top of page
รูปภาพนักเขียนสามารถ สาเร็ม

พลิกหลักฐาน ตามหาแผ่นจารึกทั้ง ๕ ; ที่หายไปจากมะก่อม (หลุมฝังศพ) สุลต่านสุลัยมาน ชาห์



สืบเนื่องจากปีที่เเล้วผู้เขียนได้นำเสนอเรื่องราวของจารึกที่ปรากฎอยู่ในสุสานสุลต่านสุลัยมาน ชาห์จำนวนสองบทความคือ ๑.เรื่อง “…จารึกกูโบร์โต๊ะหุม : ในบันทึกของชนชั้นนำสยาม…”[๑] ๒.เรื่อง "...สำรวจจารึกบนป้ายหลุมศพในสุสานสุลต่านแห่งสงขลา..."[๒] ด้วยขณะนี้เกิดการบุกรุกโบราณสถานพื้นที่เขาแดงซึ่งเป็นที่ตั้งเเหล่งโบราณคดีสมัยสุลต่านสุลัยมานชาห์ กับเขาน้อยแหล่งโบราณคดีสมัยศรีวิชัยมีการขุดดินไปขายเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์นี้ทำให้ภาคประชาสังคมสงขลาตื่นตัวและออกมาเคลื่อนไหวต่อกรณีการลุกลำโบราณสถาน และทำลายพื้นที่ทางประวัติศาสตร์สงขลาเป็นจำนวนมาก


ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงมีความตั้งใจเรียบเรียงบทความชิ้นนี้ขึ้น เพื่อชวนตั้งคำถาม สืบค้น และติดตาม หรือนำไปสู่การเรียกร้องให้กรมศิลปากรมีการตรวจสอบต่อไป เกี่ยวกับแผ่นจารึกที่มะก่อมหรือเขื่อน (หลุมฝังศพ) ของสุลต่านสุลัยมานชาห์ จำนวน ๕ แผ่นซึ่งปัจจุบันได้หายไปจากหลุมฝังศพของสุลต่านสุลัยมานชาห์ อย่างเป็นปริศนา

แผ่นจารึกตำแหน่งแรก (ขอบด้านบนมะก่อมทิศตะวันออก)


แผ่นจารึกทางทิศตะวันออกบนขอบด้านบนของมะก่อมปัจจุบันตำแหน่งนี้มีจารึกสลักลงบนแท่นมะก่อม แต่ผู้เขียนพบว่าในหนังสือเรื่อง กรมศิลปากร ทำเนียบแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานในจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล) มีการกล่าวถึงแผ่นจารึกตำแหน่งนี้ไว้ว่า


“…บริเวณขอบแท่นด้านบนมีแผ่นโลหะจารึกเป็นตัวอาหรับ ข้อความที่จารึกอ่านได้ว่า

คำอ่าน (อักษรไทย) อัล-มัรฮุม สุลฏอน สูลัยมาน ปือมือรินตัฮ นือฆือรี มือลายู สงโฆรา

คำอ่าน (อักษรโรมัน) al-mar-hum sultan sulaiman pamarintah nigari malayu songora

คำแปล ผู้ไปสู่พระผู้เป็นเจ้า – สุลต่านสุลัยมานผู้ครองนครีมลายูสงโฆรา… (กรมศิลปากร)[๓]


ปัจจุบันไม่ปรากฎการมีแผ่นจารึกแผ่นนี้อยู่ในตำแหน่งนี้ หรือมีการถอดเเผ่นจารึกออกไปแล้วจารึกขึ้นใหม่ตามข้อความเดิมที่ระบุบนเเผ่นจารึก? ใครคือผู้ถอด? ปัจจุบันถูกเก็บอยู่ที่ใด?


