บทบาทพระศรีอาริยเมตไตรยในสถาปัตยกรรมไทย (?)
ภายในพระอุโบสถ วัดโปรดเกศเชษฐาราม (ตั้งอยู่ย่านพระประแดง) ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 นั้น มีรูปแบบศิลปะ สถาปัตยกรรมเฉพาะตัวอยู่แบบอย่างหนึ่ง
นั่นคือ ที่ฝาผนังภายในอุโบสถเจาะช่องซุ้มทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย ช่องซุ้มที่ผนังสกัดหลังมีทั้งหมด 5 ซุ้ม โดยซุ้มกลางหลังพระประธาน เป็นรูปลายดอกไม้ร่วง ซุ้มขนาบข้างซ้าย-ขวาข้างละ 2 ช่อง ประดิษฐานประติมากรรมรูปพระสาวกยืนพนมมือซุ้มละ 1 องค์ ส่วนฝาผนังด้านยาวทั้ง 2 ข้างเหนือบานหน้าต่าง มีช่องสุดตลอดแนวโดยเขียนจิตรกรรมรูปสาวกนั่งพนมมือ ด้านละ 10 ซุ้ม ส่วนผนังสกัดหน้ามีทั้งหมด 7 ซุ้มตรงกลางเป็นเขียนจิตรกรรมรูปพระพุทธรูปทรงเครื่องปางประทานพร ประจันหน้ากับพระประธาน
พระพุทธรูปทรงเครื่ององค์นี้มีบางอย่างทำให้นึกคิดถึงประติมากรรมรูปพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทร ที่วัดจันทาราม (ตั้งอยู่ย่านตลาดพลู) สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งมีลักษณะครึ่งซีกติดผนังสกัดหน้าตั้งภายในอุโบสถ โดยหันหน้าประจันกับพระประธานเช่นกัน
อาจหมายถึง
พระศรีอาริยเมตไตรย?
ที่ตั้ง, ทิศทางและพุทธลักษณะ ของพระพุทธรูปดังกล่าวทั้งสองนี้ ตั้งหันหน้าเข้าหาพระพุทธรูปประธานนั้น เทียบเคียงได้กับพระพุทธรูปทรงเครื่อง พระศรีอริยเมตไตรยปางประทานพร ที่วัดพิชัยญาติฯ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3
อย่างไร?
ที่วัดพิชัยญาติมีประธานของวัดเป็นปรางค์ 3 องค์ โดยองค์กลางเป็นองค์ประธานขนาดใหญ่ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ 4 องค์นั่งผินหลังชนกันในเรือนธาตุ มีความหมายถึงพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ในภัทรกัป พระปรางค์องค์ริมด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธบาท 4 รอย และที่สำคัญคือพระปรางค์องค์ริมด้านทิศจะวันออกประดิษฐานพระศรีอริยเมตไตรย
พระศรีอริยเมตไตรยหันหน้าไปทางพระพุทธรูปประธานของวัด เป็นการวางทิศทางเช่นเดียวกับที่วัดโปรดเกศฯและวัดจันทาราม ส่วนพุทธลักษณะของพระพุทธรูปทรงเครื่อง ที่วัดโปรดเกศฯ นั้นนุ่งจีวรเช่นพระแต่ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ ลักษณะดังกล่าวคล้ายกับพระพุทธรูปพระศรีอริยเมตไตรย ที่วัดพิชัยญาติเช่นกัน
คติเรื่องพระศรีอริยเมตไตรยในรูปนักบวชแต่ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์นั้น อาจจะเป็นเพราะพระองค์ทรงมีคุณสมบัติทั้ง 2 อย่างนั่นคือเป็นนักบวช และพระโพธิสัตว์ในฐานะเทวดาประทับอยู่ที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยพระอุโบสถนั้นเป็นสถานที่ทำสังฆกรรมที่เสมือนมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน และเพิ่มเติมคติพระศรีอาริย์ ลงไปเนื่องจากคติการสั่งสมบุญกุศลเพื่อให้ทันศาสนาของพระองค์เป็นคติที่สังคมไทยนิยมมาโดยตลอดและยังได้รับความนิยมอยู่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ดังความในจารึกสร้างและบูรณะวัดต่างๆ นอกจากยังพบว่าศิลปกรรมพระศรีอาริย์อย่างแพร่หลายในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่สืบเนื่องมายังสมัยต่อมา
แต่อย่างไรก็ตามพระพุทธรูปทรงเครื่อง ที่หมายถึงพระพุทธเจ้าในฐานะจักรพรรดิราช (***ที่ไม่ใช่พระศรีอาริย์) ที่สร้างในช่วงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน ดังนั้นข้อสังเกตนี้ยังมีคำถามให้สงสัย ขณะเดียวกันศิลปกรรมเหล่านี้ก็มีลักษณะพิเศษที่ชวนไปให้ชื่นชม พินิจพิจารณาอยู่เสมอ
เผยแพร่ครั้งแรกที่ - https://www.facebook.com/1108887155819493/posts/1156395817735293/
Comments