อักขระศิลป์ที่เชิงเขาแห่งความเมตตา
อัปเดตเมื่อ 13 มี.ค. 2565
อักขระศิลป์ที่เชิงเขาแห่งความเมตตา : มัสยิดยาบัลโหรดเหร๊าหม๊ะ (สุเหร่าใหญ่ในบ้าน) บ้านหัวเขา ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
“บ้านหัวเขา”ชื่อหมู่บ้านของคนแขก (มุสลิม) ในเขตพื้นที่ ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา แบ่งหมู่บ้านย่อยออกเป็น ๔ บ้าน คือ ในบ้าน นกท่อง บ้านนอก หัวเลน ( ม.3 ,ม.4, ม.5, ม.6 ) ให้ข้อมูลโดยคุณพิเชษฐ์ หีมสุวรรณหรือรุชดีเพื่อนของผู้เขียนลูกหลานชาวหัวเขาที่เติบโตในชุมชนแห่งนี้ บ้านหัวเขานั้นเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมเชิงเขาที่มีชื่อเรียกว่าหัวเขาด้านหน้าติดทะเลสาบสงขลา และมีภูเขาลูกเล็ก ๆ ตั้งอยู่กลางชุมชนเรียกกันภายหลังว่าเขาโรงเรียน
เป็นภูเขาที่มีความสำคัญเพราะเป็นที่ตั้งของศาสนสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนานั้นก็คือมัสยิดหรือสุเหร่าหลังแรกและย้ายลงมาสร้างหลังปัจจุบันเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ บริเวณเชิงเขา ก่อนเข้าสู่เนื้อเรื่องราวของอักขระศิลป์อันเป็นเนื้อหาหลักของบทความนี้ผู้เขียนอยากนำท่านผู้อ่านมาทำความประวัติความเป็นมาของชุมชนกันก่อนครับ
แผนที่เมืองสงขลาวาดโดยเดอลามาร์ พ.ศ.๒๒๓๐ หลังสงขลาหัวเขาแดงถูกสลายความเป็นเมืองเพียง ๗ ปีปรากฎภาพบ้านเรือฝั่งตำบลหัวเขาสองตำแหน่งคือบ้านหัวเขากับบ้านบ่อเก๋ง และบ้านบนเกาะยอ รวมถึงฝั่งบ่อย่างหรือบ่อพลับ
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของบ้านหัวเขา
ชุมชนใกล้ปากทะเลสาบสงขลามีการตั้งถิ่นฐานมาแล้วไม่น้อยกว่า 334 ปีตามหลักฐานภาพวาดชุมชนในแผนที่เมืองสงขลาและบริบท โดยวิศวกรเดอลามาร์ เมื่อพ.ศ.๒๒๓๐ สมัยสมเด็จพระนารายณ์ อาจนับได้ว่าเป็นชุมชนที่สืบทอดผู้คน วิถีชีวิต และวัฒนธรรมบางประการต่อมาจากเมืองสงขลาสมัยสุลต่านที่หัวเขาแดง ซึ่งถูกทำลายลงโดยกองทัพอยุธยาในปีพ.ศ.๒๒๒๓ ( ทว่าผู้คนไม่ได้สูญหายไปจากผลพวงแห่งสงคราม )
ซ้ายบ้านหัวเขาในแผนที่เดอลามาร์เทียบกับบ้านหัวเขาในปัจจุบัน มีภูเขาเป็นหลักฐานทางกายภาพที่ทำให้เห็นว่าหมู่บ้านในแผนที่เดอลามาร์ตำแหน่งนี้คือบ้านหัวเขาอย่างเเน่นอน
