ความสำคัญของภูเขาปลายคาบสมุทรสทิงพระในหน้าประวัติศาสตร์สงขลา
อัปเดตเมื่อ 12 มี.ค. 2565
ความสำคัญของภูเขาปลายคาบสมุทรสทิงพระ : ในหน้าประวัติศาสตร์สงขลา
โดย สามารถ สาเร็ม
เหตุการณ์บุกรุกขุดภูเขาอันเป็นหมุดหมายสำคัญทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่ปลายคาบสมุทรสทิงพระทั้งสองจุดคือที่เขาแดงกับเขาน้อย ดังปรากฏเป็นข่าวอยู่ ณ ขณะนี้ในทางคดีก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะสืบสวนหาคนผิดมาลงโทษบอกกล่าวกับสังคมให้ได้รับรู้ต่อไป ในฐานะผู้เขียนเป็นคนสงขลาจึงอยากนำเสนอท่านผู้สนใจให้ได้รับรู้ถึงความสำคัญของภูเขากับสงขลาอันมีนัยยะที่สำคัญมาก หากภูเขาถูกทำลายลงก็เสมือนจิตวิญญาณและตัวตนของสงขลาได้ถูกทำลายลงไปด้วย เพราะแม้แต่ชื่อของสงขลาที่เรารู้จักอยู่ทุกวันนี้ ก็มีที่มาอันเกี่ยวข้องกับภูเขาคือกร่อนมาจากคำว่า สิงขร สิงขระ ซิงฆอรา ซึ่งหมายถึงภูเขา
เมืองสงขลายุคแรกนั้นตั้งอยู่บริเวณปลายคาบสมุทรสทิงพระหรือบริเวณบ้านหัวเขาแดงในปัจจุบันเป็นเมืองท่านานาชาติที่ปรากฎหลักฐานบันทึกของชาวต่างชาติหลายชนชาติ อาทิ ฮฮลันดา อาหรับ จีน ฝรั่งเศส อังกฤษและเอกสารท้องถิ่นอย่างตำนานเมืองพัทลุง เมืองในยุคนี้ปกครองโดยเจ้าเมืองมุสลิมเป็นเมืองสุลต่านแห่งสงขลาที่ตั้งเมืองโดยใช้เขาแดงเป็นปราการของเมืองอันแข็งแกร่งดังปรากฎการสร้างป้อมตั้งแต่ที่ราบ เชิงเขาจนถึงบนเขาซึ่งยังมีอยู่จนถึงปัจจุบันได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ
แผนที่เมืองสงขลาที่หัวเขาแดง (ซิงฆอรา) วาดโดยเดอลามาร์ พ.ศ.๒๒๓๐ วาดขึ้นหลังสงขลาหัวเขาแดงถูกสลายความเป็นเมือง ๗ ปี ปรากฎการตั้งบ้านเรือนที่บ้านหัวเขา บ้านบ่อเก๋ง เกาะยอ เเละฝั่งบ่อยางหรือบ่อพลับ
ภูเขากับนามเจ้าเมืองในหน้าประวัติศาสตร์สงขลา
เมืองสงขลายุคหัวเขาแดง
ดาโต๊ะโมกอล หรือโมกุล ได้รับการโปรดเกล้าจากพระเจ้าทรงธรรมให้เป็นข้าหลวงปกครองเมืองสงขลาที่หัวเขาแดงเป็นคนแรกเท่าที่เรามีหลักฐานในปัจจุบัน ดาโต๊ะ เป็นยศขุนนางระดับสูงในระบบราชการแบบมลายูอาจเทียบเท่าได้กับพระยา ส่วนคำว่า โมกอล นั้น นักวิชาการเสนอว่าน่าจะหมายถึง ชาวโมกุล หากแต่ อาจารย์อาลี เสือสมิง นักประวัติศาสตผู้เชี่ยวชาญภาษามลายูได้เสนอข้อสันนิษฐานถึงความหมายของคำ โมกอล เอาไว้อีกสามแนวทางคือ
๑.โมกอล อาจมาจากคำว่า มังกู ซึ่งมีความหมายว่า ผู้สำเร็จราชการ
๒.โมกอล อาจจะเพี้ยนเสียงมาจาก เปอมุกอ หรือ มุกอ ซึ่งมีความหายว่า ผู้นำ, ประมุข หรือนายหัว
๓.โมกอล เพี้ยนมาจากคำว่า มังฆูล (مڠكول) ซึ่งมีความหมายว่า เนินเขา คำว่า “ดะโต๊ะมังฆูล” ก็น่าจะมีความหมายว่า ผู้เป็นใหญ่แห่งเนินเขา อันหมายถึงหัวเขาแดง นั่นเอง” [1]
ยุครอยต่อ ๙๕ ปีหลังเสียเมืองสงขลาที่หัวเขาแดง (๒๒๒๓) ก่อนเกิดสงขลาแหลมสน ๒๓๑๘
