บานประตูวัดพระฝาง
ในบรรดาบานประตูในหัวเมืองฝ่ายเหนือของราชอาณาจักรอยุธยา บานประตูคู่ที่ใหญ่ที่สุด และยังคงสภาพสมบูรณ์คือ บานประตูของวัดพระฝาง ซึ่งเก็บรักษาอยู่อาคารธรรมสภา วัดธรรมาธิปไตย บานประตูกว้างบานละ 1.125 เมตร สูง 5.35 เมตร หนา 12 เซนติเมตร
แกะสลักเป็นลายกนกก้านขด ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ บานละ 7 พุ่ม ระหว่างพุ่มทรงข้าวบิณฑ์มีกนกใบเทศขนาบ สองข้างขวามือด้านบนมีอกเลาประตูอยู่ตรงกลาง แกะสลักเป็นลายเทพพนม ตอนบนอกเลา 4 องค์ตอนล่างอกเลา 4 องค์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ พุทธศักราช 2444 ได้ทรงกล่าวถึงบานประตูวัดพระฝางไว้ว่า
"...พระวิหารหลวงที่เมืองฝางก็เปนลักษณเดียวกันกับที่ทุ่งยั้ง ลายประตูก็เปนลายสลักก้านขด แต่ที่ซึ่งเปนภาพต่าง ๆ นั้นเปนกระหนกใบตั้งปิดทอง... แต่สลักลายเช่นนี้ ใช้ขุดไม้ลงไปให้ลายเด่นออกมา เช่นบานวัดสุทัศน์ แต่เด่นออกมามากกว่าวัดสุทัศน์ ใช้ไม้หนาขุดเอาจริง ๆ ไม่ได้สลักลายมาทาบ ทำงามดีมาก..."
ประตูคู่นี้ติดตั้งเป็นบานประตูของพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุประจำเมืองฝาง (วัดพระฝาง) ตั้งแต่สมัยอยุธยา
ในระยะหลังวัดพระฝางและวิหารหลวง ถูกทิ้งร้างทรุดโทรมขาดการดูแลรักษา ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494 พระสุธรรมเมธี (บันลือ ธมฺมธโช) เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยนั้น จึงได้ขออนุญาตกรมศิลปากรนำบานประตูของวัดพระฝาง มาเก็บรักษาไว้อาคารธรรมสภา วัดธรรมาธิปไตย ซึ่งอยู่ในตัวเมืองอุตรดิตถ์แทน โดยจากประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในรายการที่ 29.1-29.2 ลงวันที่ 9 กันยายน 2530 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 104 หน้าที่ 10 ตอนที่ 235 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2530 ได้ระบุว่าบานประตูทั้งคู่นี้ ยังคงเป็น "สมบัติของวัดพระฝาง" .
ปัจจุบันวัดพระฝางได้รับการบูรณะฟื้นฟูใหม่ และได้มีการจำลองบานประตู โดยคัดลอกลายจากของเดิม กลับไปติดตั้งที่วิหารหลวงวัดพระฝาง ส่วนบานประตูของเดิมยังคงเก็บรักษาไว้ในอาคารธรรมสภา วัดธรรมาธิปไตยเช่นเดิม เนื่องจากอยู่ในที่ร่ม ปิด ห่างไกลจากความชื้น บานประตูสำคัญของอุตรดิตถ์ และของชาติ จึงยังได้รับการรักษาไว้เป็นอย่างดีครับ
Comments