จารึกกูโบร์โต๊ะหุม : ในบันทึกของชนชั้นนำสยาม
จารึกกูโบร์โต๊ะหุม : พลิกชีวิวัฒน์เอกสารตรวจราชการฯ ว่าด้วยเรื่องสุลต่านสุลัยมาน ผู้ครองนครรัฐสุลต่านสงขลา
จากการบันทึกของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ขณะทรงดำรงพระอิสริยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ในพระนิพนธ์เรื่อง “ชีวิวัฒน์เที่ยวที่ต่างๆภาค ๗”
พระองค์ออกเดินทางจากพระนครเมื่อวันอังคาร เดือน ๙ แรม ๖ ค่ำ พ.ศ.๒๔๒๗ วันที่ ๑๑ ของการเดินทางได้มายังสุสานสุลต่านสุไลมาน เป็นวันจันทร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๕ ค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ บันทึกกล่าวว่า
“…พื้นทรายถนนยาวเข้าไป ๔-๕เส้น ถึงที่เรียกว่า มรหุ่มเป็นที่ฝั่งศพของเจ้าเเขก ซึ่งมาตั้งอยู่ ณ เมืองสงขลาแต่ก่อนนั้น ที่นั่นมีศาลามุงกระเบื้องไทยอยู่ ๒ หลัง หลังหนึ่งใหญ่กว้างประมาณ ๔ วา ในศาลานั้นเป็นที่ฝั่งศพเจ้าเเขกก่ออิฐถือปูนสูงประมาณ ศอกคืบ กว้างประมาณศอกคืบ ยาวประมาณ ๔ศอก ข้างบนเป็นรางลึกลงไปมีทรายถมเต็ม บนนั้นมีหลักภาษาเเขกเรียกว่า อาซัน ปักอยู่หัวท้าย ๒ ข้าง ที่ด้านกว้างฝั่งศพ ทิศเหนือมีศาลาแดงจารึกอักษรเเขกเป็นชื่อ…”[๑]
ทั้งนี้ สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ได้บันทึกจดหมายเหตุรายวัน เขียนขึ้นเมื่อวันอังคาร วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2431 ซึ่งทรงบรรยายไว้ ว่า
“…บ่ายสี่โมงเราได้ตามเสด็จไปขึ้นที่หาดแก้ว เสด็จไปทอดพระเนตรมรหุ่มที่ฝังศพแขกแต่โบราณ มีจารึกด้วย มีหลังคาอยู่สองศพ ศพหนึ่งเป็นเจ้า ศพหนึ่งอาจารย์ ได้ยินว่าชาวเมืองถึงไม่ได้เป็นแขกก็นับถือ เสด็จกลับมาถึงเรืออุบล เรือออกจากเมืองสงขลาเกือบทุ่ม…[๒]
สุลต่านสุลัยมาน เจ้าผู้ครองเมืองมลายูสงขลา (หัวเขาแดง) ร่วมสมัยกับรัชกาลพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา คนแขกจะเรียกท่านว่าโต๊ะหุม โต๊ะบาหุม บาหุม ส่วนคนไทย คนจีนจะเรียกท่านว่า ทวดหุม คำว่าหุมนี้กร่อนมาจากคำภาษาอาหรับคือ อัลมัรฮูม มีความหมายว่า ผู้กลับไปสู่ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า “…อัลมัรฮูม (المرحوم) เป็นคำนาม แปลว่าผู้ที่ได้รับความปราณี มีรากมาจาก รอฮามา ในภาษาอาหรับที่เราคุ้นเคยในความหมายว่า เราะห์มัต (ความเมตตา) …” [๓] (อย่างไรก็ตามในประเด็นข้างต้นผู้เขียนได้รับคำแนะนำจากคุณ อาเนาะ ปันตัย (นามแฝง) ที่ให้ข้อมูลต่างออกไปว่า อัลมัรฮูม ใช้สำหรับเพศชาย ส่วนเพศหญิงใช้คำว่า อัลมัรฮูมะห์ เป็นคำคุณศัพท์ มีรากศัพท์มาจาก รอฮีมา (กริยาอดีตกาล) หรือ เราะห์มะห์ (คล้ายกับ Absract noun ในภาษาอังกฤษ) แปลว่าผู้ได้รับการเมตตาจากอัลลอฮ์ มักจะใช้นำหน้าชื่อคนตาย อีกทั้งจากการสังเกตุ คนอาหรับจะเขียน ดุอา (ขอพร) ให้คนตายจะเขียนว่า رَحِمَهُ الله หรือ رَحِمَها الله )