ปรากฏราชทินนามเจ้าพระชาวิไชคีรีเป็นเจ้าเมืองสงขลาสมัยสมเด็จพระเพทราชาตามปรากฎในเอกสารโบราณว่า
“...แล ณ แขวงขึ้นแก่เมืองพัทธลุงบ้าง แล ณ แขวงจังหวัดเมืองสงขลาบ้าง แลเมืองสงขลาไซร้แต่ก่อนเป็นจังหวัดปากน้ำเมืองพัทธลุง แลครั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิไชยคีรีออกไปอยู่รักษาเมืองสงขลา แลทอนโนตต่อแดนด้วยที่เก้ารวาง ฝ่ายท่า (ปละท่า - ผู้เขียน) ตวันออกเมืองพัทธลุงนั้นก็ให้มาขึ้นแก่เมืองสงขลา #เมืองสงขลานั้นก็ให้มาขึ้นแก่เมืองนคร..” [2]
สงขลายุคแหลมสน
สงขลายุคแหลมสนตั้งเมือง ๒๓๑๘ สมัยธนบุรีที่แหลมสน และมีการย้ายเมืองในสมัยรัชกาลที่ ๓ไปยังฝั่งบ่อยาง ซึ่งมีเจ้าเมืองเป็นชาวจีนปกครองต่อเนื่องกันถึง ๘ ท่าน เป็นต้นตระกูลของนามสกุล ณ สงขลา ทุกท่านต่างมีราชทินนามที่เกี่ยวข้องกับภูเขาทั้งสิ้น โดยมีรายนามดังนี้
เจ้าเมืองสงขลาที่แหลมสน
ลำดับที่ 1. พระยาสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยี่ยง แซ่เฮา) พ.ศ. 2318-2327
ลำดับที่ 2. เจ้าพระยาอินทคีรีศรีสมุทรสงครามรามภักดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ (บุญหุ้ย) พ.ศ. 2327-2355
ลำดับที่ 3. พระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง) พ.ศ. 2355-2360
เจ้าเมืองสงขลาที่บ่อยาง
ลำดับที่ 1. พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา) พ.ศ. 2360 – 2390 ผู้เริ่มสร้างเมืองสงขลา บ่อยาง
ลำดับที่ 2. เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสัง ณ สงขลา) พ.ศ. 2390 – 2408
ลำดับที่ 3. เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) พ.ศ. 2408 – 2427
ลำดับที่ 4. พระยาวิเชียรคีรี (ชุ่ม ณ สงขลา) พ.ศ. 2427 – 2431
ลำดับที่ 5. พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) พ.ศ. 2431 – 2439
ภูเขาราชทินนามกำนันตำบลหัวเขา
ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ – ๖ ปรากฎราชทินนามของกำนันในตำบลหัวเขาว่า ขุนแผ้วสิงขรพาน (หมุด เวชกะ) [3]
จากหลักฐานที่ยกมานำเสนอจะเห็นได้ว่าในหน้าประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลาในมิติของผู้ปกครองในยุคสมัยอยุธยาตลอดจนถึงรัตนโกสินทร์หรือแม้แต่ยุคปฏิรูปการปกครองก็ต่างมีราชชินนามอันเกี่ยวข้องกับภูเขาทั้งสิ้น
ภูเขาในคติชนของพื้นที่
พี่น้องคนจีนในสงขลาและอาจรวมถึงคนไทยด้วยต่างมีคติความเชื่อเกี่ยวกับทวดเขาแดงว่าเป็นสิ่งศักสิทธิที่สิ่งสถิตค่อยปกป้องรักษาเมืองสงขลาอยู่บนเขาแดง