อีกทั้งพงศาวดารเมืองสงขลาทั้ง ๒ ฉบับที่เรียบเรียงโดย พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา ) ไม่ปรากฏปีที่แต่งและฉบับที่เรียบเรียงโดย พระยาวิเชียรคีรี (บุญสัง), แต่งใน พ.ศ. 2388 ตอนหนึ่ง และใน พ.ศ. 2402 อีกตอนหนึ่งก็มีการระบุถึงเจ้าเมืองสงขลาซึ่งเป็นคนบ้านหัวเขาไว้อีกสองท่าน คือเจ้าเมืองสงขลาโยมได้รับการแต่งตั้งโดยสมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราช ภายหลังถูกถอดออกจากการเป็นเจ้าเมืองถูกนำไปขังไว้ที่ส่วนกลางและพระเจ้าตากจึงแต่งตั้งท่านเหยียง แซ่เฮา (ตั๋วแป๊ะ) นายอากรรังนกเกาะสี่เกาะห้าเป็นเจ้าเมืองแทน ในปีพ.ศ.๒๓๑๘ หลังสงขลาหัวเขาแดงแพ้อยุธยา ๙๕ ปี
เมื่อได้เป็นเจ้าเมืองแล้วจึงตั้งบุตรของเจ้าเมืองสงขลาโยมคือขุนรองราชมนตรีหรือฉิมเป็นรองเจ้าเมืองสงขลา ซึ่งต่อมาขุนรองราชมนตรีเกิดไม่พอใจเจ้าเมืองสงขลาบุญหุ้ย (เจ้าเมืองสงขลาที่แหลมสนท่านที่สอง) จึงมีการสู่รบกันฝ่ายขุนรองราชมนตรีรบชนะปกครองเมืองสงขลาในช่วงเวลาสั่น ๆ เพียงสี่เดือนตั้งบ้านที่บ้านหัวเขาแห่งนี้
ซึ่งท่านเจ้าเมืองสงขลา (บุญหุ้ย) ได้เดินทางไปขอความช่วยเหลือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช รัชกาลที่ ๑ ของราชวงศ์จักรี สุดท้ายจึงเคลียกันได้ท่านเจ้าเมืองสงขลา(บุญหุ้ย)จึงได้เป็นเจ้าเมืองสงขลาตามเดิม[๑]
จากข้อมูลพงศาวารเมืองสงขลาระบุว่าเจ้าเมืองสงขลาโยมบิดาของหลวงรองนั้นตั้งเรือนอยู่เมืองเก่าเรือนหนึ่ง (ที่หัวเขาแดง-ผู้เขียน) หัวเขาเรือนหนึ่ง[๒]และยังระบุอีกว่า
“…พระสงขลาขึ้นเฝ้ากรมพระราชวังสถานมงคล กราบทูลว่าหลวงรองเป็นขบถตีเอาเมืองสงขลาได้ รับสั่งว่าให้พระสงขลาออกมาทำพระตำหนักไว้ที่เมืองสงขลาก่อน เสร็จราชกาลเมืองนครแล้วจะเสด็จมาเมืองสงขลา พระสงขลากราบทูลลามาเมืองสงขลาขึ้นอยู่บ้านแหลมสน พระสงขลานอกราชการขึ้นบ้านหัวเขา พวกจีนไทยแขกเมืองสงขลาเข้าหาพระสงขลาทั้งสิ้น ขณะนั้น หลวงรอง ทิดเพ็ด ก็ตั้งเรือนอยู่ ณ บ้านหัวเขา หาเข้าหาพระสงขลาไม่…”[๓]
ซึ่งบ้านหัวเขาเป็นชุมชนที่มีเฉพาะคนแขก (มุสลิม) เท่านั้นไม่มีคนไทย คนจีนตั้งบ้านเรือนอาศัยปะบนอยู่มาจนถึงปัจจุบันในหนังสือที่ระลึก ๑๐๐ ปีมัสยิดยาบัลโรดเหร๊ะหม๊ะจึงมีการสันนาฐานว่าเจ้าเมืองสงขลาโยมนั้นน่าจะมีชื่อจริง ๆ ว่า “อัยยูบ”[๔]
เเผนที่เดอลามาร์หลักฐานชั้นต้นและพงศวดารเมืองสงขลาที่ยกมานำเสนอพอจะทำให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้ความเป็นมาของบ้านหัวเขาซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ของเมืองสงขลาเป็นชุมชนของคนแขก (มุสลิม) ที่อยู่สืบต่อมามากจากยุคสุลต่าน ดังนั้นสุเหร่าหรือมัสยิดสถานที่สำหรับใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของบ้านหัวเขาจึงมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะที่ใดมีชุมชนมุสลิมที่นั่นจะต้องมีสุเหร่าหรือมัสยิด
ที่ผ่านมาชุมชนหัวเขาได้มีการจัดทำเอกสารประวัติศาสตร์ชื่อว่า "หนังสือที่ระลึก ๑๐๐ ปีมัสยิดยาบัลโรดเหร๊าะหม๊ะ"
มัสยิดยาบัลโหรดเหร๊าะหม๊ะหรือสุเหร่าในบ้าน
ได้ให้รายละเอียดว่าในพื้นที่มีมัสยิดทั้งหมดสามยุค คือ
๑. มัสยิดยุคเก่า (พ.ศ.๒๒๒๓ – พ.ศ.๒๓๙๐)
๒.มัสยิดยุคแรกเริ่ม (พ.ศ.๒๓๙๐ – พ.ศ.๒๔๕๗)
๓.ยุคสร้างรากฐาน (พ.ศ.๒๔๕๘ –ปัจจุบัน)
มัสยิดยาบัลโหรดเหร๊าะในพงศวดารเมืองสงขลา
ภาพถ่ายมัยยิดยาบัลโหรดเหร๊าะหม๊ะหลังเดิมบนเขาโรงเรียน(ซ้าย) หลังที่พงสวดารเมืองสงขลาระบุว่าโบสถ์เเขก กับหลังปัจจุบันที่เชิงเขา(ขวา) ขอบคุณภาพถ่ายจากบังกฤษ พิทักษ์คุมพล
โดยระบุว่ามัสยิดหลังเดิม(หลังยุคแยกและยุคสอง)ของหมู่บ้านนั้นตั้งอยู่บนภูเขามีหลักฐานเพียงชิ้นเดียวที่กล่าวถึงไว้คือพงศาวารเมืองสงขลา ฉบับที่แต่งโดย พระยาวิเชียรคีรี ( ชม ณ สงขลา ) ความว่า
“…พระยาวิเชียรคีรี ( เถี้ยนเส้ง ) อัธยาศัยดุร้าย จนราษฎรเรียกกันว่าเจ้าคุณเสื้อ เหตุด้วยท่านเกณฑ์ราษฎรไปล้อมจับเสือที่ตำบลบ้านศีศะเขา เพราะที่นั่นเป็นที่เสือป่าชุกชุม วิธีล้อมจับเสือนั้นพิศดารหลายอย่าง คือเกณฑ์ราชษฏรทำแผงไม้ไผ่กว้าง ๖ ศอก ยาว ๖ ศอก เหลี่ยมไว้เสมอ ทุกกำนัน ๆ ละ ๑๐ แผงบ้าง ๑๒ แผงบ้าง ๑๕ แผงบ้าง
เมื่อเสือเข้ามากัดสุกรหรือโคของราษฎรที่ตำบล บ้านศรีษะเขา พระยาวิเชียรคีรี ( เถี้ยนเส้ง ) มีคำสั่งเรียกราษฏรแลแผงทันที ให้มาล้อมจับเสือ ถ้าราษฏรมาไม่พร้อมในระหว่าง ๒๔ ชั่วโมง ก็ต้องรับอาญาเฆี่ยนหลังคนละ ๓๐ ที แลต้องจำคุกด้วย เมื่อราษฎรพาแผงมาพร้อมกันแล้วก็ช่วยกันเอาแผงแผงล้อมเสือเข้าโดยรอบ ด้านนอกแผงนั้นให้ราษฎร กองเพลิงตีเกราะนั่งยามโดยรอบแผง
พระยาวิเชียรคีรี ( เถี้ยนเส้ง ) มีอาญาสิทธิเต็มอำนาจเหมือนกับอาญาสิทธิแม่ทับใหญ่ ครั้นเวลาเช้าพระยาวิเชียรคีรี ( เถี้ยนเส้ง ) จัดให้ราษฎรพวกหนึ่งถือหอก แลง้าวพร้อมขวาน เข้าไปอยู่ในแผงราษฎรพวกหนึ่งค่อยขยับแผงตามหลังเข้าไปให้วงแผงที่ล้อมนั้นเลื่อนน้อยเข้าทุกครั้ง เมื่อถางป่าขยับแผงน้อยเข้าไปทุกวัน ๆ เสือซึ่งอยู่ในที่ล้อมกระโดดกัดเอาคนซึ่งอยู่ในแผงสามชั้น วันละ ๒ – ๓ คน ถึงแก่กรรมบ้าง เจ็บป่วยลำบากบ้าง พระยาวิเชียรคีรี ( เถี้ยนเส้ง ) ก็รีบเร่งให้ราษฎรล้อมเสืออยู่เสมอ ในเวลานั้นปรากฏว่า เสือกัดราษฏรในที่ล้อมหลายสิบคน เมื่อล้อมแผงเข้าไปชิดตัวเสือแล้ว เสือก็ตกใจกระโดดขึ้นไปบนต้นมะปริงใหญ่ ริมโบสถ์แขกตำบลบ้านศรีษะเขาเดี๋ยวนี้ เพื่อจะกระโดดข้ามแผงหนีออกไป พระยาวิเชียรคีรี ( เถี้ยนเส้ง ) ยิงเสือด้วยปืนคาบสิลาที่มีชื่อว่า อีเฟือง ถูกขมองศรีษะเสือพลัดตกลงจากต้นปริงตายในทันที่”[๕]
มัสยิดยาบัลโหรดเหร๊าะในบันทึกของชนชั้นนำสยาม
ช่องเกาะยอกับเขาเขียวซ้ายคือเกาะยอ ขวาคือเขาโรงเรียน มัสยิดยาบัลโหรดเหร๊าะเเละเขาหัวเขา
แต่จากการสืบค้นของผู้เขียนพบว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงนิพนธ์ไว้ในจดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๕) ตรงกับวันพุธที่ ๑๑ เดือนมิถุนายน ซึ่งพระองค์เสด็จมาทางทะเลสาบจากพัทลุงเมื่อมาถึงบริเวณช่องเกาะยอก็ทรงบันทึกถึงมัสยิดของบ้านหัวเขาที่ตั้งอยู่บนเขาไว้ว่า
“…เวลาเช้า ๑.๐๐ ถึงตำบลปากรง จอดเรือหน้าที่พักเขาปลูกไว้รับ แต่ไม่ได้ขึ้นด้วยกลัวเสียเวลา จะรีบให้ถึงสงขลาแต่เช้าจะได้พ้นพยุ จึงรับแต่ของกินมาลงเรือกินไปตามทาง เวลา ๑.๓๕ ออกเรือออกปากรงไปในทะเลสาบ ตามทางมาแต่ปากพยูน มีเครื่องจับปลาตลอดทาง มีรั้วยกยออย่างหนึ่ง หลักโพงพางอย่างหนึ่ง สามขาทอดปลากพงอย่างหนึ่ง ๔.๒๕ ถึงบ้านหัวเขาอยู่ซ้ายมือ เปนแหลมช่องที่เกาะยอ มีบ้านมากมายเห็นจะหลายร้อยหลังคาเรือน มีเรือนหลังคามุงกระเบื้องมาก มีสุเหร่าแขกบนเขา ๔.๔๐ ถึงหมู่บ้านหัวเขาเมืองสงขลาอยู่ฝั่งขวา…”
จากบันทึกข้างต้นเป็นหลักฐานบอกให้เรารู้ว่า พ.ศ.๒๒๔๖ มัสยิดของบ้านหัวเขายุคที่ ๒ (พ.ศ.๒๓๙๐ – พ.ศ.๒๔๕๗) ยังคงตั้งอยู่บนเขา(เขาโรงเรียน)และยังให้รายละเอียดถึงความหนาแน่นของจำนวนบ้านเรือนว่ามีจำนวนมากซึ่งปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นนี้
มัสยิดยาบัลโหรดเหร๊าะหม๊ะหลังปัจจุบันที่เชิงเขา
สำหรับมัสยิดหลังปัจจุบันนั้นตัวมัสยิดมีอายุประมาณ 100 ปีเศษ โดยย้ายลงมาสร้างบริเวณเชิงเขาด้านล่าง ได้มีการจารึกวันเดือนปีที่ทำการก่อสร้างด้วยภาษามลายูปรับไว้ ณ ประตูทางเข้ามัสยิดด้านทิศตะวันออกจำนวน ๒ แผ่นมีใจความว่า[๖]
فربوتن هاري جمعة بولن شوال هحرة ١٣٣٦
มีความหมายว่า “…(มัสยิด) เริ่มสร้างวันศุกร์ เดือนเซาวาล ฮิจเราะห์ศักราช ๑๓๓๖…”
