเมืองประมาณ 1.2 กิโลเมตร ไม่ห่างจากสถานีการค้าของฮอลันดาที่ถูกทิ้งร้างไปหลายปีก่อนหน้า ณ ที่นั้นแม้ดูไกลจากตัวเมืองหากมองจากน่านฟ้า แต่จากสายตาของนักเดินเรือ และผู้รู้จักร่องน้ำเข้าสู่ทะเลสาบเป็นอย่างดี ย่อมจะทราบว่าเป็นภูมิสถานที่โดดเด่นยิ่ง เพราะเรือใด ๆ ที่ต้องการจะล่วงเข้าสู่ทะเลสาบจะต้องจับร่องน้ำลึกแถบหน้าสุสานแห่งนี้ แล้วเลียบชายฝั่งอ้อมชะง่อนผาที่ตั้งป้อมหมายเลข 8 เข้าสู่ร่องน้ำระหว่างฝั่งแหลมสนและบ่อยางเข้าสู่ทะเลสาบสงขลาต่อไป
สำเนาตัวเขียนพงศาวดารเมืองไชยา ที่บันทึกเรื่องราวการเทครัวชาวเมืองสงขลา(ซิงฆอรา) ที่หัวเขาแดงมายังพื้นที่ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ในปัจจุบันได้รับความอนุเคราะห์ภาพจากคุณครูสะอาด ร่าหมาน ลูกหลานชาวสงขลาพลัดถิ่นหรือซิงฆอราพลัดถิ่นที่บ้านสงขลา อ.ไชยา ปัจจุบันพำนักอยู่กับภรรยาที่ ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
ตามที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ซึ่งไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ เมืองสงขลาใต้ยุคสมัยของสุลต่านได้สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2223 กองทัพอยุธยาผู้พิชิตได้สลายองคาพยพ และเครื่องก่อล้อมของเมืองลงเพื่อไม่ให้สามารถถูกใช้เป็นที่ซ่องสุมกำลังได้อีก ชนชั้นนำและประชากรในเมืองถูกกวาดต้อนเทครัวไปยังศูนย์กลางของสยาม และบางส่วนถูกจัดสรรให้เข้าปกครองพื้นที่รอบอ่าวบ้านดอน ขณะที่ชุมชนรอบนอกของเมืองบางส่วนยังคงตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เดิมสืบมาดังปรากฏในแผนที่โดยวิศวกรฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์เขียนขึ้นหลังเมืองสงขลาที่หัวเขาแดงถูกพิชิตเกือบ 1 ทศวรรษ ได้ปรากฏชุมชนที่บ้านหัวเขา ที่บ่อเก๋ง ที่บ่อพลับหรือบ่อยาง ที่เกาะยอ
และในทศวรรษที่ 2220 นั้นภายใต้วิสัยทัศน์ร่วมระหว่างราชสำนักอยุธยา กับชาวฝรั่งเศสบางกลุ่มได้พยายามจะฟื้นฟูเมืองสงขลาซึ่งถูกทำลายให้คืนกลับมาเป็นเมืองท่าการค้าที่ทรงศักยภาพสามารถแข่งขันกับนครปัตตาเวียโดยบริษัทอีสอินเดียฮอลันดาบนเกาะชวาที่กำลังเข้าสู่ยุคทองได้โดยทัดเทียมกัน แม้โครงการความร่วมมือนี้จะไม่ได้รับการสานต่อ และต่อมาเมื่อสมเด็จพระเพทราชาขึ้นทรงราชย์จะมีการส่งขุนนางบรรดาศักดิ์ พระยาวิชัยคีรี เข้ามาปกครองพื้นที่ อย่างน้อยได้ทำให้เราเห็นความต่อเนื่องของชุมชน ผู้คน และกิจกรรม ณ ปากทะเลสาบสงขลาซึ่งมีชีวิตต่อมาหลังสุลต่านสุลัยมานชาห์ได้กลับไปสู่ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า เช่นเดียวกับหลุมศพของสุลต่านสุลัยมานที่ต่อมาจะมีสถานะล่วงพ้นไปจากมิติของศาสนาและประวัติศาสตร์ มรหุ่ม อันเป็นคำเรียกอย่างให้เกียรติแก่ผู้ล่วงลับไปแล้วที่สงวนไว้สำหรับชนชั้นนำ และนักการศาสนา จะกลายเป็นคำเรียกหลุมศพแห่งนี้ ทวดมรหุ่ม / ทวดหุม คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รักษาปากน้ำเมืองสงขลา และสวัสดิภาพของผู้คนในแถบนี้ไม่เว้นทั้งไทยพุทธมาจนปัจจุบัน
