ภาพมุมกว้างของท้องสนามไชยสมัยต้นรัชกาลที่ 5
- คิดอย่าง
- 7 ม.ค. 2564
- ยาว 1 นาที
ภาพมุมกว้างของท้องสนามไชยสมัยต้นรัชกาลที่ 5

ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี พ.ศ.2419 ไม่ทราบนามผู้ถ่าย ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของ National Museum of Ethnology ประเทศเนเธอแลนด์
ภาพนี้เป็นที่รู้จักกันมานานพอสมควรแล้ว แต่ว่าภาพต้นฉบับถ่ายแยกเป็นสองภาพ คิดอย่างจึงได้ต่อภาพขึ้นจากภาพถ่ายเก่าจำนวนสองภาพดังกล่าว จึงได้ภาพมุมกว้างของท้องสนามไชย และหมู่พระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง ครั้งต้นรัชกาลที่ 5 ภาพนี้
สิ่งก่อสร้างที่ปรากฏในภาพจากขวาไปซ้าย
ป้อมสิงขรขัณฑ์ - (พระที่นั่งภูวดลทัศนัย) - ประตูเทวาพิทักษ์ - ป้อมขยันยิงยุทธ (ชักธงช้างเผือกขึ้นเสา) - พระที่นั่งสุทไธสวรรค์ - ป้อมฤทธิรุทโรมรัน - ประตูศักดิ์ชัยสิทธิ์

ท้องสนามไชย เดิมเรียกว่า "สนามหน้าจักรวรรดิ” ตามแบบสนามหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ในกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กั้นเป็นบริเวณ โดยปักเสานางเรียงทางเหนือสนามแถวหนึ่ง ทางใต้แถวหนึ่ง กำหนดพระที่นั่งสุทไธสวรรย์เป็นกึ่งกลาง ข้างหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์สร้างพระแท่นเบญจาสำหรับเสด็จออกให้ข้าราชการเฝ้าฯ (ปรากฏในภาพ)
มีเกยช้างอยู่ด้านเหนือ เกยพระราชยานอยู่ด้านใต้ ริมสนามอีกฝั่งหนึ่งโปรดให้สร้างตึกสองชั้นสำหรับนายทหารอยู่ (ฝั่งที่ช่างภาพยืนอยู่) และสร้างโรงทหารต่อไปทางเหนืออีกแถวหนึ่ง บริเวณดังกล่าวนี้ให้รวมเรียกว่า "ท้องสนามไชย” ตามปรากฏในประกาศว่าด้วยท้องสนามหลวงแลท้องสนาม ปีเถาะสัปตศก พ.ศ. 2398
ท้องสนามไชย เป็นบริเวณที่ข้าราชการและประชาชน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เนื่องในพระราชพิธีสำคัญของบ้านเมือง เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีอภิเษกสมรส เป็นต้น
ประตูเทวาพิทักษ์ - ประตูศักดิ์ชัยสิทธิ์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1
ป้อมสิงขรขัณฑ์ (ป้อมขวามือสุดในภาพ) สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1
ป้อมขยันยิงยุทธ - ฤทธิรุทโรมรัน (ป้อมขนาบข้างพระที่นั่งสุทไธสวรรค์) ทั้งสองสร้างสมัย รัชกาลที่ 4
พระที่นั่งภูวดลทัศไนย
สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 บนเส้นแวง 100 องศา 29 ฟิลิปดา 50 ฟิลิปดาตะวันออก เป็นพระที่นั่งสูง 5 ชั้น ด้านบนสุดติดตั้งนาฬิกาทั้ง 4 ด้าน โดยทรงมีพระราชประสงค์จะให้เป็นหอนาฬิกาหลวง เพื่อทำหน้าที่บอกเวลาสากลอย่างอารยประเทศ และโปรดให้มีเจ้าพนักงานตำแหน่ง พันทิวาทิตย์ ทำหน้าที่เทียบเวลากลางวันจากดวงอาทิตย์ และพันพินิตจันทรา ทำหน้าที่เทียบเวลากลางคืนจากดวงจันทร์

ในปัจจุบันได้มีการสร้างพระที่นั่งภูวดลทัศนัยขึ้นใหม่ ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี โดยมีขนาดย่อมลงมา ทั้งนี้เนื่องจากภาพถ่ายเก่าทั้งหมดที่มีเกี่ยวกับพระที่นั่งองค์นี้ ไม่มีภาพใดที่เห็นลักษณะชั้นที่ 1 ของพระที่นั่งเลย ส่วนชั้นที่ 1 จึงเป็นการสันนิษฐานขึ้นจากร่องรอยของผัง และเอกสาร ขณะที่ส่วนชั้นบนขึ้นไป ใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายซึ่งช่วยให้ได้ลักษณะที่แม่นยำ
พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท
สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 อยู่ระหว่าง ประตูเทวาพิทักษ์ และประตูศักดิ์ชัยสิทธิ์ เพื่อใช้เป็นที่ประทับเพื่อทอดพระเนตรกระบวนแห่ในการสวนสนามจตุรงคเสนา โดยทำตามอย่างพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ ที่สร้างขึ้นบนกำแพงพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเจ้าปราสาททอง
เดิมพระที่นั่งองค์นี้เป็นพลับพลาโถงไม่มียอด เรียกว่าพลับพลาสูง ต่อมาในรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไของค์พระที่นั่งเป็นฝาก่ออิฐ และแก้หลังคาเป็นยอดปราสาท พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งสุทธสวรรค์"

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการบูรณะพระที่นั่งองค์นี้ครั้งใหญ่ โดยเปลี่ยนเสาไม้ภายในองค์พระที่นั่งเป็นเสาปูนมีบัวหัวเสาอย่างตะวันตก และเปลี่ยนนามพระที่นั่งเป็น "พระที่นั่งสุทไธสวรรค์"
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ใช้พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ตั้งพระศพกรมขุนสุพรรณภาควดี พระราชธิดาองค์แรกที่ทรงโปรดปรานมาก
มีข้อสังเกตว่าการตั้งพระศพบนพระที่นั่งสุทไธสวรรค์ซึ่งเป็นพระที่นั่งที่ตั้งอยู่บนกำแพงพระบรมมหาราชวังนี้ คล้ายจะล้อแบบอย่างการตั้งพระศพกรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์ บนพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนตร์บนกำแพงพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา ซึ่งปรากฏหลักฐานในกฏหมายการพระบรมศพครั้งกรุงเก่า


ในขณะนี้ บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรค์ยังเป็นที่ตั้งของพลับพลายก ซึ่งตามธรรมเนียมจะใช้เป็นที่สำหรับพระราชวงศ์และข้าราชบริพารฝ่ายในเฝ้ารอรับเสด็จฯ เราจึงเห็นว่าสถาปนิกผู้ออกแบบพลับพลายกแห่งนี้เลือกใช้ลักษณะซุ้มแบบหน้านาง ซึ่งมีความอ่อนหวานเป็นพิเศษ มาใช้ในการออกแบบพลับพลายกแห่งนี้อย่างชาญฉลาด อีกทั้งตัวซุ้มแบบหน้านางที่ค่อนข้างเตี้ยนี้ ยังไม่บดบังความสง่างามของพระที่นั่งสุทไธสวรรค์ที่อยู่เบื้องหลังอีกด้วย
ที่มาภาพ
Comments