เรือนแก้วพระพุทธธรรมจักร มรดกศิลปกรรมล้ำค่าในเมืองพิษณุโลก - รายงานพิเศษจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ
ซุ้มเรือนแก้วของพระพุทธชินราช เป็นงานศิลปกรรมมีชื่อในแผ่นดินเหนือ ความงดงามลงตัวของงานชิ้นนี้ปรากฏว่ายังคงส่งอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด และงานสร้างสรรค์จนยุคปัจจุบัน
ทว่าในเมืองพิษณุโลก ยังมีซุ้มเรือนแก้วอีกชิ้นนึง ซึ่งเก่าแก่ มีความงามและการประดิษฐ์สร้างเป็นเอกลักษณ์น่าชมอีกชิ้นหนึ่ง คือซุ้มเรือนแก้วสวมพระพุทธธรรมจักร วัดธรรมจักร ในอำเภอเมือง ไม่ไกลจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุพิษณุโลกนี้เอง
ความเป็นมาของซุ้มเรือนแก้วนี้จำเป็นต้องย้อนกลับไปในราวปี 2500 เมื่อครั้งมีการรื้อวิหารวัดนางพญาลงเพื่อสร้างใหม่ ปรากฏว่ามีชิ้นส่วนของซุ้มเรือนแก้ว ส่วนบนซีกขวา ปรากฏองค์ประกอบของช่อฟ้ากึ่งป้านลม รวยระกา และหางหงส์อย่างอยุธยากลาง
เป็นช่วงเวลากับที่ หลวงพ่อเจ้าคุณพระโสภณปริยัติธรรม ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดธรรมจักร ได้อัญเชิญพระพุทธรูปจากระเบียงคดฝั่งทิศตะวันตก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลกมาเป็นประธานในโบสถ์หลังใหม่
ชิ้นส่วนเรือนแก้วจากวิหารวัดนางพญานั้น จึงได้ถูกเชิญมาซ่อมแซม และสลักส่วนที่หายไปขึ้นใหม่ โดยช่างจากย่านเสาชิงช้า เพื่อสวมพระพุทธรูปประธานดังกล่าว
ส่วนที่ซ่อมแซมนี้ได้แก่ แกะชิ้นส่วนซีกซ้ายเลียนอย่างซีกขวา แกะชิ้นส่วนตัวเรือนมกรทั้งสองฝั่งขึ้นใหม่ เลียนอย่างเรือนแก้วพระพุทธชินราช ในครั้งนั้นยังได้มีการสร้างเรือนแก้วจำลองอีกชุดหนึ่ง ไปสวมพระประธานโบสถ์วัดใหม่อภัยาราม อำเภอเมือง พิษณุโลก ที่เพิ่งบูรณะขึ้นใหม่เช่นกัน ปรากฏว่ามีรายละเอียดต่างกันเล็กน้อย และปรากฏว่าช่าง ได้ปั้นพระประธานในโบสถ์วัดใหม่อภัยยารามให้พอดีกับเรือน เกิดเป็นความงดงามน่าชมในทำนองที่ต่างไปจากพระพุทธชินราช
เผยแพร่ครั้งแรกที่ - https://www.facebook.com/1108887155819493/posts/1129161177125424/
Comments