ยุคสมัยอันรุ่งโรจน์ของเมืองสงขลาที่หัวเขาแดงได้จบสิ้นไปแล้วกว่า 3 ศตวรรษ แต่สายโลหิตของสุลต่านแห่งสงขลานั้นไม่เคยแห้งเหือดไป กลับยังคงสืบสายไหลรินอยู่ในกายของผู้คนเรือนพันเรือนหมื่นมาจนถึงกระทั่งปัจจุบัน หลายท่านได้เป็นถึงบุคคลสำคัญและเป็นกำลังของชาติ ความบาดหมางที่เกิดขึ้นระหว่างอยุธยากับสงขลานั้นมลายไปสิ้น มิตรภาพ ความภักดี และความทรงจำใหม่ ๆ งอกงามเฉกเช่นต้นรักทั้ง 4 ต้นที่ผลิดอกอยู่ในสุสานของสุลต่านสุลัยมานทุกวันนี้อย่างไม่รู้เหน็ดหน่าย อีกทั้งวงศ์วานของสุลต่านผู้ทอดร่างเหนือสันทรายที่ปากน้ำเก่าของเมืองสงขลาสายหนึ่ง ที่สุดแล้วจะได้ผูกสายสัมพันธ์กับเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับตั้งแต่รัชกาลที่ 3 เป็นต้นมาจวบจนทุกวันนี้ กล่าวคือ เจ้าจอมมารดาเรียมในรัชกาลที่ 2 ได้ประสูติพระโอรส ทรงมีพระนามว่า “พระองค์เจ้าทับ” ซึ่งต่อมา ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติเป็น “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3” ครั้นเมื่อพระองค์เจ้าทับทรงขึ้นครองราชย์แล้ว จึงได้สถาปนาพระชนนี คือ เจ้าจอมมารดาเรียม เป็น “สมเด็จพระศรีสุลาลัย บรมราชชนนี” [1]
นอกจากนี้ยังปรากฏบุคคลสามัญชนอีกหลายท่านในระดับประเทศ ที่ได้สร้างคุณูปการต่อการพัฒนาชาติของเราให้เจริญสถาพรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน บุคคลสำคัญเหล่านี้มีหลายท่านสืบเชื้อสายมาจากสุลต่านสุลัยมานอีกด้วย อาทิ เจ้าพระยาจักรีหมุด ขุนนางมุสลิมผู้ร่วมกู้ชาติสมัยกรุงธนบุรี อันเป็นต้นตระกูลของสายสกุล “ณ พัทลุง” รวมทั้งท่านจุฬาราชมนตรีคนปัจจุบัน เป็นต้น
สมาชิกพระราชวงศ์จักรีที่เคยเสด็จมาเยือน ณ สุสานสุลต่านสุลัยมาน สามารถสืบค้นเท่าที่มีเอกสารบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนี้
1. สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ขณะทรงดำรงพระอิสริยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์จากบันทึกของ ซึ่งทรงบันทึกไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “ชีวิวัฒน์เที่ยวที่ต่าง ๆ ภาค 7”
โดยเสด็จออกจากกรุงเทพพระนครฯ เมื่อวันอังคาร เดือน 9 แรม 6 ค่ำ พ.ศ.2427 ต่อมาในวันที่ 11 ของการเดินทาง อันตรงกับวันจันทร์ เดือน 10 ขึ้น 5 ค่ำ เวลาบ่าย 3 โมงเศษ เสด็จถึงสุสานสุลต่านสุไลมาน จังหวัดสงขลา ดังปรากฏรายละเอียดที่พระองค์บันทึกไว้ ว่า
“…พื้นทรายถนนยาวเข้าไป 4-5 เส้น ถึงที่เรียกว่า #มรหุ่มเป็นที่ฝั่งศพของเจ้าเเขก ซึ่งมาตั้งอยู่ ณ เมืองสงขลาแต่ก่อนนั้น ที่นั่นมีศาลามุงกระเบื้องไทยอยู่ 2 หลัง หลังหนึ่งใหญ่กว้างประมาณ 4 วา ในศาลานั้นเป็นที่ฝั่งศพเจ้าเเขกก่ออิฐถือปูนสูงประมาณ ศอกคืบ กว้างประมาณศอกคืบ ยาวประมาณ 4ศอก ข้างบนเป็นรางลึกลงไปมีทรายถมเต็ม บนนั้นมีหลักภาษาเเขกเรียกว่า #อาซัน ปักอยู่หัวท้าย 2 ข้าง #ที่ด้านกว้างฝั่งศพ ทิศเหนือมีศาลาแดงจารึกอักษรเเขกเป็นชื่อ…” [2]
