ค้นหา
อีกหลักฐานของร่องรอยชวาบนปืนใหญ่ของสุลต่านสุลัยมานแห่งนครซิงกอรา
อัปเดตเมื่อ 23 มี.ค. 2564
ซิงกอรา (สงขลา) - ชวาในมิติอักษรยาวี
โดยอาเนาะ ปันตัย (นามแฝง) และสามารถ สาเร็ม
นับจากเหตุการณ์เลวร้ายที่มีมือมืดกระทำต่อมรดกทางวัฒนธรรมภายในสุสานสุลต่านสุลัยมาน ชาร์ ผู้ครองสงขลาร่วมสมัยพระเจ้าปราสาททองของอยุธยา กรณีทุบทำลาย ? ขโมย? ตาหนา/แลสันโบราณ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ค้นพบจารึกชวาโบราณโดยคุณปัญญา พูลศิลป์ ผู้เขียนได้นำเสนอไปแล้วในบทความ “อักษรชวาในป้ายหลุมศพโบราณที่สงขลา กับจารีตคำเรียกเครือญาติที่มีรากมาจากคำชวาของคนมุสลิมลุ่มทะเลสาบ” [๑]
หลังจากเหตุการณ์นี้ผู้เขียนจึงระดมกัลยาณมิตรผู้รักในประวัติศาสตร์ ซิงโกรา (สงขลา) จากหลากหลายช่วงวัย หลากหลายอาชีพทั้งที่เป็นคนในพื้นที่ นอกพื้นที่รวมถึงชาวต่างประเทศ การพูดหลักผ่านกลุ่มสนทนาของเฟสบุ๊ค มีชื่อชื่อกลุ่มว่า” รักษ์มรดกซิงกอรา SaveSingoraHeritage (SSH)” ระดมความคิด วิเคราะห์ สืบค้นข้อมูล ตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์เมืองสงขลาที่ผ่านมาถึงความเป็นไป
นายจีรวุฒิ บุญรัศมี [๒] ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มสนทนาดังกล่าว ได้ค้นบทความว่าด้วยเรื่องของปืนใหญ่เมืองสงขลาสมัยสุลต่านสุลัยมานปัจจุบันอยู่ในประเทศอังกฤษ พร้อมตั้งคำถามกับคำว่า “ตุน” คำนำหน้าชื่อ ผู้จารึกปืนใหญ่ที่ปรากฏอยู่ว่ามีนัยยะอย่างไรหรือไมที่ผ่านมาเท่าที่อ่านจากข้อมูลการแปลเป็นภาษาไทย ไม่มีการวิเคราะห์ประเด็นนี้ไว้ จึงทำให้เข้าใจดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของชื่อผู้จารึก
เมื่อสืบค้นพบว่า “ตุน” เป็นคำนำหน้าชื่อของบุคคลสามัญที่จะถูกมอบให้โดยผู้ปกครองรัฐ ถือเป็นเกียรติยศสูงสุดที่สามัญชนจะได้รับ เทียบให้เข้าใจง่ายอาจจะคล้ายกับตำแหน่งรัฐบุรุษ ธรรมเนียมการมอบคำนำหน้าชื่อ "ตุน" มีที่มาย้อนไปได้หลายร้อยปี บางเบาะแสเชื่อว่าเกียรติยศนี้เกิดขึ้นในรัฐมะละกาโบราณ ก่อนที่จะแพร่หลายไปในกลุ่มรัฐมลายู (ส่วนในปัตตานีแทบไม่พบการใช้ธรรมเนียมนี้) Yang Amat Berhormat (The Most Honourable) Tun Dr. Mahathir bin Mohamad SMN - ดร.มหาเธร์ มูหมัด เป็นบุคคลในยุคปัจจุบันที่เราคุ้นเคยที่สุดได้รับพระราชทาน "ตุน" นำหน้าชื่อจากสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย ทั้งนี้คำว่า Tun จะต่างจาก Tuan โดย ตุน นั้นเป็นคำนำหน้าชื่อที่ผู้ได้รับจะเป็นสามัญชน ส่วน ต่วน นั้นเป็นคำที่จะใช้กับเชื้อพระวงศ์
บทความเรื่อง “Some Observations on the Malay Sha'ir” ข้อสังเกตบ้างประการเกี่ยวกับกฎหมายอิสลามของโลกมลายู (?) พิมพ์อยู่ในวารสาร The Malaysian branch of the royal Asiatic society
ข้อความตามที่ถูกเขียนในภาษาอังกฤษในบทความชิ้นนี้ถอดออกมาได้ว่า
“…Wa naqashahu Tun Juma'at Abu Mandus ,Singgora benuanya…”
