คำเรียกสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพคนเเขกแห่งลุ่มทะเลสาบสงขลา
อัปเดตเมื่อ 11 เม.ย. 2565
ในระหว่างที่บรรยากาศของความตึงเครียดและหวาดระแวงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-๑๙ ปกคลุมสังคมมนุษย์ที่ยังมีลมหายใจ ความตึงเครียดและหวาดระแวงก็เกิดขึ้นกับพื้นที่ของผู้ล่วงลับเช่นกัน ณ แหล่งโบราณสถานที่ฝังศพพระยาแขก (มรหุ่ม)[1] หรือที่นิยมเรียกในปัจจุบันว่า สุสานสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ สุลต่านแห่งสงขลา แหล่งโบราณสถานแห่งนี้ถูกทุบทำลาย ๔ ครั้งนับตั้งแต่ช่วงปลายปีพ.ศ. ๒๕๖๓ โดยเริ่มจากการเผาและทุบทำลายสิ่งของทั่วไปในพื้นที่ เรื่อยมาเป็นการทุบทำลายสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพทั้งเก่าใหม่ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๔ จนกระทั่งในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ แท่นเหนือหลุมฝังศพของสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ ซึ่งเป็นหัวใจของแหล่งโบราณสถานแห่งนี้ก็ถูกทุบทำลาย[2] ผู้เขียนจับพลัดจับผลูเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ๒ ประการ คือ
๑. เป็นผู้พบและแจ้งเหตุการณ์ทุบทำลายต่อสำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลาเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔ ในบรรดาสิ่งที่เสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนั้น สัญลักษณ์บนหลุมฝังศพอันทำด้วยหินตะกอนสีแดงซึ่งถูกถอดออกจากหลุมฝังศพนิรนามแผ่นหนึ่งน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเนื่องมาจากพบข้อความจารึกอักษรชวา ภาษาชวาโบราณเขียนเป็นคำว่า "ngalamat" หรือ “alamat” มีความหมายว่า สัญลักษณ์, แผ่นป้าย, สัญญาณบ่งชี้เหตุการณ์
จารึกอักษรชวาโบราณจากชิ้นส่วนแลสันที่แตกหักบันทึกภาพโดยผู้เขียน เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
จารึกอักษรชวาที่พบใหม่นี้ทำให้ผู้เขียนกลับมาทบทวนวัฒนธรรมการใช้คำว่า “วะ” ในระบบคำเรียกเครือญาติของคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลา และคนเเขกสงขลาพลัดถิ่นซึ่งมีลักษณะการใช้งานแบบเดียวกับบนเกาะชวา ตลอดจนถึงเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาในตระกูล ณ พัทลุงว่า ดาโต๊ะ โมกอล ผู้สถาปนาเมืองสงขลาที่หัวเขาแดงนั้นได้อพยพผู้คนจากเกาะชวามาตั้งรกรากที่นี่ การศึกษาตีความจารึกชิ้นนี้ร่วมกับการทำความเข้าใจวัฒนธรรมคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลาในอนาคตอาจคลี่คลายสายสัมพันธ์บางประการระหว่างสงขลากับชวาที่หลายส่วนยังคลุมเคลืออยู่[3]
๒. ผู้เขียนได้ร่วมกับมิตรสหายจัดตั้ง กลุ่มรักษ์มรดกซิงกอรา (Save Singora Heritage[4]) เพื่อทำการเรียบเรียงข้อมูลความสำคัญของสุสานกับทั้งบรรดาป้ายหลุมฝังศพที่ถูกทุบทำลายดังกล่าวส่งมอบต่อกรมศิลปากรควบคู่ไปกับการเผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านช่องทางออนไลน์[5]ทั้งนี้ในระหว่างกระบวนการเรียบเรียงดังกล่าว ผู้เขียนได้ตระหนักถึงปัญหาสำคัญในการใช้คำเรียกสัญลักษณ์เหนือหลุมฝังศพของคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลาที่มีความคลาดเคลื่อนอยู่ กล่าวคือจากสถานภาพความรู้ที่ผ่านมาการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพในศาสนาอิสลามนิยมทำในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นเขตวัฒนธรรมมลายูปตานี จึงเป็นเหตุให้งานวิชาการโดยมากได้อ้างอิงศัพท์เฉพาะ และแนวทางปฏิบัติในวัฒนธรรมมลายูปตานี มาใช้กับพื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลาซึ่งไม่ถูกต้องกับความเป็นจริงในพื้นที่