ในงานเขียนของสามารถ สาเร็ม เรื่อง “ว่าด้วยคำเรียกโต๊ะหุมกับเรื่องเล่ามุขปาถะของคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลา” ได้สรุปข้อมูลไว้ว่าคำเรียก “อัลมัรฮูม” นั้นผู้คนในพื้นที่คาบสมุทรไทย-มาเลย์จะสงวนไว้ใช้กับชนชั้นปกครองผู้ล่วงลับไปแล้วเท่านั้นส่วนคนธรรมดาจะมีคำที่ใช้เรียกต่างออกไปคือ มูละ มูเลาะ ฯลฯ ปัจจุบันโดยทั่วไปรัฐต่างๆในสหพันธรัฐมาเลเซียยังคงสงวนคำดังกล่าวไว้ใช้กับชนชั้นปกครองเท่านั้น[๔]
จากบันทึกดังกล่าวบอกข้อมูลลักษณะของหลุม ขนาด ที่สำคัญมีการระบุคำเรียกเครื่องหมายที่ปักไว้บนหลุมสุสานว่า อาซัน จากข้อมูลภาคสนามของผู้เขียนพบว่าในพื้นที่ปัจจุบันจะใช้คำว่า หัวแม่สัน แลสัน ไม้สัน ไม้แลสัน ตาหนา ไม้ตาหนา หัวตาหนา
สิ่งที่น่าสนใจคือมีการระบุถึงจารึกไว้ด้วย จากการไปเยี่ยม (ยาระ) สุสานของท่านหลายครั้งพบว่าที่บริเวณของด้านบนของสุสานที่ก่ออิฐถือปูน ด้านยาวฝั่งทิศตะวันออกนั้นมีจารึกภาษามลายู อักษรยาวี ปรากฏอยู่ คือ
المرحوم سلطان سليمان فمرينته نݢري ملايو سوڠݢورا
อัลมัรฮูม สุลฎอน สุไลมาน เปิมเมอรินตะ เนอเฆอรี มลายู ซูงฆูรา
Maqom Al-Marhum Sultan Sulaiman Pemerintah negeri Melayu Sunggura
มีความหมายว่า “ผู้กลับไปสู่ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า สุลฎอนสุไลมาน ผู้คลองนครรัฐมลายูสงขลา”
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากข้อความที่บันทึก “…ที่ด้านกว้างฝั่งศพ ทิศเหนือมีศาลาแดงจารึกอักษรเเขกเป็นชื่อ…” ทำให้อาจเข้าใจได้ว่าหมายถึงจารึกที่อยู่ในศาลาอีกหลังหนึ่ง ไม่ใช่ที่บนหลุมสุสานของท่าน ปัจจุบันก็ไม่พบว่ามีศาลาแดงภายในบริเวณสุสานของท่านแต่อย่างใด จารึกก็พบว่ามีเฉพาะที่บนหลุมเพียงอย่างเดียว หรือไม่ก็อาจจะเกิดจากการพิมพ์ที่ผิดพลาดจากข้อความต้นฉบับคือคำว่า ศิลาแดง ถ้าเป็นไปตามข้อสันนิษฐานนี้ก็ทำให้เชื่อได้ว่าบันทึกในชีวิวัฒน์นั้นหมายถึงจารึกที่อยู่บนมะกอมของสุลต่านนั่นเอง
ทั้งนี้หากทุกท่านติดตามข่าวเหตุการณ์ทุบทำลายสุสานหลวงสุลต่านสุลัยมาน ชาร์ ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วจำนวน ๔ ครั้งครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๔ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวที่นำเสนอผ่านเพจของสถานีตำรวจภูธรสิงหนคร[๕] ไปแล้วนั้นเราจะเห็นได้ว่า ตัวมะกอมของท่านสุลต่านสุลัยมาน ชาร์นั้น จะมีอยู่ด้วยกันสี่ตำแหน่งที่มีลักษณะเป็นช่องสีเหลียมสีแดง ซึ่งถูกทุบทำลายไปด้วยนั้น ตำแหน่งทั้งสี่จุดนี้ก็มีความเป็นไปได้ด้วยเช่นเดียวกันว่าเดิมอาจเคยมีจารึกปรากฏอยู่แต่จากการสำรวจหลายหลังของผู้เขียนก็ไม่พบตัวอักษรปรากฏอยู่ในตำแหน่งนี้ อาจจะเคยมีแผ่นจารึกถูกสลักอยู่ก็เป็นได้ และอาจจะกะเทาะออกไปในภายหลัง (?) ทั้งนี้ในรายงานของกรมศิลปากรณ์ โครงการพื้นฟูบูรณะแหล่งประวัติศาสตร์เขตเมืองเก่าสงขลา จ.สงขลา ที่สุสานมรหุมเมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งเป็นการบูรณะครั้งล่าสุดเอกสารให้ข้อมูลว่า