ที่มา : กรมศิลปากร ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม : https://bit.ly/3uVhORg


จารึกบริเวณขอบเเท่นด้านบนทิศตะวันออกของมะก่อมจารึกด้วยภาษามลายู อักษรยาวี


กดชมจารึกบนมะก่อมสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ แบบสามมิติ ได้ที่ : https://bit.ly/3J1sMcZ


 

หลักฐานระบุถึงแผ่นจารึกทั้งสี่


หากท่านผู้อ่านได้เคยเข้าไปยังสถานที่จริงหรือติดตามข่าวเหตุการณ์การทุบทำลายกุโบร์สุลต่านสุลัยมานชาห์ เมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ (๒๕๖๔ที่ผ่านมาเป็นเหตุการณ์ครั้งที่ ๔)[๔] คงจะสังเกตเห็นว่า มะก่อมหรือเขื่อน ทั้งสี่ด้านจะมีช่องสี่เหลียม มีลักษณะที่เชื่อได้ว่าอาจมีจารึกหรือแผ่นจารึกแปะอยู่ ด้วยความสงสัยและตั้งคำถามต่อเรื่องนี้ผู้เขียนจึงพยามสืบค้นข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อหาเบาะเเสของเเผ่นจารึกทั้งสี่นี้เพราะผู้เขียนเชื่อว่างานเขียนของนักวิชาการยุคก่อนต้องเขียนถึงไว้บ้างหากมีแผ่นจารึกอยู่จริง ปรากฎว่าก็เป็นเช่นนี้จริง ๆ มีงานศึกษาของกรมศิลปากร เเละ งานศึกษาของนักวิชการระบุถึงแผ่นจารึกไว้ ผู้เขียนจึงนำมาเสนอท่านผู้สนใจดังนี้


ขอบคุณภาพถ่ายจากเพจตำรวจภูธรสิงหนคร สืบค้นจาก : https://bit.ly/38gnIos


ขอบคุณภาพถ่ายจากเพจตำรวจภูธรสิงหนคร สืบค้นจาก : https://bit.ly/38gnIos


๑. รายงานการบูรณะโครงการสถานที่ฝังศพพระยาแขก (มรหุ่ม) หมู่ที่ ๑ ตำบลหัวเขา อำเภอสงขลา จังหวัดสงขลา พ.ศ.๒๕๑๔ โดยหน่วยศิลปากรที่ ๙ กรมศิลปากร มีการระบุข้อมูลไว้ว่า “…ตัวที่ฝังศพมีแผ่นจารึกตัวอักษรชำรุดมากเป็นภาษาอาหรับอยู่ตรงกลางผนังที่ฝังศพทั้ง ๔ ด้าน มีขนาดดังนี้

"...ด้านทิศเหนือ กว้างประมาณ ๑๔ ซ.ม. ยาวประมาณ ๒๐.๕ ซ.ม.

ด้านทิศตะวันออก กว้างประมาณ ๑๑ ซ.ม. ยาวประมาณ ๒๑ ซ.ม.

ด้านทิศใต้กว้างประมาณ ๑๔.๕ ซ.ม. ยาวประมาณ ๒๐ ซ.ม.

และด้านทิศตะวันตกกว้างประมาณ ๑๑.๕ ซ.ม ยาวประมาณ ๒๑ ซ.ม..."

(หน่วยศิลปากรที่ ๙ กรมศิลปากร :๒๕๑๔)[๕]


ที่มา : รายงานการบูรณะโครงการสถานที่ฝังศพพระยาแขก (มรหุ่ม) หมู่ที่ ๑ ตำบลหัวเขา อำเภอสงขลา จังหวัดสงขลา พ.ศ.๒๕๑๔ โดยหน่วยศิลปากรที่ ๙ กรมศิลปากร


 

๒.เว็บไซต์ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมกรมศิลปากร เขียนข้อมูลระบุไว้ว่า


“…ตัวโบราณสถานมีคูน้ำล้อมรอบ 3 ด้าน พระยาแขก (มรหุ่ม) มีชื่อปรากฎอยู่ในแผ่นจารึกที่ฝังศพของท่านว่า สลตอนสุไสมาน…”[๖]


แผ่นจารึกนี้ปัจจุบันไม่ปรากฏว่ามีอยู่แล้วเช่นกัน ผู้เขียนสันนิษฐานว่าคือแผ่นจารึกที่น่าจะอยู่ในตำแหน่งด้านใดด้านหนึ่งของมะก่อมหรือเขื่อนซึ่งมีอยู่ด้วยกันสี่แผ่นดังข้อมูลที่ระบุอยู่ในรายงานการขุดค้นด้านบน