แลสันที่ถูกทุบทำลายได้รับการรวบรวมประกอบขึ้นใหม่ จากชิ้นส่วนเท่าที่เหลืออยู่โดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ก่อนเตรียมขนย้ายไปทำการบูรณะ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา
จากการศึกษาของผู้เขียนในบทความเรื่องคนแขกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๔ ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๖๑ พบว่ามุสลิมลุ่มทะเลสาบสงขลาซึ่งเป็นกลุ่มคนมุสลิมที่แหลงใต้และเรียกตัวเองว่า “คนแขก” นั้นนอกจากจะมีวิถีชีวิต - วัฒนธรรมที่ดำเนินอยู่ในกรอบของศาสนาแล้ว ยังมีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยถิ่นใต้กับวัฒนธรรมที่มีร่องรอยของชวา-มลายูจนกลายเป็นกลุ่มวัฒนธรรมเฉพาะตน ในบทความนี้ผู้เขียนพยายามจะแสดงให้เห็นลักษณะ และรายละเอียดพื้นฐานที่แตกต่าง (ในประเด็นว่าด้วยคำเรียกสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพ) เพื่อว่าอาจเป็นประโยชน์ต่อการขยายผลการศึกษาวัฒนธรรมคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลาอันมีลักษณะเฉพาะตนท่ามกลางวัฒนธรรมมุสลิมกลุ่มอื่น ๆ ในภาคใต้แก่ผู้สนใจต่อไปในอนาคต
มะก่อมนายทหารคนสนิทของสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ มีการใช้เเลสันสกุลช่างบาตูอาเจะห์ปักอยู่บนหลุม ซึ่งพบเพียงที่เดียวในลุ่มทะเลสาบสงขลา ( ภาพ : สุรเชษฐ์ แก้วสกุล )
ความตายและสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพของมุสลิมในคาบสมุทรไทย-มาเลย์
كُلُّ نَفْسٍ ذَائِقَةُ الْمَوْتِ ۗ
“ทุกๆ ชีวิตต้องได้ลิ้มรสความตาย”[6]
พระดำรัสของอัลลอฮ์พระเจ้าในศาสนาอิสลามว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาจะต้องตาย เมื่อมุสลิมเสียชีวิตจะมีการนำร่างไปฝัง เรียกพื้นที่ที่ใช้ฝังว่า “กูโบร์” หลังจากฝังเสร็จจึงมีการนำเครื่องหมายมาปักไว้บนหลุมฝังศพเพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกตำแหน่ง “บาตูอาเจะห์” คือสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพสกุลช่างหนึ่งที่มีความสวยงามเป็นเลิศ เชื่อกันว่าถูกพัฒนาขึ้นบนเกาะสุมารตราทางตอนเหนือในแถบพื้นที่ของเมืองอาเจะห์และเมืองปาไซ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย) ช่วงเวลาที่บาตูอาเจะห์เกิดขึ้นนั้นยังไม่แน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มใช้ครั้งแรกในช่วงคริสตวรรษที่ ๑๓ และเสื่อมความนิยมลงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ มีการค้นพบบาตูอาเจะห์ที่มีหลักฐานเก่าแก่สุดคือที่ กูโบร์สุลต่านมาลิก อัสซอลิห์ (Sultan Malik Al-Salih) สุลต่านที่ปกครองเมืองสมุทราปาไซระหว่าง ค.ศ. ๑๒๗๐-๑๒๗๙[7]
ไม้เเลสันหรือหัวเเม่สัน หลากหลายรูปแบบ ทั้งทรงแบน ทรงเเท่ง และหลากวัสดุ เช่นปูนซีเมนต์ ไม้ หิน ภายในสุสานสุลต่านสุลัยมานชาห์ ( ภาพ : สุรเชษฐ์ แก้วสกุล )
ประมูล อุทัยพันธุ์ แบ่งสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพที่ใช้ในวัฒนธรรมมลายูเป็น ๓ ลักษณะ[8]คือ
๑.ลักษณะชั่วคราว ได้แก่การใช้กิ่งไม้สด หรือพืชล้มลุกที่มักหาได้ในกูโบร์นั้นมาปักไว้บนหลุมบริเวณหัวและท้ายของหลุมเป็นการเผื่อพลางก่อนเปลี่ยนเป็นวัสดุที่คงทนขึ้นในโอกาสหน้า
๒.ลักษณะกึ่งถาวร จำพวกไม้เนื้อแข็ง หรือพรรณไม้ยืนต้นซึ่งมักนิยมปลูกลั่นทม สัญลักษณ์ลักษณะชั่วคราว หรือกึ่งถาวรนี้เรียกว่า “ตานอ”[9] ในงานศึกษาของสุนิติ จุฑามาศ เรื่องการศึกษาหินปักหลุมฝังศพแบบบาตูอาเจะห์ในบริเวณเมืองโบราณริมอ่าวปัตตานีได้ทำเชิงอรรถถึงสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพลักษณะชั่วคราวที่ใช้กิ่งไม้สดว่ามีหลักฐานจากอััลฮะดีษ โดยท่านอิบนุอับบาส รายงานว่าท่านนบีมูฮำหมัดได้นำกิ่งอินทผาลัมสดปักลงบนกูโบร์ของผู้มีบาปแล้วกล่าวว่าการลงโทษในบาปของผู้ตายนั้นจะได้รับการบรรเทาตราบที่กิ่งอินทผาลัมนี้ยังไม่เหี่ยวแห้ง[10]