“…พระยาแขก (มรหุ่ม) มีชื่อปรากฏอยู่ในแผ่นจารึก ณ ที่ฝังศพของท่านซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่หมู่ที่ ๑ ตำบลหัวเขา อำเภอเมืองสงขลา(สิงหนคร-ผู้เขียน) ว่า “สลตอนสุไลมาน”…”
ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา ป้ายนิทรรศการว่าด้วยประวัติศาสตร์สมัยสุลต่านติดตั้งอยู่บริเวณชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์ มีภาพลายเส้นของจารึกที่มรหุ่ม ความว่า
مقام المرحوم سلطان سليمان بن سلطان مقل
"มะกอม อัลมัรฮุม สุลฎอนสุไลมาน บิน สุลฎอนโมกอล"
“Maqom Al-Marhum Sultan Sulaiman Bin Sultan Moghul”
มีความหมายว่า สุสาน สุลต่านสุไลมาน บุตร สุลต่านโมกุล
อย่างไรก็ตามจากการสำรวจภาคสนามของผู้เขียนไม่พบจารึกที่มีข้อความดังกล่าวอยู่ในพื้นที่สุสานสุลต่านสุลัยมานเลย จึงไม่ทราบว่าลายเส้นจารึกนี้ถูกคัดมาจากที่ใด หรือบริเวณไหนของสุสาน
จากข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ในชีวิวัฒน์ทำให้เราทราบว่าเมื่อปี พ.ศ ๒๔๒๗ ที่สุสานของสุลต่านสุไลมานมีจารึกปรากฏอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าคือจารึกใด จากสองข้อมูลที่ผู้เขียนได้ยกมานำเสนอ ทั้งนี้หากทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา มีการนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับจารึกในนิทรรศการที่จัดแสดงอยู่อาจจะนำมาสู่ข้อสรุปได้ว่า จารึกที่ถูกกล่าวถึงในชีวิวัฒน์นั้นคือจารึกใด
อ้างอิง
[๑] : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์วรเดชขณะทรงดำรงพระอิสริยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ในพระนิพนธ์เรื่อง “ชีวิวัฒน์เที่ยวที่ต่างๆภาค ๗” สืบค้นจาก https://archive.org/details/700002402
[๒ ] : จดหมายเหตุรายวัน ของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ.เอกสารออนไลน์ ,วชิรญาณ สืบค้นจาก : https://bit.ly/37Ue5IZ
[๓] : สามารถ สาเร็ม.“ว่าด้วยคำเรียกโต๊ะหุมกับเรื่องเล่ามุขปาถะของคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลา” แหล่งที่มา : https://bit.ly/3b0yM82 อ้างใน Abu Gibrel Jacob ( สัมภาษณ์ ) ๑๖ มกราคม ๒๕๖๔
[๔] : สามารถ สาเร็ม.“ว่าด้วยคำเรียกโต๊ะหุมกับเรื่องเล่ามุขปาถะของคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลา” แหล่งที่มา : https://bit.ly/3b0yM82
[๕] : สถานีตำรวจภูธรสิงหนคร.รายงานข่าวทุบทำลายสุสานสุลต่านสุลัยมาน ชาร์ แหล่งที่มา : https://bit.ly/2PiQICG
ขอขอบคุณ
กฤษ พิทักษ์คุมล , ธีธาร์นิน ตุกังงัน,อาเนาะ ปันตัย, Abu Gibrel Jacob
ภาพปก : Ships near a Harbor, Experiens Sillemans, 1649 - Rijsk Museum
Commenti