“คนจีนเชื่อว่า เขาแดงตรงนั้นมีเจ้าที่ ที่คอยปกปักษ์รักษาคนสงขลาซึ่งอาจตรงกับคนในท้องที่แต่มีการสวมทับบริบทความเป็นจีนเข้าไปเคารพบูชาในนาม แป๊ะกง (อั่งซัวแป๊ะกง-แป๊ะกงที่หัวเขาแดง)คนจีนมีความเชื่อว่า ทุกที่มีเจ้าที่ประจำอยู่ ตามป่าเขา ตามสุสาน ตามสะพาน พวกนี้มีเจ้าที่ คุ้มครองอยู่เจ้าที่ ของคนจีนก็คือ แป๊ะกง ทีนี้ในบริบทของสงขลา เค้าก็มีความเชื่อว่า ที่หัวเขาแดงตรงนั้นก็มีเจ้าที่ เจ้าเขา ที่คุ้มครองเมืองสงขลาให้รอดพ้นจากภัยธรรมชาติ ซึ่ง มันอาจจะสะท้อนกับความเชื่อท้องถิ่นก่อนหน้านั้นก็คือ คติการบูชาทวดหัวเขาแดง ในยันต์ทวดหัวเขาแดง ขึ้นหัวยันต์ว่า อั่งซัวเหล่าแป๊ะกงอั๊ง คือสีแดง - ซัว แปลว่าภูเขา เหล่าแป๊ะกง นี่ประมาณปู่ทวดมันเป็นความเชื่อในเรื่องเจ้าที่เหมือนกันแหละ แต่ต่างกันที่ภาษาในการเรียก ต่างกันที่พิธีกรรมในการบูชาคนจีนเรา ทุกปี ก็จะมีการจัดงานสมโภชทวดเขาแดงซึ่งก็คือการไหว้บูชาขอบคุณอั่งซัวเหล่าแป๊ะกง นี่แหละ ที่ช่วยคุ้มครอง” [4]
ส่วนคนไทยมีความเชื่อว่าทวดเขาแดงท่านจะไปสถิตย์ที่เจดีย์คอยดูแลเมืองสงขลาและรักษาปากน้ำสงขลาถ้ามีพายุชาวบ้านมักกาดทวดให้ปัดพายุแต่ในทางมโนราห์โรงครูมีการทำพิธีเรียกทวดเขาแดงมาลงทรงด้วยซึ่งบางที่จะเชื่อว่าท่านเป็นคนจีน บางเชื่อว่าเป็นแขก เชื่อว่าเป็นคนไทยพุทธก็มี แต่จะสถิตย์อยู่บนเขาแดง [5] สำหรับคนแขกในบางชุมชนยังมีคติความเชื่อว่าบนเขาแดงมีทวดผ้าแดงอยู่เมื่อครั้งเกิดภัยพิบัติตะลุมพุกในชุมชนคนแขกมีเรื่องเล่ากันว่ามีผู้เห็นโต๊ะผ้าแดงชายร่างใหญ่ยื่นอยู่บนเขาแดงโดยใช้ผ้าสะระบัน(ผ้าโพกศรีษะของผู้ชาย)กำลังผัดลมให้ไปทิศทางอื่นจึงทำให้สงขลาไม่ได้รับอันตรายจากพายุครั้งนี้ [6]
ที่บริเวณเชิงเขาทั้งห้านี้นั้นนอกจากเป็นที่ตั้งของชุมชน วัด มัสยิด บาลายแล้วพื้นที่หลาย ๆส่วนยังเป็นที่ของผู้วายชนม์อีกด้วย โดยเฉพาะที่เขาหัวเขาซึ่งเป็นเขาที่ถูกบุกรุกนั้น เป็นที่ตั้งฮวงซุ้ยของเจ้าเมืองสงขลาชาวจีน และข้าราชการสำคัญของเมืองหลายหลุมซึ่งต่างถูกประกาศเป็นโบราณสถานทั้งสิ้น อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของกุโบร์สุสานฝังศพของคนแขกอีกด้วย
ทั้งนี้พบว่าศาสนสถานของกลุ่มชนต่าง ๆ นั้นยังมีความเกี่ยวข้องกับภูเขาอีกด้วยอาทิ วัดสุวรรณคีรี แปลว่าภูเขาทอง วัดประจำเมืองสงขลาสมัยแหลมสน วัดคีรีวนาวาส แปลว่าในป่าเชิงเขา หรือที่รู้จักในปัจจุบันว่า ศิริวรรณนาวาส วัดภูพาเบิก และมัสยิดต่าง ๆ ในพื้นที่ต่างตั้งชื่อเป็นภาษาอาหรับโดยใช้คำขึ้นต้นว่า ยาบัล แปลว่าภูเขา (เป็นชื่อภูเขาลูกหนึ่งในเมืองมากะประเทศซาอิอารเบีย) มาตั้งกันหลายชุมชน เช่นมัสยิดยาบัลโหรดเราะหม๊ะ แปลว่า ภูเขาแห่งความเมตตา ตั้งอยู่ในหมู่ ๔ เป็นชุมชนคนแขกโบราณสมัยอยุธยายังปรากฏอยู่ในแผนที่เดอลามาร์ ๒๒๓๐
มัสยิดยาบัลเนี๊ยะหม๊ะ แปลว่า ภูเขาแห่งความโปรดปราน บ้านหัวเขาแดง ตำบลหัวเขา
มัสยิดยาบัลยาแมะ แปลว่า มัสยิดที่มีสถานะเป็นมัสยิดกลาง (มัสยิดหลักที่ตั้งอยู่ใกล้ภูเขา) บ้านเขาน้อย(ท่าเสา) ตำบลสทิงหม้อ[7]
มัสยิดยาบัลนูร แปลว่า มัสยิดแห่งรัศมี บ้านเขาเขียว ตำบลสทิ้งหม้อ