๓.ลักษณะถาวร ซึ่งจะใช้วัสดุคงทนเช่นหินนั้นเรียกว่า “บาตูแนแซ” โดย “บาตู” มีความหมายว่าหิน “แนแซ” มีความหมายว่าเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ คำนี้ตรงกับคำว่า “Batu Nisan” ในภาษามลายูกลาง น่าสังเกตว่าการจัดแบ่งลักษณะในงานชิ้นนี้แม้จะใช้คำอย่างกลาง ๆ ว่าเป็นวัฒนธรรมมลายู แต่ศัพท์ที่ใช้อธิบายนั้นเป็นการออกเสียงเฉพาะของวัฒนธรรมมลายูปตานีเท่านั้น นอกจากสัญลักษณ์ที่ใช้ปักบนหลุมฝังศพแล้วยังมี “แจปอฆี” ที่มีลักษณะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมคล้ายโลงศพเปิดส่วนบนและส่วนล่าง สำหรับว่างเป็นเครื่องหมายเหนือหลุมฝังศพ[11] โดยจะใช้กับหลุมฝังศพของบุคคลสำคัญ
ไม้เเลสันหรือมะสัน หลากหลายรูปแบบ ทั้งทรงแบน ทรงเเท่ง และหลากวัสดุ เช่นปูนซีเมนต์ ไม้ หิน ภายในกุโบร์ปากพยูน อำเภอปากพยูน จังหวัดพัทลุง ( ภาพ : สุรเชษฐ์ แก้วสกุล )
สัญลักษณ์บนหลุมฝังศพของคนแขกในลุ่มทะเลสาบ
การปักกิ่งไม้บนหลุมฝังศพที่เพิ่งทำพิธีฝังใหม่ ๆ ในภาพเป็นวิธีการปักแบบคนเเขกลุ่มทะเลสาบสงขลา ที่จะปักกิ่งไม้ไว้ทั่วทั้งหลุม ไม่ได้ปักเพียงหัวกับท้าย ถ่ายภาพที่กูโบร์ใหญ่ บ้านควน ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
จากการเก็บข้อมูลของผู้เขียน ไม่พบการแบ่งลักษณะสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพเป็น ๓ กลุ่มชัดเจนในลุ่มทะเลสาบสงขลาและคำเรียกสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพนั้นถูกใช้ต่างออกไปจากวัฒนธรรมมลายูปตานี มีประเด็นโดยสรุปดังนี้
๑. ไม่มีแนวคิดเรื่องสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพลักษณะชั่วคราว โดยที่แม้คนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลามีธรรมเนียมการนำกิ่งไม้สดมาปักที่หลุมเช่นเดียวกัน โดยกิ่งไม้เหล่านั้นจะถูกปักปกคลุมไปทั่วทั้งหลุมไม่ได้เป็นการปักสองจุดบริเวณหัว - ท้ายหลุม และกิ่งไม่เหล่านี้ไม่ได้ถูกถือเป็นเครื่องหมายบนหลุมฝังศพ ผู้เขียนสันนิษฐานว่ารากของการทำเช่นนี้คงมีที่มาเดียวกันกับข้อเสนอในสารนิพนธ์ของสุนิติ จุฑามาศ ที่อ้างถึงอัลฮะดีษที่ว่าบาปของผู้ตายจะได้รับการบรรเทาตราบเท่าที่กิ่งไม้สดนั้นยังไม่แห้ง แต่คนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลาได้ปรับใช้คตินี้ในลักษณะที่แตกต่างไปจากวัฒนธรรมมลายูปตานีเล็กน้อย
สำเนาตัวเขียนพงศาวดารเมืองไชยา ที่บันทึกเรื่องราวการเทครัวชาวเมืองสงขลา(ซิงฆอรา) ที่หัวเขาแดงมายังพื้นที่ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ในปัจจุบันได้รับความอนุเคราะห์ภาพจากคุณครูสะอาด ร่าหมาน ลูกหลานชาวสงขลาพลัดถิ่นหรือซิงฆอราพลัดถิ่นที่บ้านสงขลา อ.ไชยา ปัจจุบันพำนักอยู่กับภรรยาที่ ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
๒. คำเรียกสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพที่พบใช้มากที่สุดคือคำว่า “แลสัน” พบใช้แพร่หลายไปรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา ทั้งยังคงใช้กันในกลุ่มคนสงขลาพลัดถิ่นที่บ้านสงขลา อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นชาวสงขลาที่ถูกเทครัวไปในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (โปรดดูตารางประกอบ) นอกจากนี้ยังพบการใช้ในรูปคำผสมได้แก่ ไม้แลสัน ไม้สัน หัวแม่สัน ไม้ลาสัน ไม้เนี๊ยะสัน ไม้หน้าสัน ผู้เขียนสันนิษฐานว่าคำ “แลสัน” น่าจะเป็นคำเรียกสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพที่พัฒนาขึ้นในลุ่มทะเลสาบสงขลา (มลายูสงขลา) เนื่องจากไม่พบการใช้คำนี้ในภาษามลายูถิ่นอื่นดังที่เรียนไว้แล้วข้างต้นว่า ภาษามลายูปตานีใช้ว่า แนแซ (หรือบางแห่งออกเสียงเป็นนีแซ) ภาษามลายูเคดะห์ (Kedah) จากการเก็บข้อมูลที่บ้านป่ากัน ตำบลท่าประดู่ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลาใช้ว่า แนซะ[12] ส่วนภาษามลายูกลางใช้ว่า “นีซาน” (NiSan) โดยคำว่า “แลสัน” ที่ใช้ในลุ่มทะเลสาบสงขลาสันนิษฐานว่าคงมีรากมาจากคำว่า “นีซาน” ในภาษามลายูกลางแต่มีการกลายเสียง น เป็นเสียง ล การกลายเสียงเช่นนี้มีตัวอย่างในคำอื่น ๆ อีกอาทิ คำ “นิกะฮ์” (การแต่งงาน) เพี้ยนเป็น “ลิกะฮ์” ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าการใช้คำว่า “แลสัน” นั้นบ่อยครั้งถูกใช้ในรูปคำผสมว่า “ไม้แลสัน” ซึ่งเป็นการเรียกตามวัสดุที่นำมาใช้ แต่ในบางพื้นที่ก็พบการใช้คำว่า “ไม้แลสัน” กับวัสดุที่เป็นปูนซีเมนต์[13]
ผู้เขียนขณะทำการยาระหลุมศพของมัรฮูมปะแก่ (สุลต่านมุสตาฟาบุตรสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ ) ภายหลังได้เป็นเจ้าเมืองไชยาตั้งเมืองที่บ้านสงขลา ปัจจุบันอยู่ใน บ้านโต๊ะเจ้า ต.ตลาด อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
๓. พบการใช้คำ “ตาหนา”[14] ซึ่งเป็นคำเดียวกับ “ตานอ” ในภาษามลายูปตานีเพียงแต่ออกเสียงต่างกัน คำนี้ในภาษามลายูกลางคือ “ตันดา” (Tanda) ใช้ทั้งในรูปคำนามมีความหมายว่าเครื่องหมาย, สัญลักษณ์ที่ปักบนหลุมฝังศพ และในรูปคำกริยาหมายถึง การทำเครื่องหมาย , การทำสัญลักษณ์[15] จากการเก็บข้อมูลผู้เขียนพบว่า คำนี้จะปรากฏใช้ในบริเวณพื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลาที่ได้รับอิทธิพลภาษามลายูเคดะห์ อาทิแถบเทือกเขาบรรทัด บริเวณที่อิทธิพลของภาษามลายูเคดะห์เข้มข้นจะแทบไม่พบการใช้คำว่า “แลสัน” เลย ส่วนในลุ่มทะเลสาบที่ใกล้กับทะเลมีการใช้คำว่า “ตาหนา” แต่นิยมใช้ในรูปคำกริยา (เครื่องหมาย) ทั้งนี้ผู้เขียนพบว่าที่สุสานสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ มีสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพแผ่นหนึ่งทำด้วยหินตะกอนสีเทามีการจารึกข้อความภาษามลายูอักษรยาวีว่า
انيله تنا عبدالرحيم
อีนีละ ตาหนา อับดุลเราะฮีม
(นี่คือตาหนาของอับดุลเราะฮีม)
ซึ่งอาจนับเป็นกรณีพิเศษที่ไม่ได้พบทั่วไป นอกจากนี้ยังพบการใช้คำ ตาหนา ในรูปคำประสมอาทิ ไม้ตาหนา หัวตาหนา อีกด้วย ซึ่งเป็นการเรียกตามวัสดุที่นำมาใช้ แต่ก็พบว่าบางพื้นที่ใช้เป็นคำเฉพาะโดยไม่ได้คำนึงถึงว่าวัสดุที่ใช้ทำตาหนานั้นต้องทำจากไม้เสมอไป
๔. สำหรับหลุมฝังศพบุคคลสำคัญ จะมีการนำหิน อิฐ หรือปูน มาก่อบนหลุมฝังศพเรียกว่า เขื่อน หรือ รอ มีลักษณะการใช้งานแบบเดียวกับ “แจปอฆี” สำหรับในวัฒนธรรมลุ่มทะเลสาบสงขลาผู้ที่จะมีเขื่อน หรือ รอ บนหลุมฝังศพ ได้แก่ผู้รู้ทางศาสนา เช่น โต๊ะครู โต๊ะอีหม่าม หรือชนชั้นปกครองเช่น สุลต่านสุลัยมาน ชาห์ เป็นต้น ทั้งนี้คำว่า “เขื่อน” ที่คนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลาใช้นั้น ยังเป็นคำที่ใช้ในกลุ่มชาวพุทธด้วยโดยในพจนานุกรมภาษาถิ่นใต้ (๒๕๒๕) ได้ให้ความหมายของคำว่าเขื่อนไว้ว่าหมายถึง “เจดีย์ที่เก็บอัฐิ” เท่าที่ผู้เขียนสืบค้นเจดีย์บรรจุอัฐิของพระภิกษุรูปสำคัญของวัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ถูกผู้คนในท้องถิ่นเรียกขานกันว่า “เขื่อนหลวงพ่อทวด” บ้างก็เรียกว่า “เขื่อนท่านช้างให้” นอกจากนี้พบว่าในบางพื้นที่ของ อ.เทพา จ.สงขลามีการเรียกสถูปของฆราวาสผู้อาวุโสที่เป็นที่นับหน้าถือตาของลูกหลานในครอบครัวหรือคนในชุมชนว่าเขื่อนด้วยเช่นกัน[16]คำว่าเขื่อนนั้นอาจมีความจำเพาะเจาะจงและถูกรับรู้ในนิยามที่เกี่ยวข้องกับผู้ล่วงรับมากกว่า “รอ” ซึ่งในภาษาไทยถิ่นใต้ทั่วไปจะใช้ในความหมายของกำแพงหิน หรืออิฐที่ก่อขึ้นเพื่อกั้นการพังทลายของดิน คนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลาใช้คำนี้แทนกรอบที่ก่อขึ้นมาครอบเหนือหลุมฝังศพ