2.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จทอดพระเนตร สุสานสุลต่านสุลัยมาน ชาร์ เมื่อวันอังคาร เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ รัตนโกสินทร์ศกที่ ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒)
ดังปรากฏในเอกสารคราวเสด็จประพาสแหลมมลายูความว่า
"... #เวลาบ่าย ๔ โมงเสด็จขึ้นที่ #หาดหัวเขาแดง ทอดพระเนตร #มรหุ่มที่ฝังศพเเขกโบราณ แล้วเสด็จมาประทับเรือพระที่นั่ง ได้ใช้จักรจากเมืองสงขลาเกือบทุ่ม ๑ ฯ..."[๓]
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทางฉายกับพระบรมวงศ์เละผู้ตามเสด็จที่ถ้ำเสือ บนเกาะมวยในหมู่เก่าสี่เกาะห้า ทะเลสาบสงขลา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ (ในคราวเดียวกันที่เสด็จมาที่สุสานสุต่านสุลัยมาน -ผู้โพส)
3. สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งปรากฏหลักฐานอยู่ในบันทึกจดหมายเหตุรายวัน เขียนขึ้นเมื่อวันอังคาร วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2431 ซึ่งทรงบรรยายไว้ ว่า
“…บ่ายสี่โมงเราได้ตามเสด็จไปขึ้นที่หาดแก้ว เสด็จไปทอดพระเนตรมรหุ่มที่ฝังศพแขกแต่โบราณ มีจารึกด้วย มีหลังคาอยู่สองศพ ศพหนึ่งเป็นเจ้า ศพหนึ่งอาจารย์ ได้ยินว่าชาวเมืองถึงไม่ได้เป็นแขกก็นับถือ เสด็จกลับมาถึงเรืออุบล เรือออกจากเมืองสงขลาเกือบทุ่ม…"[4]
4.สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเทพรัตนฯ ได้เสด็จเยี่ยมสุสาน สุลต่านสุลัยมาน ชาร์ พร้อมนักเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๔
จากข้อมูลข้างต้นที่ได้ยกมาประกอบนี้ จะเห็นได้ว่าท่านสุลต่านสุลัยมานมีความสำคัญต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก เพราะแม้แต่พระราชวงศ์จักรีอันเป็นที่รักของเรานั้น ก็ปรากฏว่าสายพระโลหิตบางส่วนสืบมากจากท่านสุล่านสุลัยมาน ผู้ทอดร่าง ณ พื้นที่ทรายเมืองสงขลาแห่งนี้มากว่า ๓ ศตวรรษแล้ว
จวบจนวันนี้เหตุการณ์อันเลวร้ายที่ได้เกิดขึ้น หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยตรงอย่างกรมศิลปากรซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องของการพิทักษ์รักษาโบราณสถาน จะไม่ออกมาแสดงความรับผิดชอบหรือยกระดับมาตรการอื่นใดหรืออย่างไร เพราะเหตุการณ์อุกอาจเช่นนี้ได้ขึ้นติดต่อกัน 4 ครั้งติดต่อกันแล้ว ย่อมเป็นการตอกย้ำถึงหน้าที่และพันธกิจของเจ้าหน้าที่ กรมศิลปากร ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เคร่งครัด เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายซึ่งได้ให้ประกาศิตและอำนาจในการปกป้องคุ้มครองแหล่งโบราณสถานของชาติไว้แก่ท่าน