จากข้อมูลที่ยกมานำเสนอนี้ทำให้เห็นความสำคัญของภูเขาที่ปลายคาบสมุทรสทิงพระ ว่ามีความสัมพันธ์กับจังหวัดสงขลาในมิติทางประวัติศาสตร์ของเมือง อันเกี่ยวข้องกับผู้คนซึ่งมีทั้งความเกี่ยวข้องกับชนชั้นปกครอง คติความเชื่อของคนพื้นที่ซึ่งยังคงปรากฎอยู่ในวิถีชีวิตรวมถึงยังมีความเกี่ยวข้องกับมิติของผู้ล่วงลับดังกล่าวมาแล้วในเนื้อเรื่อง
ด้วยความสำคัญเช่นนี้ผู้เขียนจึงใคร่จากนำเสนอข้อมูลนี้ออกมาเนื่องจากว่า ณ ขณะนี้ภูเขาเหล่านี้ที่ปลายคาบสมุทรสทิงพระนั้นต่างอยู่ในสภาะวของการถูกบุกรุกทำลาย ปรากฎข่าวในเห็นอยู่กล่าวคือ มีการบุกรุกทำถนนบนเขาที่เรียกว่า เขาหัวเขาบริเวณใกล้ ๆ กับตำแหน่งที่ช่องบ่อเก่ง(ช่องนกรำ) และอีกตำแหน่งคือที่เขาน้อย สำหรับที่เขาน้อยนั้นเป็นที่ตั้งของฐานเจดีย์อายุนับพันปีเป็นเจดีย์สมัยศรีวิชัย ซึ่งทั้งสองเขาต่างได้รับการประกาศเป็นเขตโบราณสถานแล้วครอบคลุมพื้นที่ทั้งภูเขาสำหรับสถานการณ์ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างกรมศิลปากรซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในพื้นที่ฝั่งตรงข้ามกับภูเขาคือสำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลาดำเนินการเข้าแจ้งความที่ตำรวจอำเภอสิงหนครแล้ว คาดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจคงจะนำตัวผู้กระทำผิดมาบอกกล่าวกับสังคมได้ในเร็ววัน
ทั้งนี้น่าเป็นห่วงว่าหากฝนตกหนักภูเขาที่ถูกขุดไว้นั้นอาจถลมลงมาส่งผลกระทบต่างๆต่อโบราณอีกทั้งชาวบ้านที่อยู่เชิงเขาอาจจะได้รับความอันตรายได้รวมถึงที่เขาน้อยก็อาจจะทำให้เจดีย์อาจจะทรุดลงมาได้ จะเป็นไปได้ไหมหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงนักวิชาการในมหาลัยต่างๆในเขตจังหวัดสงขลาจะออกมาร่วมกันหารือหาแนวทางในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุเหล่านี้ขึ้น ส่วนคดีก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจต่อไป
[1]อาลี เสือสมิง สืบค้นออนไลน์ : https://bit.ly/34ZWNfp [2]สามารถ สาเร็ม.มีราชทินนาม พระยาวิไชยคีรี เจ้าเมืองสงขลาสมัยอยุธยา หลังเมืองสงขลาถูกพิชิตในปี 2223. สืบค้นออนไลน์ : https://bit.ly/3H4kTTe [3]ขอบคุณข้อมูลจากคุณประโสบเวชกะและคุณกริช พิทักษ์คุมพล [4]ผู้เขียนได้รับอนุเคราะห์ข้อมูลส่วนนี้จากคุณเตชธร บัญฑิตจบใหม่ ทำวิจัยเรื่อง"คติความเชื่อที่พบในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา
[5]ขอบคุณข้อมูลจากคุณศุภกฤต ผ่องสุวรรณ ข้าราชวัฒนธรรมจังหวัด ชาวไทยพุทธบ้านบ่อเก๋งหมู่บ้านที่เชิงหัวเขาแดง [ุ6]ข้อมูลจากการสำรวจภาคสนามของผู้เขียนในชุมชนคนแขกบางชุมชนในพื้นที่สิ่งนี้สะท้อนคติชนความเชื่อที่ไปไกลกว่าขอบเขตของศาสนาอิสลามแต่เป็นเรื่องเล่าที่แฝงฝังคติชนไว้อย่างหน้าสนใจของพื้นที่
[7] แปลโดยผู้ช่วยศาสตร์ตราจารย์โชคชัย วงษ์ตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
Commenti