ลักษณะหลังคาของมัสยิดเป็นหลังคาในผังจัตุรัส ซึ่งสะท้อนรูปแบบเทรดดิชั่นดั้งเดิมของมัสยิดพื้นเมืองชวา – มลายู ปัจจุบันตัวอาคารมัสยิดด้านล่างได้ถูกปรับเปลี่ยนจนสูญเสียรูปแบบดั้งเดิมไปหมดสิ้นแล้ว ทว่าคงสามารถรักษาหลังคาของมัสยิดเอาไว้ได้ เป็นกรณีศึกษาทั้งในด้านรูปแบบสถาปัตยกรรม และลักษณะทางโครงสร้างที่น่าสนใจมาก
อักษรอาหรับประดิษฐ์ที่มุขหรือนาซะของมัสยิดยาบัลโหรดเหร๊าะหม๊ะ
อักษรอาหรับประดิษฐ์ที่มุขหรือนาซะของมัสยิดยาบัลโหรดเหร๊าะหม๊ะ
ทั้งนี้ทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นทางขึ้นมัสยิดมีลักษณะเป็นมุขยื่นออกมาเรียกกันว่า "นาซะ" ตำแหน่งนี้ถูกระบุว่าแต่เดิมใช้สำหรับแขวนกลองของมัสยิดซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้วแต่ความพิเศษของมุขนี้อยู่ที่หน้าบันมีการรังสรรค์ตัวอักษรอาหรับประดิษฐ์หรือที่เรียกกันว่า คอต ไว้อย่างสวยงามมาก ที่สำคัญมีเพียงหนึ่งเดียวในลุ่มทะเลสาบสงขลาสร้างโดยนายช่างหมีด หลีหมุดและช่างหมีน สุวรรณสา[๗]
ที่ผ่านมาบังกฤษ พิทักษ์คุมพลลูกหลานชาวหัวเขาได้นำเสนอข้อมูลถึงความหมายของตัวอักษรอาหรับประดิษฐ์ที่หน้าบันไว้แล้วบ้างส่วนผ่านเฟ๊สบุ๊กส่วนตัวแต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้มีการนำเสนอไว้ สำหรับอักษรประดิษฐ์(คอต)ของมัสยิดยาบัลโหร๊ดเหร๊าะหม๊ะมีสองตำแหน่งคือที่ตำแหน่งของหน้าบันกับด้านบนของอาคารซึ่งเป็นส่วนขยายที่เพิ่งสร้างขึ้น ดังนี้
ตำแหน่งหน้าบันของมุขหรือนาซะ
ตำแหน่งที่ ๑ อยู่ข้างบนสุด ภาษาอาหรับ ตัวอักษรอาหรับ คือคำว่า มูฮัมหมัด(นามของท่านศาสดาคนสุดท้ายของศาสนาอิสลาม) นำมาเขียนให้มีลักษณะสะท้อนกลับเรียกว่า ตรามูฮัมหมัดไขว้ เป็นตราพบได้ทั่วไปทั้งในประเทศตุรกี อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซียและประเทศไทย ฯลฯ มีผู้รู้บางท่านให้ข้อมูลว่าเป็นตราสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลามที่ใช้มาก่อนสัญลักษณ์จันทรเสี้ยวกับดวงดาวและอาจเป็นร่องรอยของคติความเชื่อเกี่ยวกับหน้ากาล
ตำแหน่งที่ ๒ อยู่ถัดลงมามีทั้งหมดจำนวน ๔ คำ โดยนำชื่อของคอลีฝะทั้งสี่ท่าน คือ ๑.อะบูบักรฺ ๒.อุมัร (เขียนปกติ) ๓.อุษมาน และ ๔.อะลีย์ (สองท่านหลังใช้การเขียนแบบสะท้อนกลับด้าน)
๑. ابوبکر
๒. عمر
๓.عشمن
๔.علي
ตำแหน่งที่ ๓ เป็นตำแหน่งสำคัญเพราะมีความสวยงาม มีลักษณะของการนำตัวอักษรประดิษฐ์ให้มีลักษณะที่คล้ายกับเสือหรือสิงโตสองตัวหันหน้าเข้าหากันซึ่งตรงกลางทำเป็นรูปโคมไฟหรือตระเกี่ยง ดังนั้นตำแหน่งนี้จึงมีการนำตัวอักษรมาทำเป็นคอตทั้งหมด ๒ ส่วนด้วยกัน