จากข้อความข้างต้นซึ่งปรากฏอยู่ในบทความชิ้นนี้ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับตัวจารึกที่ปรากฏอยู่บนปืนพบว่าคำที่สอง “naqashahu” เป็นการถอดที่ไม่ตรงตามตัวอักษรที่จารึกอยู่บนปืนใหญ่ ตามที่ฝรั่งถอดจากภาษาอาหรับคือ
"وَنَقَشَهُ"
แต่ที่จารึกเขียนว่า
"ونقْىىهَ"
หมายเหตุ พยัญชนะ (هـ) ที่อยู่ท้ายคำเขียนได้หลายรูป แล้วแต่แบบลายอักษร คล้ายๆ ลายอักษรต่างๆ ของพยัญชนะในภาษาไทย
จากข้อความในจารึกถอดได้ดังนี้
ونقشه تن جمعة ابومندوس سغݢور بنواڽ
"و"
มีความหมายว่า "และ"
"نقشه"
มีความหมายว่า "แกะ" , "สลัก" , "จำหลัก"
"تن"
มีความหมายว่า "ตุน" คือตำแหน่งที่รับการแต่งตั้ง
"جمعة"
คือชื่อจริงอ่านว่า "ยุมอัต" มีความหมายว่า "วันศุกร์" เป็นคำที่ในโลกอาหรับใช้สำหรับตั้งเป็นชื่อบุคคลอีกด้วยเช่นปัจจุบันเราจะพบว่ามุฟตีของอียิปต์ชื่อว่า ยุมอัต ส่วนในบ้านเรานั้น อาจารย์เจตต์ ตังเค ให้ข้อมูลว่าที่เมืองปะเหลียนยังมีคนมุสลิมตั้งชื่อว่า "ยุมอัต" อยู่
"ابومندوس"
คือ ฉายา (บิดาของมันดุส) ธรรมเนียมอาหรับจะมีฉายา ในการเรียก คล้ายดาโต๊ะ แต่อาหรับจะมี อาบู (ซึ่งมักใช้กับผู้ชายที่มีลูกแล้ว และคำอื่นๆ อีกหลายคำ) นำหน้า เช่น ผมชื่ออับดุลเลาะ ถ้าผมมีลูกชายชื่อ Mandus คนที่มักคุ้นก็จะเรียก abu mandus
"سغݢور"
คือ ซิงฆูรา (สงขลา) จารึกบนปืนจะเขียน อักษร ga (อักษรที่สามในคำ นับจากขวาไปซ้าย เพราะภาษาอาหรับ และมลายูอักษรญาวีจะอ่านจากขวาไปซ้าย)ด้วยตัวอักษรที่มีสามจุด ตัวอักษร Ga นี้ในโลกมลายู-ชวาคิดค้นขึ้นเมื่อรับตัวอักษรอาหรับมาใช้เพราะตัวอาหรับมีเสียงที่ไม่ครบตามเสียงของคนชวา-มลายู เรียกกันว่า ตัวอักษรยาวี
"بنواڽ"
คือ ทวีปของเขา หรือ แผ่นดินของเขา
ดังนั้นจารึกส่วนนี้จึงมีความหมายว่า "และผู้ที่จำหลัก (จารึก) ข้อความข้างต้นนั้น คือ อาบูมันดูซ ซึ่งซิงโกรา เป็นแผ่นดินของเขา”
จุดสามจุด ของตัว Ga หลักฐานสืบราก สงขลากับชวา
จากข้อมูลข้างต้นที่ได้กล่าวถึงตัว ga ซึ่งในโลกมลายูอื่น ๆจะใช้ตัวGa ที่มี จุดข้างบนเพียงแบบเดียวในขณะที่เกาะชวาจะใช้ตัว Ga ที่มีสามจุด เขียนได้สองแบบคือเขียนได้ทั้งข้างบนและข้างล่างตัว ga ซึ่งตัว ga ที่ปรากฏอยู่บนปืนใหญ่ของสงขลาสมัยสุลต่านนั้นโดยมีผู้บันทึกที่เป็นคนสงขลา(ซิงฆูรา) ได้มีการใช้ตัว ga แบบจุดสามจุดที่เหมือนกับทางชวาดังนั้นด้วยข้อมูลจึงชี้ชัดให้เห็นว่าเมืองสงขลาสมัยสุลต่านสุลัยมานนั้นมีความสัมพันธุ์กับทางชวาอีกด้วย
ตัว ga ที่ปรากฏในจารึกปืนใหญ่
ที่มา
[๑] : สามารถ สาเร็ม.อักษรชวาในป้ายหลุมศพโบราณที่สงขลา กับจารีตคำเรียกเครือญาติที่มีรากมาจากคำชวาของคนมุสลิมลุ่มทะเลสาบ.สืบค้นออนไลน์ : https://bit.ly/3qiGrEf
[๒] : www.faecbook.com/Jeerawut Boonrutsamee (Jeri Eisenhofer)
---------------------------------------------------------------
อาเนาะ ปันตัย เป็นชาวมลายูในจังหวัดชายแดนใต้ที่มีความรู้ทั้งภาษามลายูกลางมลายูถิ่นปตานีและภาษาอาหรับ เพราะคลุกคลีกับคนอาหรับโดยการศึกษาและอาชีพ และเคยใช้ชีวิตอยู่ในโลกอาหรับ รวมกันแล้วกว่า ๒๐ ปี ในข้อมูลเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๔
Commenti