เมืองสงขลานี้นับว่าไม่เคยแล้งนักวิชาการ ไม่ว่าจะทั้งคนใน เเละคนนอกพื้นที่ต่างก็เคยลงมาศึกษาหาข้อมูลอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังปรากฏชมรม ภาคี หรือกลุ่มภาคประชาสังคมต่าง ๆ ที่มีวิสัยทัศน์ที่ต้องการพัฒนาเมืองสงขลาให้มีความเจริญรุ่งเรืองควบคู่ไปกับการอนุรักษ์มรดกดั้งเดิมของความเป็นเมืองเก่าไว้ อีกทั้งสถานศึกษาในระดับมหาลัย ทั้งของรัฐ เเละเอกชนถึง 5 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ได้ปรากฏพิพิธภัณฑ์ระดับชาติตั้งอยู่ในพื้นที่
การทุบทำลายสุสานของสุลต่านสุลัยมาน ทั้ง 4 ครั้งที่เกิดขึ้นนี้ (ทั้งตัวสุสานของเจ้าผู้ครองนคร แผ่นป้ายเหนือหลุมศพที่ปรากฏอักษรชวาโบราณ และหลุมศพอื่น ๆ) จะเป็นไปได้หรือไม่ที่หน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งดูแลรับผิดชอบเรื่องเหล่านี้ จะเริ่มส่งเสียง ให้ความสำคัญ หรือแสดงออกถึงความห่วงใยในความเป็นไปของเหตุการณ์บ้าง แม้สักเล็กน้อยก็ยังดี
และที่สำคัญที่สุด ปัจจุบันสงขลากำลังอยู่ในช่วงของการผลักดันเป็นเมืองมรดกโลก แม้จะทราบกันดีว่าแต่เดิมมีความต้องการผลักดันเพียงแค่ส่วนของเมืองเก่าฝั่งบ่อยางซึ่งสร้างในสมัยเจ้าเมืองสงขลาชาวจีน แต่เมื่อได้มีการตกลงกันแล้วว่าจะขยายขอบเขตมายังฟากสิงหนคร และกรอบเวลาของประวัติศาสตร์จำต้องย้อนลึกมาถึงยุคของสุลต่านสุลัยมาน การทุบทำลายสิ่งใด ๆ ในพื้นที่สุสานซึ่งฝังร่างของเจ้าผู้ครองเมืองอย่างอุกอาจและซ้ำแล้วซ้ำเล่า ย่อมเป็นการประจักษ์ว่ามาตรการในการคุ้มครองและดูแลรักษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และอาจกระทบต่อแผนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในอนาคตอีกด้วย
ภาพการทุบทำลายสุสานของสุลต่านสุลัยมาน https://www.facebook.com/1798235463736805/posts/3123210921239246/
.
ที่มา
เผยเเพร่ครั้งเเรกผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว Samart sarem เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๔ เผยเเพร่ครั้งที่สองผ่านเว็บไซน์ www.kidyang.com เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔
.
[1] : ศิลปวัฒนธรรม(17 มกราคม 2563).“สกุลมุสลิม “สุนนี” กับสายสัมพันธ์ราชินิกุลของรัชกาลที่ 3” เอกสารออนไลน์ : https://bit.ly/3ssXPXA
[2] : “ชีวิวัฒน์เที่ยวต่างๆ ภาค 7” แหล่งที่มา: https://archive.org/details/700002402/mode/2up
[3] : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระราชหัถเลขาในรัชกาลที่ ๕ เรื่องเสด็จประพาสแหลมมลายู ร.ศ.๑๐๘ ,พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสนิท สุมาวงศ์ ป.ช.ป.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๙ (กรุงเทพ : โรงพิมพ์ กราฟิคอาร์ต,๒๕๑๘)
[4] : จดหมายเหตุรายวัน ของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ.เอกสารออนไลน์ ,วชิรญาณ สืบค้นจาก : https://vajirayana.org
Comentarios