ที่มา : กรมศิลปากร ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม : https://bit.ly/3uVhORg



 

๓. บทความเรื่อง "เมืองสงขลาหัวเขาแดงโดย ชัยวุฒิ พิยะกูล พิมพ์รวมเล่มอยู่ใน สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๗ . สถาบันทักษิณคดี ระบุข้อมูลไว้ว่า


“…ที่ฝังศพสุลต่านสุไลมาน ชาวบ้านเรียกว่า “ทวดหุม” หรือ “มะระหุม”ตั้งอยู่ริมอ่าวไทย ในท้องที่ตำบลหัวเขา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา สภาพที่ฝังศพสุลต่านสุไลมาน ก่อด้วยปูนสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านเหนือที่ฝังศพมีจารึกเป็นภาษาอาหรับในช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๒๔ เซนติเมตร ยาว ๒๐.๒ เซนติเมตร ด้วยอักษรลบเลือนมากเเล้ว…”(ชัยวุฒิ พิยะกูล : ๒๕๒๙)[๗]




 

๔.หนังสือประวัติศาสตร์ตระกูลสุลต่าน สุลัยมานจัดพิมพ์โดย สายสกุลสุลต่านสุลัยมาน พ.ศ.๒๕๓๐ ได้ตีพิมพ์ภาพถ่ายแผ่นโลหะจารึกพร้อมข้อความอธิบายว่า


“...แผ่นโลหะจารึกอักษรอาหรับปิดอยู่ทางด้านทิศเหนือของแท่นบนหลุมศพท่านลุสต่านสุลัยมาน ที่หัวเขาแดง สงขลา มีข้อความ “อัล-มัรหุ่ม ซอลตอน สุลัยมาน ชาฮ์...”(สายสกุลสุลต่านสุลัยมาน :๒๕๓๐)[๘]


ที่มา : หนังสือประวัติศาสตร์ตระกูลสุลต่าน สุลัยมานจัดพิมพ์โดย สายสกุลสุลต่านสุลัยมาน พ.ศ.๒๕๓๐

 

สรุป


จากหลักฐานข้อมูลที่ยกมานำเสนอพบว่า ช่องสี่เหลียมทั้งด้านของมะก่อม(หลุมฝังศพ)ของสุลต่านสุลัยมานชาห์นั้นในอดีตเคยมีแผ่นจารึกติดอยู่จริง ซึ่งเป็นข้อมูลของกรมศิลปากรที่เรียบเรียงขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔ ในเอกสารรายงานการบูรณะ


ต่อมาปี ๒๕๒๙ ได้ปรากฏงานเขียนที่กล่าวถึงการมีอยู่ของจารึกอีกครั้งโดยระบุถึงจารึกทางด้านทิศเหนือเพียงตำแหน่งเดียว


และในปีถัดมา ๒๕๓๐ ได้ปรากฏ ภาพถ่ายแผ่นจารึกโลหะทางด้านทิศเหนือ เป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้เชื่อได้ว่า แผ่นจารึกนั้นได้เคยมีอยู่จริง ณ มะก่อม (ที่ก่อบนหลุม)ของสุลต่านผู้กลับไปสู่ความเมตราของพระผู้เป็นเจ้าที่ทอดร่างอยู่ใต้ผืนทรายซิงฆอรา(สงขลา) มาแล้วกว่าสามศตวรรษ

แสดงว่าแผ่นจารึกทั้งสี่แผ่นน่าจะถูกถอดไปในช่วงก่อนปีพ.ศ.๒๕๒๙ หรือ๒๕๓๐ เป็นอย่างน้อย


ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าหากทราบว่าแผ่นจารึกทั้งห้าอยู่ที่ใด อาจช่วยให้เราเข้าใจรากฐานทางวัฒนธรรมของคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลา ชาวสงขลาพลัดถิ่นและชาวซิงฆอราในอดีตได้มากขึ้นก็เป็นได้


ที่มา : กรมศิลปากร ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม : https://bit.ly/3uVhORg

 

อ้างอิง


[๑] : สามารถ สาเร็ม.จารึกกูโบร์โต๊ะหุม : ในบันทึกของชนชั้นนำสยาม.(๒๕๖๔). บทความออนไลน์.สืบค้น : https://bit.ly/3r0Txbw