เขื่อนโต๊ะชาย โครงสร้างก่ออิฐถือปูน มีองค์ประกอบของฐานบัว มีเส้นลวดหรือลูกแก้วที่ท้องไม้ของฐาน น่าจะมีความเก่าแก่ไม่น้อย ที่กุโบร์ใหญ่บ้านควน ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
๕. "มะก่อม" เป็นคำเรียกรวมโครงสร้างที่ตั้งอยู่เหนือหลุมฝังศพของบุคคลที่มีความสำคัญ หรือมีความพิเศษอย่างมาก อาจประกอบด้วยเขื่อน หรือรอ และศาลาที่ปลูกคลุมด้านบน เช่นที่สุสานสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ หรือที่กูโบร์โต๊ะโหม บ้านซรัด (ชะรัด) ตำบลชะรัด อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง สุสานของเจ้าเมืองพัทลุงท่านแรกที่เขาไชยบุรี อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่อาทิ กุโบร์ปากพยูน กุโบร์บ้านหัวเขา พบการใช้คำว่า มะก่อม เรียกเขื่อน หรือรอ โดยที่ไม่มีตัวอาคารคลุมอยู่ด้านบน
มะก่อมหรือเขื่อน หรือรอ ที่กุโบร์ปากพยูน ตัวเขื่อนก่ออิฐถือปูนมีการปั้นลวดลายบัวประดับอย่างปราณีต ( ภาพ : สุรเชษฐ์ แก้วสกุล )
มะก่อมของท่านสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ ( โต๊ะหุมหรือทวดหุม ) หลังคาอาคารทรงปั้นหยามุงกระเบื้องดินเผา ส่วนหลุมทางซ้ายคือพี่เลี้ยงเจ้าเเขก ( ตามบันทึกชีวิวัฒน์สมัยรัชกาลที่ ๕ ) ภายหลังมีการทำป้ายระบุว่าสุสานพระยาราชบังสัน ( ฮัซซัน ) อดีตเเม่ทัพเรือแห่งกรุงศรีอยุธยา บุตรคนเล็กของสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ ชะตะ พ.ศ.๒๑๖๘ มรณะ พ.ศ.๒๒๓๐
มะก่อมของโต๊ะโหมหรือท่านฟารีซี เจ้าเมืองคนเเรกที่เขาไชยบุรี ตั้งอยู่ใกล้กับมัสยิดบ้านชะรัดเหนือ (มรโหม) ต.ชะรัด อ.กงหรา จ.พัทลุง
หยัดยืนอย่างแตกต่างบนร่องรอยร่วมราก
จากที่กล่าวมา ผู้เขียนพยายามนำเสนอหลักฐานจากการเก็บข้อมูลในพื้นที่ให้เห็นลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมการใช้คำเรียกสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพของคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลา พร้อม ๆ กันนั้นจากร่องรอยที่ตกค้างอยู่ในคำศัพท์ก็แสดงให้เห็นว่าบางส่วนมีรากร่วมกันกับวัฒนธรรมมลายูกลุ่มอื่น ๆ แต่ภายใต้บริบททางประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมในลุ่มทะเลสาบสงขลาได้หล่อหลอมให้เกิดพัฒนาการในรูปแบบของตนเอง รายละเอียดที่แตกต่างนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมักไม่ได้รับการจดบันทึกอย่างเป็นระบบ จึงทำให้งานของนักวิชาการภายนอกพื้นที่ซึ่งอาศัยข้อมูลทุติยภูมิในการศึกษาวิจัยมักมีความคลาดเคลื่อน โดยที่คนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลาเจ้าของวัฒนธรรมเองก็ไม่ได้เอาเป็นธุระใส่ใจที่จะแก้ไข หรือช่วยเติมเต็มช่องว่างทางความรู้เพื่อให้เกิดความถูกต้องนัก
เมื่อมองจากภาพรวมวัฒนธรรมคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลาดูเหมือนจะเป็นเพียงส่วนต่อขยายของวัฒนธรรมมลายูปตานี ผสมกับวัฒนธรรมมลายูเคดะห์ ทั้งที่ในความจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนในฐานะที่เกิด และเติบโตมาในวัฒนธรรมคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลาจึงตั้งใจเสนอบทความชิ้นนี้เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่ผู้เขียนได้สัมผัสและสืบค้น หากบทความชิ้นนี้จะยังคุณความดีประการใด ผู้เขียนขออุทิศให้กับบรรพชนคนแขกลุ่มทะเลสาบสงขลานับตั้งแต่การสถาปนาเมืองสงขลาขึ้นที่หัวเขาแดง อันได้ทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