ส่วนที่ ๑ คือทำเป็นตัวเสือหรือสิงโต แบ่งเป็นสองฝั่งทางด้านขวาเป็นการเขียนปกติส่วนทางด้านซ้ายเป็นการเขียนให้มีลักษณะตัวอักษรสะท้อนกลับด้าน ภาษาอาหรับ ตัวอักษรอาหรับ มาจากซูเราะห์อัศศ๊อฟ(โองการจากคัมภีรอัลกุรอ่าน) อายะที่ ๑๓
اللَّهِ وَفَتْحٌ قَرِيبٌ وَبَشِّرِ الْمُؤْمِنِينَ
มีความหมายว่า
“…การช่วยเหลือจากอัลลอฮฺและการพิชิตอันใกล้นี้และจงแจ้งข่าวดีแด่บรรดาผู้ศรัทธาเถิด…”[๘]
ส่วนที่ ๒ คือทำเป็นโคมไฟหรือตะเกี่ยง อาจารย์ ผศ.โชคชัย วงษ์ตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นผู้แปลร่วมกับอุสตาส อัล ฮาฟิช(Mustafa Bas) ผู้บริหารโรงเรียนศิริวัฒน์วิทยา(โรงเรียนนานาชาติตุรกีในประเทศไทย) กรุงเทพมหานคร ภาษาอาหรับ ตัวอักษรอาหรับมาจากซูเราะห์อัลเกาซัร อายะที่ ๒
فَصَلِّ لِرَبِّكَ وَانْحَرْ
มีความหมายว่า
“…ดังนั้นเจ้าจงละหมาดเพื่อพระเจ้าของเจ้าและจงเชือดสัตว์พลี…”[๙]
อย่างไรก็ดังที่ได้กล่าวไปแล้วเบื้องต้นว่าคอตที่หน้าบันบริเวณมุข(นาซะ)ของมัสยิดยาบัลโหรดเหรีาะหม๊ะไม่พบในมัสยิดอื่น ๆเลยในลุ่มทะเลสาบสงขลาแต่พบว่าที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซียมีบ้านหลังหนึ่งมีการฉลุไม้ช่องลมมีลักษณะคล้าย ๆ กับที่นี้คือทำเป็นรูปสิงห์สองตัวหันหน้าเข้าหากันตรงกลางทำเป็นตะเกียงหรือโคมไฟ
ซึ่งผู้เขียนได้ข้อมูลนี้มาจากการเข้าร่วมงานสัมมนาทางวิชาการศิลปะอิสลามในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ระหว่างวันที่ ๒๘ - ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๔ โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลาร่วมกับ สำนักพิมพ์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม นำเสนอโดยคุณณายิบ อาแวบือซา (นักวิชาการอิสด้านสถาปัตยกรรมในศาสนาอิสลาม) ได้นำเสนอข้อมูลชุดนี้ไว้ในหัวข้อ สถาปัตยกรรมมลายูมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
ลายฉลุไม้บนช่องลมและช่องแสง ในรูปแบบอักษรประดิษฐ์ เป็นรูปช้าง ที่มา : ณายิบ อาแวบือซา.เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการศิลปะอิสลามในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง.สถาปัตยกรรมมลายูมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง.(๒๕๖๒.น.๑๓).พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา ร่วมกับสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
