top of page
รูปภาพนักเขียนสามารถ สาเร็ม

เมื่อเกาะหนูเกือบจะหายไปจากปากน้ำเมืองสงขลา

เมื่อเกาะหนูเกือบจะหายไปจากปากน้ำเมืองสงขลา :

ค้นพบเอกสารจดหมายเหตุอายุ 111 ปีว่าด้วยแนวคิดระเบิดเกาะหนู

เกาะหนู เกาะแมว เกาะที่ตั้งอยู่หน้าปากทะเลสาบสงขลา มีเรื่องเล่ามุขปาถะว่าแต่เดิมนั้นเกาะทั้งสองเกิดจากน้องหนู และน้องแมวที่เป็นสัตว์มีชีวิตจริง ๆ สัตว์ทั้งสองอยู่บนเรือของคหบดีชาวจีนที่ล่องเรือค้าขายไปมาระหว่างเมืองจีนกับเมืองสงขลา คหบดีมีลูกแก้ววิเศษที่สามารถทำให้ผู้ครอบครองลอยน้ำได้ หนูและแมวจึงวางแผนร่วมกับสุนัขบนเรือคิดขโมยลูกแก้วดังกล่าวเพื่อใช้หนีกลับมาเมืองสงขลา สัตว์ทั้งสามเมื่อขโมยลูกแก้วมาได้ก็แย่งชิงกัน หนูและแมวสิ้นชีวิตในทะเล เกิดเป็นเกาะหนู และเกาะแมว สุนัขซึ่งเป็นสัตว์เพียงตัวเดียวที่สามารถว่ายขึ้นมาพ้นจากทะเลได้กลายเป็นเขาตังกวน ส่วนลูกแก้วได้กลายเป็นหาดแก้วอยู่ในอำเภอสิงหนครในปัจจุบัน นิทานดังกล่าวเป็นความพยายามที่จะอธิบายภูมิสถานบริเวณปากทะเลสาบสงขลาให้ร้อยเรียงกันภายใต้ปรัมปราคติ เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าการผูกนิทานเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อใด

อย่างไรก็ตาม เราพบว่าบางชื่อจากนิทานดังกล่าวนั้นได้ปรากฏมาแล้วในเอกสารโบราณไม่น้อยกว่า 300 ปี แผนที่กัลปนาวัดพะโคะ ซึ่งแสดงเขตการปกครองคณะสงฆ์สทิงพระในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ 22 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 23 นับตั้งแต่เหนือสุดที่เทือกเขาพระบาทปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่อยลงมาใต้สุดที่บริเวณปากน้ำเมืองสงขลา ได้ปรากฏชื่อ #เข้าตังกวน ในตำแหน่งที่ตรงกับเขาตังกวนปัจจุบัน


ตำนานวัดกดีหลวงแนบท้ายพระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาวัดราชประดิษฐาน (พะโคะ) ซึ่งน่าจะเขียนขึ้นในห้วงเวลาคาบเกี่ยวกับแผนที่ข้างต้นได้ระบุถึง #ออกยาราม เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในรัชกาลของพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้สร้างเจดีย์บน #เกาะขาม (เกาะขามปัจจุบันอยู่ในตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา) #เกาะหนู #และจอมเขาแดง หลังกลับจากการติดตามโจรสลัด ซากปรักหักพังของเจดีย์ที่ปรากฏอยู่บนเกาะหนูปัจจุบัน อาจเป็นส่วนที่หลงเหลือมาจากเจดีย์ที่ถูกระบุถึงในเอกสารนี้


แผนที่บริเวณปากน้ำเมืองสงขลาของวิศวกรฝรั่งเศสซึ่งถูกส่งมาโดยสมเด็จพระนารายณ์เขียนขึ้นในปี 2228 ระบุชื่อ #Pule du Rat หรือเกาะหนู ในตำแหน่งที่สอดคล้องกับตำแหน่งเกาะหนูปัจจุบันลงแผนที่ด้วย


ส่วนเกาะแมวซึ่งมีขนาดเล็กกว่านั้นปรากฏอยู่ในแผนที่มาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 23 เช่นกัน แต่การระบุชื่อเกาะแมวนั้นปรากฏอย่างช้าในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 24 ในแผนที่เมืองสงขลาและระยะทาง (ทะเบียนหอสมุดแห่งชาติ : สมุดไทยเลขที่ ๙๖ แผนที่เมืองสงขลาและระยะทาง) เขียนขึ้นในรัชกาลที่ ๓ โดยพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) เจ้าเมืองสงขลาขณะนั้นระบุชื่อ เขาตังกวน เกาะหนู และเกาะแมว ในเส้นทางจากสงขลาไปยังกรุงเทพมหานคร [๑]