ลุ่มทะเลสาบสงขลา
คาบสมุทรสทิงพระ ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้
๑.บ้านหัวเขา ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา (คุณซัลมา ศรีหโรจ)
๒.ท่าเสาบ้านล่าง ต.สทิ้งหม้ออ.สิงหนคร จ.สงขลา (คุณนกน้อย พันธุ์เจริญ)
๓.บ้านบ้านบางไหน ต.ปากรอ อ.สิงหนคร จ.สงขลา (คุณสักการียา สุขแสง)
๔.บ้านม่วงงาม ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา (คุณวัลญา จอมสุริยะ )
๕.บ้านชุมพลชายทะเล ต.ชุมพล อ.สทิงพระ จ.สงขลา (คุณหรูน หลีกันชะ)
๖.บ้านบ่อโต๊ะ ต.บ่อตรุ อำเภอระโนด จ.สงขลา (คุณณัฐนันท์ สุรคำแหง)
๕๓.บ้านศาลาหุม ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา (คุณซีตีอามีเนาะ อำพันธุ์นิยม)
หมู่บ้านในเขตจังหวัดสงขลา (นิเวศน์ชายทะเล) ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้
๗.บ้านบน ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา (โต๊ะอีหม่าม สมศักดิ์ หวันหล๊ะเบ๊ะ)
๘.บ้านควน ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา (คุณสามารถ สาเร็ม)
๙.บ้านนารังนก ต.แม่ทอม อ.บางกล่ำ จ.สงขลา (คุณหวอ หมัดอาหลี)
๑๐.บ้านคตยาง ต.บ้านหาร อ.บางกล่ำ จ.สงขลา (คุณรวิวรรณ สุขสุวรรณ)
๑๑.บ้านเกาะหมี ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา (คุณมาริสา บิลหมัด)
๑๒.บ้านดอนขี้เหล็ก ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา (คุณตอฮีตร์ สายสะอิด)
๑๓.บ้านปาบ ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา (คุณสิริพร ศิลารักษ์)
หมู่บ้านในเขตจังหวัดสงขลา
(อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอเทพา อำเภอสะบาย้อย) ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้
๑๔.บ้านคู ต.คู อ.จะนะ จ.สงขลา (คุณยูซุฟ อิบู)
๑๕.บ้านปากบางสะกอม ต.สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา (คุณธนา ซาหีมซา)
ใช้ภาษามลายูกับภาษาไทยถิ่นใต้
๑๖.บ้านเกาะทาก ต.นาหว้า อ.จะนะ จ.สงขลา (นางมลิ มะหวีเร๊ะ)
ใช้ภาษามลายูถิ่นปตานีสำเนียงจะนะ
๑๗.บ้านนาออก ต.บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา (คุณไซหนับ จารง)
ใช้ภาษามลายูเคดะห์สำเนียงนาทวี
๑๘.บ้านป่ากัน ต.ท่าประดู่ อ.นาทวี จ.สงขลา (คุณสาปีเกาะ ตำพู)
ใช้ภาษามลายูถิ่นปตานีสำเนียงสะบ้าย้อย
๑๙.บ้านระไมล์ต้นมะขาม ต.เปี่ยน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา (คุณนุอัยนี หน้าหวัง)
หมู่บ้านในเขตจังหวัดสงขลา (ตอนในเทือกเขาบรรทัด) ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้
๒๐.บ้านท่าโพธิ์ ต.ท่าโพธิ์ อ.สะเดา จ.สงขลา (คุณฟาริด บิลยะแม)
๒๑.บ้านโฮ๊ะ ต.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา (มูนีรอ บิลยะแม)
๒๒.บ้านห้วยโอน ต.กำแพงเพชร อ.รัตภูมิ จ.สงขลา (คุณเอลิยา มูเก็ม)
๒๓.บ้านคลองกั่ว ต.เขาพระ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา (คุณแซมะ มรรคาเขต)
๒๔.บ้านตีนคลอง ต.ท่าชะมวง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา (คุณวิศิษฐ์ เหมาะทอง)
หมู่บ้านในเขตจังหวัดพัทุลง(นิเวศชายทะเล) ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้
๒๕.บ้านมัสยิดลำธาร์ ต.โคกสัก อ.บางแก้ว จ.พัทลุง (คุณพ.ต.ท.ศุภชัช ยีหวังกอง)
๒๖.บ้านเกาะนางคำตีน ต.เกาะนางคำ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง (คุณข้อดะหน๊ะ แอเหย็บ)