สำหรับบ้านหัวเขานั้นสัปบุรุษบางส่วนของหมู่บ้านแห่งนี้มีบรรพบุรุษที่ถูกเทครัวมาจากกลันตันเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อีกทั้งเคยมีโต๊ะครูซึ่งเป็นชาวกลันตันเคยมาทำหน้าที่สอนหนังสือให้กับคนในหมู่บ้านอีกด้วยจึงมีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าคอตตำแหน่งนี้ได้รับรูปแบบมาจากทางกลันตัน
อย่างไรก็ดีจากการสืบค้นพบว่าอักษรอาหรับประดิษฐ์(คอต) ทำเป็นลวดลายเสือหรือสิงห์รูปแบบนี้ยังพบว่ามีความใกล้เคียงกับตราประจำรัฐสุลต่านเรียว-ลิงกา (มลายู: Kesultanan Riau-Lingga, کسلطانن رياوليڠݢ) เอกสารไทยเรียก เมืองลิงงา หรือ เมืองสิงคา เป็นรัฐสุลต่านของชาวมลายูที่เกิดขึ้นจากการแบ่งพื้นที่ของจักรวรรดิยะโฮร์-เรียว ที่แยกคาบสมุทรยะโฮร์และสิงคโปร์ออกจากหมู่เกาะเรียว โดยมีสาเหตุจากการที่อับดุล ระฮ์มัน สถาปนาตนเองเป็นสุลต่านแห่งเรียว-ลิงกา หลังการสวรรคตของสุลต่านมะฮ์มุดที่ 3 แห่งยะโฮร์ และได้รับการยอมรับว่ามีอำนาจอธิปไตยจากฝ่ายอังกฤษและเนเธอร์แลนด์จากสนธิสัญญาอังกฤษ-ดัตช์ ค.ศ. 1824 รัฐสุลต่านเรียว-ลิงกาดำรงอธิปไตยของตนเองจนถึง ค.ศ. 1911 ก็ถูกรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยกเลิก และถูกผนวกรวมเข้ากับอาณานิคมอินเดียตะวันออกของดัตช์แทน[๑๐]ปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครองของประเทศอินโดนีเซีย
ตราประจำรัฐสุลต่านเรียว-ลิงกา (มลายู: Kesultanan Riau-Lingga, کسلطانن رياوليڠݢ) เอกสารไทยเรียก เมืองลิงงา หรือ เมืองสิงคา
ตำแหน่งอาคารส่วนต่อขยาย
ประกอบไปด้วยข้อความภาษาอาหรับ ตัวเลขอาหรับและตัวเลขอารบิก มีรายละเอียดดังนี้
ข้อความด้านบนสุด คือ الله อัลเลาะห์ (พระเจ้าของศาสนาอิสลาม)
ข้อความบันทัดที่สอง คือ ชื่อของนบี มูฮัมหมัด محمد ใช้รูปแบบการเขียนแบบอักษรไขว้
ข้อความบันทัดที่สาม คือตัวเลขภาษาอาหรับ คือ ١٣٨٧ ใต้ตัวเลขมีข้อความว่า سنة มีความหมายว่า ปี เป็นคำที่นิยมใช้มาก่อนคำว่า ฮิจเราะฮ์ (ในลุ่มทะเลสาบพบการใช้คำนี้อีกที่คือจารึกที่มัสยิดบ้านทรายขาว) ดังนั้นหมายถึง ปีฮิจเราะฮ์ที่ 1387
คุณสุรเชษฐ์ แก้วสกุล นักวิชาการอิสระ ถ่ายภาพโดยผู้เขียนที่มัสยิดยาบัลโหรดเหร๊าะหม๊ะเพื่อเก็บข้อมูลทำแบบจำลองสถาปัตยกรรมของมัสยิดยาบัลโหระเหร๊าะหม๊ะในเเต่ละยุค
ข้อความล่างสุดคือตัวเลขอารบิก 25..