ในแผนที่คาบสมุทรมลายูตีพิมพ์ปีพ.ศ.๒๔๕๔ แผนที่ฉบับนี้เขียนชื่อเกาะทั้งสองทั้งภาษาไทยด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ และภาษามลายูโดยเขียน ดังนี้ Kaw Meo or Pulau kuching เกาะแมว หรือ ปูเลา กูจิง ( Pulau แปลว่าเกาะ Kucing แปลว่า แมว ) และ Kaw Nu or Pulau Tikus เกาะหนูหรือ ปูเลา ตีกุส ( Pulau แปลว่าเกาะ Tikus แปลว่า หนู ) [๒]

(ปูเลานั้นเป็นคำมลายูแปลว่าเกาะ แผนที่ต่าง ๆ ของชาวต่างชาติมักใช้คำนี้เสมอ ๆ อาจจะเพราะชาวมลายูคือชนชาติที่ล่องเรือไปมาอยู่ในภูมิภาคเขตนี้อยู่ก่อนแล้วหรืออาจะเพราะชาวต่างชาติใช้ล่ามชาวมลายูในการสำรวจพื้นที่ทำแผนที่)

จากข้อมูลข้างต้นอาจจะพอให้เรามองย้อนไปในอดีตอย่างช้าที่นามของเกาะ และภูเขาที่บริเวณปากทะเลสาบสงขลาได้ปรากฏขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์นอกเหนือจากนิทานปรัมปรา โดยเฉพาะเกาะหนูซึ่งขนาดไม่หนู และปรากฏเด่นเป็นสง่าอยู่หน้าปากน้ำเมืองสงขลานั้น อาจถือได้ว่าเป็นหมุดหมายตาสำคัญของปากทะเลสาบสงขลาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเขาแดงที่ตระหง่านอยู่บนแผ่นดิน ด้วยความสำคัญและความโดดเด่นนี้จึงทำให้เกาะนี้ปรากฏชื่ออยู่เรื่อยมาจากอดีต


แต่รู้หรือไม่ว่าเมื่อ ๑๑๑ ปีก่อน ในร.ศ.๑๒๙ (พ.ศ.๒๔๕๓) ได้มีแนวความคิดเสนอให้ขุดเกาะหนูนำมาทำกำแพงกันคลื่นเพื่อทำที่จอดเรือในทะเลสาบ เรื่องขุดเกาะหนูปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุของกระทรวงมหาดไทย ในหนังสือเลขที่ ๒๓ /๙๑๗ ลงวันที่ ๓ เดือนพฤษภาคม ร.ศ.๑๒๙ มีข้อความดังนี้ (คงอักขระวิธีตามต้นฉบับ)

 
ข้าพระพุทธเจ้า (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ขอพระราชทานกราบบังคมทูนพระกรุณาทราบฝ่าละออกธุลีพระบาท
ด้วยข้าพระพุทธเจ้าได้รับใบบอกพระยารัษฎานุประดิษฐ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็จที่ ๒๒๕/๕๓๓๓ ลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ร,ศ,๑๒๘ ว่า การที่รัฐบาลได้ทำทางรถไฟทางแหลมมลายูนั้น จะเป็นทางสำหรับให้พวกกุลีจีนแลสินค้าที่มาจากเมืองจีนไปมณพลภูเก็จโดยไม่ต้องข้ามทางเมืองสะเตรดเสตเตลเมนต์ คือ ว่าควรแนะนำบริษัทเรือที่เดินระหว่างกรุงเทพ ฯ กับเมืองจีนว่า เมื่อเรือออกจากเมืองจีนมากรุงเทพ ฯ ควรจะบรรทุกทั้งกุลีแลสินค้านั้นจะได้ขึ้นรถไฟต่อไป พระยารัษฎานุประดิษฐเห็นด้วยเกล้า ว่า ถ้าจัดการดังนี้ได้แล้วควรจะต้องทำโรงไว้สินค้าขึ้นที่เกาะหนูน่าเมืองสงขลา แลพระยารัษฎานุประดิษฐ์ได้ส่งความเห็นนายพันโท คอล นายตำรวจภูธรมาว่า #ควรจะทำลายเกาะหนูมาถมเป็นทำนบกั้นคลื่นที่ปากน้ำเมืองสงขลา แลนายพันโท คอลเห็นว่า การที่จะทำลายเกาะหนูทำ ๆ นบกั้นนั้นควรจะใช้แรงงานนักโทษซึ่งต้องเนรเทศไปอยู่แหลมมลายู ความหมายประการแจ้งอยู่ในสำเนาความเห็นของนายพันโทคอล ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้ทูลเกล้า ถวายมาพร้อมกับจดหมายฉบับนี้ด้วยแล้ว
ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าว่า เมืองสงขลานั้นคงจะต้องเป็นอ่าวจอดเรืออ่าวหนึ่ง #แลเวลานี้น้ำข้างในลึก #มีตื่นอยู่ที่ปากน้ำข้างนอก อนึ่งเวลามรสุมลมว่าวเรือเข้าออกลำบาก ควรทีจะให้เป็นอ่าวจอดเรือได้นั้น ก็จะต้องขุดปากน้ำตอนนอกให้ลึกอย่างหนึ่ง แลบางทีจะต้องมีกำแพงบังกลั้นด้วย ข้าพระพุทธเจ้าได้ส่งเรื่องนี้ไปหารือ #มิสเตอร์กิตเตนส์ ๆ ก็เห็นพ้องกับความเห็นของข้าพระพุทธเจ้า แลแนะนำต่อไปว่า การเรื่องนี้เกี่ยวด้วยวิชาสายน้ำ ถ้าทำการพลาดพลั้งไป จะขาดทุนเปล่า ควรขอให้ #มิสเตอร์กิตเตนส์เห็นว่า ควรขอให้มิศเตอร์ไว้เวีน เบิกพนักงานในกรมคลองผู้ชำนาญการสายน้ำลงไปตรวจดูก่อนจะดี ข้าพระพุทธเจ้าได้ทูลเกล้า ๆ ถวายสำเนาจดหมายมิสเตอร์กิตเตนส์มาพร้อมกับจหมายฉบับนี้ ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแลเห็น้วยเกล้า ว่า ที่มิศเตอร์กิตเตนส์เห็นควรให้มีผู้ชำนาญการสายน้ำไปตรวจนั้นชอบกลอยู่
การจะควรประการใดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ข้าพระพุทธเจ้า ดำรงราชานุภาพ ขอเดชะ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย[๓]
 