[๒] : สามารถ สาเร็ม.สำรวจจารึกบนป้ายหลุมศพในสุสานสุลต่านแห่งสงขลา.(๒๕๖๔).บทความออนไลน์.สืบค้น : https://www.kidyang.com/post/singora_tanda?fbclid=IwAR1Fb3fAAghxY5lHoykJW-2Lj3p0yiKhnFcTs7CF1c0U58EL0m7Sm3k0ISc


[๓] : กรมศิลปากร .ทำเนียบแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานในจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล).สุวิทย์ ชัยมงคล(บรรณาธิการ)หน้าที่ ๑๕๑.กรุงเทพ ฯ : บางกอก อินเฮาส์ จำกัด อ้างใน คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสงขลา(กรุงเทพฯ:คณะกรรมการกรมการฯ,๒๕๕๔),๑๑๘


[๔] : เพจตำรวจภูธรสิงหนคร สืบค้นจาก : https://bit.ly/38gnIos


[๕] : โดยหน่วยศิลปากรที่ ๙ กรมศิลปากร(๒๕๑๔).รายงานการบูรณะโครงการสถานที่ฝังศพพระยาแขก (มรหุ่ม) หมู่ที่ ๑ ตำบลหัวเขา อำเภอสงขลา จังหวัดสงขลา .หน้าที่ ๓


[๖] :กรมศิลปากร(ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม) .ที่ฝังศพพระยาแขก สืบค้นออนไลน์ : https://bit.ly/3gwpgMB


[๗] : ชัยวุฒิ พิยะกูล .(๒๕๒๙).เมืองสงขลาหัวเขาแดง.พิมพ์รวมเล่มอยู่ใน สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๗ . สถาบันทักษิณคดี


[๘] : สายสกุลสุลต่านสุลัยมาน.(๒๕๓๐).ประวัติศาสตร์ตระกูลสุลต่านสุลัยมาน.หน้า ๙๐ .กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กร๊ะ จำกัด


 

สารบัญภาพ



ช่องสี่เหลี่ยมบนมะก่อมที่ถูกทุบเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธุ์ พ.ศ.๒๕๖๔ ถ่ายภาพเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธุ์ พ.ศ.๒๕๖๔


ช่องสี่เหลี่ยมบนมะก่อมที่ถูกทุบเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธุ์ พ.ศ.๒๕๖๔ ถ่ายภาพเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธุ์ พ.ศ.๒๕๖๔


ช่องสี่เหลี่ยมบนมะก่อมที่ถูกทุบเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธุ์ พ.ศ.๒๕๖๔ ถ่ายภาพเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธุ์ พ.ศ.๒๕๖๔



ช่องสี่เหลี่ยมบนมะก่อมที่ถูกทุบเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธุ์ พ.ศ.๒๕๖๔ ถ่ายภาพเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธุ์ พ.ศ.๒๕๖๔


ภาพถ่ายเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธุ์ พ.ศ.๒๕๖๔ วันที่ผู้เขียนพบเหตุการณ์ถอยรถเหยียบ ทุบทำลายเครื่องหมายบนหลุมฝังศพทั้งเก่าใหม่ ดอกไม้ในภาพเป็นของคณะเเม่ทัพภาคสี่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาและข้าราชจากหน่วยงานต่าง ๆ ผู้นำศาสนาอิสลามในจังหวัดสงขลา ได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนสุสานสุลต่านสุลัยมานชาห์ เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๔



ภาพถ่ายเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธุ์ พ.ศ.๒๕๖๔ วันที่ผู้เขียนพบเหตุการณ์ถอยรถเหยียบ ทุบทำลายเครื่องหมายบนหลุมฝังศพทั้งเก่าใหม่ ดอกไม้ในภาพเป็นของคณะเเม่ทัพภาคสี่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาและข้าราชจากหน่วยงานต่าง ๆ ผู้นำศาสนาอิสลามในจังหวัดสงขลา ได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนสุสานสุลต่านสุลัยมานชาห์ เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๔


Comentários


bottom of page