อักษรอาหรับประดิษฐ์ที่ซุ้มทางเข้ามัสยิดอ่านได้ว่า ยาบัลโหรโเหร๊าะหม๊ะ มีความหมายว่า ภูเขาแห่งความเมตตา
สรุป
จะเห็นได้ว่าบ้านหัวเขานั้นเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นหมู่บ้านที่สืบทอดมาจากยุคสงขลาหัวเขาแดง(ซิงฆอรา) และมีมัสยิดศาสนสถานของชุมชนที่ปรากฎอยู่ในพงศาวดารเมืองสงขลารวมถึงหลักฐานชั้นในบันทึกของเจ้านายจากกรุงเทพ สถาปัตยกรรมของมัสยิดมีร่องรอยความเป็นชวา – มลายู รวมถึงมีอักษรประดิษฐ์ที่สวยงามทั้งภาษามลายูอักษรยาวีและภาษาอาหรับซึ่งเรียกกันว่า "คอต" อักขระศิลป์ที่เชิงเขาแห่งความเมตตาอายุนับร้อยปีในชุมชนที่มีอายุถึง ๓๓๕ ปี เป็นชุมชนสมัยอยุธยาของจังหวัดสงขลาที่ร่วมยุคกับสมเด็จพระนารายณ์
บังกฤษ พิทักษ์คุมพลเเละคุณสุรเชษฐ์กำลังขึ้นไปเก็บข้อมูลใต้หลังคาทรงนูซันตารา
ผู้เขียนถ่ายภาพกับวะอี และผู้ดูเเลมัสยิดในโอกาสที่นำแผนที่เดอลามาร์วากัฟ(อุทิศ)ให้กับมัสยิดยาบัลโหรดเหร๊าะหม๊ะ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๕
ภาพถ่ายผู้เขียนสามารถ สาเร็ม (ชูโกรบินร่าหีมบินลิฟีน)
ขอขอบคุณ
๑.บังกฤษ พิทักษ์คุมพล
๒.พิเชษฐ์ หีมสุวรรณ
๓.วะอี (ยุทธนา จิตต์โต๊ะหลัม
๔.ผู้ช่วยศาสตราจารย์โชคชัย วงษ์ตานี อาจารย์ประจำศูนย์สันติศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครรินทร์
๕.อุสตาส อัล ฮาฟิช(Mustafa Bas) ผู้บริหารโรงเรียนศิริวัฒน์วิทยา(โรงเรียนนานาชาติตุรกีในประเทศไทย) กรุงเทพมหานคร
๗.คุณสุรเชษฐ์ แก้วสกุล
๖.คุณธีรเทพ จิตต์หลัง
๗.คุณเอลิยา บินอาลี มูเก็ม ผู้ประสานงานกลุ่ม Save Singora Heritage - รักษ์มรดกซิงกอรา
๘.พี่น้องสัปบุรุษบ้านหัวเขาทุกท่านที่ให้การตอนรับผู้เขียนเสมือนหนึ่งเป็นลูกหลานชาวหัวเขาคนหนึ่ง
ที่มา
[๑] : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.(๒๕๓๙).ประชุมพงศาวารฉบับกาญจนาภิเษก(พิมพ์ครั้งที่ ๑).กรุงเทพฯ
[๒] : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.(๒๕๓๙,น.๒๓๒).ประชุมพงศาวารฉบับกาญจนาภิเษก(พิมพ์ครั้งที่ ๑).กรุงเทพฯ
[๓] : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.(๒๕๓๙,น.๒๖๕).ประชุมพงศาวารฉบับกาญจนาภิเษก(พิมพ์ครั้งที่ ๑).กรุงเทพฯ
[๔] : กริช พิทักษ์คุมพลและคณะ(๒๕๕๙).ที่ระลึก ๑๐๐ ปีมัสยิดยาบัลโรดเหร๊ะหม๊ะ.(พิมพ์ครั้งที่ ๑)
[๕] : กริช พิทักษ์คุมพลและคณะ(๒๕๕๙,น๑๘).ที่ระลึก ๑๐๐ ปีมัสยิดยาบัลโรดเหร๊ะหม๊ะ.(พิมพ์ครั้งที่
๑)
[๖] : กริช พิทักษ์คุมพลและคณะ(๒๕๕๙,หน้า ๒๑).ที่ระลึก ๑๐๐ ปีมัสยิดยาบัลโรดเหร๊ะหม๊ะ.(พิมพ์ครั้งที่ ๑)
[๗] : กริช พิทักษ์คุมพลและคณะ(๒๕๕๙,หน้า ๒๗).ที่ระลึก ๑๐๐ ปีมัสยิดยาบัลโรดเหร๊ะหม๊ะ.(พิมพ์ครั้งที่ ๑)
[๘] : อัลกุรอ่านออนไลน์ , สืบค้นได้ที่ : https://bit.ly/3r7jCGD
[๙] : อัลกุรอ่านออนไลน์ , สืบค้นได้ที่ : https://bit.ly/3oX9kGe
[๑๐] : รัฐเรียวลิงฆา , สืบค้นได้ที่ : https://bit.ly/3l317PG
Commentaires