๒๗.บ้านปากพะยูน ต.ปากพะยูน อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง( ซัลมาน เหมมานะ)
หมู่บ้านในเขตจังหวัดพัทลุง(แถบตอนในเขาบรรทัด) ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้
๒๘.บ้านชรัด ต.ชะรัด อ.กงหรา จ.พัทลุง (คุณนุชนาฎ มาราสา)
๒๙.บ้านโตนสะตอ อ.ป่าบอน จ.พัทลุง (คุณอนันตศักดิ์ ชอบงาม)
หมู่บ้านในเขตจังหวัดสตูล (ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้)
๓๐.บ้านทุ่งวิมาน ต.บ้านควน อ.เมือง จ.สตูล (คุณธีระเทพ จิตหลัง)
๓๑.บ้านเกตรี ต.เกตรี อ.เมือง จ.สตูล (คุณฟารีดา ปังแลมาปุเลา)
๓๒.บ้านดุสน ต.ควนโดน อ.ควนโดน จ.สตูล (คุณสุไลดา เกปัน)
๓๓.บ้านลาหงา ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล (คุณธีร์ธนิน ตุกังหัน)
ใช้ภาษามลายู ถิ่นสตูล
๓๔.บ้านเจ๊ะบิลัง ต.เจ๊ะบิลัง อ.เมือง จ.สตูล ( คุณอลงกรณ์ อำมาตย์นิติกุล )
หมู่บ้านในจังหวัดนครศรีธรรมราช หมู่บ้านที่พูดมลายูเคดะห์
๓๕.บ้านทุ่งจีน ต.นาเคียน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช (ซายิดฟาเดล รับไทรทอง)
๓๖.บ้านตีนดอน ต.โพธิ์ทอง อ.ท่าศาลา จังหวัดนครศรี (ว่าที่ร.ต.จุรินทร์ มะหมัด)
หมู่บ้านที่พูดไทยถิ่นใต้
๓๗.บ้านโคกมุด ต.นาเคียน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช (คุณนางวิภา ชลเกษม)
๓๘.บ้านท่าช้าง ต.คลัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช (คุณอันนาส สุดวิไล)
๓๙.บ้านหน้าสตน ต.หน้าสตน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช (คุณบีหรัต สองเมือง)
หมู่บ้านในจังหวัดตรัง ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้
๔๐.บ้านคลองชีล้อม ต.คลองชีล้อม อ.กันตัง จ.ตรัง (คุณบีหรัต สองเมือง)
๔๑.บ้านนา อ.ปะเหลียน จ.ตรัง (คุณยูโซะ หีมหมัด)
๔๒.บ้านพร้าว ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง (คุณสุนทรี สังข์อยุทธ์)
หมู่บ้านในจังหวัดสุราษฎ์ธานี ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้
๔๓.บ้านสงขลา บ้านสงขลากลาง บ้านโต๊ะเจ้า ต.ตลาด อ.ไชยา จ.สุราษฏร์ธานี (คุณสะอาด ร่าหมาน)
๔๔.บ้านพุมเรียง ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี (คุณสะอาด ร่าหมาน)
๔๕.บ้านเหนือน้ำ ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฏร์ธานี (คุณนายอารม โซ่แหละ)
๔๖.บ้านท่าสน ต.มะขามเตี้ย อ.เมือง จ.สุราษฏร์ธานี (คุณซ่อแหล๊ะ โต๊ะบาย)
จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้
๔๗.บ้านลำหยัง ต.ทรายขาว อ.โคกโพธ์ จ.ปัตตานี (คุณชาฮีรอน สาอิ)
ใช้ภาษามลายูถิ่นปตานี
๔๘.บ้านท่ากุล ต.ตะโละกาโปร์ อ. ยะหริ่ง จ. ปัตตานี (คุณอับดุลลายิ เง๊าะ)
ใช้ภาษามลายูถิ่นปตานี
๔๙.บ้านตะลุโบะ ต.ปะกาฮะรัง อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี (รุสนี ปูเตะ)
ใช้ภาษามลายูถิ่นปตานี
๕๐.บ้านท่าสาป ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา (คุณรายา พรมเอียด)
ใช้ภาษามลายูถิ่นปตานี
๕๑.บ้านเจ๊ะเห ต.ตำบลเจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส (คุณซูไบด๊ะ สือแมะ)
ใช้ภาษามลายูถิ่นปตานี
๕๒.บ้านทอน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส (คุณอาเนาะ ปันตัย)
ผู้เขียนถ่ายภาพที่บ้านศาลาหุม ( บ้านหลาหุม) หมู่บ้านที่อยู่ใกล้กับสุสานสุลต่านสุลัยมาน ชาห์มากที่สุดอยู่บ้านหลาหุมเรียกเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพว่า ไม้เเลสัน อันเป็นคำเรียกเดียวกับชาวซิงฆอราพลัดถิ่นที่บ้านสงขลา ต.ตลาด อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