จากหนังสือดังกล่าวกรมพระยาดำรงมีพระกะแส ความเห็นเรื่องจะขุดปากน้ำแลทำลายเกาะหนูน่าเมืองสงขลาเป็นอ่าวจอดเรือ ในหนังสือเลขที่ ๒๗ /๖๑๗ ลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ร.ศ.๑๒๙ มีข้อความดังนี้

“…เมื่อตามตัวอย่างที่ได้เห็นในประเทศอื่นก็เห็นว่าควรจะทำได้ แต่การลงทุนย่อมจะมาก ความคิดที่จะกะการค้าฤากะสายน้ำวิธีการช่างลึกเหลือที่จะคิดเหน จะสั่งไปตามที่ขอก็ไม่แนใจว่าจะมีขัดข้องอย่างไร ถ้าเธอหาฤากับกระทรวงเกสรแลตัวผู้ที่จะทำการเสียก่อนเห็นจะดี…”[๔]

อย่างไรก็ดี จากเอกสารจดหมายเหตุที่ผู้เขียนสามารถตรวจสอบเข้าถึงได้ในปัจจุบันยังไม่พบว่าภายหลังหนังสือทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าวแล้ว ได้มีการดำเนินการต่อไปอย่างไร แต่การที่เกาะหนูยังตั้งอยู่อย่างปกติสุขในทุกวันนี้ย่อมแสดงว่าโครงการนี้ไม่ได้ไปต่อ แต่จะยุติลงด้วยสาเหตุใดคงเป็นเรื่องให้ค้นคว้าต่อ บางทีการระเบิดเกาะอาจทำไม่ได้ในทางปฎิบัติ หรือไม่คุ้มการลงทุนก็ได้ เอกสารสองชิ้นข้างต้นนอกจากจะแสดงให้เห็นแนวคิดของการที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณปากทะเลสาบสงขลาให้เป็นท่าเรือน้ำลึกแล้ว ยังทำให้เห็นการวางแผนที่จะใช้ระบบรางรถไฟเป็นตัวขนถ่ายสินค้า และแรงงานเข้าสู่ตอนใน และศูนย์กลางการปกครองของประเทศซึ่งได้ริเริ่มมากว่า ๑๐๐ ปีแล้ว แต่มาจนปัจจุบันแม้จะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกบริเวณสิงหนคร แทนการระเบิดเกาะหนู และใช้ภายในทะเลสาบเป็นท่าเรือ แต่การขนถ่ายสินค้าก็เปลี่ยนไปเป็นโครงข่ายถนน เครือข่ายทางรถไฟไม่ได้ถูกใช้และค่อย ๆ หมดความสำคัญลง น่าคิดเหมือนกันว่าหากโครงการท่าเรือน้ำลึก และการขนถ่ายโดยระบบรางที่สงขลาสำเร็จลงตั้งแต่เมื่อร้อยปีก่อน สงขลาที่เรารู้จักในทุกวันนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร

 
 

ที่มา [๑] : แผนที่เมืองสงขลาและระยะทาง (ทะเบียนหอสมุดแห่งชาติ : สมุดไทยเลขที่ ๙๖ แผนที่เมืองสงขลาและระยะทาง) https://www.facebook.com/groups/250904708948593/permalink/516261189079609

[๒] สืบค้นจาก http://nla.gov.au/nla.obj-230048780/view#full-page เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๔

[๓] : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ,รหัส ร.๕ ม.๔๗/๑๙ (๑๑)

[๔] : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ,รหัส ร.๕ ม.๔๗/๑๙ (๑๑)

ดู 616 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page