ผู้เขียนถ่ายคู่กับหินปักหลุมฝังศพ ( หัวเเม่สัน ) รูปแบบใบเสมา ที่กุโบร์แห่งหนึ่งของหมู่บ้านมุสลิมซิงฆอรา คาดว่ามีความเก่าแก่ไม่น้อย ขณะนี้ผู้เขียนกำลังทำการศึกษาคาดว่าจะมีผลงานมานำเสนอในไม่ช้านี้
อ้างอิง
ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒ เมษายน – มิถุนายน ๒๕๖๔ เผยแพร่ครั้งที่ ๒ (ออนไลน์) www.Kidyang.com เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๕
[1] ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ หน้า ๓๗๑๔ [2] โปรดดูรายละเอียดการทุบทำลายทั้ง ๔ ครั้งในจดหมายเปิดผนึก ลงวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ของกลุ่มรักษ์มรดกซิงกอรา (Save Singora Heritage) ถึงอธิบดีกรมศิลปากรเรื่อง ขอแสดงความกังวล ขอให้พิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหา และขอแสดงความเห็นกรณีเหตุการณ์ทุบทำลายโบราณวัตถุ และวัตถุภายในแหล่งโบราณสถานที่ฝังศพพระยาแขก (มรหุ่ม) - https://www.facebook.com/SaveSingora/posts/107508414740121 [3] เกี่ยวกับจารึกอักษรชวา และข้อสังเกตเรื่องสายสัมพันธ์ระหว่างลุ่มทะเลสาบสงขลาเบื้องต้นโปรดดูบทความ “อักษรชวาในป้ายหลุมศพโบราณที่สงขลา กับจารีตคำเรียกเครือญาติที่มีรากมาจากคำชวาของคนมุสลิมลุ่มทะเลสาบ” ของผู้เขียนที่ https://www.kidyang.com/post/ชวา-ทะเลสาบ [4] กลุ่มรักษ์มรดกซิงกอรา (Save Singora Heritage) มีหน้าเพจในเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊คเพื่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ https://www.facebook.com/SaveSingora [5] ผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลได้ที่ https://www.kidyang.com/ [6] อัลลอฮฺ (ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) ทรงยืนยันไว้ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺอาละอิมรอน ส่วนต้นของอายะฮฺที่ ๑๘๕ [7] นญีบ อาห์มัด.หินสลัก มรณะศิลป์. (๒๕๖๒).บทความออนไลน์. สืบค้นได้จาก : https://bit.ly/3l3CZvp [8] สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พุทธศักราช ๒๕๔๒ เล่มที่ ๖ , ตานอ หน้า ๒๖๔๑ [9] ประมูล อุทัยพันธุ์. (๒๕๓๑). ตานอ-เครื่องหมายเหนือหลุมศพ พิมพ์รวมอยู่ใน เรื่องฝากไว้ที่ปัตตานี, ประพนธ์ เรืองนรงณ์ (บรรณาธิการ), (หน้า๑๘๐). กรุงเทพ ฯ : มิตรสยาม [10] สุนิติ จุฑามาศ สารนิพนธ์ระดับปริญญาตรี การศึกษาหินปักหลุมศพแบบบาตูอาเจะห์ในบริเวณเมืองโบราณริมอ่าวปัตตานี ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๕๔, หน้า ๓๙ [11] ประมูล อุทัยพันธุ์. (๒๕๓๑). อ้างแล้ว [12] สัมภาษณ์คุณสาปีเกาะ ตำพู มุสลิมพูดมลายูบ้านป่ากัน ตำบลท่าประดู่ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา [13] ทั้งนี้คนนายูมุสลิมที่พูดมลายูปตานีก็มีการใช้คำที่เรียกระบุตามวัสดุด้วยเช่นกันคือ บาตูแนแซ (บาตู คือหิน) กายูแนแซ (กายูคือไม้) [14] ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตุว่ามุสลิมที่พูดภาษาไทยถิ่นใต้ในจังหวัดสตูลร่วมถึงพื้นที่อื่น ๆ ในฝั่งอันดามันจะใช้คำว่า ตาหนา, ไม้ตาหนา, หัวตาหนา ส่วนมุสลิมที่พูดมลายูถิ่นสตูลจะใช้คำว่า “ตานอ” อีกทั้ง คุณซายิดฟาเดล รับไทรทอง มุสลิมพูดมลายูเคดะห์ที่บ้านทุ่งจีน ตำบลนาเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชให้ข้อมูลกับผู้เขียนว่ามุสลิมที่บ้านทุ่งจีนใช้คำว่า “ตอนอ” แต่สำเนียงเสียงจะต่างกับมลายูปตานีอยู่บ้าง [15] สัมภาษณ์ Abu Gibrel Jacob ชาวมาเลเซียในรัฐกลันตันซึ่งสามาถใช้ภาษาไทยได้ดีและมีความรู้ด้านภาษามลายู ภาษาไทยเป็นเป็นอย่างดี [16] สัมภาษณ์ อาจารย์ ดร. เอกลักษณ์ รัตนโชติ เมื่อ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
Comments